สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา คุณถนัดใช้สมองซีกไหน?
เชื่อกันว่าสมองซีกซ้าย สมองซีกขวากำหนดความถนัด บุคลิกภาพ และพฤติกรรมของบุคคล ผู้ที่ถนัดใช้สมองซีกซ้ายมักมีความสามารถด้านตัวเลข ตรรกะ หรือการคิดวิเคราะห์ ในขณะที่ผู้ที่ถนัดใช้สมองซีกขวามักมีความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะการสื่อสาร หรือจินตนาการ แท้จริงแล้วความเชื่อนี้เป็นจริงหรือไม่ แม้สมองส่วนต่าง ๆ มีหน้าที่การทำงานแตกต่างกัน แต่สมองทุกส่วนต่างทำงานเชื่อมโยงประสานกันเป็นองค์รวม
สมองทำงานอย่างไร?
สมอง (Brain) เป็นอวัยวะที่มีการทำงานที่ซับซ้อน ทำหน้าที่ควบคุม เชื่อมโยงการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเข้าไว้ด้วยกันทั้งประสาทสัมผัส การหายใจ การมองเห็น ความจำ การรับรู้ ความคิด ความหิว การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และการตอบสนองทางร่างกาย ภายในสมองมีเซลล์ประสาท 3 ชนิดที่ทำหน้าแตกต่างกัน ทั้งเซลล์ประสาทรับความรู้สึก (Sensory neurons) เซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neurons) และเซลล์ประสาทประสานงาน (Interneurons) ที่ทำหน้าที่รับข้อมูล ประมวลผล และแปรผลสิ่งที่สัมผัสหรือมองเห็น จากนั้นจึงส่งสัญญาณข้อมูลไปยังระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system: CNS) และไขสันหลังผ่านการกระตุ้นและเหนี่ยวนำของคลื่นไฟฟ้าและสารเคมีในร่างกายไปยังเครือข่ายของเซลล์ประสาทเชื่อมโยงทั่วร่างกายเพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้า
สมองมีกี่ส่วน?
สมองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน มีเซลล์ประสาทมากกว่า 1 แสนล้านเซลล์และมีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง รับข้อมูล และส่งสัญญาณระหว่างสิ่งเร้าภายนอกเข้าสู่เซลล์ประสาทรับความรู้สึกภายในถึงกว่า 100 ล้านล้านเซลล์เพื่อประมวลผล โดยสมองแต่ละส่วนมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ซีรีบรัม (Cerebrum) เป็นสมองส่วนที่ใหญ่ที่สุด หรือเรียกว่าซีกสมองใหญ่ (Cerebral hemisphere) ตั้งอยู่บริเวณส่วนหน้า ด้านบนของกะโหลกศีรษะ แบ่งออกเป็น 2 ซีก สมองซีกซ้าย (Left cerebral hemisphere) และสมองซีกขวา (Right cerebral hemisphere) ที่ทำหน้าที่แปรผลข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัสการรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก การใช้เหตุผล และการเรียนรู้ เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการคิด การเรียงลำดับความคิด และนำไปสู่การลงมือทำ
- ซีรีเบลลัม (Cerebellum) หรือสมองน้อย คือ สมองส่วนที่อยู่ด้านหลังของกะโหลกศีรษะ อยู่เหนือและด้านหลังส่วนที่เชื่อมกับไขสันหลังที่ควบคุมการทรงตัวและสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การหายใจ การย่อยอาหาร และการกลืนโดยการรับคำสั่งจากเซลล์ประสาทสั่งการที่ถ่ายทอดไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ก้านสมอง (Brainstem) คือสมองส่วนที่อยู่ล่างสุด มีลักษณะเป็นก้านอยู่ด้านล่างที่เชื่อมต่อสมองส่วนอื่นกับไขสันหลัง ก้านสมองส่งสัญญาณการรับรู้และสั่งการไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ทำงาน เช่น การหายใจ อุณหภูมิร่างกาย การควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย วงจรการนอนหลับ และการควบคุมการทำงานของจิตใต้สำนึก
ทฤษฎีสมองซีกซ้าย ซีกขวา คืออะไร?
