เขย่าทารก อันตรายต่อสมอง บาดเจ็บถึงขั้นพิการ เสียชีวิต - Why should shaking an infant be forbidden -

เขย่าทารก อันตรายต่อสมอง บาดเจ็บถึงขั้นพิการ เสียชีวิต

ทำไมการเขย่าทารก จึงเป็นสิ่งต้องห้าม? วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับ อาการผิดปกติจากการเขย่าตัวทารก (Shaken Baby Syndrome) หนึ่งในอาการที่มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูที่ผิดวิธี

แชร์

เขย่าทารก อันตรายต่อสมอง บาดเจ็บถึงขั้นพิการ เสียชีวิต

ทำไมการ เขย่าทารก จึงเป็นสิ่งต้องห้าม? วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับ อาการผิดปกติจากการเขย่าตัวทารก (Shaken Baby Syndrome) หนึ่งในอาการที่มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูหรือปฏิบัติกับเด็กเล็กอย่างผิดวิธี เช่น เขย่าตัวไปมา หรือจับโยนเล่น โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นเหตุให้เด็กบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตได้

ทำไมพ่อแม่ถึงชอบเขย่าตัวลูก

ทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก ยังไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการออกมาเป็นคำพูดหรือภาษาได้ ดังนั้น เวลาที่เขารู้สึกหิว ไม่สบายตัว ง่วงนอน หวาดกลัว หรืออื่น ๆ จึงสื่อสารด้วยการร้องไห้ออกมา ซึ่งตามปกติแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรจะรีบหาสาเหตุ และตอบสนองความต้องการลูกทันที แต่ในบางครั้งทำทุกวิถีทางแล้ว แต่ลูกก็ยังไม่หยุดร้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นคุณแม่หรือคุณพ่อมือใหม่ ที่ต้องรับมือกับกิจวัตรประจำวันของเด็กแรกเกิด ไม่ว่าจะเป็น กินนม กล่อมนอน เปลี่ยนผ้าอ้อม วันละหลายครั้ง ทั้งกลางวัน และกลางคืน ย่อมรู้สึกเหนื่อยล้า นอนน้อย เกิดความเครียดสะสม พอได้ยินเสียงลูกร้องไม่หยุด ก็อาจเผลอระเบิดอารมณ์ใส่ลูกด้วยการเขย่าตัวไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อีกกรณีหนึ่งคือการอุ้มลูกโยนขึ้นไปบนอากาศ เพื่อเล่นกับลูก เพราะคิดว่าลูกน่าจะชอบ แต่ความจริงแล้วอันตรายมาก โดยเฉพาะในเด็กทารกอายุไม่เกิน 3-4 เดือน ที่ลำคอยังตั้งเองไม่ได้ การเขย่า โยน หรือทำให้ลำคอของเด็กโยกไปมา จะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายได้เช่นเดียวกัน การเล่นลักษณะนี้จะปลอดภัยกับเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไปมากกว่า

การเขย่าตัวส่งผลเสียอย่างไร

สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรรู้คือ การเขย่าตัวให้ลูกหยุดร้อง ไม่ได้ทำให้ลูกหยุดร้อง วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เด็กสงบ อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อเด็ก หรือเกิดอาการบาดเจ็บ ดังต่อไปนี้

อาการบาดเจ็บบริเวณบริเวณสมอง

เนื่องจากกะโหลกศีรษะเด็กทารกเป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และประกอบไปด้วยน้ำในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณคอยังไม่แข็งแรง ทำให้เวลาเกิดการเขย่าทางหน้าหลัง หรือด้านซ้ายขวาอย่างรุนแรง จะทำให้เหมือนการเขย่าถุงน้ำที่มีก้อนเนื้ออยู่ข้างใน ก้อนเนื้อหรือสมองนั้นจะเคลื่อนตัวไปชนกับบริเวณกะโหลกศีรษะ ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อสมอง อีกทั้งเส้นเลือดที่เลี้ยงเนื้อสมองนั้นยังไม่แข็งแรง ทำให้เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวกระชากรุนแรง จะทำให้เกิดการฉีกขาดได้ง่าย นำไปสู่เลือดออกในเยื่อหุ้มสมองในที่สุด ซึ่งในกรณีที่รุนแรงจะสามารถทำให้เสียชีวิตได้

อาการบาดเจ็บอื่น ๆ       

อวัยวะข้างเคียงที่อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของเนื้อสมองดังกล่าว ได้แก่ เลือดออกในจอประสาทตา ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ การบาดเจ็บของกระดูกลำคอและเนื้อเยื่อไขสันหลัง ซึ่งอาจนำไปสู่การอ่อนแรง อัมพาต หรือการพิการในระยะยาวได้

นอกจากนี้การบาดเจ็บของเนื้อสมองจากการกดทับของก้อนเลือด ยังนำไปสู่ความทุพพลภาพต่าง ๆ ตามบริเวณที่เนื้อสมองเกิดการบาดเจ็บ สามารถเกิดอาการชัก และเป็นโรคลมชักในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน

