เลือกหัวข้อที่อ่าน
- อาการของการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ
- ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้ออีโคไล โดยเชื้อแบคทีเรียอาจเดินทางผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังท่อไตและทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะและไตได้
อาการของการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ
- ปวดท้อง ปวดสีข้าง ปวดหลังด้านล่าง
- รู้สึกปวด เหมือนมีแรงกดทับที่อุ้งเชิงกราน
- ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีขาวขุ่น
- ปัสสาวะบ่อย รู้สึกปวดปัสสาวะมากและกะทันหัน
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นเลือด
หากรู้สึกแสบร้อนเวลาปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสมเพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อราในช่องคลอด ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ โดยในผู้ชายมักมีอาการปวดอุ้งเชิงกรานและบริเวณอัณฑะ
อาการของการติดเชื้อที่ไต
หากติดเชื้อที่ไต จะมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน
ควรพบแพทย์เมื่อไร
ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะอาการของการติดเชื้อที่ไต เนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินหากมีอาการของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ พร้อมกับมีไข้ ปวดหลัง อาเจียน
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การมีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ
- เป็นผู้ป่วยเบาหวาน
- เคยเป็นโรคติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะหรือไตในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
- ใช้ยาฆ่าตัวอสุจิ
- ไม่ขลิบหนังหุ้มปลายหรือมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
ภาวะแทรกซ้อน
การได้รับการรักษาช้าไม่ทันท่วงทีอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อซ้ำโดยเฉพาะในเพศหญิง ซึ่งอาจติดเชื้อซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปในระยะเวลา 6 เดือน หรือตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 ปี
- การคลอดก่อนกำหนดหรือเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยเนื่องจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะระหว่างตั้
- ไตเสียหายถาวร
- ท่อปัสสาวะตีบในเพศชาย
- การติดเชื้อในกระแสเลือด
การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- การเพาะเชื้อปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีแบคทีเรียในปัสสาวะหรือไม่
แพทย์มักให้เข้ารับการตรวจปัสสาวะและการเพาะเชื้อปัสสาวะในกรณีดังต่อไปนี้- ผู้ป่วยมีอาการของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นครั้งแรก
- แพทย์สงสัยว่ามีการติดเชื้อที่ไต
- ผู้ป่วยมีอาการของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะพร้อมกับมีไข้และปวดลูกอัณฑะ
- ผู้ป่วยมีประวัติโรคติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะที่ดื้อยา
- ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะ แต่อาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 - 48 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะบ่อย
- ผู้ป่วยตั้งครรภ์
หากอาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาหรือสงสัยว่าระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน แพทย์อาจทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมดังนี้
- อัลตราซาวด์
- CT สแกน
- ส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
การรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
ยาปฏิชีวนะ
บางครั้งโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะที่อาการไม่รุนแรงนั้นอาจหายได้เอง แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ยาปฏิชีวนะที่ใช้นั้นมีหลายประเภท ได้แก่
- อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
- เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins)
- ดอกซีไซคลีน (Doxycycline)
- ฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin)
- ไนโตรฟูรานโทอิน (Nitrofurantoin)
- ควิโนโลน (Quinolones)
แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาทุกวัน วันเว้นวัน หลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเมื่อมีอาการ โดยหลังรับประทานยาอาการมักดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้หมดครบตามที่แพทย์สั่งแม้ว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่มีอาการใด ๆ แล้วเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา หากติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาในปริมาณน้อย ๆ เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำ
การป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
-
รักษาสุขอนามัยที่ดี
ตามธรรมชาติแล้วผู้หญิงจะมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลังอุจจาระแล้วควรเช็ดจากหน้าไปหลังเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้ออีโคไลจากทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ ระหว่างที่มีประจำเดือนนั้น ควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยทั้งแบบสอดและแบบแผ่นเพื่อเป็นการรักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ซึ่งอาจไปทำลายเชื้อแบคทีเรียเจ้าถิ่นจนเสียสมดุลและทำให้ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงขึ้น
-
ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว
ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำจะทำให้ปวดปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยกำจัดแบคทีเรียออกจากระบบทางเดินปัสสาวะ
-
ปัสสาวะทิ้งทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
การปัสสาวะช่วยกำจัดของเสียและแบคทีเรีย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การปัสสาวะทันทีหลังการมีเพศสัมพันธ์ช่วยชำระล้างแบคทีเรียที่อาจจะเข้าไปในท่อปัสสาวะ หากปัสสาวะไม่ออก ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด
-
หลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าตัวอสุจิและหมวกครอบปากมดลูก
วิธีคุมกำเนิดสองวิธีนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ในบางคน