Abdominal Discomfor Banner

ปวดมวนท้อง 13 ตำแหน่ง ปวดตรงไหน ต้องไปหาหมอ

ปวดมวนท้อง (Abdominal discomfort) คือ อาการปวดท้องที่รู้สึกปั่นป่วน ไม่สบายท้อง มวนท้อง แน่นท้อง พะอืดพะอม อึดอัดท้อง อาการปวดมวนท้องเกิดขึ้นได้ทุกตำแหน่งทั่วบริเวณท้องตั้งแต่ท้องส่วนบน ตรงกลางท้อง

แชร์

ปวดมวนท้อง (Abdominal Discomfort)

ปวดมวนท้อง (Abdominal discomfort) คือ อาการปวดท้องที่รู้สึกปั่นป่วน ไม่สบายท้อง มวนท้อง แน่นท้อง พะอืดพะอม อึดอัดท้อง อาการปวดมวนท้องเกิดขึ้นได้ทุกตำแหน่งทั่วบริเวณท้องตั้งแต่ท้องส่วนบน ตรงกลางท้อง หรือท้องส่วนล่างโดยอาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยทั่วไป เช่น อาหารไม่ย่อย แก๊สในกระเพาะอาหาร หรือท้องผูก ไปจนถึงโรคในระบบทางเดินอาหารและตับ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้แปรปรวน หรือนิ่วในถุงน้ำดีที่อาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันและจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ตรงจุด ผู้ที่มีอาการปวดมวนท้องต่อเนื่องนานเกิน 48 ชั่วโมงโดยอาการไม่ทุเลาลง ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ

ปวดมวนท้อง มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

อาการปวดมวนท้องเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมีตำแหน่งปวด ระดับความรุนแรง อาการ และอาการร่วมแตกต่างกันไป อาการปวดมวนท้องมีสาเหตุและปัจจัยดังต่อไปนี้

ปวดมวนท้องบริเวณท้องส่วนบน

1. อาหารไม่ย่อย

อาการปวดมวนท้องจากอาหารไม่ย่อย (Indigestion) มีสาเหตุจากการทานอาหารมากเกินไป ทานอาหารเร็วเกินไป อาหารไขมันสูง อาหารย่อยยาก อาหารรสเผ็ดจัด คาเฟอีน แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือแม้กระทั่งความวิตกกังวลที่ทำให้มีอาการปวดมวนท้อง พะอืดพะอม ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง และไม่สบายท้อง

2. แก๊สในกระเพาะอาหาร

อาการปวดมวนท้องจากแก๊สในกระเพาะอาหาร (Gas and gas pains) มีสาเหตุจากการกลืนอากาศขณะทานอาหารหรือดื่มน้ำอย่างรวดเร็ว การเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือแม้กระทั่งการสูบบุหรี่ที่ทำให้เกิดแก๊สสะสมในทางเดินอาหารส่วนบน รวมถึงการมีแก๊สสะสมในลำไส้ใหญ่ซึ่งเกิดจากการย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต แป้ง น้ำตาล หรือใยอาหารในลำไส้ใหญ่ (ในผู้ที่ไม่มีเอมไซม์ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตในกระเพาะอาหาร) ทำให้มีอาการปวดมวนท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง อึดอัดท้อง เรอ และผายลมบ่อย

3. แผลในกระเพาะอาหาร

อาการปวดมวนท้องจากแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcers) มีสาเหตุจากกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารกัดเยื่อบุผนังกระเพาะอาหารเนื่องจากการทานอาหารไม่เป็นเวลา อาหารรสจัด ยากลุ่มกระตุ้นการสร้างกรด ยารักษากระดูกและข้ออักเสบบางชนิด ความเครียด การสูบบุหรี่ และการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) ที่ทำให้มีอาการปวดท้อง จุกแน่นท้องช่วงบน ปวดมวนท้อง แสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ขณะท้องว่างหรืออิ่มท้อง ท้องร้องโครกคราก มีลมในท้อง แน่นท้อง และท้องอืดหลังทานอาหาร

