เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่คืออะไร
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีอาการอย่างไร
- ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- วิธีรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีอะไรบ้าง
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีวิธีป้องกันอย่างไร
- คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence) คือการมีปัสสาวะเล็ดออกมานอกร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ สามารถแบ่งภาวะนี้ได้เป็นหลายประเภท วิธีรักษาภาวะนี้จะพิจารณาตามความรุนแรง ประเภท และสาเหตุ นอกจากนี้ อาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกันรักษา
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่คืออะไร
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่คือการมีปัสสาวะเล็ดออกมานอกร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ สามารถแบ่งภาวะนี้ได้เป็นหลายประเภท เมื่อมีภาวะนี้ ผู้ป่วยจะปัสสาวะออกมาโดยควบคุมไม่ได้ ส่วนมาก ผู้ที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะปัสสาวะประมาณ 8 ครั้งต่อวันหรือมากกว่านั้น รวมถึงปัสสาวะในเวลากลางคืนหลายครั้ง
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังนี้
- อาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง (Stress Incontinence) เป็นภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดจากการมีแรงดันเพิ่มขึ้นที่กระเพาะปัสสาวะ ไม่ว่าจะจากการไอ หัวเราะ หรือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
- อาการปัสสาวะราดทันที (Urge Incontinence หรือ Urgency Incontinence) เป็นภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะฉับพลันและไปไม่ถึงห้องน้ำก่อนที่ปัสสาวะราดออกมา
- ปัสสาวะเล็ดและราดร่วมกัน (Mixed Incontinence) เป็นภาวะที่มีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงร่วมกับอาการปัสสาวะราดทันที โดยกว่าร้อยละ 30-50 ของผู้หญิงที่มีอาการปัสสาวะราดทันที จะมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงร่วมด้วย
- ปัสสาวะล้น (Overflow Incontinence) เกิดจากการที่ไม่สามารถปัสสาวะจนหมดกระเพาะได้ ทำให้กระเพาะปัสสาวะมีปริมาณปัสสาวะล้น จนปัสสาวะเล็ดออกมาโดยไม่ตั้งใจ
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีสาเหตุเกิดจากอะไร
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่กิจกรรมที่ทำในทุกวันไปจนถึงอาการป่วยที่มีหรือปัญหาทางกายอื่น ๆ การตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แบบชั่วคราว
สาเหตุของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ชั่วคราว ส่วนมากมาจากอาหาร เครื่องดื่ม ยา อาการท้องผูก และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- อาหาร เครื่องดื่ม และยาที่อาจทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- แอลกอฮอล์
- สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- คาเฟอีน
- น้ำอัดลมและโซดา
- ช็อกโกแลต
- พริก
- วิตามินซี (ปริมาณมาก)
- ยาบางชนิดในกลุ่มยารักษาโรคหัวใจและความดันโลหิต ยาคลายกล้ามเนื้อ และยากล่อมประสาท
- แอลกอฮอล์
- อาการทางกายบางอาการอาจก่อให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ: การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดการระคายเคือง ส่งผลให้รู้สึกปวดปัสสาวะฉับพลัน หรือกระทั่งการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ท้องผูก: เนื่องจากไส้ตรงกับกระเพาะปัสสาวะมีระบบประสาทร่วมกัน อาการท้องผูกอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานไวเกินปกติ
- การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ: การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดการระคายเคือง ส่งผลให้รู้สึกปวดปัสสาวะฉับพลัน หรือกระทั่งการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นประจำ
ส่วนมาก สาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นประจำคืออาการทางสุขภาพและปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่
- การตั้งครรภ์: อาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงเกิดขึ้นในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยมีสาเหตุจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงและน้ำหนักของลูกในครรภ์ที่เพิ่มขึ้น
