เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ไวรัสตับอักเสบเอ คืออะไร
- ไวรัสตับอักเสบเอ มีอาการอย่างไร
- อาการติดเชื้อรุนแรงที่ต้องระวังในไวรัสตับอักเสบเอ
- ไวรัสตับอักเสบบี คืออะไร
- ไวรัสตับอักเสบบีในผู้ใหญ่และในเด็กต่างกันอย่างไร
- พาหะไวรัสตับอักเสบบี
- ไวรัสตับอักเสบซี คืออะไร
- ไวรัสตับอักเสบซี มีอาการอย่างไร
- ไวรัสตับอักเสบซี มีวิธีการป้องกันอย่างไร
โรคไวรัสตับอักเสบ (Viral Hepatitis)
โรคไวรัสตับอักเสบ คือโรคร้ายที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบที่ตับ ทำให้ตับเกิดรอยแผลเป็น หรือพังผืด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการตับแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับได้ ซึ่งโรคไวรัสตับอักเสบนั้น เป็นโรคติดต่อที่มีชนิดของเชื้อโรคหลากหลาย ซึ่งในประเทศไทยมีชนิดของไวรัสตับอักเสบที่พบได้บ่อยได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบเอ คืออะไร
ไวรัสตับอักเสบเอ คือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน เป็นอาการบาดเจ็บของตับ เกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาเพียงสั้น ๆ และเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดนี้ สามารถติดต่อกันได้จากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส หรือเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ โดยไวรัสตับอักเสบเอมีระยะเวลาในการฟักตัวและแสดงอาการประมาณ 1 เดือน
ไวรัสตับอักเสบเอ มีอาการอย่างไร
โดยส่วนมาก ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ มักไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อแล้ว เพราะมักจะไม่พบอาการรุนแรง จนถึงขั้นไม่แสดงอาการผิดปกติใดออกมาเลย แต่เมื่อเริ่มแสดงอาการตับอักเสบแล้ว ร่างกายมักมีอาการผิดปกติเช่น เป็นไข้ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีอาการเบื่ออาหาร หรืออาจพบอาการเจ็บที่บริเวณใต้ชายโครงด้านขวาได้ในบางราย เนื่องจากตับมีอาการบวม จากภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน
โดยปกติแล้วผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ สามารถหายจากการเจ็บป่วยได้เอง หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันร่างกายค่อนข้างดี มีร่างกายที่ค่อนข้างแข็งแรง อาการที่พบมักจะไม่รุนแรง หลังจากเริ่มมีอาการประมาณ 1 สัปดาห์ ไข้จะเริ่มลดลง แต่อาจมีภาวะตัวเหลือง หรือดีซ่านตามมา
อาการติดเชื้อรุนแรงที่ต้องระวัง ในไวรัสตับอักเสบเอ
แม้โดยปกติผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ มักจะเกิดอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงนัก แต่จะมีผู้ป่วย 1% ที่เกิดอาการผิดปกติรุนแรง อันตราย ได้แก่ ตัวบวม ขาบวม ท้องบวม ท้องมาน มีอาการซึม สับสน หรือมีเลือดออกผิดปกติได้ นอกจากนี้ตัวไวรัสยังไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น เส้นเลือดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
ไวรัสตับอักเสบเอ มีวิธีป้องกันอย่างไร
เชื้อไวรัสตับอักเสบเอนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แม้ในปัจจุบัน ประเทศไทยจะยังไม่มีนโยบายในการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอให้แก่ประชาชนทุกคน แต่ถ้าหากว่า เป็นกลุ่มคนที่ต้องทำงาน สัมผัส พบปะผู้คนจำนวนมากเป็นประจำ เช่น กลุ่มผู้ทำงานในสถานพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก รวมถึงผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เช่นร้านอาหาร สถานที่ทำงานที่เกี่ยวกับน้ำดื่ม ขอแนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกัน และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
ไวรัสตับอักเสบบี คืออะไร
ไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้ผ่านทางเลือด การคลอดบุตร การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสักที่ใช้เข็มร่วมกัน การเจาะที่ใช้เข็มร่วมกัน และสามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในผู้ใหญ่และในเด็กแตกต่างกันอย่างไร
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีสิ่งที่ต่างกันระหว่างผู้ป่วยเด็ก และผู้ใหญ่ เพราะร่างกายของผู้ใหญ่นั้นมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่าเด็ก จึงสามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้ดีกว่า ส่วนในเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารกแรกเกิดที่รับเชื้อมาจากมารดา ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกจากตัวเองได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะยังคงอยู่ในร่างกายจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เรื้อรัง หรือสามารถเรียกได้อีกอย่างว่า เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับอักเสบบี อันตรายกว่าคิด เสี่ยงเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ
การมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในร่างกายจะส่งผลให้เกิดอาการตับอักเสบ เป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลานาน จนทำให้เกิดแผลเป็นหรือพังผืดในตับได้ ซึ่งถ้าหากสะสมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะตับแข็งได้ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับอีกด้วย
จริงหรือไม่? พาหะไวรัสตับอักเสบบี แพร่เชื้อสู่คนอื่น แต่ไม่ส่งผลเสียต่อตนเอง
ยังมีความเข้าใจผิดกันอยู่บ้าง ว่าคนที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี นั้น จะไม่ส่งผลอันตราย ไม่เกิดความผิดปกติใด ๆ กับตัวเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะความน่ากลัวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี คือ การทำให้ตับของเรามีอาการอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ จนอาจทำให้เกิดอาการตับแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับได้ ดังนั้น หากรู้แน่ชัดแล้วว่าตัวเองเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี มีเชื้อไวรัสในร่างกาย ก็ควรเข้าตรวจวินิจฉัย เพื่อประเมินสภาพการทำงานของตับ รวมถึงตรวจคัดกรองมะเร็งตับตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
ไวรัสตับอักเสบบี มีวิธีป้องกันอย่างไร
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา จึงมีการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีให้กับเด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศไทย จึงทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า เด็กที่เกิดหลังจากปีนั้น ถ้าพาไปรับวัคซีนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็น่าจะมีภูมิของไวรัสตับอักเสบบีเรียบร้อย แต่ใครที่ไม่ทราบสถานะการฉีดวัคซีน หรือเกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 แนะนำว่าควรได้รับการตรวจสถานะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพื่อจะได้ทราบว่าตนมีภูมิหรือมีเชื้อในร่างกายหรือไม่ เพื่อที่จะวางแผนดูแลรักษา หรือ ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้ทันท่วงที
ไวรัสตับอักเสบซี คืออะไร
ไวรัสตับอักเสบซี เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของภาวะตับอักเสบเรื้อรัง เป็นรองแค่ชนิด B และสุราเท่านั้น เชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อเนื่องในตับ ทำให้เกิดพังผืด หรือแผลเป็นในตับ และเมื่อสะสมเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดภาวะตับแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ เชื้อไวรัสตับอักเสบซี สามารถติดต่อผ่านทางเลือด การสัก เจาะ ใช้เข็มร่วมกัน การสัมผัสเลือดของผู้อื่น และทางเพศสัมพันธ์
ไวรัสตับอักเสบซี มีอาการอย่างไร
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ในระยะแรก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดแสดงออกมาให้เห็นเลย แต่สามารถตรวจพบได้ว่าค่าตับมีการอักเสบมากขึ้น จากการตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปี กว่าโรคจะแสดงอาการที่แท้จริง ก็อาจจะไม่ทันการเพราะในร่างกายจะมีอาการตับแข็งแล้ว เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่าน ขาบวม ท้องบวม มีอาการเลือดออกง่ายผิดปกติ อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น
รับเลือดจากการบริจาค เสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบซี หรือไม่
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จากเลือดที่ได้รับบริจาคมาในปัจจุบันนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากในปัจจุบันนี้ เลือดทุกถุงที่ได้รับการบริจาค ได้ผ่านการคัดกรองเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ทุกถุง แต่ถ้ามีประวัติรับเลือดมาเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงในการมีเชื้อไวรัสดังกล่าวในร่างกายได้
ไวรัสตับอักเสบซี มีวิธีการป้องกันอย่างไร
เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนไวรัสตับอักเสบซี ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดนั่นคือการดูแลตัวเอง ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น ไม่สัมผัสเลือดของผู้อื่น มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ป้องกันเสมอ
โรคไวรัสตับอักเสบนั้น เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ทั้งจากการปรับพฤติกรรม ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ถูกหลักสุขอนามัย หากเป็นไปได้ ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ตรวจการทำงานของตับ ตรวจไขมันและพังผืดที่ตับด้วยไฟโบรสแกน