สังเกตสักนิด ถ้าคิดถึงแพ้อาหาร
โรคแพ้อาหาร (Food allergy) เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เกิดจากร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารโปรตีนในอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุทางเดินอาหาร ไม่ค่อยพบผู้ป่วยโรคแพ้อาหารที่แพ้ต่ออาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือไขมัน โรคนี้พบได้ทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาจพบร่วมกับโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดรุนแรงในผู้ป่วยเด็ก
ดร.เดวิด เจ ฮิลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้จากประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า จากการสำรวจการแพ้อาหารทั่วโลก พบว่าเด็กเล็กมีอัตราการแพ้อาหารอยู่ที่ร้อยละ 5-7 ผู้ใหญ่มีอัตราการแพ้อาหารร้อยละ 2-3 ของจำนวนประชากรโลก ลักษณะของอาหารที่แพ้จะแตกต่างกันตามพฤติกรรมการบริโภคของผู้ป่วย ในประเทศแถบเอเชีย เช่น มาเลเชีย ญี่ปุ่น ไทย และเกาหลีใต้ มีลักษณะการแพ้อาหารที่คล้ายกัน โดยส่วนใหญ่จะแพ้อาหารทะเล เส้นโซบะ และ สปาเก็ตตี้ที่ทำจากแป้งสาลี ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย จะมีการแพ้อาหารจำพวกถั่วต่าง ๆ ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กจะมีการแพ้อาหารที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะแพ้อาหารประเภท นมวัว และไข่ไก่
สถานการณ์โรคแพ้อาหารในประเทศไทย
ในประเทศไทยพบอุบัติการณ์ของโรคแพ้อาหารประมาณร้อยละ 5 โดยพบในผู้ป่วยเด็กสูงกว่าในผู้ใหญ่ ศ.พญ.อรพรรณ โภชนุกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพ้อาหารในประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยภาวะภูมิแพ้ชนิดรุนแรงในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ พบว่าผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 50 มีสาเหตุจากการแพ้อาหารประเภท นมวัว ไข่ไก่ และอาหารทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะภูมิแพ้ชนิดรุนแรงในประชากรไทย สาเหตุที่พบรองลงมาได้แก่ การแพ้ยาและแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าโรคแพ้อาหารยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศแต่ที่ผ่านมายังไม่มีการให้ความสำคัญเท่าที่ควร โดยเฉพาะการให้การรักษาที่ถูกต้อง
อาการของผู้ป่วยโรคแพ้อาหาร
ผู้ป่วยโรคแพ้อาหารจะแสดงอาการผิดปกติหลาย ๆ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด ของอาการดังต่อไปนี้
- อาการผื่นลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือผื่นแพ้สัมผัสพบร่วมกับอาการริมฝีปากหรือเปลือกตาบวม
- อาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ อาเจียน ท้องร่วง อุจจาระปนเลือด
- อาการหายใจหอบเหนื่อย มีน้ำมูกหรือเสมหะมากเป็น ๆ หาย ๆ ในรายที่มีอาการแพ้อาหารชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ หรืออาจจะเสียชีวิตได้ จากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว
อาหารที่พบเป็นสาเหตุของโรคแพ้อาหาร
อาหารที่พบเป็นสาเหตุของโรคแพ้อาหารได้บ่อยในผู้ป่วยเด็กเล็กได้แก่ นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ไก่หรือแป้งสาลี เป็นต้น ในขณะที่อาหารที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยในผู้ป่วยเด็กโต หรือผู้ใหญ่ได้แก่ อาหารในกลุ่มอาหารทะเล เป็นต้น
ผู้ป่วยอาจได้รับการสัมผัสกับอาหารที่ตนเองแพ้จาก
