เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
- โรคแอนแทรกซ์ คืออะไร
- เราติดโรคแอนแทรกซ์ได้อย่างไร
- โรคแอนแทรกซ์ มีอาการอย่างไร
- โรคแอนแทรกซ์ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- โรคแอนแทรกซ์ มีวิธีการรักษาอย่างไร
- โรคแอนแทรกซ์ มีวิธีป้องกันอย่างไร
โรคแอนแทรกซ์ คืออะไร
โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างเป็นเส้นยาวรี (Gram positive rod) มักพบในดินและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์ที่เลี้ยงในบ้าน หรือสัตว์ป่าได้ โรคนี้พบได้ทั่วโลก แต่เร็ว ๆ นี้มีข่าวการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านของไทยจึงทำให้มีคนสนใจมากขึ้น และแนะนำให้เฝ้าระวังกัน โดยคนเราสามารถรับเชื้อนี้ได้ จากการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต่างๆ เช่น ผม ขน เนื้อ หรือนม เป็นต้น แต่แอนแทรกซ์จะไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
เราติดโรคแอนแทรกซ์ได้อย่างไร
คนเราสามารถติดได้เมื่อสปอร์ของแบคทีเรียหลุดเข้ามาในร่างกายเพาะตัวขึ้นเกิดการแบ่งตัว และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แบคทีเรียจะผลิตสารพิษ (Toxins) และทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้
สปอร์สามารถเข้าร่างกาย ทั้งทางการหายใจ การโดนบาดหรือมีแผลที่ผิวหนัง ดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ หรืออาหารสุกดิบ นอกจากนี้ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ก็มีความเสี่ยงสูง
โรคแอนแทรกซ์ มีอาการอย่างไร
โรคแอนแทรกซ์ แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ซึ่งจะมีอาการแสดงแตกต่างกัน เนื่องจากสปอร์ของแบคทีเรียสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้หลายทาง อาการจึงสามารถแบ่งได้ดังนี้
- แอนแทรกซ์ในทางเดินหายใจ มักเกิดจากที่สูดดมเชื้อแบคทีเรียเข้าไป มักพบในคนที่สัมผัสผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีการปนเปื้อน เช่น ในอุตสาหกรรมที่มีการตัดขนสัตว์ หรือแปรรูปขนสัตว์ให้เป็นเสื้อผ้า มีรายงานในคนที่ตีกลองขนสัตว์ (Animal hide drums) เป็นต้น มักมีอาการไข้ หนาวสั่น อึดอัดแน่นหน้าอก ไอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน สับสน มึนหัว เหงื่อออกมากจนชุ่ม อ่อนเพลียมาก และปวดเมื่อยตามตัว
- แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง มักเกิดจากการปนเปื้อนที่ผิวหนังที่รอยตัด หรือแผลถลอก มีตุ่มหนองซึ่งมักจะคัน รอบแผลจะมีอาการบวมมาก ต่อมามักพบแผลลึกที่มีศูนย์กลางเป็นสีดำ ซึ่งระยะนี้มักจะไม่คัน ส่วนมากแผลมักพบที่บริเวณหน้า คอ แขน หรือมือ เพราะมักเป็นส่วนที่สัมผัสนอกร่มผ้า
- แอนแทรกซ์ในทางเดินอาหาร มักเกิดจากการกินอาหารสุกดิบ หรือน้ำนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในประเทศที่อาจไม่ได้มีการฉีดวัคซีนต้านแอนแทรกซ์ในปศุสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ได้มีการตรวจก่อนทำการชำแหละเนื้อมาขายหรือบริโภค ผู้ติดเชื้อมักมีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอเวลากลืน เสียงแหบ คอบวม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต คลื่นไส้อาเจียน บางครั้งอาจมีอาเจียนเป็นเลือด หน้าแดง ตาแดง ปวดท้อง ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นเลือด ท้องบวม หรือหมดสติเป็นลมได้
