แม่ท้องฟันผุ อันตรายต่อทารกในครรภ์ - Dental caries during pregnancy

รู้ไหม! แม่ท้องฟันผุ อาจอันตรายต่อเด็กในท้อง

ฟันผุ หนึ่งในปัญหาช่องปากที่พบได้บ่อย จนหลายคนชินชาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ใส่ใจ หรือตระหนักถึงความร้ายแรงของอาการนี้

แชร์

รู้ไหม! แม่ท้องฟันผุ อาจอันตรายต่อเด็กในท้อง 

ฟันผุ หนึ่งในปัญหาช่องปากที่พบได้บ่อย จนหลายคนชินชาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ใส่ใจ หรือตระหนักถึงความร้ายแรงของอาการนี้ บทความนี้ จะชี้ให้เห็นถึงความน่ากลัวของฟันผุและเหงือกอักเสบ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคุณแม่และทารกในครรภ์ 

ฟันผุ น่ากลัวกว่าที่คิด

ปัญหาช่องปาก เป็นปัญหาที่เมื่อเกิดขึ้น จะลดทอนคุณภาพชีวิตในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าเกิดกับใคร หากฟันผุ มีเหงือกอักเสบ นอกจากจะมีอาการปวด เจ็บ ที่ผู้ป่วยรู้สึกได้แล้ว ยังกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น

  • กินอาหารได้ยากหรือลำบากขึ้น 
  • รู้สึกเบื่ออาหาร 
  • ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ 
  • ช่องปากมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • รอยผุที่มองเห็นเด่นชัดจนกระทบต่อความมั่นใจ

สิ่งเหล่านี้ ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง อีกทั้งการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เวลาชีวิตที่เสียไปในการมาพบทันตแพทย์ตามนัดบ่อย ๆ ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจด้วย และหากมีโรคประจำตัว หรือกำลังป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่น ๆ อยู่ การมีปัญหาช่องปากร่วมด้วยจะยิ่งทำให้การรักษาโรคหลักมีประสิทธิภาพลดลง และซับซ้อนมากขึ้น

แล้วทำไมในคุณแม่ท้องยิ่งต้องระวังปัญหาช่องปาก นั่นก็เพราะสภาพร่างกายของผู้หญิงตั้งครรภ์มีปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาช่องปากได้ง่ายขึ้น การดูแลรักษายากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งคุณแม่ยังอาจส่งต่อความผิดปกติจากการติดเชื้อแบคทีเรียไปยังทารกในท้องได้ด้วย 

ทำไมคุณแม่ตั้งครรภ์ ถึงไม่ควรฟันผุ 

ในผู้หญิงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศ เช่น เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนจะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ในทางกลับกัน ก็อาจทำให้เชื้อโรคในช่องปากบางกลุ่มเจริญเติบโตดีขึ้น ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับสุขภาพช่องปากของคุณแม่ได้

นอกจากนี้ เมื่อตั้งครรภ์จะมีภาวะปากแห้งมากขึ้น ซึ่งโดยปกติในปากมนุษย์จะมีน้ำลายที่มีสารฆ่าเชื้อโดยธรรมชาติอยู่ พอน้ำลายลดลง ก็จะยิ่งทำให้อัตราการเจริญเติบโตของแบคทีเรียเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก

ทำไมคุณแม่ตั้งครรภ์ ถึงไม่ควรฟันผุ - Why should pregnant women be cavity-free?

ภูมิคุ้มกันตก น้ำลายแห้ง ปากแห้ง ทำให้ร่างกายคุณแม่สู้เชื้อโรคได้ยาก

ปัจจุบัน พบว่ามีเชื้อโรคกลุ่มที่เจริญเติบโตได้ดีในช่องปากของคุณแม่ท้อง คือ เชื้อพรีโวเทลลา อินเตอร์มีเดีย (Prevotella intermedia) เป็นเชื้อที่เกี่ยวข้องกับโรคปริทันต์อักเสบหรือโรครำมะนาด โดยจะมีอัตราเติบโตกว่าในร่างกายผู้หญิงทั่วไปถึง 55 เท่า 

ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้คุณแม่ท้องมีแนวโน้มสุขภาพช่องปากไม่ดี ได้แก่

  • อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

การอาเจียนเอาอาหารที่กินเข้าไปพร้อมกรดในกระเพาะอาหาร ย้อนกลับออกมาผ่านช่องปาก จะทำให้สภาวะในช่องปากมีแนวโน้มเป็นกรดอยู่เกือบตลอดเวลา เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในช่องปากได้อย่างดี อีกทั้งการแพ้ท้องยังทำให้คุณแม่ท้องหลาย ๆ คนไม่อยากแปรงฟัน เพราะเวลาแปรงฟันไปกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาเจียน ทำให้การดูแลสุขภาพช่องปากทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีโอกาสฟันผุและเหงือกอักเสบมากขึ้น

  • สภาวะอารมณ์ที่อ่อนไหว

เพราะระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง ไหนจะรู้สึกไม่สบายตัว สภาพร่างกายที่กำลังอ่อนแอ สุขภาพจิตก็ไม่ดี ทำให้การดูแลเอาใจใส่ตัวเองลดลงตามไปด้วย กิจวัตรประจำวันที่เคยทำ เช่น ตื่นแต่เช้า รดน้ำต้นไม้ ออกกำลังกาย ก็รู้สึกไม่อยากทำแล้ว ทำให้สุขภาพในช่องปากย่ำแย่ไปด้วย

ที่สำคัญ มีงานวิจัยระบุว่า หากช่องปากของคุณแม่ท้องมีปัญหา ติดเชื้อรุนแรง ด้วยร่างกายที่อ่อนแออยู่แล้ว อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ น้ำหนักตัวแรกเกิดของลูกต่ำ ดังนั้น การไม่ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี อาจส่งผลไปถึงลูกน้อยได้ 

แม่ฟันผุ ลูกในท้องเสี่ยงมากขึ้น - Dental Caries During Pregnancy

แม่ฟันผุ ลูกในท้องเสี่ยงมากขึ้น จริงหรือ?

คุณแม่กับลูกในท้องจะมีความเชื่อมโยงกันทางกายภาพ ถ้าคุณแม่มีฟันผุมาก แสดงว่ามีเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มที่ทำให้ฟันผุอยู่ภายในช่องปากและร่างกายมาก เชื้อแบคทีเรียนี้สามารถส่งต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนได้เช่นกัน ทำให้คุณแม่สามารถส่งต่อเชื้อไปสู่ลูกได้ โดยมีการศึกษาพบว่า เด็กวัยประถมในกลุ่มที่แม่มีฟันผุเยอะ จะมีอัตราฟันผุสูงมากกว่าเด็กทั่วไป

อัตราฟันผุแม่สูง = อัตราฟันผุของเด็กที่เกิดมาก็จะสูง

ในเด็กที่รับเชื้อฟันผุจากแม่ หากไม่ดูแลช่องปากให้ดี ไม่แปรงฟันทำความสะอาดอย่างถูกวิธี พ่อแม่ปล่อยให้กินขนมหรือน้ำหวาน ๆ จะทำให้มีปัญหาช่องปากได้ง่ายมาก และเมื่อลูกฟันผุ ก็จะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวได้มากกว่าที่คิด

  • ผลกระทบต่อตัวเด็กโดยตรง

เมื่อเด็กฟันผุ เหงือกอักเสบ เป็นหนอง เด็กจะรู้สึกเจ็บปวด สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เด็กจะรู้สึกไม่สบาย หงุดหงิด พัฒนาการของเด็กจึงไม่ดีทั้งทางด้านสังคมและสุขภาพ การที่ฟันผุ เป็นรู ต้องอุดหรือต้องถอน จะทำให้เด็กเสียบุคลิกภาพ อาการเจ็บก็จะทำให้เด็กกินอาหารลำบาก ไม่อยากกินอาหาร ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เจ็บป่วยง่ายตามมา

  • ผลกระทบต่อคุณพ่อคุณแม่

คุณพ่อคุณแม่เองย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องพาลูกไปพบทันตแพทย์บ่อย ๆ ต้องลางาน ขาดงาน หากมีลูกเล็ก เด็กอาจร้องงอแงในตอนกลางคืนเพราะความเจ็บปวด รบกวนการพักผ่อน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนทั้งครอบครัว 

ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ป้องกันง่ายมาก เพียงแค่ดูแลช่องปากให้ดี แปรงฟันทำความสะอาด ควบคุมประเภทของอาหารที่กิน แค่นี้ก็จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกได้

