อาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ซึ่งในบางครั้งเป็นกรณีเร่งด่วนและมีอันตรายถึงชีวิต การสวนหัวใจหรืออาจเรียกว่าการฉีดสี เป็นทั้งวิธีเพื่อการวินิจฉัยและรักษาเส้นเลือดหัวใจที่มีความผิดปกติ
สำหรับขั้นตอนนั้นคุณหมอโรคหัวใจจะทำการสวนหัวใจในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะนอนบนเตียงที่มีกล้องถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ (X-ray) อยู่ด้านบน โดยที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลาไม่ต้องดมยาสลบ หลังจากทำความสะอาดและฉีดยาชาในบริเวณที่ต้องการ โดยอาจเป็นข้อมือหรือต้นขา คุณหมอจะนำอุปกรณ์ซึ่งเป็นท่อเล็กๆ ขนาดประมาณหลอดดูดนมกล่อง สอดเข้าทางบริเวณข้อมือหรือทางต้นขา ผ่านเส้นเลือดใหญ่เข้าไปยังเส้นเลือดหัวใจ เพื่อทำการฉีดสารเข้าไปพร้อมๆกับการเอ็กซ์เรย์ (X-ray) เพื่อให้เห็นว่าเส้นเลือดหัวใจมีความผิดปกติตรงไหนบ้าง ในกรณีที่พบว่ามีการตีบแคบหรืออุดตัน คุณหมอจะใช้บอลลูน (balloon) หรือขดลวด (stent) เพื่อทำการขยายให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการทำประมาณ 30-60 นาที หลังจากทำเสร็จจะมีการพักฟื้นในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังความดันโลหิตและการเต้นของหัวใจ รวมไปถึงอาการต่างๆ ระหว่างนั้นจะใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้มีขยับในจุดที่ทำหัตถการเช่นที่ข้อมือหรือขาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
การสวนหัวใจเป็นวิธีแพร่หลายที่ใช้รักษาผู้ป่วยในปัจจุบัน ไม่ต้องใช้การผ่าตัดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นเป็นระยะเวลานาน จากสถิติพบว่าเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามีการทำหัตการนี้มากกว่า 9 แสนรายต่อปี มีรายงานถึงผลข้างเคียงที่พบได้บ้างแต่ค่อนข้างน้อย เช่น เจ็บบริเวณที่ฉีดยาชา แผลฟกช้ำ เลือดออก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือแพ้สารที่ใช้ฉีด
เขียนโดย
นพ.วุฒิพงศ์ วุฒิพฤกษ์
อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการสวนหัวใจและหลอดเลือด
ประวัติแพทย์