ยานอนหลับ (Sleeping pills)
ยานอนหลับ (Sleeping pills) คือ ยาที่ใช้รักษาภาวะนอนหลับยาก นอนไม่หลับ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ โดยอาการนอนไม่หลับมีทั้งนอนไม่หลับในระยะสั้น และนอนไม่หลับในระยะยาว ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับจำนวนมากจึงตัดสินใจใช้ยานอนหลับออกฤทธิ์เร็ว ยากล่อมประสาท หรือ ยาช่วยนอนหลับ เพื่อแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ ในปัจจุบันมียานอนหลับมากมายหลายชนิดที่ออกฤทธิ์แตกต่างกันตามโครงสร้างทางเคมีและผลทางเภสัชวิทยา อย่างไรก็ตามการใช้ยานอนหลับในระยะสั้นเพื่อช่วยให้นอนหลับสามารถกระทำได้ หากแต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงอันเกิดการใช้ยานอนหลับเป็นเวลายาวนานที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ การค่อย ๆ เลิกยานอนหลับร่วมกับการฝึกการนอนหลับอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่พึ่งยานอนหลับจะช่วยให้กลับมามีสุขภาพร่างกายที่ดี มีชีวิตชีวา พร้อมรับกิจวัตรประจำวันในเช้าวันใหม่ได้อย่างสดใส แข็งแรง
ยานอนหลับ คืออะไร?
ยานอนหลับ คือยาที่ออกฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับ ช่วยบรรเทาอาการเครียดและวิตกกังวล ยานอนหลับช่วยให้ผู้ที่มีความผิดปกติในการนอนหลับ ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ หรือผู้ที่มักจะตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างสนิทโดยไม่ตื่นขึ้นมาในตอนกลางดึกอีก ผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับจำนวนมากจึงนิยมใช้ยานอนหลับในการช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
กลุ่มยานอนหลับ มีอะไรบ้าง?
ยานอนหลับมีหลายชนิด ได้แก่
- กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน Benzodiazepines (BZD) เป็นกลุ่มยานอนหลับออกฤทธิ์แรง ที่ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ช่วยให้คลายกังวล และช่วยในเรื่องการเรียนรู้และความจำ โดยยากลุ่มนี้ช่วยเพิ่มระดับของสารสื่อประสาท GABA กระตุ้นให้สมองรู้สึกง่วงนอน ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยคลายกล้ามเนื้อ คลายกังวล และเป็นยาที่ใช้รักษาโรคลมชัก ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาอัลพราโซแลม(Alprazolam) ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) ยาไดอะซีแพม (Diazepam) หรือ ยาลอราซีแพม (Lorazepam) มีทั้งแบบออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งยาโดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ โรคร่วม อายุ และโรคประจำตัว ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย และอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น ภาวะซึมเศร้า ที่ควรระมัดระวังในการใช้ยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคตับ และโรคไต
- กลุ่มยานอนเบนโซไดอะซิปีน Nonbenzodiazepines (Non-BZD) หรือ กลุ่มยาซีดรักส์ (Z-drugs) เป็นกลุ่มยานอนหลับออกฤทธิ์เร็ว เนื่องจากดูดซึมได้ดี โดยจะออกฤทธิ์ใน 30 นาทีหลังจากที่ได้ทานยาและออกฤทธิ์ได้นานถึง 8 ชั่วโมง โดยจะทำให้สมองรู้สึกง่วงนอน ทำให้คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับได้ดี และไม่ทำให้รู้สึกง่วงหรือมึนงงในตอนเช้า เป็นกลุ่มยาที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายให้คนไข้มากที่สุด เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อย พบอาการดื้อยาต่ำ และไม่ทำให้เกิดอาการติดยานอนหลับ ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาโซลพิเดม (Zolpidem) ยาแอมเบียน (Ambien) หรือ ยาโซพิโคลน (Zopiclone)
- กลุ่มยา Melatonin เป็นกลุ่มยาที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบสารชนิดเดียวกันกับสารสื่อประสาทในสมอง ที่หลั่งออกมาตามธรรมชาติเพื่อช่วยกระตุ้นให้รู้สึกอยากนอนหลับ โดยปกติ สารเมลาโทนินในสมองเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดวงจรการนอน โดยจะหลั่งออกมาในเวลาตอนกลางคืน หรือในที่ที่มีแสงสว่างน้อย เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกง่วงหงาวหาวนอน รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยให้รู้สึกอยากนอนหลับ โดยแพทย์นิยมสั่งยากลุ่มนี้ให้กับผู้ที่มีปัญหาในการหลับ หลับยาก ผู้ที่ทำงานไม่เป็นเวลา ทำงานเป็นกะ ผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่หลับ เนื่องจากการหลั่งของสารเมลาโทนินตามธรรมชาติลดน้อยลงตามวัย
- กลุ่มยา Antidepressants เป็นยากลุ่มยาต้านโรคซึมเศร้าที่ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ ช่วยคลายเครียด และคลายวิตกกังวลได้ดีมาก โดยเป็นกลุ่มยาที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไมเกรน โรคลำไส้แปรปรวนหรือโรคไอบีเอส (Irritable bowel syndrome: IBS) โดยเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทส่วนกลางช่วยให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย คลายกังวล และช่วยให้รู้สึกง่วงนอน ขนาดของตัวยากลุ่มนี้มีตั้งแต่ 10, 25 หรือ 50 มิลลิกรัม มีทั้งรูปแบบของ ยานอนหลับแบบน้ำ และรูปแบบของยานอนหลับแบบเม็ด อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ คือ อาการท้องผูก ปัสสาวะลำบาก คอแห้ง หรือปากแห้ง สมรรถภาพทางเพศลดลง และอาจทำให้น้ำหนักเพิ่ม โดยแพทย์ไม่นิยมใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ที่มีอายุน้อย หรือวัยรุ่น เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับ มีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับจะเริ่มแสดงให้เห็น เมื่อผู้ใช้ยานอนหลับเกิดการติดยานอนหลับ และไม่สามารถนอนหลับได้หากปราศจากยานอนหลับ การเลิกยากระทันหันหรือการ หักดิบ (Cold turkey) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการถอนยา (Withdrawal symptoms) และอาจทำให้อาการนอนไม่หลับแย่ลงกว่าเดิม (Rebound insomnia) ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีอาการดังต่อไปนี้