- แอนแทรกซ์จากการฉีดยาเข้าเส้น พบได้น้อย แต่มีรายงานในยุโรป ในผู้ติดยาเสพติดแบบฉีดเข้าเส้น เช่น เฮโรอีน อาจมีไข้ หนาวสั่น ที่ผิวหนังบริเวณที่ฉีดมักพบเป็นกลุ่มฝีหนองขนาดเล็กหรือผิวที่บวมขึ้นมา ต่อมาค่อยมีแผลตรงกลางสีดำที่ไม่เจ็บ แต่บวมรอบแผล ถ้าฉีดลึกอาจมีฝีหนองขนาดใหญ่ใต้ชั้นผิวหนังได้ แม้อาการจะคล้ายกลุ่มแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง แต่อาจจะทำให้เกิดการกระจายได้อย่างรวดเร็วเมื่อเชื้อเข้ากระแสเลือด
โรคแอนแทรกซ์ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร>
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่สงสัย ร่วมกับความเสี่ยง หากเกิดจากการหายใจ ควรตรวจเอกซเรย์ หรือ การตรวจซีทีสแกน โดยอาจเห็นมีน้ำในปอด หรือ ช่องอกที่กว้างขึ้น (Mediastinal widening)
การวินิจฉัยยืนยันสามารถทำได้โดยการวัดแอนติบอดีหรือระดับพิษในเลือด หรือตรวจแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิสในสิ่งส่งตรวจ ซึ่งได้แก่ เลือด ผิวหนังที่มีรอยโรค น้ำไขสันหลัง เสมหะ หรือน้ำในปอด โดยหากเก็บสิ่งส่งตรวจก่อนให้ยาปฏิชีวนะ จะทำให้มีโอกาสสามารถพบเชื้อได้มากขึ้น
โรคแอนแทรกซ์ มีวิธีการรักษาอย่างไร
รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนนิซิลิน ด๊อกซีไซคคลิน หรือกลุ่มควิโนโลน นอกจากนี้ยังมียาที่ต้านพิษที่สร้างจากเชื้อและเป็นยาปฏิชีวนะด้วย คือ คลินดาไมซิน ลิเนโซลิด
บางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายขนานหากมีอาการรุนแรง เช่น ถ้าติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง ต้องใช้ยาอย่างน้อย 3 ตัว โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody) และอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ที่จำเพาะกับเชื้อก็มีการนำมาใช้ด้วย
ผู้ป่วยบางรายแม้ว่าจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แล้ว แต่พิษจากเชื้ออาจยังมีผลรุนแรงที่ต้องนอนในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
โรคแอนแทรกซ์ มีวิธีป้องกันอย่างไร
หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ป่วย รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต่าง ๆ เช่น ของชำร่วยจากขนหรือหนังสัตว์ งดการกินน้ำหรือนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อหรืออาจมีการปนเปื้อน งดกินเนื้อสัตว์ที่อาจมีเชื้อโดยเฉพาะหากปรุงดิบหรือกึ่งสุกดิบ
ผู้ที่สัมผัสเชื้อแล้ว แต่ยังไม่มีอาการ แนะนำให้กินยาป้องกันหลังสัมผัส (Post exposure prophylaxis; PEP) โดยต้องกินยาปฏิชีวนะด๊อกซีไซคคลิน หรือกลุ่มควิโนโลน นานถึง 60 วัน
โรคแอนแทรกซ์ มีวัคซีนป้องกันโรคหรือไม่
วัคซีนแอนแทรกซ์ เดิมมีให้ใช้ได้เฉพาะบางกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ในค่ายทหาร หรือในห้องปฏิบัติการ แต่ต่อมามีการขยายการใช้ในผู้ที่สัมผัสเชื้อที่สงสัยว่าเป็นหรือมีอาการแสดง และผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแล้ว
หากสงสัยว่าท่าน หรือสัตว์เลี้ยงของท่าน มีความเสี่ยงหรือสัมผัสเชื้อแอนแทรกซ์ ควรไปพบแพทย์รายงานให้บุคลากรทางสาธารณสุขทราบ