การดูแลอาการข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ
ภาวะข้อเข่าเสื่อม ในผู้สูงอายุนั้นมีแนวโน้มที่จะสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นทำให้เกิดอาการปวด บวม ข้อยึดติด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อาการมักจะแย่ลง
เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษาไม่เหมือนกัน รวมถึงการรักษาที่ได้ผลในตอนแรกอาจไม่ได้ผลอีกต่อไปในอนาคต จึงควรพูดคุยปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาหลากหลายวิธีควบคู่กันไปเพื่อให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
วิธีการรักษาในเบื้องต้นสามารถแบ่งได้เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ใช้ยา และแบบใช้ยา
6 วิธีการรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ใช้ยา
1. การออกกำลังกาย
หลายคนอาจจะเคยได้ยินความเชื่อที่ว่าการออกกำลังกายจะทำให้อาการข้อเข่าเสื่อมแย่ลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การออกกำลังและขยับตัวบ่อย ๆ จะช่วยเสริมสร้างการทำงานและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มพิสัยของข้อ และช่วยให้ข้อแข็งแรงมั่นคงมากขึ้น การออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมได้แก่ การเดิน การว่ายน้ำ ไทเก๊ก โยคะ ซึ่งนอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวแล้ว ยังช่วยในการรักษาโรคประจำตัวของผู้ป่วย อย่างเช่น โรคเบาหวานและโรคหัวใจได้เช่นกัน
2. การควบคุมน้ำหนัก
หากผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน การควบคุมน้ำหนักตัวโดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และเพิ่มการออกกำลังกายจะช่วยลดอาการปวดเข่าได้ โดยพบว่าน้ำหนักตัวที่ลดลง 0.5 กิโลกรัมจะช่วยลดแรงกดบนหัวเข่าลงถึง 2 กิโลกรัม ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการลดน้ำหนักที่เหมาะสม
3. กายภาพและกิจกรรมบำบัด
การทำกายภาพเป็นการรักษาโดยการใช้ความเย็น ความร้อน อัลตราซาวนด์ หรือกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาอาการปวด รวมถึงการยืดเหยียดร่างกาย และออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ เสริมสร้างความสมดุลและการเคลื่อนไหว
สำหรับการทำกิจกรรมบำบัดจะมุ่งเน้นในการสอนให้ผู้ป่วยกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เอง อย่างเช่น การแต่งตัว การอาบน้ำ การเข้าห้องน้ำ ทั้งกายภาพและกิจกรรมบำบัดสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเตรียมความพร้อมในการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน
4. อุปกรณ์ช่วยเดิน
สนับเข่า เทปพยุงกล้ามเนื้อ สนับเข่า ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน ไม้ยันรักแร้ และกายอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ช่วยลดอาการปวด ช่วยให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น เพิ่มความสมดุลและความมั่นคงของร่างกาย และลดความเสี่ยงที่จะล้ม
5. การบำบัดกายและใจ
การดูแลสุขภาพจิตใจนั้นสำคัญพอ ๆ กับสุขภาพกาย การที่ต้องเผชิญกับอาการเจ็บปวดเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ ผู้ป่วยควรได้เรียนรู้วิธีผ่อนคลายตัวเองจากความเครียดและวิตกกังวลนั้น ๆ โดยการฝึกการหายใจ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนั่งสมาธิ เพื่อจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก ช่วยให้การพักผ่อนนอนหลับและสุขภาพโดยรวมดีขึ้น
6. การป้องกันข้อต่อ
การป้องกันข้อต่อเป็นเทคนิคที่ช่วยป้องกันข้อต่อจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำกิจวัตรประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยรู้ว่าควรหยุดทำกิจกรรมก่อนที่จะรู้สึกปวดข้อ การป้องกันข้อต่อสามารถช่วยลดอาการปวดและลดความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บ ตัวอย่างของวิธีการป้องกันข้อต่อ เช่น การสวมใส่รองเท้าเพื่อสุขภาพ ไม่ยืนหรือนั่งท่าเดียวเป็นเวลานาน เวลาเดินให้กระจายน้ำหนักตัวลงข้อเข่าเท่าๆกัน การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เรียนรู้วิธีการยกของอย่างถูกวิธี ลดการทำกิจกรรมที่อาจทำให้อาการปวดแย่ลง หยุดทำกิจกรรมใดก่อนที่จะรู้สึกเหนื่อยมากเกินไป หรือการใช้อุปกรณ์ต่างๆช่วยในกิจวัตรประจำวัน
3 ยาบรรเทาปวดอาการข้อเข่าเสื่อม
- ยารับประทาน ยารับประทาน เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการปวดและลดอาการอักเสบที่ใช้กันบ่อยมากที่สุด และได้ผลดีสำหรับลดอาการปวดจากข้อเสื่อม อย่างไรก็ดีสำหรับยากลุ่มนี้ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากแพทย์อาจให้รับประทานยาอะเซตามิโนเฟน
ในบางครั้งแพทย์อาจให้ทรามาดอล (Tramadol) หรือดูล็อกซีทีน (Duloxetine) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดอย่างแรงเพื่อควบคุมอาการกรณีที่มีอาการปวดรุนแรง สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น น้ำมันปลา ขมิ้น วิตามิน เกลือแร่ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกัญชานั้น ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือว่าสามารถทำให้อาการปวดดีขึ้น - เจลหรือครีมทาเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการปวด
- ยาฉีด อันได้แก่ ยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการอักเสบบริเวณข้อต่อ
น้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มการหล่อลื่นในข้อต่อ และชะลอความเสื่อมของกระดูกอ่อน ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรง หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ มาแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยแพทย์จะซักประวัติ และตรวจร่างกายเพื่อนประเมินความรุนแรงของโรคเพื่อพิจารณาวิธีการผ่าตัดและเวลาที่ควรได้รับการผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้อาการปวดหายไป ปรับแนวข้อเข่าให้กลับมาทำงานได้ปกติ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้งหนึ่ง