4. กระเพาะอาหารอักเสบ

อาการปวดมวนท้องจากกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) มีสาเหตุหลายประการ เช่น การทานอาหารไม่เป็นเวลา การอดอาหาร การทานยาแก้ปวดหรือยาต้านการอักเสบ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เครื่องดื่มคาเฟอีน การมีอาการเยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) ที่ทำให้มีอาการปวดท้อง มวนท้อง หรือปวดเกร็ง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และเรอบ่อย หากเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจะทำให้มีอาการปวดท้อง เสียดท้อง แสบท้อง ปวดตื้อ ๆ หรือปวดจุกใต้ลิ้นปี่หรือช่องท้องส่วนบน มีอาการปวดท้องขณะท้องว่าง อิ่มท้อง หรือหิว และอาจมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน

Abdominal Discomfort 3

5. อาหารเป็นพิษ

อาการปวดมวนท้องจากอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) มีสาเหตุจากการทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต การทานอาหารค้างคืน อาหารปรุงไม่สุก อาหารไม่สะอาด หรืออาหารปนเปื้อนโลหะหนักทำให้มีอาการมวนท้องคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และอาจมีอาการคล้ายปวดบิด ท้องเสีย ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย และมีไข้ร่วม

6. กรดไหลย้อน

อาการปวดมวนท้องจากกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวบ่อยกว่าปกติ ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารและทำให้มีอาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก แสบท้องใต้ลิ้นปี่ ปวดท้องอย่างเฉียบพลัน ปวดมวนท้อง ปวดท้องตื้อ ๆ แน่นท้อง ท้องอืด เรอเปรี้ยว เรอบ่อย มีน้ำย่อยขย้อนขึ้นมาหลังทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารรสเผ็ด อาหารไขมันสูง หรือแอลกอฮอล์ อาจมีอาการอาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

7. นิ่วในถุงน้ำดี

อาการปวดมวนท้องจากนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) มีสาเหตุจากตกผลึกของไขมัน คอลเลสเตอรอล หรือสาร  บิลิรูบินภายในถุงน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดีอาจทำให้มีอาการปวดท้อง มวนทอง ปวดหน่วง ปวดเสียด ปวดจุกแน่นชายโครงขวาใต้ลิ้นปี่ต่อเนื่อง 4-6 ชั่วโมง ซึ่งอาจร้าวไปที่สะบักขวา ร่วมกับมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาจมีอาการปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ และอาเจียนตามมา ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียด

8. เมาค้าง

ปวดมวนท้องจากอาการเมาค้าง (Hangovers) มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จนร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเซลล์และในเลือดสูง ทำให้ไตขับน้ำและปัสสาวะออกมามากผิดปกติ จนทำให้ร่างกายขาดน้ำ เกลือแร่ และสารอาหารสำคัญ เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม และวิตามินบี ทำให้มีอาการปวดหัว เวียนหัว อ่อนเพลีย คอแห้ง กระหายน้ำ และอาจมีอาการปวดมวนท้องคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียร่วม ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ ครั้งละ 1-2 แก้ว เพื่อชดเชยปริมาณน้ำในร่างกายที่สูญเสียไป หากภายใน 24 ชั่วโมง อาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์

ปวดมวนท้องบริเวณท้องส่วนกลาง

9. ลำไส้แปรปรวน

อาการปวดมวนท้องจากลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome: IBS) มีสาเหตุจากการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้ส่วนปลายที่มีการบีบรัดตัวมากเกินไป หรือมีอาการไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารรสเผ็ด คาเฟอีน หรือความเครียด ส่งผลให้มีอาการปวดมวนท้องที่บริเวณท้องด้านซ้าย ปวดเกร็ง แน่นท้อง อึดอัดท้อง และมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับท้องเสีย และมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน บางคนอาจมีอาการปวดมากขึ้นหากมีรอบเดือน