- การคลอดบุตร: การคลอดธรรมชาติทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง ส่งผลให้ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้แย่ลง จนกระทั่งอุ้งเชิงกรานหย่อนตัว เมื่ออุ้งเชิงกรานหย่อนตัว กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก และมดลูกอาจยื่นไปในช่องคลอด ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- อายุ: เมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะจุได้จะลดลง กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวโดยไม่ตั้งใจมากขึ้น
- วัยหมดประจำเดือน: หลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะแข็งแรงน้อยลง ทำให้เยื่อบุเสื่อมสภาพ ซึ่งการเสื่อมสภาพนี้เองทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัญหาที่ต่อมลูกหมาก: โรคต่อมลูกหมากโตอาจเป็นสาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชายสูงวัย นอกจากนี้ การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากยังสัมพันธ์กับอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงและอาการปัสสาวะราดทันทีด้วย
- การอุดตัน: เมื่อมีสิ่งมาอุดตันทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้ปัสสาวะได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะปัสสาวล้น นอกจากนี้ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะอาจทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพราะนิ่วจะระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ
- โรคทางระบบประสาท: โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง รวมถึงเนื้องอกในสมองอาจปิดกั้นการส่งสัญญาณที่มีส่วนในการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้อาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ปัจจัยอื่นที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- โรคเบาหวาน
- การตัดมดลูกหรือการผ่าตัดเชิงกราน
- การสูบบุหรี่
- การฉายรังสีรักษาโรคที่เชิงกราน
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีอาการอย่างไร
อาการหลักของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คือ การมีปัสสาวะเล็ด หรือปัสสาวะราด จากกระเพาะปัสสาวะโดยควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าปริมาณที่ออกมาจะน้อยหรือมากจนไม่เหลือปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ โดยปัสสาวะอาจเล็ดเมื่อหัวเราะ ไอ จาม หรือออกกำลังกาย
อาการอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้แก่
- ปัสสาวะบ่อย (เกิน 8 ครั้งต่อวัน)
- ตื่นตอนกลางคืนมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อมาปัสสาวะ (ภาวะลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืน หรือ Nocturia)
- ปัสสาวะรดที่นอนในตอนกลางคืน
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาการแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง
อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดขึ้นเรื้อรังอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน ดังนี้
- ผื่น การติดเชื้อที่ผิวหนัง และอาการปวดที่เกิดขึ้นเพราะผิวหนังเปียกตลอดเวลา
- เสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำ ๆ ในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
แพทย์อาจตรวจส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อุ้งเชิงกรานหรือต่อมลูกหมาก เพื่อให้วินิจฉัยได้แม่นยำ วิธีการตรวจที่ใช้วินิจฉัยภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้แก่ การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะ และการตรวจทางยูโรพลศาสตร์ เช่น การตรวจปริมาณปัสสาวะเหลือค้างหลังปัสสาวะ
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีวิธีการรักษาอย่างไร
แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาจากความรุนแรงของอาการ ประเภทของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอกจากนี้ การรักษาอาจใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยถ้ามีอาการหรือโรคอื่นที่ส่งผลให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แพทย์จะทำการรักษาอาการหรือโรคนั้นก่อน