ทฤษฎีสมองซีกซ้าย สมองซีกขวาเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายหน้าที่และการทำงานที่แตกต่างกันของสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) ทั้ง 2 ซีกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา (Neuropsychologist) โรเจอร์ สเพอร์รีย์ (Dr. Roger W. Sperry) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีระวิทยาและการแพทย์ในปี ค. ศ. 1981 ที่ค้นพบทฤษฎีการเรียนรู้ หน้าที่ และการควบคุมอวัยวะที่แตกต่างกันของสมองซีกซ้าย (Left Hemisphere) และสมองซีกขวา (Right Hemisphere)
โดยพบว่าสมองทั้ง 2 ซีกทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะข้างซ้าย-ขวาสลับข้างกัน (Bilaterally symmetric) สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ควบคุม สั่งการการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกขวา สมองซีกขวาควบคุม สั่งการการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกซ้าย สมองทั้ง 2 ซีกยังกำหนดคุณลักษณะ ความถนัดเฉพาะ ความคิด และพฤติกรรมส่วนบุคคลในภาพรวมอีกด้วย
สมองซีกซ้าย สมองซีกขวาทำงานแยกกันหรือไม่?
สมองซีกซ้าย และสมองซีกขวาประกอบด้วยกลีบสมองข้างละ 6 กลีบ สมองแต่ละซีกมีทั้งส่วนที่ทำหน้าที่ร่วมกันและแยกกัน แต่ไม่ขาดกันออกจากกัน สมองทั้ง 2 ซีกทำงานเชื่อมโยงประสานกัน และสามารถสื่อสารถึงกันผ่านใยประสาท (Nerve fiber) ในส่วนที่เรียกว่า คอร์ปัส แคลโลซัม (Corpus callosum) ในกรณีที่สมองซีกใดซีกหนึ่งได้รับบาดเจ็บ สมองอีกซีกยังสามารถทำงานได้ตามปกติโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการสื่อสารจากสมองซีกที่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา ทำหน้าที่อย่างไร?
ตามทฤษฎีการทำงานของสมองของ Dr. Sperry สมองซีกซ้าย และสมองซีกขวาควบคุมการทำงานของอวัยวะร่างกายต่างกัน รวมถึงกำหนดความถนัดเฉพาะบุคคล ความคิด และพฤติกรรม คุณลักษณะของสมองทั้ง 2 ซีกมีดังต่อไปนี้
สมองซีกซ้าย
สมองซีกซ้ายทำหน้าที่รับข้อมูลและควบคุมการใช้ภาษา การประมวลคำศัพท์ การสร้างประโยค และการใช้คำพูดในการสื่อสาร ตรรกะ ทักษะด้านตัวเลข วิทยาศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ ความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน รวมถึงทักษะด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของมือขวา และร่างกายซีกขวา คุณลักษณะของสมองซีกซ้าย ได้แก่
- ตรรกะ
- ข้อเท็จจริง
- การคิดวิเคราะห์
- การให้เหตุผล การคิดที่เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน
- การจัดลำดับความคิด
- การคิดคำพูด การพูด
- คณิตศาสตร์ ตัวเลข การคำนวณ
- วิทยาศาสตร์
- การวางกลยุทธ์
- การแก้ปัญหา
สมองซีกขวา
สมองซีกขวาทำหน้าที่ควบคุมการรับรู้เชิงมิติสัมพันธ์ (Spatial ability) การมองเห็นภาพแบบ 3 มิติ การประมวลผลภาพ การจัดลำดับทางความคิด ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ จินตนาการ การจดจำใบหน้า ผัสสะด้านดนตรี สุนทรียศาสตร์ บริบทการสื่อสาร การตีความภาษากาย สัญลักษณ์ทางสังคม สมองซีกขวาทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของมือซ้าย และร่างกายซีกซ้าย คุณลักษณะของสมองซีกขวาได้แก่
- ความจำ
- ความคิดสร้างสรรค์
- จินตนาการ
- การคิดแบบองค์รวม หรือการมองเชิงภาพรวม (Big picture)
- สัญชาตญาณ การหยั่งรู้
- สามัญสำนึก
- ศิลปะ
- ดนตรี จังหวะ
- การรับรู้ภาษากาย
- ความเข้าใจสัญลักษณ์ต่าง ๆ
- การประมวลผลต่อสิ่งที่มองเห็น
- การตอบสนองทางอารมณ์
ทฤษฎีสมองซีกซ้าย ซีกขวา มีข้อเท็จจริงอย่างไร?
