ปวดหัวข้างขวา อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง?
หลายคนอาจเคยเจอกับอาการ ปวดหัวข้างขวา อยู่บ่อย ๆ จนบางทีก็นึกสงสัย มันเกิดจากสาเหตุอะไร แล้วทำไมต้องปวดข้างนี้ อาการปวดหัว มีหลากหลาย ต่างบริเวณ ต่างสาเหตุ แต่การปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งจะเป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตที่พบได้บ่อยทีเดียว วันนี้เราจะมาช่วยหาต้นตอของอาการปวดหัวข้างขวา พร้อมทั้งแนะนำวิธีรับมือในเบื้องต้น
ทำไมถึงปวดหัวข้างขวา
อาการปวดหัวมีประมาณ 300 ชนิด การที่เราปวดหัวข้างขวา หรือข้างใดข้างหนึ่ง ก็อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่มีพยาธิสภาพในสมองชัดเจน และที่ไม่มีพยาธิสภาพ ดังนี้
สาเหตุทางระบบประสาท
หากเกิดความผิดปกติภายในสมอง อาจก่อให้เกิดอาการปวดหัวได้ ดังนี้
- ไมเกรน (Migraines)
ไมเกรน คือโรคทางประสาทวิทยาชนิดหนึ่ง ส่งผลให้เกิดอาการปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะอย่างรุนแรงบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ มักมาพร้อมอาการอื่น ๆ อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงและเสียง - ปวดหัวจากความเครียดและกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension headaches)
ปวดหัวจากความเครียดและกล้ามเนื้อตึงตัว คืออาการปวดตึงที่ศีรษะ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นทั้งสองข้าง อาจรู้สึกเหมือนถูกหนีบ บางครั้งก็ลามไปถึงลำคอและไหล่ เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย เกิดจากความตึงเครียด เหนื่อยล้า - ใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป
ใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป บางครั้ง อาการปวดหัว อาจเป็นผลข้างเคียงจากการรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไป ซึ่งมีทั้งยาตามแพทย์สั่ง และยาทั่วไป อาทิ อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือ ไทลินอล (Tylenol) แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
อาการปวดหัวในกรณีนี้เรียกว่า การปวดศีรษะแบบรีบาวด์ (Rebound headache) เป็นอาการปวดหัวที่เกิดมาจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป ทำให้ยาแก้ปวดนั้นบรรเทาปวดได้ในระยะสั้น ๆ และเมื่อยาหมดฤทธิ์ จึงก่อให้เกิดอาการปวดหัวมากขึ้น - ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headaches)
ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ คืออาการปวดรุนแรงรอบ ๆ ดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง และอาจกระจายไปยังบริเวณอื่นของศีรษะ ใบหน้า เป็นอาการที่พบมากในผู้ชาย
สาเหตุทางระบบประสาทที่พบได้ แต่ไม่บ่อย
- เส้นประสาทต้นคอหรือท้ายทอยอักเสบ (Occipital neuralgia) คือเส้นประสาทส่วนที่เชื่อมตั้งแต่บริเวณด้านบนไขสันหลังไปจนถึงต้นคอได้รับบาดเจ็บ หรืออักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะบริเวณด้านหลัง
- หลอดเลือดแดงอักเสบ (Temporal arteritis) คือหลอดเลือดแดงบริเวณขมับอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณขมับ และปวดกราม
- โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia) คืออาการปวดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 จึงทำให้เกิดอาการปวดบริเวณใบหน้ารวมถึงอาการปวดหัว เมื่อเกิดอาการปวดแต่ละครั้ง มักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง
สาเหตุอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดทั้งศีรษะ และปวดหัวข้างเดียว เช่น
- โรคภูมิแพ้
- โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm)
- ความเหนื่อยล้า
- ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
- การติดเชื้อ และไซนัสอักเสบ
- ความผันผวนของระดับน้ำตาลในเลือดจากการอดอาหาร
- เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณคอ
- มีเนื้องอก
วิธีบรรเทาอาการปวดหัวเบื้องต้น
อาการปวดหัวส่วนมากสามารถบรรเทาได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ดังนี้
- ประคบอุ่นหรือประคบเย็นบริเวณหลังคอ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้ปวดหัว เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาหารที่มีผงชูรส
- ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
- นอนหลับ พักสายตา
- หากเกล้าผมแน่นหรือตึงเกินไป ให้คลายออก
- กดนวดกล้ามเนื้อที่ตึงบริเวณคอและไหล่
- หลีกเลี่ยงแสงจ้า วูบวาบ สถานที่ที่มีเสียงดัง และมีกลิ่นแรง
- อาบน้ำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ใช้น้ำมันหอมระเหยที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น ลาเวนเดอร์ สะระแหน่
- รับประทานยาแก้ปวดประเภทที่สามารถซื้อรับประทานเองได้
เมื่อไรควรไปหาหมอ
อาการปวดหัวหลายแบบ สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องทำอะไร แต่ในกรณีปวดหัวรุนแรง ปวดหัวโดยไม่เคยปวดมาก่อน หรือปวดมากขึ้นแม้กระทั่งกินยาแก้ปวดแล้วก็ตาม รวมไปถึง มีอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ ตามที่ระบุด้านล่าง ควรรีบไปพบแพทย์
- การมองเห็นที่เปลี่ยนไปจากเดิม เห็นภาพเบลอ เห็นภาพซ้อน
- เกิดความสับสน
- มีไข้
- ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
- เคลื่อนไหวแล้วปวดหัวยิ่งขึ้น
- คอแข็ง (Stiff Neck) กล้ามเนื้อลำคอด้านหลังแข็งเกร็ง
- มีผื่น
- ปวดหัวจนนอนไม่ได้
- พูดไม่ชัด
- อ่อนแรง (Weakness)
ประเมินอาการปวดศีรษะ พบสาเหตุ รักษาได้
อาการปวดหัว ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่ออาการเกิดขึ้นบ่อย ๆ จนเรื้อรังและรบกวนชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อ ประเมินอาการปวดศีรษะ ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการโดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุ และวางแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย ตรงจุดและรวดเร็ว บอกลาอาการปวดหัวที่คอยกวนใจ ไม่ว่าปวดหัวข้างไหน หรือปวดแบบไหนก็หายห่วง