คอลลาเจน (Collagen) คืออะไร
คอลลาเจน (Collagen) คือโปรตีนที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของผิว กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น รวมถึงเนื้อเยื่อเกี่ยวพันส่วนอื่น ๆ คอลลาเจนสามารถพบได้ในเส้นโลหิต อวัยวะ และเยื่อบุลำไส้ และถือว่าเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีมากที่สุดในร่างกาย โดยมีสัดส่วนถึง 30% ของจำนวนโปรตีนในร่างกายทั้งหมด
คอลลาเจนช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ป้องกันรอยเหี่ยวย่น และผิวแก่ก่อนวัย แม้ร่างกายจะผลิตคอลลาเจนได้น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น การรับประทานอาหารบางชนิดช่วยส่งเสริมการสร้างคอลลาเจนในร่างกายได้
คอลลาเจน (Collagen) มีประโยชน์อย่างไร?
ประโยชน์ของคอลลาเจน (Collagen) ได้แก่
- ช่วยให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นกับผิว
- ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์
- ช่วยการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว
- ช่วยให้เลือดแข็งตัว ป้องกันไม่ให้ร่างกายเสียเลือดมากเกินไป
- ช่วยปกป้องอวัยวะภายใน
คอลลาเจน (Collagen) มีกี่ชนิด
คอลลาเจนที่พบในปัจจุบันมีอยู่ 28 ชนิด ความแตกต่างของคอลลาเจนแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเคมีของโมเลกุล และส่วนที่ร่างกายนำไปใช้ คอลลาเจนสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- ชนิดที่ 1 นับเป็นจำนวน 90% ของคอลลาเจนทั้งหมดในร่างกาย เป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างกระดูก ผิวพรรณ และเส้นเอ็น
- ชนิดที่ 2 ช่วยบำรุงไขข้อ สามารถพบได้ในกระดูกอ่อนยืดหยุ่น (elastic cartilage)
- ชนิดที่ 3 สามารถพบได้ในกล้ามเนื้อ อวัยวะ และหลอดเลือดแดง
- ชนิดที่ 4 สามารถพบได้ในชั้นผิวหนัง
- ชนิดที่ 5 สามารถพบได้ในกระจกตา รกเด็ก โครงสร้างของเส้นผม และชั้นผิวหนัง
คอลลาเจนในร่างกายจะลดลงเมื่ออายุเท่าไหร่
คอลลาเจนในร่างกายมีแนวโน้มลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุ 60 ปีหรือผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน โดยคอลลาเจนจะมีคุณภาพลดลงและสลายตัวเร็วขึ้น
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคอลลาเจนในร่างกายมีปริมาณลดลง มีอะไรบ้าง
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคอลลาเจนในร่างกายมีปริมาณลดลง ได้แก่
- ผิวหนังมีริ้วรอยและหย่อนคล้อย
- ผิวหนังรอบดวงตา และแก้มตอบ (facial hollowing)
- ปวดกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อฝ่อและอ่อนแรง
- เอ็นมีความยืดหยุดน้อยลง
- โรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อม (Osteoarthritis) เนื่องจากกระดูกอ่อนถูกใช้งานจนเสื่อมสภาพ
- เคลื่อนไหวได้น้อยลงเนื่องจากข้อฝืดแข็งหรือเสียหาย
- ปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเยื่อบุทางเดินอาหารบางลง
วิธีป้องกันไม่ให้คอลลาเจนในร่างกายลดลง
เนื่องจากร่างกายผลิตคอลลาเจนได้น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการสูญเสียคอลลาเจนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน
- ทาครีมกันแดดทุกวัน (SPF 30 หรือมากกว่า)
- ใส่เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง
- ไม่ใช้เตียงอาบแสงยูวี
พฤติกรรมที่อาจทำให้คอลลาเจนในร่ายกายสูญสลายได้ มีอะไรบ้าง
พฤติกรรมที่อาจทำให้คอลลาเจนในร่างกายสูญสลายได้ ได้แก่
- การรับประทานน้ำตาลมากเกินไป: น้ำตาลทำให้เกิดกระบวนการไกลเคชั่น (advanced glycation end-products: AGEs) ในร่างกายซึ่งทำให้คอลลาเจนเสื่อมประสิทธิภาพลง ดังนั้น การหลีกเลี่ยงน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีจึงสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ผิวเสื่อมประสิทธิภาพก่อนวัยได้
- การสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่ลดประสิทธิภาพในการผลิตคอลลาเจนในร่างกาย ก่อให้เกิดรอยเหี่ยวย่น และทำให้แผล สมานตัวช้าลง
- การสัมผัสกับแสงแดดมากเกินไป: เมื่อร่างกายโดนแสงแดดมากเกินไป คอลลาเจนจะยิ่งสลายตัวเร็วขึ้น นอกจากนี้ แสงอาทิตย์ยังลดประสิทธิภาพในการผลิตคอลลาเจนในร่างกาย ดังนั้น ควรทาครีมกันแดดที่มีปริมาณ SPF 30 หรือมากกว่า และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดในปริมาณที่มากเกินไป
อาหารที่ช่วยเพิ่มคอลลาเจนให้กับร่างกาย มีอะไรบ้าง
การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยคอลลาเจนนั้นไม่ได้ช่วยให้ร่างกายดูดซึมคอลลาเจนได้ทั้งหมด เนื่องจากร่างกายจะเปลี่ยนคอลลาเจนเป็นกรดอะมิโน ดังนั้นจึงควรจะรับประทานอาหารที่ส่งเสริมการผลิตคอลลาเจนแทน ตัวอย่างเช่น
- วิตามิน C: สตรอว์เบอร์รี่ ส้ม บรอกโคลี พริกหยวก และมันฝรั่ง
- โปรลีน: เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี ข้าวสาลี ถั่วลิสง ไข่ขาว ปลา และเนื้อสัตว์
- ไกลซีน: เนื้อแดง หนังไก่และหมู ไก่งวง กราโนล่า และถั่วลิสง
- ทองแดง: หอยนางรม ล็อบสเตอร์ ตับ เห็ดชิตาเกะ ผักใบเขียว ถั่วและเมล็ดพืช เต้าหู้ และดาร์กช็อกโกแลต
- สังกะสี: หอยนางรม ผลิตภัณฑ์นม สัตว์ปีก หมู เนื้อแดง ถั่ว ถั่วลูกไก่ ธัญพืชเต็มเมล็ด บรอกโคลี และผักใบเขียว
คอลลาเจน ช่วยให้ผิวพรรณชุ่มชื่น ยกกระชับ และป้องกันไม่ให้ผิวเสื่อมสภาพก่อนวัย
คอลลาเจน เป็นหนึ่งในโปรตีนที่มีความสำคัญในร่างกาย ช่วยป้องกันไม่ให้ผิวเสื่อมสภาพก่อนวัย และช่วยให้ผิวพรรณชุ่มชื่นยกกระชับ แม้เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายอาจผลิตคอลลาเจนได้น้อยลง แต่การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน C ทองแดง และสังกะสี จะช่วยสนับสนุนการผลิตคอลลาเจนในร่างกายได้ นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลและการสัมผัสกับแสงแดดในปริมาณที่มากเกินไป ก็สามารถช่วยชะลอการลดลงของคอลลาเจนในร่างกายได้เช่นกัน