ปวดมวนท้องบริเวณท้องส่วนล่าง

Abdominal Discomfort 2

10. ท้องผูก

อาการปวดมวนท้องจากอาการท้องผูก (Constipation) มีสาเหตุจากการที่ลำไส้บีบตัวช้าหรือลำไส้เคลื่อนตัวช้า ทำให้ไม่สามารถขับถ่ายได้ตามสุขนิสัย ทำให้อุจจาระตกค้างในลำไส้เป็นเวลานาน ร่างกายดูดซึมน้ำในอุจจาระ ทำให้อุจจาระแข็งตัว เกิดแก๊สในลำไส้ และทำให้มีอาการปวดมวนท้อง ถ่ายไม่ออก ถ่ายลำบาก แน่นท้อง อึดอัดท้อง และปวดเกร็งท้อง อาการท้องผูกสามารถบรรเทาได้ด้วยการทานอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำให้เพียงพอ การทานยาระบาย และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

11. ไส้ติ่งอักเสบ

อาการปวดมวนท้องจากไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) มีสาเหตุจากการอักเสบอุดตันบริเวณโพรงไส้ติ่งจนเกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีแรงดันในไส้ติ่งสูงขึ้นและเกิดการอักเสบ บวม ส่งผลให้มีอาการปวดแน่นตรงลิ้นปี่ ปวดถี่ตรงกลางท้องรอบ ๆ สะดือ อาการปวดมวนท้องคล้ายอาการกระเพาะอาหารอักเสบ คือ มีอาการปวดตื้อ ๆ ปวดบีบ ๆ คลาย ๆ ปวดท้องคล้ายท้องเสียแต่รู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด จากนั้นอาการปวดจะค่อย ๆ ย้ายตำแหน่งลงมาด้านขวาล่างบริเวณท้องน้อย โดยอาการปวดจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น หากปล่อยไว้จะเป็นไส้ติ่งอักเสบและอาจแตกกระจายภายในช่องท้องซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบโดยเร็ว

12. กะเปาะลำไส้อักเสบ

อาการปวนมวนท้องจากกะเปาะลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) พบได้บ่อยสุดที่ลำไส้ใหญ่ กะเปาะลำไส้อักเสบมีสาเหตุเกิดจากการอักเสบ ติดเชื้อที่ถุงลมเล็ก ๆ (Diverticula) ที่บนผนังทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการปวดมวนท้อง โดยมักปวดที่ท้องน้อยด้านซ้ายล่างที่ทำให้มีไข้ และการเปลี่ยนแปลงในการขับถ่าย ในกรณีที่อาการอักเสบไม่รุนแรงมาก แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะและปรับเปลี่ยนเมนูอาหาร แต่ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรง แพทย์อาจขอให้นอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการหรืออาจพิจารณาการผ่าตัด อาการปวดมวนท้องจากกะเปาะลำไส้อักเสบสามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ลดการทานเนื้อสัตว์ และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

13. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

อาการปวดมวนท้องจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีสาเหตุจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่นอกโพรงมดลูก เช่น ผนังมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ หรืออวัยวะอื่น ๆ ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยบริเวณอุ้งเชิงกรานช่วงก่อนและระหว่างมีปะจำเดือน ปวดท้องน้อยขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ปวดมวนท้องคล้ายอยากถ่ายอุจจาระ ปวดมวนท้อง ถ่ายบ่อย ปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง ปวดเสียดในช่องท้อง ลำไส้แปรปรวน ท้องอืด ท้องเสีย และถ่ายเป็นเลือด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียด

Abdominal Discomfort 1

ปวดมวนท้องบ่อย ๆ อย่าวางใจ ควรรีบไปพบแพทย์ ตรวจช่องท้อง

อาการปวดมวนท้องมีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยตั้งแต่สาเหตุทั่วไป เช่น การทานอาหารรสจัด ยาบางชนิด หรือความวิตกกังวล จนถึงภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจภายในช่องท้องอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยโรคและอาการ ผู้ที่มีอาการปวดมวนท้องบ่อย ๆ ปวดมวนท้องเรื้อรังไม่หาย ปวดมวนทั่วท้องหรือเฉพาะจุด มีอาการกดเจ็บทั่วท้องหรือกดเจ็บเฉพาะจุด และ/หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น ถ่ายเป็นเลือด คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการปวดท้องที่รุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษาที่ต้นเหตุ อาการปวดมวนท้องสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยารักษาโรคเฉพาะทาง การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารหรือการผ่าตัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 05 ก.พ. 2024

แชร์