ความเชื่อเรื่องสมองและการเคลื่อนไหว เรื่องไหนจริงบ้าง มาอ่านกันเลย
เมื่อพูดถึงอาการผิดปกติทางสมองและระบบประสาท หลาย ๆ คนอาจคิดว่าโรคและอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องนั้น มักจะเกิดเฉพาะกับผู้สูงวัย แต่หากเราดูชื่อของโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องออกไม่ว่าจะเป็น โรคลมชัก โรคลมบ้าหมู โรคพาร์กินสัน โรคติกส์ รวมถึงอาการกระตุก ชัก เกร็ง อาการตัวสั่น ก็จะพบได้ทันทีว่า โรคและอาการผิดปกติที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สามารถพบได้กับคนทุกเพศทุกวัย และที่สำคัญ มีความเชื่อเกี่ยวกับวิธีรักษา หรืออาการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มากมายในโลกออนไลน์ แต่จะมีความเชื่อใดเป็นจริงบ้าง ในวันนี้เราจะมาคลายสงสัย ด้วยคำตอบจากแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง มาอ่านกันเลย
1. รู้สึกตัวแต่ลุกไม่ขึ้น ขยับไม่ได้ คืออาการผีอำ จริงหรือไม่
คำตอบคือ ไม่จริง เพราะอาการดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างการถูกผีอำแต่อย่างใด และสามารถอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ โดยอาการนี้ เกิดจาก วงจรการหลับและการตื่นที่มาเกี่ยวข้องกันพอดี ทำให้เราเกิดรู้สึกตัวในขณะที่สมองยังหลับอยู่ โดยในขณะนั้นสมองจะยังสั่งการให้แขนขาไม่ขยับไปตามความฝัน หรือความคิด จึงเป็นที่มาของการที่เรายังรู้สึกตัว แต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้นั่นเอง ภาษาทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า Sleep Paralysis สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตอนก่อนจะหลับและก่อนจะตื่น ส่วนมากจะมีอาการไม่เกิน 10 นาที
2. ฝันว่าตกจากที่สูง แปลว่ามีวิญญาณจ้องมองอยู่ จริงหรือไม่
คำตอบคือ ไม่จริง เช่นเดียวกับอาการรู้สึกตัวแต่ลุกไม่ขึ้น ขยับไม่ได้ การฝันว่าตกจากที่สูงแล้วตื่นมาผวา เป็นหนึ่งในภาวะนอนกระตุก ที่มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Hypnic Jerk จะมีอาการรู้สึกเหมือนถูกกระชาก หรือตกจากที่สูง อาการกล้ามเนื้อกระตุกในช่วงภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่นนี้ มีสาเหตุสำคัญส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด การอดหลับอดนอน และความวิตกกังวล
3. ช่วยคนเป็นลมชักต้องงัดปาก ป้องกันไม่ให้กัดลิ้น จริงหรือไม่
คำตอบคือ ไม่จริง เพราะการเอาช้อนหรือของแข็งเข้าไปในปาก มีโอกาสเกิดอันตรายมากกว่าประโยชน์ การเอาช้อนเข้าไปในปากของผู้ป่วยลมชัก มีโอกาสที่ช้อนจะหลุดลงไปอยู่ในหลอดลม หรือถ้าหากนำนิ้วมือสอดเข้าไป ก็อาจเกิดอันตรายถูกกัดจนบาดเจ็บได้
4. ตากระตุกเป็นลางบอกเหตุ ขวาร้าย ซ้ายดี จริงหรือไม่
คำตอบคือ ไม่จริง เพราะอาการตากระตุกนั้น เกิดจากกล้ามเนื้อรอบดวงตาหดเกร็งชั่วขณะ หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Eyelid Twitching ภาวะนี้เป็นคำเรียกโดยรวม โดยส่วนใหญ่จะมีปัจจัยกระตุ้นมาจากความเครียด การพักผ่อนน้อยไม่เพียงพอ ภาวะตาแห้ง การจ้องมองจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน โดยปกติแล้ว อาการผิดปกตินี้จะหายได้เอง ในเวลาไม่กี่สัปดาห์
5. การฉีดโบท็อกซ์ ช่วยแก้อาการตากระตุกได้ จริงหรือไม่
คำตอบคือ จริง การฉีดโบท็อกซ์ไปยังกล้ามเนื้อตาที่เกร็งหรือกระตุก ก็เป็นอีกทางเลือกในการรักษาอาการผิดปกติดังกล่าวได้ แต่จะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกเมื่อพบอาการตากระตุก แต่จะเป็นทางเลือกในการรักษาหลังจากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัจจัยกระตุ้นอาการผิดปกติ รวมถึงทานยาแล้วยังไม่หาย
6. ถ้าตอนเด็กไม่เคยมีอาการชัก โตขึ้นมาก็จะไม่ชัก จริงหรือไม่
