วิธีแก้แพ้ท้อง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ กว่า 70 % จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งในหนึ่งวัน การปรับเปลี่ยนอาหารการกิน และวิถีชีวิต จะช่วยบรรเทาอาการลงได้ แต่ในบางกรณีสูตินรีแพทย์อาจให้ยาหรือน้ำเกลือเพื่อให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น บทความนี้จะมาแนะนำ วิธีแก้แพ้ท้อง ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ
อาการแพ้ท้อง อันตรายหรือไม่
อาการแพ้ท้อง คือ อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์มากกว่าครึ่ง จะมีอาการในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ บางคนกังวลว่าอาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายต่อลูกในท้อง บางคนก็เข้าใจว่าแพ้ท้องแปลว่าเด็กแข็งแรง แต่ความจริงแล้ว อาการเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อทารก และไม่ได้สัมพันธ์ต่อสุขภาพลูกน้อยในครรภ์
ปกติอาการจะไม่รุนแรง และจะหายไปเองเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง และในคุณแม่ตั้งครรภ์บางคน ก็อาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้ ในรายที่แพ้ท้องมาก อาจคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง จนร่างกายขาดน้ำ และน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังอาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดภาวะทุพโภชนาการ กรณีนี้จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล เพื่อรับอาหารเหลว และยาบำรุง
ลักษณะของอาการแพ้ท้อง ที่พบบ่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน (หรือไม่ก็ได้) คล้ายอาการเมารถ ในช่วงไตรมาสแรก
- มักมีอาการคลื่นไส้ในตอนเช้า แต่ก็อาจกลับมาเป็นอีกระหว่างวัน
- เหม็นกลิ่นอาหารบางอย่าง
- คลื่นไส้หลังกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสจัด
นอกจากนี้ บางรายอาจะมี อาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก มีอะไรติดหรือจุกอยู่ในคอ หรือหิวจนปวดท้องก็ได้
วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง ทำอย่างไร
เมื่อแพ้ท้อง ลองปรับเปลี่ยนอาหารที่กิน และวิถีชีวิตประจำวัน ก็สามารถทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนลดลงได้
ปรับการกิน
- กินขนมปัง แครกเกอร์เล็ก ๆ น้อย ๆ สัก 2-3 ชิ้นในตอนเช้าหลังตื่นนอน ให้พอสบายท้อง
- พยายามกินอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ กินหลาย ๆ มื้อ แทนการกินมื้อใหญ่ ๆ เพียง 3 มื้อใน 1 วัน และห้ามอดอาหาร
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรืออาหารไขมันสูง กินอาหารรสเบา ๆ เช่น กล้วย ข้าว มันฝรั่งอบ น้ำซุป ไข่
- กินอาหารให้หลากหลาย เพิ่มอาหารว่างที่อุดมโปรตีน อย่าง โยเกิร์ต แอปเปิ้ล ขึ้นฉ่าย ฝรั่งดิปบ เนยถั่ว ชีส และถั่วเปลือกแข็ง
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ ตลอดวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- หากต้องออกไปข้างนอก ให้พกขนมจุบจิบเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดตัวไปเสมอ
- ดื่มชาจากขิงขูดสด ๆ หรืออมลูกอมรสขิง
- กินวิตามินสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ พร้อมกับของว่าง หากมีธาตุเหล็กในวิตามินเหล่านั้น ลองกินก่อนนอน พร้อมปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางการกินวิตามินอื่น ๆ
ปรับวิถีชีวิต
- หลีกเลี่ยงกลิ่น แสงวูบวาบ และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่อาการคลื่นไส้
- อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เปิดพัดลมระบายอากาศ หรือออกไปสูดอากาศนอกอาคาร
- สูดกลิ่นที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่น เช่น เลมอน ส้ม หรือมิ้นต์
- ไม่เอนตัวลงนอนทันทีหลังกินอาหาร
- บ้วนปากทุกครั้งหลังอาเจียน เพื่อปกป้องฟันจากกรดที่มาพร้อมกับอาเจียน
- นอนพักผ่อนมาก ๆ
โดยทั่วไป อาการเหล่านี้มักจะค่อย ๆ ดีขึ้น หรือหายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์ แต่ในบางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ จนถึงช่วงสัปดาห์ที่ 14-27 และอาจพบกรณีแพ้ท้องตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ แต่พบได้น้อยมาก
อาหารแนะนำ ที่ดีต่อคุณแม่แพ้ท้อง
ช่วงตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปและอาหารน้ำตาลสูง ควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน ธัญพืช และผักผลไม้เยอะ ๆ จะดีต่อทั้งสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น
- สมูทธีผลไม้ และโยเกิร์ต
- น้ำเปล่า ชา (ระวังเรื่องปริมาณคาเฟอีน)
- ผักผลไม้อย่าง แตงโม เซเลอรี พริกหวาน ที่มีส่วนประกอบของน้ำสูง ผลไม้ตระกูลส้มที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้
- อาหารรสชาติเบา ๆ
อาการแพ้ท้องแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
หากเริ่มมีอาการแพ้ท้องที่รับมือไม่ไหว อย่ารอจนอาการรุนแรงขึ้น ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อรับคำแนะนำตั้งแต่เนิ่น ๆ แพทย์จะสามารถหาวิธีช่วยป้องกันไม่ให้อาการอาเจียนรุนแรงขึ้นได้
ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้
- คลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันตลอดวัน จนทำให้กินอาหาร หรือดื่มน้ำไม่ได้
- อาเจียนมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
- อาเจียนสีน้ำตาลหรือมีเลือดปนออกมา
- น้ำหนักลดลง
- รู้สึกอ่อนเพลียมากและสับสน
- รู้สึกมึนงง หมดสติ
- หัวใจเต้นเร็ว
- ปัสสาวะได้น้อย
- มีอาการปวดหรือมีไข้
นอกจากนี้ ยังมีอาการที่เกิดจากเงื่อนไขสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจทำให้อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียนแย่ลง ได้แก่ แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน โรคที่มีสาเหตุมาจากการกินอาหาร โรคของต่อมไทรอยด์หรือถุงน้ำดี อาการอักเสบที่ไส้ติ่ง กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ
สรุปแล้ว อาการแพ้ท้องไม่ใช่อาการที่อันตราย ไม่ได้สัมพันธ์กับความเจ็บป่วยหรือความแข็งแรงของทารกในครรภ์ ส่วนมากอาการจะหายไปได้เอง แต่ในรายที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์