ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF - TLIF Surgery: Transforaminal Lumbar Interbody Fusion

ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF แผลเล็ก เจ็บน้อย

การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF (Transforaminal lumbar interbody fusion) คือ วิธีการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ ทรุด จนเกิดการเคลื่อนทับเส้นประสาทและทำให้มีอาการปวดหลัง

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF

การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF (Transforaminal lumbar interbody fusion) คือ วิธีการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ ทรุด จนเกิดการเคลื่อนทับเส้นประสาทและทำให้มีอาการปวดหลังส่วนเอวรุนแรง โดยการใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็กเพื่อนำหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพออก และใส่หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไปแทนที่ร่วมกับการปลูกกระดูกแล้วยึดตรึงกระดูกสันหลังทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกันด้วยโลหะดามกระดูกชนิดพิเศษ เพื่อช่วยให้กระดูกสันหลังส่วนเอวแข็งแรง มั่นคง และลดอาการปวดหลัง การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไวที่มีความปลอดภัย ช่วยรักษาอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี ใช้ระยะเวลาการฟื้นฟูสั้น และช่วยให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว

ทำไมต้องผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF

ในอดีต แพทย์จะทำการรักษาอาการปวดส่วนล่าง ปวดหลังส่วนเอวเรื้อรัง หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบด้วยการผ่าตัดเปิดแผลกลางหลังเป็นแนวยาว (Open Laminectomy) เพื่อเลาะกล้ามเนื้อบางส่วนและตัดกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพออก ทำให้ผู้รับการรักษามีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ที่หายช้า มีอาการบาดเจ็บหลังการผ่าตัดมาก และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นนาน

การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติที่ช่วยให้เห็นภาพภายในชัดเจน มีความแม่นยำ ตรงตำแหน่ง ช่วยลดข้อเสียจากการผ่าตัดแบบเก่าด้วยแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กมากเพียง 7-10 มม. แต่มีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ลดการบาดเจ็บหลังการผ่าตัดได้มาก ลดระยะเวลาการพักฟื้น ช่วยให้กลับมานั่ง ยืน เดิน นอน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เร็ว และลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี

ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF รักษาโรคอะไร - What diseases does TLIF surgery treat?

ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF รักษาโรคอะไร

การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF สามารถรักษาโรคดังต่อไปนี้

  • โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังและข้อกระดูกสันหลังเสื่อมตามอายุหรือจากการใช้งานหนัก ทำให้โพรงกระดูกสันทรุด ตีบแคบ และกดทับไขสันหลังและเส้นประสาทจนทำให้มีอาการปวดหลังส่วนเอว คอ และอาจทำให้มือ แขน ขา และเท้าเหน็บชาหรืออ่อนแรง โดยมากพบได้ในผู้ที่มีอายุ
  • โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) เป็นความผิดปกติที่ส่วนใหญ่เกิดจากกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และข้อที่ 5 เกิดการเสื่อมสภาพ จนทำให้เกิดการเคลื่อนที่ไปข้างหน้ามากผิดปกติ และทำให้มีอาการปวดหลังส่วนล่างรุนแรง มีอาการเหน็บชาบริเวณที่เส้นประสาทที่ถูกกดทับ และมีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังลงสะโพกและร้าวลงขา
  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated disc) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกตามอายุ การใช้งานอย่างหนัก กรรมพันธุ์ หรือการมีน้ำหนักตัวมาก จนทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังที่อยู่ระหว่างกระดูกแต่ละข้อเคลื่อนที่ออกมากดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดคอ ปวดสะโพกร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง มีอาการเหน็บชา มีปัญหาในการก้ม การยกของ หรือการทรงตัว หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทเรื้อรังอาจทำให้มีอาการเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และทำให้ระบบขับถ่ายมีปัญหา
  • โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative disc) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลังที่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น การใช้งานอย่างหนัก หรือจากกรรมพันธุ์โดยพบได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป โดยจะมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดหลังหน่วง ๆ รอบ ๆ เอว มีอาการหลังตึงหรือหลังแข็ง มีอาการปวดหลังส่วนล่างอย่างมากเมื่อนั่งนาน ๆ ยืนนาน ๆ หรือเดินนาน ๆ 
  • โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากกระดูกสันหลังผิดรูปหรือโค้งงอออกไปทางด้านข้างเป็นรูป s หรือตัว c มากกว่า 10 องศาขึ้นไป ซึ่งมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ โรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อ หรือการเสื่อมสภาพจากการใช้งานอย่างหนัก ทำให้ลำตัวเอียงเสียสมดุล ไหล่ทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน  แนวสันหลังไม่ตั้งตรง และจะยิ่งมีอาการมากขึ้นตามอายุ และการเจริญเติบโตของร่างกาย

