ท้องอืด ท้องเฟ้อ ผายลมบ่อย แก้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม - Flatulence and frequent farting can be prevented by changing behavior

ท้องอืด ท้องเฟ้อ ผายลมบ่อย แก้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การผายลม มีสาเหตุมาจากอาการท้องอืด นอกจากจะเกิดจากการรับประทานอาหารแล้ว ยังสามารถเกิดได้จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การกลืนอากาศ (Aerophagia)

แชร์

ท้องอืด ท้องเฟ้อ ผายลมบ่อย แก้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อาการท้องอืด เกิดจากอะไร ?

อาการท้องอืด เกิดจากการมีแก๊สในลำไส้มากเกินไป ร่างกายจึงต้องระบายปริมาณแก๊สออก ผ่านทางลำไส้
ด้วยการผายลม หรือระบายออกทางปากด้วยการเรอ อาการท้องอืดอาจเกิดจากการรับประทานอาหารบางชนิด การแพ้อาหาร หรือเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การกลืนอากาศ (Aerophagia)

การกลืนอากาศ (Aerophagia) คืออะไร ?

การกลืนอากาศถือเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องอืดที่หลายคนมองข้าม เพราะการกลืนอากาศมักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

อากาศที่กลืนเข้าไปทางปากจะลงไปสู่กระเพาะอาหาร ลมที่กลืนเข้าไปจึงมีส่วนทำให้เกิดอาการท้องอืด พฤติกรรมที่ทำให้เกิดการกลืนอากาศมีดังนี้

  • รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำอย่างเร่งรีบ
  • พูดคุยขณะรับประทานอาหาร
  • เคี้ยวหมากฝรั่ง
  • สูบบุหรี่
  • การหัวเราะ
  • ความเครียด
  • นอนกรน

ท้องอืด ผายลมบ่อยเป็นเรื่องปกติไหม?

อาการท้องอืดแล้วผายลม เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกคน เว้นแต่ว่าการผายลมเกิดขึ้นบ่อยผิดสังเกต จนทำเกิดรู้สึกไม่มั่นใจเมื่ออยู่ท่ามกลางที่สาธารณะ หากการผายลม หรือการเรอเกิดขึ้นมากกว่า 20 ครั้งในหนึ่งวัน นั่นหมายความว่าคุณควรไปพบแพทย์ เนื่องจากระบบทางเดินอาหารของคุณอาจจะกำลังมีปัญหา

ระยะเวลาของอาการท้องอืด นานแค่ไหน?

อาการท้องอืดจะหายไวหรือช้า ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และการรับประทานอาหาร อาการนี้จะหายไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อรู้ถึงต้นเหตุของปัญหา และทำการแก้ไขได้อย่างตรงจุด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก หากต้องการที่จะหลีกเลี่ยงอาการท้องอืด

พรีไบโอติกส์และไฟเบอร์ ช่วยลดอาการท้องอืดได้หรือไม่?

อาหารที่อุดมไปด้วยพรีไบโอติกส์ และไฟเบอร์ เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ สามารถช่วยในเรื่องของการเคลื่อนที่ของอาหารไปตามทางเดินอาหาร และช่วยขับอุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้ออกมาทางทวารหนักเพื่อแก้อาการท้องผูก การกินพรีไบโอติกส์ และไฟเบอร์จึงมีส่วนช่วยในการลดอาการท้องอืด นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการทำงานของแบคทีเรียในลำไส้ให้ทำหน้าที่ดูดแก๊สส่วนเกิน และสร้างสมดุลแก่ลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปริมาณไฟเบอร์ที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน

อายุ เพศชาย เพศหญิง
19-30 34 กรัม 28 กรัม
31-50 31 กรัม 25 กรัม
50 ขึ้นไป 28 กรัม 22 กรัม

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ขณะที่กำลังเกิดอาการท้องอืด

  • ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม ครีมเทียม
  • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วปากอ้า ถั่วแปบ ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วลิสง
  • พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี บรอกโคลี ผักกาด คะน้า เคล
  • ผักที่มีกำมะถันสูง เช่น หัวหอม ต้นหอม กระเทียม
  • อาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง
  • น้ำอัดลมทุกชนิด
  • อาหารหมักดองทุกชนิด

5 ข้อควรระวัง ป้องกันอาการท้องอืด

  1. รับประทานอาหาร และดื่มน้ำอย่างช้า ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน เพราะจะทำให้อาหารไม่ค้างอยู่ในลำไส้นานเกินไปจนเกิดการสะสมของแก๊สในระบบทางเดินอาหาร
  2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 1.8 ลิตรต่อวัน การดื่มน้ำจะช่วยกระตุ้นระบบทางเดินอาหารให้เคลื่อนไหว ป้องกันไม่ให้อาหารที่ถูกย่อยเกิดการแข็งตัว และถูกสะสมอัดแน่นอยู่ภายในลำไส้จนเกิดอาการท้องผูก
  3. ระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงการกินอาหารแต่ละประเภทอย่างกะทันหัน อย่างเช่นการเพิ่มจำนวนไฟเบอร์ในมื้ออาหารทีละมาก ๆ  ซึ่งเป็นสาเหตุของคำถามที่ว่า “ ทำไมเวลาเดินทางไปต่างประเทศแล้วชอบท้องอืด ”
  4. ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และควรออกกำลังกาย 3-4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อทำให้ลำไส้ได้เคลื่อนไหว ยิ่งร่างกายมีความกระฉับกระเฉงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งกำจัดแก๊สในลำไส้ได้มากเท่านั้น
  5. หลีกเลี่ยงการนั่งต่อเนื่องนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง

อาการท้องอืดแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

  • ผายลม หรือเรอมากกว่า 20 ครั้งต่อวัน
  • ท้องอืดติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 1 สัปดาห์
  • เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ท้องผูกบ่อย ๆ มีเลือดออกทางทวารหนัก
  • รู้สึกแน่นในช่องท้อง ไม่สบายท้อง อึดอัดตัว
  • เมื่อความพยายามในการลดอาการท้องอืดไม่ได้ผล

อาการท้องอืดเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกคน มีสาเหตุหลักจากการรับประทานอาหาร หากลองสังเกตอาการท้องอืดของตนเอง แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันในข้างต้น ก็จะช่วยลดอาการท้องอืดได้ หากพยายามลดอาการท้องอืดแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น และสังเกตได้ถึงความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการทางโรคระบบทางเดินอาหารเพื่อตรวจหาถึงสาเหตุของอาการท้องอืด และวางแผนการรับประทานอาหาร

เผยแพร่เมื่อ: 26 ก.ย. 2023

แชร์