จากรายงานผลการวิจัยผู้เข้าร่วมทดสอบกว่า 1,000 คนแบบไม่เจาะจงบุคลิกภาพ โดยทำการสแกนสมองในตำแหน่งต่าง ๆ กว่า 7,000 ตำแหน่ง พบว่าผู้เข้าร่วมทดสอบต่างใช้สมองทั้งซีกซ้าย และซีกขวาในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน ในงานวิจัยพบว่าผู้เข้าทดสอบบางคนมีความถนัดในงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ในขณะที่ผู้เข้าทดสอบบางคนมีความถนัดในงานที่ใช้การคิดวิเคราะห์มากกว่า ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะสมองซีกหนึ่งมีประสิทธิภาพเหนือกว่า หรือด้อยกว่า แต่ด้วยทักษะการทำงานในชีวิตประจำวันที่ทำให้บุคคลเกิดความชำนาญในทักษะนั้นมากกว่าทักษะอื่น ซึ่งหากบุคคลได้รับการฝึกฝนทักษะที่ไม่ชำนาญ อย่างต่อเนื่อง สมองก็จะได้รับการกระตุ้นการเรียนรู้และเกิดความชำนาญในทักษะนั้นได้ในที่สุด
เราจะลับสมองซีกซ้าย สมองซีกขวาได้อย่างไร?
เป็นเรื่องปกติที่บุคคลมีทักษะบางอย่างโดนเด่น ในขณะที่ทักษะบางอย่างด้อยกว่า แท้จริงแล้วบุคคลสามารถฝึกฝนทักษะที่ไม่ชำนาญให้เก่งขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนทักษะที่ไม่ชำนาญนั้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นให้สมองตื่นตัว เกิดการเรียนรู้ และเกิดความชำนาญในทักษะนั้น ตัวอย่างวิธีการฝึกลับสมองมีดังต่อไปนี้
- เป็นผู้ไม่หยุดเรียนรู้ เป็นนักเรียนรู้ไปตลอดชีวิต (Lifelong learning)
- ฝึกนิสัยการเป็นผู้รักการอ่าน ฝึกทักษะการฟัง การพูด และการเขียน
- การเข้าชั้นเรียนใหม่ ๆ เพื่อลับสมองอีกซีกหนึ่ง เช่น หากเป็นผู้ที่ถนัดตัวเลข ลองเข้าชั้นเรียนศิลปะ หรือดนตรี
- ฝึกเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ (Crossword) เกมต่อจิ๊กซอว์ (Jigsaw puzzle) เกมซูโดกุ (Sudoku) หรือเกมสะกดคำ (Spelling bee)
- เล่นเกมฝึกความจำ เกมกระดาน เกมการ์ด หรือเกมออนไลน์
- ฝึกวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ หรือวิธีการทำงานใหม่ ๆ
- ฝึกการจดจำรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ
- สอนทักษะที่ตนชำนาญแก่ผู้อื่น
- ฝึกการพูดต่อหน้าคนหมู่มาก
- ฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม
- ฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ การคิดเลขเร็ว
- เข้าคลาสเรียนภาษาใหม่ ๆ
- เข้าคลาสเรียนการเต้นจังหวะต่าง ๆ
- เข้าคลาสเรียนดนตรี
- ฝึกการทำสมาธิ
สมองซีกซ้ายขวา สามารถกระตุ้นพัฒนาการได้หรือไม่?
สมองซีกซ้าย และสมองซีกขวาสามารถกระตุ้นพัฒนาการได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ฝึกฝนทักษะการคิด และการเรียนรู้ตลอดเวลา
- ฝึกการเข้าสังคม พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น
- ทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ไม่เครียด และรู้จักผ่อนคลาย
สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา พัฒนาไปพร้อมกัน มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ
แม้สมองซีกซ้าย และสมองซีกขวาจะกำหนดความถนัดและควบคุมอวัยวะต่างกัน แต่สมองทั้ง 2 ซีกทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างล้ำลึก หากนักฟิสิกส์ปราศจากจินตนาการ สมมุติฐานนั้นคงไม่สามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จได้ เช่นเดียวกันกับนักออกแบบที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการแต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง สิ่งที่ออกแบบก็คงไม่สามารถสร้างให้สำเร็จได้เช่นกัน
ความเป็นเลิศของบุคคล ไม่ได้อยู่ที่ประสิทธิภาพที่เหนือกว่าของสมองซีกใดซีกหนึ่ง แต่อยู่ที่การทำงานส่งเสริมกันและกันของสมองทั้ง 2 ซีกที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของบุคคลให้ดีเลิศ สมองทั้ง 2 ซีก จึงควรได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการรอบด้านให้ได้ผลการทำงานที่ดีขึ้น เพื่อที่บุคคลจะสามารถใช้ศักยภาพของตนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