โรคกระดูกสันเสื่อมอื่น ๆ เช่น โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) การเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทซ้ำ  (Recurrent disc herniation) กระดูกสันไม่มั่นคง (Spinal instability) กระดูกสันหลวมหรือไม่เชื่อมติดกัน (Pseudarthrosis)

อาการกระดูกสันหลังส่วนล่างเสื่อม - Symptoms of Spinal degeneration

กระดูกสันหลังส่วนล่างเสื่อม มีอาการอย่างไร

  • ปวดบั้นเอว ปวดหลังส่วนเอวอย่างมาก ปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง
  • ปวดหลังส่วนเอวลงสะโพกร้าวลงขา 
  • ปวดหลังส่วนเอวข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างพร้อมกัน
  • นั่งนาน ๆ ยืนนาน ๆ หรือเดินนาน ๆ แล้วปวดหลังอย่างมาก
  • มีอาการตึงที่หลังส่วนล่าง หลังส่วนล่างแข็ง ขยับตัวลำบาก
  • ระยะการเคลื่อนไหวลดลง เดินลำบาก เดินไม่สมดุล คล้ายจะหกล้ม
  • เจ็บโอดโอยบริเวณบั้นเอวหรือหลังส่วนล่างขณะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย
  • ขา และเท้า ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างมีอาการชาหรืออ่อนแรง
  • ก้าวขาขึ้นบันไดหรือขึ้นรถลำบาก ก้าวขาได้ระยะสั้น ก้าวขาไม่ออก
  • มีปัญหาในการควบคุมการขับถ่าย กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ค่อยอยู่

วินิจฉัยก่อนการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF - The diagnosis before TLIF surgery

การวินิจฉัยก่อนการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF มีวิธีการอย่างไร

แพทย์จะทำการวินิจฉัยก่อนพิจารณาการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF เพื่อหาข้อบ่งชี้โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังเสื่อม และทรุดทับเส้นประสาท โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจทางรังสีวิทยาภาพถ่ายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ดังนี้

  • การซักประวัติ (Medical history) แพทย์ทำการซักประวัติเกี่ยวกับอาการปวดหลังส่วนเอวหรือหลังส่วนล่าง เช่น ปวดตรงไหน ปวดอย่างไร ระยะเวลาที่ปวด มีอาการชาหรือมีอวัยวะอ่อนแรงหรือไม่ มีปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายหรือไม่ น้ำหนักลดและ/หรือมีไข้ร่วม รวมทั้งเคยเป็นมะเร็งหรือไม่ 
  • การทำ CT-scan (Computed tomography scan) เป็นการตรวจโครงสร้างของกระดูกสันหลังทั้งหมด รวมถึงข้อต่อ หมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อยึดเกาะกระดูกสันหลัง ตรวจขนาด รูปร่าง โพรงกระดูกสันหลังเพื่อหาความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น การเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท การบาดเจ็บภายใน เช่น กระดูกแตก กระดูกหัก กระดูกผิดรูป รวมทั้งการติดเชื้อ
  • การทำ MRI (Magnetic resonance imaging) เป็นการตรวจโครงสร้างของกระดูกสันหลังและไขสันหลังแบบ 3 มิติเพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีความละเอียดคมชัด โดยรวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลัง โพรงประสาทสันหลัง ข้อต่อกระดูกสันหลัง เส้นประสาทใต้ข้อต่อ เพื่อหาความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น การเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

ขั้นตอนการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF - the TLIF surgery procedure

ขั้นตอนการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF มีวิธีการอย่างไร

การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF รพ. เมดพาร์คใช้มาตรฐานสากล (Gold standard) ในการผ่าตัดโดยคำนึงความปลอดภัยของผู้เข้ารับการผ่าตัดและสัมฤทธิผลในการรักษาเป็นสำคัญ โดยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์จะทำการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ผ่านกล้อง endoscope นำหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพออกและใส่หมอนรองกระดูกเทียมแทน เพื่อขจัดแรงกดทับและลดอาการปวดหลังโดยเร็วที่สุด พร้อมปรับกระดูกสันหลังและข้อต่อให้มีความแข็งแรง มั่นคง และมี สเถียรภาพ