- การรับประทานโดยตรง โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ
- การปนเปื้อนมาจากคนอื่นที่รับประทานอาหารที่ตนเองแพ้โดยการสัมผัสหรือการจูบ
- การปนเปื้อนกับอาหารที่ตนเองรับประทาน เช่น การใช้ภาชนะร่วมกันกับคนอื่นในการปรุงหรือรับประทานอาหาร
- การใช้เครื่องปรุงอาหารที่มีส่วนประกอบของอาหารที่ตนเองแพ้
- การสูดดม เช่น ผู้ป่วยแพ้แป้งสาลี อาจทำให้เกิดอาการหอบหรือไอได้ เป็นต้น
ทำไมจึงเป็นโรคแพ้อาหาร
ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคแพ้อาหาร แต่ข้อสันนิษฐานของการเกิดโรคได้แก่ พัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ของระบบทางเดินอาหารในผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือปัจจัยเสี่ยงทางด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือโภชนาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ดื่มนมมารดาตั้งแต่แรกเกิด เป็นต้น
ข้อสังเกตของผู้ป่วยโรคแพ้อาหาร
ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้นถึงชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้ป่วยแต่ละช่วงอายุ
ข้อสังเกตอื่น ๆ ของผู้ป่วยโรคแพ้อาหารได้แก่
- กรณีที่มีอาการแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการภายใน 2 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหาร และระยะเวลาในการเกิดอาการแพ้มักจะสั้นลง และอาการแพ้มักจะรุนแรงมากขึ้นในการเกิดอาการครั้งถัดไป
- กรณีที่มีอาการแพ้อาหารแบบล่าช้า ผู้ป่วยมักมีอาการภายหลังรับประทานอาหารตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งสามารถสังเกตอาการแพ้ได้ค่อนข้างยาก แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ผลการทดสอบแบบแปะผิวหนังด้วยชนิดของอาหารที่ต้องสงสัยว่าจะแพ้ ร่วมกับการทดลองรับประทานอาหารเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
- อาการแพ้มักเกิดขึ้นทุกครั้งภายหลังการรับประทานอาหารที่ตนเองแพ้ โดยมิได้คำนึงถึง
- ปริมาณอาหารที่รับประทาน เช่น การรับประทานอาหารที่แพ้เพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงได้ในผู้ป่วยบางราย
- ชิ้นส่วนของอาหารที่รับประทาน เช่น มันกุ้งบริเวณส่วนหัวของกุ้งหรือเนื้อกุ้ง ก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน เป็นต้น
- วิธีการปรุงอาหาร การปรุงสุกอาหารก่อนรับประทานอาจทำให้คุณสมบัติในการก่อให้เกิดอาการแพ้ของอาหารชนิดนั้น ๆ เสียไปได้ เช่น ผู้ป่วยเด็กที่แพ้นมวัวหรือไข่ไก่อาจจะสามารถดื่มนมวัวหรือรับประทานไข่ไก่ที่ผ่านการปรุงสุกแล้วโดยไม่มีอาการแพ้ได้ ในทางกลับกันผู้ป่วยเด็กจะมีอาการแพ้หากดื่มหรือรับประทานอาหารดังกล่าวที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก
วิธีการยืนยันชนิดของอาหารที่ผู้ป่วยแพ้
วิธีการยืนยันชนิดของอาหารที่ผู้ป่วยแพ้ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- การทดสอบด้วยวิธีการสะกิดผิวหนังด้วยน้ำยาทดสอบ (Skin Prick Test) เหมาะสำหรับผู้ป่วยแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน สามารถทราบผลการทดสอบภายในเวลา 60 นาที อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดรับประทานยาในกลุ่มยาแก้แพ้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนทำการทดสอบ
- การทดสอบด้วยวิธีการแปะผิวหนังด้วยน้ำยาทดสอบ (Skin Patch Test) เหมาะสำหรับผู้ป่วยแพ้อาหารแบบล่าช้า สามารถทราบผลการทดสอบภายในเวลา 48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่ทำการทดสอบก่อนการอ่านผล และเช่นเดียวกับวิธีการสะกิดผิวหนังผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดรับประทานยาในกลุ่มยาแก้แพ้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนทำการทดสอบ
- การทดลองรับประทานอาหาร เป็นวิธีการช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคแพ้อาหารได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามควรทำการทดลองรับประทานอาหารภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์หรือยาคอยช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ภายหลังการทดลองรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตามแพทย์ส่วนใหญ่สามารถให้การวินิจฉัยโรคแพ้อาหารแก่ผู้ป่วยได้จากข้อมูลของประวัติอาการป่วย และการตรวจร่างกาย รวมถึงผลการทดสอบผิวหนังดังกล่าวข้างต้น
การรักษาโรคแพ้อาหาร
- การรักษาที่ถูกต้องและดีที่สุดคือ การงดรับประทานอาหารที่ตนเองแพ้รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีอาหารชนิดนั้นเป็นส่วนประกอบ
- กรณีผู้ป่วยเด็กที่แพ้นมวัวอาจหายจากการแพ้ได้เมื่ออายุมากขึ้น ภายหลังจากหยุดดื่มหรือรับประทานนมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
- กรณีผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเลมักจะไม่หาย ถึงแม้ว่าจะหยุดรับประทานอาหารทะเลเป็นระยะเวลานาน
การรักษาในผู้ป่วยที่มีการแพ้อาหารชนิดรุนแรง
กรณีผู้ป่วยมีอาการแพ้อาหารชนิดรุนแรงผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาอะดรีนาลิน (Adrenaline) เข้ากล้ามเนื้อด้วยตนเองหรือผู้ดูแลผู้ป่วยก่อนนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล การฉีดยาอะดรีนาลินทันทีภายหลังการเกิดอาการแพ้จะช่วยบรรเทาอาการแพ้และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอาการแพ้ดังกล่าวได้ ในปัจจุบันยาอะดรีนาลินชนิดพกพาสำเร็จรูป (EpiPen) ค่อนข้างมีราคาแพง ทำให้แพทย์มีปัญหาในการสั่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยบางราย แพทย์จึงได้มีการปรับเปลี่ยนยาอะดรีนาลินชนิดฉีดที่ใช้ภายในโรงพยาบาลมาเตรียมสำหรับให้ผู้ป่วยใช้พกพา
อย่างไรก็ตามการเตรียมยาอะดรีนาลินด้วยวิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดคือ ต้องจัดเก็บยาในอุณหภูมิที่พอเหมาะโดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ และเก็บไว้ในกล่องที่สามารถป้องกันการสัมผัสกับแสงแดดได้ รวมถึงอายุการใช้งานของยาค่อนข้างสั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาทำการเปลี่ยนยาทุก ๆ 2 เดือน หรือทันทีภายหลังที่ลักษณะของยาเปลี่ยนจากน้ำใส ๆ มาเป็นน้ำที่มีสีผิดปกติหรือมีการตกตะกอนของยา
ขั้นตอนการฉีดยาอะดรีนาลินเข้ากล้ามเนื้อด้วยตนเอง
- เลือกตำแหน่งของร่างกายที่เหมาะสมสำหรับการฉีดยาอะดรีนาลิน ซึ่งตำแหน่งของร่างกายที่เหมาะสมสำหรับการฉีดยาคือ บริเวณกึ่งกลางของต้นขาด้านนอก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สะดวกต่อการฉีดยาและเป็นตำแหน่งของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงในปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมยาอะดรีนาลินได้ในปริมาณมากและอย่างรวดเร็ว รวมถึงการฉีดยาที่ตำแหน่งดังกล่าวยังหลีกเลี่ยงการทำอันตรายต่อเส้นเลือดหรือเส้นประสาทบริเวณต้นขาจากการฉีดได้ โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ฉีดหรือสามารถทำการฉีดผ่านเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้
- กรณีที่เป็นยาอะดรีนาลินชนิดเตรียมเอง ให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลทำการฉีดโดยปักเข็มในแนวตั้งฉากกับผิวหนังบริเวณที่ฉีด ควรปักเข็มให้ลึกเท่ากับความยาวของเข็มที่เตรียมไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เข็มจะยาวประมาณ 0.5 - 1.0 นิ้ว ขึ้นกับขนาดของต้นขาของผู้ป่วยและทำการฉีดยาในปริมาณเท่ากับที่แพทย์ได้เตรียมไว้ให้
- ภายหลังการฉีดยาอะดรีนาลิน ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาเพิ่มเติม และเฝ้าสังเกตอาการภายในโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถกลับมีอาการแพ้รุนแรงได้อีก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสกับอาหารที่ตนเองแพ้อีกแล้วก็ตาม
สัญลักษณ์แสดงชนิดของอาหารที่ตนเองแพ้
กรณีผู้ป่วยแพ้อาหารชนิดรุนแรงควรมีสัญลักษณ์แสดงชนิดของอาหารที่ผู้ป่วยแพ้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจหมดสติในขณะที่เกิดอาการแพ้ การทราบถึงโรคที่ผู้ป่วยเป็นจะทำให้แพทย์ผู้ทำการรักษาให้การรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีแก่ผู้ป่วย รูปแบบของสัญลักษณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นเสื้อ สร้อยข้อมือ หรือสายรัดข้อมือ เป็นต้น อย่างไรก็ตามควรเป็นสัญลักษณ์ที่ง่าย ต่อการสังเกตเห็นโดยผู้ให้การรักษาผู้ป่วย
การทดลองรับประทานอาหารที่ตนเองแพ้ด้วยตนเอง
การทดลองรับประทานอาหารที่ผู้ป่วยสงสัยว่าจะแพ้ด้วยตัวเองที่บ้าน เป็นการกระทำที่เสี่ยงและอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการกระทำดังกล่าวได้ หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยว่าจะแพ้อาหารชนิดดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการทดสอบรับประทานอาหารชนิดดังกล่าวภายในโรงพยาบาล
การป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็กกลุ่มเสี่ยง
- เด็กควรได้ดื่มนมมารดาอย่างเดียว ในช่วง 4-6 เดือนแรก
- หลีกเลี่ยงอาหารเสริมใด ๆ ในช่วง 6 เดือนแรก ควรเริ่มให้อาหารเสริมแก่เด็กครั้งละ 1 ชนิด และค่อย ๆ เพิ่มชนิดของอาหารเสริมทุก ๆ 1 สัปดาห์ หากไม่มีอาการแพ้ โดยอาจเริ่มอาหารเสริมที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้น้อยเป็นลำดับแรก เช่น อาจให้เริ่มรับประทานไข่แดงก่อนไข่ขาว หรือเริ่มรับประทานเนื้อหมู เนื้อไก่ก่อนอาหารทะเล เป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงการรับประทานที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้ หากเด็กยังไม่มีอาการต้องสงสัยว่าจะแพ้อาหารชนิดดังกล่าว ยกเว้นกรณีที่เด็กมีบิดามารดาหรือพี่น้องที่มีประวัติแพ้ถั่วลิสงนั้น เด็กอาจต้องได้รับการประเมินการแพ้ถั่วลิสงก่อนเริ่มรับประทาน
- ไม่แนะนำให้มารดางดรับประทานอาหารชนิดใด ๆ ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมเด็ก ยกเว้นกรณีที่มารดาหรือเด็กมีประวัติการแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว
- มารดาไม่ควรดื่มนมวัวมากเกินกว่าปกติในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ (โดยไม่ควรดื่มนมวัวเกินกว่าวันละประมาณ 1 และ 2 แก้ว ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ) กรณีที่มารดาไม่สามารถให้นมแก่เด็กได้ แนะนำให้นมสูตรสำหรับเด็กแพ้นมวัวทดแทน
- แนะนำให้เด็กเริ่มรับประทานอาหารทะเลภายหลังจากอายุ 1 ปี ในเด็กกลุ่มเสี่ยง