คำตอบคือ ไม่จริง เพราะโรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย บางคนเป็นตอนเด็ก หายตอนโต บางคนไม่เคยมีอาการอะไรเลยตอนเด็ก แต่เพิ่งมีอาการตอนโต ก็เป็นไปได้เช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคลมชักในเด็กมักมีสาเหตุในการเกิดโรคที่ชัดเจน เช่น จากภาวะไข้สูง อุบัติเหตุ โรคทางพันธุกรรม จนไปถึงเนื้องอกในสมอง
7. หนังที่มีแสงแฟลชวูบวาบ ส่งผลกระทบกับคนที่เป็นลมชัก จริงหรือไม่
คำตอบคือ จริง แสงแฟลช หรือแสงที่วูบวาบ เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ส่งผลกับคนไข้โรคลมชักบางชนิด เช่น โรคลมชักที่มีจุดกำเนิดชักออกจากสมองทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน หรือโรคลมชักที่มีจุดกำเนิดชักจากสมองบริเวณด้านหลัง เป็นต้น
8. พูดไปกระตุกไป สบถคำหยาบ เป็นอาการผิดปกติทางสมอง จริงหรือไม่
คำตอบคือ จริง อาการผิดปกติดังกล่าวมีชื่อเรียกว่าภาวะ Tics เป็นภาวะของการเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการยักคิ้ว ขยิบตา ย่นจมูก ยักไหล่ บิดคอ สะบัดมือ และในบางรายจะทำเสียงในคอ หรือสบถออกมาเป็นคำพูด ซึ่งจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาการที่มีชื่อว่า Tourette Syndrome โดยสาเหตุของการเกิดอาการผิดปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ที่เป็นปัจจัยกระทบจากพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม การรักษากลุ่มอาการดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ยา เพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมองให้มีความสมดุลอีกครั้ง
9. ผู้ป่วยโรคลมชัก ยิ่งชักยิ่งทำให้สมองเสื่อม จริงหรือไม่
คำตอบคือ จริง เพราะเวลาร่างกายเกิดอาการลมชัก เปรียบได้กับการเกิดไฟช็อตในสมอง 1 จุด แล้วสามารถลามไปช็อตจุดอื่น ๆ ได้ จุดอื่น ๆ ของสมองก็สามารถถูกกระทบกระเทือนด้วยได้ ยิ่งเกิดอาการชักบ่อย ๆ หรือมีอาการชักนาน ๆ ก็ยิ่งส่งผลต่อระดับสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด
10. อาการมือสั่นเป็นอาการของโรคพาร์กินสันเท่านั้น จริงหรือไม่
คำตอบคือ ไม่จริง แม้อาการมือสั่นเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แต่ก็ยังสามารถพบได้ในภาวะหรือโรคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ภาวะตื่นเต้น ตกใจ หิวข้าว หรือภาวะมีไข้ ติดเชื้อ หรือป่วยเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ และสามารถพบได้จากการรับยาหรือสารบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย แม้กระทั่งภาวะบิดเกร็งของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ตลอดจนอาการสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
11. ต้มตะไคร้กับใบสะระแหน่ ดื่มเช้าเย็น ช่วยแก้โรคลมบ้าหมู จริงหรือไม่
คำตอบคือ ไม่จริง เพราะสมุนไพรดังกล่าวไม่ได้มีผลในการรักษาโรคลมบ้าหมู และวิธีการรักษาลมบ้าหมู หลัก ๆ ในทางการแพทย์คือการใช้ยา และปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การอดนอน การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แต่ถ้าหากคนไข้ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแล้ว แพทย์ก็จะพิจารณาการผ่าตัดเพื่อนำจุดกำเนิดการชักออก
จากความเชื่อที่คุณหมอได้ไขข้อสงสัยทั้ง 11 เรื่อง จะเห็นได้ว่า มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ สมองและการเคลื่อนไหวอยู่ค่อนข้างเยอะ ในวันนี้เมื่อได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทแล้ว อย่าลืมส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องกันต่อไปในวงกว้าง และถ้าหากใครมีปัญหา หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหรือภาวะผิดปกติด้านสมองและระบบประสาท สามารถติดต่อที่คลินิกประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์คได้เลย