ผลข้างเคียงในระยะสั้น
- ง่วงนอน อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- สับสน มึนงง
- ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
- ปากแห้ง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- การตัดสินใจช้า สมองประมวลผลช้า
- อาหารไม่ย่อย มีแก๊ซในกระเพาะอาหาร จุกเสียด แน่นท้อง
ผลข้างเคียงในระยะยาว
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับในระยะยาวส่งผลต่อการทำงานของสมอง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนอนหลับ และทำให้ติดยานอนหลับ การดื้อยา รวมถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่
- เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
- ส่งผลต่อความจำ ความจำเสื่อม หรืออาการโรคอัลไซเมอร์
- อาจทำต่อเกิดภาวะซึมเศร้า
- สมรรถภาพทางเพศเสื่อม
- เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม
- การกดระบบหายใจขณะหลับ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
การเลิกยานอนหลับ มีวิธีการอย่างไร?
ผู้ที่ต้องการเลิกยานอนหลับควรเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการเลิกยานอนหลับ โดยควรเริ่มต้นโดยการค่อย ๆ ลดขนาดยานอนหลับทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวและไม่รู้สึกทรมาน พร้อมกับการปรับพฤติกรรม ดังต่อไปนี้
- การควบคุมสุขอนามัยการนอนหลับ (Sleep hygiene instruction) ปรับพฤติกรรมการนอน โดยการเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาเพื่อให้เกิดอุปนิสัยในการนอนหลับที่ดี ช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพ และเพื่อป้องกันไม่ให้อาการนอนไม่หลับแย่ลงไปกว่าเดิม
- การควบคุมสิ่งเร้า (Stimulus control) การจัดห้องนอนให้สะอาด ปราศจากสิ่งรบกวน ปิดไฟในห้องให้มืดสนิท ปิดโทรศัพท์มือถือไม่ให้มีเสียงหรือแสงสีฟ้าที่รบกวนการนอนหลับ รักษาอุณหภูมิห้องให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดี
- ควบคุมระยะเวลาการนอน (Sleep restriction) โดยการจำกัดการนอน โดยการฝึกฝนการบีบอัดระยะเวลาการนอน (Sleep compression) เพื่อรักษาอาการ/โรคนอนไม่หลับและฟื้นฟูระบบการทำงานของร่างกายโดยการสร้างแรงขับในการอยากนอนหลับ (Sleep drive)
- การฝึกการผ่อนคลาย (Relaxation training) ฝึกการทำสมาธิ ฝึกการหายใจ และการฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้ร่างกาย และจิตใจคลายกังวล
- การปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต (Lifestyle modification) เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยและอยากพักผ่อน ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ชา กาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาหลังเที่ยง ลดการทานน้ำตาล หลีกเลี่ยงการทานอาหารก่อนนอน และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อวัน
- การบำบัดจิตโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) เป็นการบำบัดจิตโดยการพูดคุยกับนักจิตบำบัด หรือแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์เพื่อจัดการกับสภาวะอารมณ์และกระบวนการคิดในเชิงลบ พร้อมทั้งเรียนรู้และปรับวิธีคิดเชิงบวก พร้อมทั้งวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง เพื่อให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกกับตนเอง และพร้อมที่จะสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพ และเป็นผู้ที่มองเห็นคุณค่าในตนเอง
การสร้างสุขนิสัยในการนอนที่ดี ช่วยให้นอนหลับได้
การนอนหลับเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีสุขภาพที่ดี สมองและร่างกายจะใช้ช่วงเวลานี้ในการบำรุง ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ถูกใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การนอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และส่งผลดีต่ออารมณ์ในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มีผู้คนจำนวนมากที่มีปัญหาในการนอนหลับและตัดสินใจใช้ยานอนหลับ หากแต่ยานอนหลับเหล่านี้ปลอดภัยจริงหรือ? ผู้ที่ใช้ยานอนหลับในระยะยาวจำนวนมากมักมีอาการเสพติดยานอนหลับ และไม่สามารถนอนหลับได้ปราศจากยาเหล่านี้ การพยายามเลิกยานอนหลับ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการเลิกยาต่าง ๆ ตามมาอันเป็นผลมาจากการหยุดยานอนหลับอย่างกระทันหันจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
การรักษาอาการนอนไม่หลับที่ดีที่สุดคือการสร้างสุขนิสัยในการนอนที่ดี การฝึกการนอนหลับอย่างเป็นธรรมชาติ ควบคู่กับการค่อย ๆ เลิกยานอนหลับ และการบำบัดรักษาอาการนอนไม่หลับร่วมกันกับแพทย์ผู้ชำนาญการอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น มีสุขภาพกายและใจที่พร้อมกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง
คุณมีความเสี่ยงหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือเปล่า?
ลองทำแบบทดสอบเลย!