แต่ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่หรือตัวเด็กเองอาจจะไม่รู้ว่าจะดูแลสุขภาพช่องปากอย่างไร ทำไมทำเหมือน ๆ กัน คนหนึ่งไม่มีปัญหา แต่คนหนึ่งก็ยังฟันผุอยู่ดี นั่นเพราะลักษณะทางกายภาพภายในช่องปากของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เทคนิคการดูแลช่องปากในแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน เป็นหน้าที่ของทันตแพทย์ที่จะต้องพิจารณาสภาพช่องปากในรายบุคคล และให้คำแนะนำเรื่องการดูแลอย่างเหมาะสม ถูกต้อง

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรเตรียมตัวดูแลช่องปากอย่างไร?

เมื่อวางแผนมีลูก นอกจากการตรวจร่างกายและการเตรียมสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ควรมาตรวจฟันกับทันตแพทย์ด้วย เพื่อตรวจสภาพช่องปากว่าสามารถทำความสะอาดคราบแบคทีเรียได้ดีหรือยัง มีโรคในช่องปากหรือไม่ แล้วรับคำแนะนำและการรักษาก่อนตั้งครรภ์ เพราะหากช่องปากมีปัญหาขณะกำลังตั้งครรภ์ การรักษาจะทำได้ยากกว่า นอกจากนี้ เมื่อตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ก็ควรมาตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำด้านล่าง

  • ไตรมาสแรก : ตรวจฟัน 2 ครั้ง
  • ไตรมาสที่สอง : ตรวจฟัน 1 ครั้ง
  • ไตรมาสที่สาม : ตรวจฟัน 1 ครั้ง

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรเตรียมตัวดูแลช่องปาก - How to practice good oral hygiene during pregnancy

ทำไมการมาตรวจฟันในทุกไตรมาสจึงจำเป็น

นั่นก็เพราะทุก ๆ ไตรมาสที่เปลี่ยนไป สภาพช่องปากของคุณแม่จะเปลี่ยนไปด้วย ทันตแพทย์จะคอยดูแลให้คำแนะนำว่าสภาพช่องปาก ณ ขณะช่วงที่มาตรวจ ควรดูแลอย่างไรจึงจะเหมาะสม

หากระหว่างตั้งครรภ์มีโรคหรือปัญหาช่องปาก ให้มาพบทันตแพทย์เพื่อช่วยประคับประคองสุขภาพช่องปากไม่ให้โรคลุกลาม แล้วจึงมาทำฟันและรักษาหลังจากคลอด ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน เช่น ติดเชื้อในช่องปากรุนแรง พิจารณาแล้วว่าอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต สามารถมาทำฟันและรักษาได้เลย 

โดยระยะครรภ์ที่เหมาะสมที่จะทำฟันอยู่ในไตรมาสที่สอง นั่นเพราะในไตรมาสแรกคุณแม่จะมีโอกาสแท้งสูง ส่วนในไตรมาสที่สามขนาดท้องอาจจะใหญ่มาก การนอนบนเตียงทำฟันนาน ๆ อาจทำให้คุณแม่อึดอัดและเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำจนเป็นลมได้ เนื่องจากน้ำหนักตัวเด็กไปกดเส้นเลือดด้านหลังช่องท้อง

สรุปแล้ว ทางที่ดีที่สุด คือ การมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็กและดูแลปัญหาช่องปากตั้งแต่เริ่มวางแผนจะมีลูก เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตช่วงตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ลูกในท้องก็จะมีสุขภาพช่องปากที่ดีไปด้วย

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ทพญ. กนกวรรณ เอื้อธรรมาภิมุข

    ทพญ. กนกวรรณ เอื้อธรรมาภิมุข

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมทั่วไป
    ทันตกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    ทพญ. รศนา บุญเพ็ง

    ทพญ. รศนา บุญเพ็ง

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมทั่วไป
    ทันตกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    ทพ. ธนภัทร บ่อคำ

    ทพ. ธนภัทร บ่อคำ

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมทั่วไป
    ทันตกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    ทพ. พีรทัศน์ พิทักษ์ธนากูล

    ทพ. พีรทัศน์ พิทักษ์ธนากูล

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมทั่วไป
    ทันตกรรมทั่วไป