แพทย์อาจเริ่มด้วยวิธีการรักษาที่ไม่มีการล่วงล้ำร่างกาย (Noninvasive) หรือล่วงล้ำน้อยก่อน หากวิธีเหล่านั้นรักษาไม่ได้ผล อาจรักษาด้วยการผ่าตัดหรือวิธีอื่น ๆ
วิธีรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีอะไรบ้าง
การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เชิงพฤติกรรม
- การฝึกควบคุมการถ่ายปัสสาวะ: การฝึกนี้ช่วยเรื่องการกลั้นปัสสาวะหลังจากรู้สึกปวดปัสสาวะ โดยจะเริ่มจากการพยายามกลั้นปัสสาวะเป็นเวลา 10 นาที เป้าหมายของการฝึกคือการลดจำนวนครั้งในการปัสสาวะต่อวันเหลือเพียงทุก ๆ 2 ถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง
- การถ่ายปัสสาวะซ้ำ: วิธีนี้เป็นการฝึกให้ปัสสาวะสองครั้งเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดปัสสาวะล้น
- การกำหนดเวลาเข้าห้องน้ำ: วิธีนี้เป็นการฝึกปัสสาวะตามช่วงเวลาที่กำหนดในทุก ๆ 2-4 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้มีปริมาณปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะมากเกินไป
- การควบคุมอาหารและเครื่องดื่ม: วิธีนี้ช่วยในเรื่องการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ให้ลดการบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรืออาการที่มีความเป็นกรดสูง ทั้งนี้ การลดน้ำหนักและออกกำลังกายยังช่วยบรรเทาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เช่นกัน
การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานช่วยเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อที่ดูแลในเรื่องการปัสสาวะ การบริหารนี้รู้จักในชื่อการออกกำลังกายคีเกล (Kegel) โดยช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงและปัสสาวะราดทันทีได้
ขั้นตอนในการออกกำลังคีเกล มีดังนี้
- ขมิบหรือเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเสมือนว่ากำลังกลั้นปัสสาวะอยู่ ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้น คลายกล้ามเนื้อเป็นเวลา 5 วินาที (หากรู้สึกว่ายากไป อาจเริ่มด้วยการเกร็งกล้ามเนื้อ 2 วินาที และคลายกล้ามเนื้อ 3 วินาที)
- ทำขั้นตอนแรกซ้ำจนสามารถเกร็งได้ถึง 10 วินาที
- ทุก ๆ 10 ครั้งนับเป็น 1 รอบ ในแต่ละวันให้ทำให้ครบ 3 รอบ
การตรวจวัดการตอบสนองของร่างกาย (Biofeedback) ช่วยให้ทราบได้ว่าเกร็งกล้ามเนื้อได้ดีระดับใด หรือเกร็งกล้ามเนื้อถูกมัดหรือไม่
การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ด้วยยา
ยาที่นิยมใช้รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ได้แก่
- ยากลุ่ม Alpha-blocker: ยากลุ่มนี้ช่วยคลายกล้ามเนื้อคอกระเพาะปัสสาวะของผู้ชายที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปัสสาวะล้น ช่วยให้ปัสสาวะจนหมดกระเพาะได้ง่ายขึ้น
- ยากลุ่ม Anticholinergic: ยากลุ่มนี้ใช้รักษาการทำงานไวเกินไปของกระเพาะปัสสาวะและรักษาอาการปัสสาวะราดทันที
- ยามิราเบกรอน (Mirabegron): ยาชนิดนี้ช่วยคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ช่วยให้ผู้ที่มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ปัสสาวะได้ในปริมาณที่มากขึ้น อีกทั้งยังรักษาอาการปัสสาวะราดทันทีได้
- ยาเอสโตรเจนชนิดทาเฉพาะที่: ยาเอสโตรเจนช่วยฟื้นฟูสภาพเนื้อเยื่อในทางเดินปัสสาวะและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอด โดยมีทั้งแบบครีม แผ่นแปะ และแบบห่วง
อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้หญิง
- ห่วงช่วยพยุงในช่องคลอด: ห่วงพยุงช่องคลอดเป็นอุปกรณ์ที่สอดเข้าไปที่มดลูกเพื่อช่วยพยุงทางเดินปัสสาวะ
รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ด้วยการผ่าตัด
หากการรักษาประเภทอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การผ่าตัดชนิดต่าง ๆ ที่ใช้รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีดังนี้
- การผ่าตัดใส่หูรูดท่อปัสสาวะเทียม (Artificial Urinary Sphincter): วิธีนี้จะฝังอุปกรณ์ไว้ที่คอกระเพาะปัสสาวะเพื่อทำหน้าที่ปิดหูรูดกระเพาะปัสสาวะจนกว่าจะรู้สึกปวดปัสสาวะ และเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ ให้กดวาล์วที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังเพื่อทำให้อุปกรณ์แฟบลง เปิดทางให้ปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะไหลออกมาได้
