สารพัดปัญหาเรื่อง “น้องสาว” ตกขาวผิดปกติจากเชื้อรา
ปกติผู้หญิงสามารถมีตกขาวได้ โดยลักษณะของตกขาวปกติ จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงของรอบเดือน ช่วงก่อนไข่ตก (ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนมา) จะมีลักษณะเป็นมูกใสยืด ส่วนหลังไข่ตก จะเปลี่ยนเป็นลักษณะสีขาวคล้ายแป้ง อย่างไรก็ตาม ตกขาวปกติจะไม่ทำให้มีอาการคัน ระคายเคือง หรือแสบช่องคลอด ไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่มีอาการอื่น เช่น ปวดท้องน้อย หรือเป็นไข้ ร่วมด้วย
ถ้าตกขาวมีลักษณะผิดไปจากนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งเป็นไปได้หลายสาเหตุ จะมีลักษณะตกขาวต่างกันไปตามเชื้อที่เป็นสาเหตุ เช่น ตกขาวเหมือนแป้งเปียกเป็นก้อนคล้ายคราบนมเด็กร่วมกับมีอาการคันมาก มักเกิดจากเชื้อรา ตกขาวสีเหลืองมีกลิ่นเหม็น มีอาการปวดท้อง มีไข้ร่วมด้วย เกิดจากอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ตกขาวสีขาวเทามีกลิ่นคาวปลา เกิดจากไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด โดยการรักษานั้น จะรักษาตามสาเหตุ ดังนั้น หากมีลักษณะตกขาวผิดปกติไป ควรไปพบสูตินรีแพทย์ตรวจภายในเพื่อจะได้รักษาตรงสาเหตุ
น้องสาวมีตกขาวผิดปกติ คัน เกิดจากอะไร?
ตกขาวผิดปกติ คัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ตกขาวมีลักษณะเป็นสีขาวข้นเหมือนแป้งเปียกเป็นก้อนคล้ายคราบนมเด็ก ลักษณะเด่นอีกอย่างของตกขาวที่เกิดจากเชื้อราคือมีอาการคันมาก นอกจากนี้ ในบางราย นอกจากตกขาวผิดปกติแล้ว อาจมีผื่นแดงคันบริเวณอวัยวะเพศด้านนอก เช่น บริเวณแคมและซอกขาหนีบที่เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนังร่วมด้วย
ต้นตอของปัญหาตกขาวจากการติดเชื้อราคืออะไร?
โดยปกติแล้ว ในช่องคลอดสามารถพบเชื้อราได้ ในปริมาณน้อยและไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ อย่างไรก็ตามหากมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ที่เป็นเจ้าถิ่น (Normal flora) ในช่องคลอดปริมาณลดลง แต่มีเชื้อราเจริญเติบโตในปริมาณที่มากขึ้น ก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติได้
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดตกขาวผิดปกติ คัน จากเชื้อรา เช่น ความอับชื้น โดยความชื้นจะทำให้เชื้อราเติบโตได้ดี การรับประทานยาฆ่าเชื้ออาจมีผลทำให้แบคทีเรียเจ้าถิ่นในช่องคลอดตายลง ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตขึ้นมาแทน ภาวะในช่องคลอดของคนที่เป็นเบาหวาน จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี เป็นต้น
น้องสาวมีตกขาวผิดปกติ คัน ทำอย่างไรดี?
ถ้ามีอาการตกขาวผิดปกติ แนะนำว่าควรไปพบสูตินรีแพทย์ตรวจภายใน เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยให้ถูกต้อง โดยแพทย์จะทำการใส่อุปกรณ์เข้าไปดูในช่องคลอด เพื่อดูลักษณะของตกขาว แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคได้จากประวัติ ร่วมกับลักษณะของตกขาวผิดปกติที่พบ ในกรณีที่ประวัติกับการตรวจร่างกาย ตรวจภายในยังไม่ชัดเจน แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างจากในช่องคลอด เพื่อส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการว่าตรวจพบเชื้ออะไรหรือไม่
การรักษาเชื้อราในช่องคลอดทำอย่างไร?
หากแพทย์วินิจฉัยแล้ว พบว่าเกิดจากการติดเชื้อราในช่องคลอดจริง การรักษาจะรักษาโดยการใช้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งอาจจะเป็นยาเหน็บ สอดในช่องคลอดหรือยารับประทาน ควรใช้ยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง โดยทั่วไป อาการมักดีขึ้นใน 2-3 วัน ในกรณีที่มีผื่นแดงคัน ที่อวัยวะเพศภายนอกจากการติดเชื้อราร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาทาฆ่าเชื้อรา มาทาบริเวณที่เป็นผื่นคันด้วย
นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ควรสังเกตว่า ตนเองมีพฤติกรรมอะไรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอด เช่น ดูน้ำตาลในเลือดว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ การรับประทานยาฆ่าเชื้อที่ไม่เหมาะสม การทำความสะอาดบริเวณน้องสาวที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ และเมื่อพบสาเหตุแล้ว ก็ควรปรับพฤติกรรมเหล่านี้ รักษาความสะอาดของน้องสาวให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะนี้เกิดเป็นซ้ำอีก
การปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เช่น การสวมใส่กางเกงในที่ผ้าโปร่งสบาย ไม่อับชื้น หลังทำความสะอาดอวัยวะเพศควรเช็ดให้แห้งทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการกินยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น
หากมีตกขาวผิดปกติ คัน จากการติดเชื้อราซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ควรทำอย่างไรดี?
กรณีที่มีการติดเชื้อราในช่องคลอดบ่อยคือ ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อราในช่องคลอดมากกว่าหรือเท่ากับ 4 ครั้ง ใน 1 ปี แพทย์อาจมีการให้ยาฆ่าเชื้อราไปรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อราไว้เลย
อย่างไรก็ตาม การปรับการใช้ชีวิต เช่น ใส่กางเกงในที่ผ้าโปร่งสบาย ไม่อับชื้น หลังทำความสะอาดอวัยวะเพศ เช็ดให้แห้งทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการกินยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น ก็มีความสำคัญเช่นกัน ควรทำควบคู่กันไปกับการรับประทานยาเพื่อป้องกันด้วย
บทความโดย
พญ.พิมพกา ชวนะเวสน์
สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ประวัติแพทย์