ขั้นตอนก่อนการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง TLIF

  • ก่อนการผ่าตัด 2 สัปดาห์ แพทย์จะขอให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดงดยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ยา Aspirin ยา Ibuprofen ยา Naproxen ยา Plavix และยาสมุนไพรทุกชนิด
  • แพทย์จะขอให้ผู้ที่ทานยา Warfarin แอดมิดที่ รพ. ล่วงหน้า 3-4 วัน เพื่อที่แพทย์จะให้ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดชนิดที่ออกฤทธิ์สั้นชนิดอื่นแทน
  • เพื่อสุขภาพและผลการผ่าตัดที่ดีที่สุด ผู้เข้ารับการผ่าตัดจำเป็นต้องงดการสูบบุหรี่ล่วงหน้าก่อนการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด 12 เดือน 

ขั้นตอนระหว่างการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง TLIF

  • ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์จะทำการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ผ่านผิวหนังโดยใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็กที่มีขนาด 7-10 มิลิเมตร เพียง 1-2 แผลเท่านั้น ผ่านกล้อง endoscope ที่มีขนาดเล็กมากสอดลงไปในกระดูกสันหลังเพื่อให้เห็นภาพภายในกระดูกสันหลังได้อย่างชัดเจน และสามารถทำการผ่าตัดผ่านหน้าจอได้อย่างแม่นยำ โดยศัลยแพทย์จะผ่าตัดนำหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพออกโดยการตัดข้อฟาเซ็ต (Facet joint) ของกระดูกสันหลังข้างใดข้างหนึ่งออกเพื่อให้เห็นตำแหน่งหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท
  • ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์จะนำหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพ หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท หรือกระดูกงอกกดทับเส้นประสาทออกและทำการเชื่อมกระดูกสันหลัง (Interbody fusion) โดยการใส่หมอนรองกระดูกเทียม (Spacer) เข้าไปแทนที่ร่วมกับการปลูกกระดูก (Bone graft) และ/หรือกระดูกเทียม (Bone substitute) แล้วจึงยึดตรึงกระดูกสันหลังทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกันด้วยโลหะดามกระดูกชนิดพิเศษและสกรู จากนั้นจึงเย็บปิดแผลให้สนิทเข้าด้วยกัน โดยการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง

ขั้นตอนหลังการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง TLIF 

  • แพทย์จะให้ยาแก้ปวดเพื่อระงับความเจ็บปวด โดยอาการต่าง ๆ รวมถึงอาการชาจะค่อย ๆ หายไป
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถลุกขึ้นนั่ง ยืน เดิน และเคลื่อนไหวร่างกายได้ภายหลังการผ่าตัด 3-4 ชั่วโมง การค่อย ๆ เคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดที่ขา
  • แพทย์จะทำ CT scan ในวันถัดไป เพื่อตรวจสอบความมั่นคงของโลหะดามกระดูกและสกรู
  • นักกายภาพบำบัดจะช่วยทำกายภาพเพื่อช่วยกระตุ้นกระบวนการฟื้นฟูร่างกาย และสอนการเคลื่อนไหวร่างกายให้ปลอดภัย
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดพักฟื้นที่ รพ. 1-2 คืน แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อติดตามอาการและผลการรักษา หากไม่พบความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF - TLIF surgery aftercare

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF

  • หลังการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF อาการเจ็บปวดต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ 
  • งดการก้มตัว หรือการบิดหมุนตัว 2-4 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรง การยกของหนัก หรือการออกกำลังกายหนัก 1-3 เดือน เพื่อให้มวลกระดูกได้เชื่อมติดกับหมอนรองกระดูกเทียมได้อย่างมั่นคง สนิทแน่น และแข็งแรง
  • กระดูกสันหลังทั้ง 2 ส่วน รวมถึงพื้นที่ส่วนหน้าของหมอนรองกะดูก และข้อต่อฟาเซ็ตจะค่อย ๆ เชื่อมติดกันภายใน 3-6 เดือน 

ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF พักฟื้นกี่วัน

โดยปกติ ผู้เข้ารับการผ่าตัดเชื่อมข้อและกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF จะใช้เวลาในการพักฟื้นประมาณ 6-12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่ความแข็งแรงร่างกายของแต่ละบุคคล และสามารถทำกิจกรรมไม่หนักได้ รวมถึงสามารถขับรถได้ภายใน 2 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF

การผ่าตัดเชื่อมข้อและกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF เป็นการผ่าตัดที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่น มีเลือดออกหลังการผ่าตัด แผลติดเชื้อ ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา น้ำไขสันหลังรั่ว หรือเส้นประสาทฉีกขาด อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยกว่าร้อยละ 8.7 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการช่วยลดอาการปวดหลังลงได้เป็นอย่างมาก

Tlif Surgery 2

ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF มีอัตราการประสบความสำเร็จแค่ไหน

จากผลการศึกษาพบว่าของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ผู้เข้ารับการผ่าตัดร้อยละ 85-90 มีอาการปวดหลังส่วนล่าง บั้นเอว สะโพก และขาน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยหลังการผ่าตัด 2 ปี ผู้เข้ารับการผ่าตัดร้อยละ 95 รู้สึกพึงพอใจในผลการรักษาเป็นอย่างดี

ข้อดีของการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF

  • เทคนิคแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว (MIS): การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็กเข้าทางด้านหลังเพียง 1-2 แผล ซึ่งมีขนาดแผลเล็กมากเพียง 7-10 มม. เท่านั้น ช่วยให้เจ็บน้อย และฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็ว
  • แม่นยำ (Precision): การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง endoscope ที่ช่วยให้เห็นตำแหน่งหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทได้อย่างชัดเจน ช่วยให้แพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถรักษาได้อย่างแม่นยำและตรงจุดได้ถึงร้อยละ 99
  • รวดเร็ว (Fast): การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นกว่าเพียง 1-2 ชั่วโมง ต่างจากการผ่าตัดแบบเดิมที่ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง 
  • ปลอดภัย (Safe): ด้วยขนาดแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กมากเพียง 7-10 มม. การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี
  • ระยะเวลาพักฟื้นสั้น (Minimal downtime): ผู้ที่ทำการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นที่ รพ. หลังการผ่าตัดเพียง 1-2 คืน ก็สามารถกลับบ้านได้ และจะใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 3 เดือน จึงสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ต่างจากการผ่าตัดแบบเดิมที่มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นมากกว่า 1 ปี

ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF รพ.เมดพาร์ค - TLIF surgery at MedPark Hospital

การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF รพ.เมดพาร์ค

ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ รพ.เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ และโรคกระดูกสันหลังเสื่อมอื่น ๆ ที่มีความยากซับซ้อนด้วยวิธีการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ผ่านการส่องกล้องแบบแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ระบบ AI ที่ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน ร่นระยะเวลาการพักฟื้น และช่วยแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและภาพบำบัด รพ. เมดพาร์ค นำโดยทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ในการให้การดูแลช่วยเหลือผู้เข้ารับการผ่าตัดร่วมกันอย่างใกล้ชิด ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังการผ่าตัดอย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อช่วยให้ระบบกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อต่อฟื้นตัวเร็ว พร้อมทั้งช่วยเพิ่มความแข็งแรงของมวลกระดูกและกล้ามเนื้อให้ผู้รับการรักษาทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี  และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็ว

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 06 มิ.ย. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    รศ.นพ. อัคคพงษ์ นิติสิงห์

    รศ.นพ. อัคคพงษ์ นิติสิงห์

    • ศัลยกรรมประสาท
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ประสาทศัลยศาสตร์, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. เอกพล ลาภอำนวยผล

    นพ. เอกพล ลาภอำนวยผล

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    รศ.นพ. ปัญญา ลักษณพฤกษา

    รศ.นพ. ปัญญา ลักษณพฤกษา

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศิริชัย วิลาศรัศมี

    ผศ.นพ. ศิริชัย วิลาศรัศมี

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์

    นพ. ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ชัยวัฒน์ ปิยะสกุลแก้ว

    นพ. ชัยวัฒน์ ปิยะสกุลแก้ว

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    รศ.นพ. วีรศักดิ์ สิงหถนัดกิจ

    รศ.นพ. วีรศักดิ์ สิงหถนัดกิจ

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. กฤษดากร ขจรกิตติศักดิ์

    นพ. กฤษดากร ขจรกิตติศักดิ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. เตมีธ์  เสถียรราษฎร์

    นพ. เตมีธ์ เสถียรราษฎร์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ชัยยศ ทิรานนท์

    นพ. ชัยยศ ทิรานนท์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง, ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
  • Link to doctor
    นพ. วิทย์ โคธีรานุรักษ์

    นพ. วิทย์ โคธีรานุรักษ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. สมบัติ คุณากรสวัสดิ์

    นพ. สมบัติ คุณากรสวัสดิ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง, ศัลยกรรมกระดูกและข้อ