- การผ่าตัดยกเนื้อเยื่อรอบคอกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Neck Suspension): เป็นวิธีที่พยุงทางเดินปัสสาวะและคอกระเพาะปัสสาวะ
- การผ่าตัดรักษาด้วยสายคล้อง (Sling Procedure): วิธีนี้จะใช้วัสดุสังเคราะห์หรือเนื้อเยื่อของร่างกายมาทำเป็นสายคล้องเพื่อปิดทางเดินปัสสาวะเมื่อมีการไอหรือจาม เป็นวิธีที่ใช้รักษาอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้
- การผ่าตัดแก้ไขการหย่อนตัว (Prolapse surgery): แพทย์อาจใช้การผ่าตัดรักษาด้วยสายคล้องร่วมกับการผ่าตัดแก้ไขการหย่อนตัวเพื่อรักษาอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนและอาการปัสสาวะเล็ดราด
แผ่นรองซับและสายสวนปัสสาวะ
หากวิธีรักษาทางการแพทย์ไม่สามารถรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ อาจลองใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น สายสวนปัสสาวะหรือแผ่นรองซับ ซึ่งช่วยขจัดความไม่สบายตัวหรือเพิ่มความสะดวกสบายให้เมื่อปัสสาวะเล็ดหรือราด
เมื่อมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ควรพบแพทย์เมื่อใด
หากอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดบ่อยครั้งหรือกระทบชีวิตประจำวัน แนะนำเป็นอย่างยิ่งให้พบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำหรือรับการรักษา เพราะภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจสร้างข้อจำกัดในการทำกิจกรรมหรือเข้าสังคม กระทบต่อชีวิต และเพิ่มความเสี่ยงที่จะหกล้มในผู้ใหญ่เมื่อรีบไปเข้าห้องน้ำ
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีวิธีป้องกันอย่างไร
- เลี่ยงเครื่องดื่มที่อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองหรือทำงานไวเกินไป เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม
- บริหารอุ้งเชิงกรานเป็นประจำ
- ลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก
- เลิกสูบบุหรี่
- พยายามไม่ให้ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ปัสสาวะล้นกระเพาะ
เมื่อปัสสาวะเล็ด อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลผิว ดังนี้
- ทำความสะอาดด้วยผ้าสะอาด
- เลี่ยงการสวนล้างอวัยวะเพศบ่อย ๆ
- ทาปิโตรเลียมเจลลี่ที่ผิวเพื่อกันปัสสาวะ
ปรับทางเดินไปห้องน้ำให้สะดวกขึ้นด้วยวิธีต่อไปนี้ ซึ่งมีประโยชน์กับผู้ที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ติดไฟตามทางเดินไปห้องน้ำ
- ย้ายของที่อาจทำให้สะดุดระหว่างเดินไปห้องน้ำ เช่น พรมหรือเฟอร์นิเจอร์
การเตรียมตัวพบแพทย์
ปฏิบัติตามขั้นตอนด้านล่างก่อนพบแพทย์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเอง
- ระวังเรื่องข้อห้ามที่ควรปฏิบัติตามก่อนพบแพทย์
- จดจำนวนครั้งที่ปัสสาวะในหนึ่งวัน จดอาการที่มี รวมถึงโรคหรือภาวะอื่นที่เกิดร่วมกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- จดรายชื่อยา อาหารเสริม และวิตามินที่รับประทานอยู่
แพทย์มักถามคำถามต่อไปนี้
- เริ่มมีอาการเมื่อใด
- อาการเกิดขึ้นแล้วหายไปอย่างรวดเร็ว หรือเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำ
- มีอะไรที่อาจทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลงหรือเปล่า
- รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยแค่ไหน
- มีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่สุดหรือไม่
- ดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนบ่อยแค่ไหน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ไม่รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ไหม?
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจมีอาการแย่ลงกว่าเดิมหากไม่ได้รับการรักษาหรือไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยอาจรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นเมื่อมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือยังคงมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบเดิม
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
ความเสี่ยงที่จะมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั้นเพิ่มขึ้นตามอายุ หากคุณมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ วิธีรักษาที่เหมาะสมจะช่วยรักษาอาการ ช่วยให้คุณควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้อีกครั้งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม