เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) วิธีใช้ และคำแนะนำการใช้ AED - Automated External Defibrillators (AED) - How to use an AED and Tips

AED เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ

เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED สามารถวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยและปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นตามจังหวะปกติอีกครั้ง

แชร์

เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED

พวกเราอาจจะเคยเห็นเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED ในที่สาธารณะที่คนพลุกพล่าน เช่น โรงเรียน สนามบิน ห้างสรรพสินค้า หรือที่อื่น ๆ กันมาบ้าง เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED มีน้ำหนักเบา พกพาได้สะดวก สามารถวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยและปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นตามจังหวะปกติอีกครั้ง เวลาที่หัวใจหยุดเต้น อวัยวะสำคัญ ๆ ในร่างกายจะขาดออกซิเจนและได้รับความเสียหาย เป็นอันตรายต่อชีวิตหรืออาจถึงตาย เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED สามารถช่วยผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยนั้นจะสูงขึ้นเมื่อใช้เครื่อง AED ร่วมกับทำการช่วยฟื้นชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

วิธีใช้เครื่อง AED เมื่อพบผู้หมดสติ

  1. ลองส่งเสียงเรียกหรืบตบบริเวณไหล่ของผู้ที่หมดสติดูก่อนว่ารู้ตัวหรือมีการตอบสนองหรือไม่
  2. หากไม่มีการตอบสนองใด ๆ ให้ตรวจดูว่าหายใจและมีชีพจรหรือไม่
  3. หากไม่หายใจหรือไม่มีชีพจร ให้โทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน
  4. เมื่อได้เครื่อง AED มา ให้เปิดเครื่องและปฏิบัติตามเสียงคำสั่งจากตัวเครื่อง
  5. เช็ดหน้าอกของผู้ป่วยให้แห้งก่อนนำแผ่นนำไฟฟ้าไปติดที่บริเวณหน้าอกของผู้ป่วย โดยติดแผ่นหนึ่งไว้ที่ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และติดอีกแผ่นที่ใต้ราวนมซ้ายด้านข้างลำตัวให้แนบสนิท
  6. เมื่อเครื่อง AED ตรวจพบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยเป็นชนิดที่ต้องการการรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้าหัวใจ เครื่องจะส่งเสียงแจ้งให้กดปุ่ม SHOCK โดยก่อนกดปุ่ม ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วยโดยเด็ดขาดและต้องร้องบอกทุกคนด้วยเสียงอันดังว่า “ผมถอย คุณถอย และทุกคนถอย” แล้วกดปุ่ม SHOCK หากเครื่องตรวจพบว่าผู้ป่วยไม่พร้อมได้รับการช็อกไฟฟ้าหัวใจ เครื่องจะไม่ทำการช็อกและแจ้งเตือนให้ทำ CPR ต่อไป
  7. จากนั้นให้เริ่มทำ CPR ตามคำแนะนำของเครื่อง และปฏิบัติซ้ำจนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง


เครื่อง
AED สำหรับการใช้งานที่บ้าน

การติดตั้งเครื่อง AED ไว้ที่บ้านนั้นอาจช่วยคลายกังวลสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นจากภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นพลิ้ว อย่างไรก็ตามก่อนที่จะติดตั้งเครื่อง AED ที่บ้าน ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมดังต่อไปนี้

  • ราคาของตัวเครื่องและการดูแลรักษาตัวเครื่อง
  • ประเภทของภาวะหัวใจหยุดเต้นที่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ว่าอาการของผู้ป่วยนั้นเหมาะกับการมีเครื่อง AED ไว้ที่บ้านหรือไม่
  • หากผู้ป่วยอาศัยอยู่ตัวคนเดียวเพียงลำพัง การติดตั้งเครื่อง AED ไว้ที่บ้านนั้นคงไม่สมเหตุสมผลนัก เนื่องจากจำเป็นต้องมีผู้ที่ใช้เครื่องเป็นอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วย เพื่อสามารถช่วยชีวิตได้ทันท่วงที
  • หากผู้ป่วยอาศัยอยู่กับผู้อื่น ผู้ที่อยู่ด้วยต้องรู้วิธีการใช้งานเครื่อง AED และสามารถเคลื่อนไหวไปหยิบเครื่องมาพร้อมให้ความช่วยเหลือได้เมื่อจำเป็น

คำแนะนำในการเลือกซื้อและบำรุงรักษาเครื่อง AED สำหรับการใช้งานที่บ้าน 

  • เลือกซื้อเครื่อง AED ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) และเป็นเครื่องที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานที่บ้าน
  • ลงทะเบียนรับประกันตัวเครื่องทันทีหลังซื้อ และหมั่นเข้าดูเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิตว่ามีการอัปเดตข้อมูล ข้อควรระวัง หรือเรียกคืนสินค้าบ้างหรือไม่ จดเบอร์โทรศัพท์ของร้านที่ซื้อหรือบริษัทผู้ผลิตไว้เพื่อติดต่อหากตัวเครื่องมีปัญหา
  • วางเครื่อง AED ในที่ที่เข้าถึงได้ง่ายและบอกเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวให้ทราบ โดยเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวต้องรู้วิธีใช้งานอย่างถูกต้อง โดยสามารถติดต่อศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย สภากาชาดไทย (02-256 4041-2) หรือศูนยืฝึกอบรมใกล้บ้านเพื่อเรียนรู้วิธีการใช้งานและการช่วยฟื้นชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR)
  • หมั่นตรวจดูว่าเครื่อง AED พร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยปกติแล้วจำเป็นต้องปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ทุก 4 ปี





บทความโดย
พญ.ปฏิมา พุทธไพศาล

แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 14 มิ.ย. 2023

แชร์