ลูกมีอาการผิดปกติจากการถูกเขย่า

จะสังเกตได้อย่างไร เมื่อลูกมีอาการผิดปกติจากการถูกเขย่า

โดยปกติการเขย่าตัวเด็กเบา ๆ เพื่อกล่อมให้นอน หรือทำให้สงบในการเลี้ยงทั่ว ๆ ไปนั้นไม่ได้มีอันตราย แต่หากพ่อแม่เผลอเขย่าตัวลูกแรง ๆ แล้วหลังจากนั้น พบว่าลูกมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ซึมลง กินอาหารไม่ค่อยได้ แหวะนม อาเจียน ชัก นอนหลับนานผิดปกติ ดูไม่สบายเนื้อตัว อาการแสดงเหล่านี้บ่งบอกว่าลูกอาจได้รับผลกระทบจากการถูกเขย่าตัวแรง ๆ ดังที่กล่าวไป และอีกอาการหนึ่งที่สังเกตได้ในเด็กเล็ก ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่กระหม่อมส่วนหน้ายังไม่ปิดสมบูรณ์ คือการคลำแล้วพบอาการปูด บวม เป็นสัญญาณว่ามีความดันในสมองสูง ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาล และควรให้ประวัติแพทย์อย่างชัดเจนเพื่อช่วยให้สามารถได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

แล้วอาการเหล่านี้มีระยะเวลาแสดงผลช้าเร็วแค่ไหน เชื่อว่านี่คือคำถามถัดมาที่พ่อแม่อยากรู้ 

คำตอบก็คือ หากเกิดการบาดเจ็บรุนแรง เลือดออกเยอะ อาการผิดปกติที่สังเกตได้จะเกิดขึ้นเร็วหน่อย อาจเกิดขึ้นทันที หรือภายในวันนั้น แต่หากการบาดเจ็บไม่รุนแรงมาก อาจเกิดอาการผิดปกติที่สังเกตได้ภายในช่วง 2-3 วัน หากพามาโรงพยาบาล หลังเข้ารับการรักษา เด็กทารก 1 ใน 3 สามารถรักษาหายได้ แต่ก็อาจจะมีความผิดปกติทางระบบประสาทตามมาเมื่อโตขึ้นได้ และอีก 2 ใน 3 จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่พิการไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ และกลุ่มสุดท้ายคือเสียชีวิต

กล่อมหรือเล่นกับลูกอย่างไรให้ปลอดภัย

การปฏิบัติต่อเด็กเล็ก ควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่รุนแรงทั้งหมด หากต้องการกล่อมให้หลับ วิธีที่ดีและปลอดภัย คือการอุ้มเดิน หรืออุ้มทารกแนบลำตัวแล้วโยกตัวไปมาเบา ๆ และร้องเพลงกล่อม หากอยากเล่นกับลูก พ่อแม่สามารถเล่นกับลูกได้หลากหลายวิธีโดยไม่ต้องใช้การกระทำที่รุนแรง เช่น จ๊ะเอ๋ ตบแปะ ใช้ของเล่นส่งเสียง ก็ช่วยให้ลูกรู้สึกสนุก เพลิดเพลินได้โดยไม่เป็นอันตราย

หากลูกร้องไห้ไม่หยุด ทำอย่างไร

พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า การที่ลูกร้องไห้ เป็นการแสดงออกว่าลูกกำลังต้องการอะไร ในเบื้องต้นเมื่อลูกร้องไห้ลองเช็กเรื่องพื้นฐาน อาทิ หิวนมหรือไม่ ผ้าอ้อมเปียกหรือไม่ หนาว ร้อน ไม่สบายตัวตรงไหนหรือไม่ การให้สิ่งที่ลูกต้องการ เป็นวิธีลำดับต้น ๆ ที่จะช่วยให้ลูกสงบลงได้ หากลองทุกอย่างแล้ว แต่ลูกยังร้อง พ่อแม่ต้องรับมือกับความเครียดและความเหนื่อยล้าของตัวเองให้ได้ ซึ่งจะทำอย่างไร ในหัวข้อต่อไปมีคำตอบ

ลูกร้องไม่หยุด อย่าเขย่า แต่ต้องเข้าใจ

วัยทารก เป็นช่วงวัยที่เปราะบางและมักร้องไห้โดยหาสาเหตุไม่ได้เป็นระยะเวลานาน ๆ ผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่ควรทำความเข้าใจธรรมชาติและควบคุมอารมณ์ของตัวเองเป็นอย่างแรก หากพ่อแม่มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หรือหงุดหงิด วิธีแก้ปัญหาคือหาคนช่วยดูแลลูก หรือผลัดเวรกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่ หากคนใดคนหนึ่งอุ้มกล่อมลูกเป็นเวลานานแต่ลูกยังไม่หลับหรือไม่หยุดร้องไห้ อีกทั้งตัวเองเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าแล้ว ควรเปลี่ยนมือให้อีกคนมารับช่วงต่อเพื่อให้ตัวเองได้พักผ่อน และหามุมเงียบ ๆ อยู่สักครู่ เพื่อผ่อนคลายจิตใจจากความเครียด และความรำคาญใจจากเสียงเด็กร้อง

ข้อควรระวังอื่น ๆ เมื่อต้องดูแลเด็กเล็ก

สำหรับข้อควรระวังสำหรับพ่อแม่ ที่อาจทำให้เกิดผลเสียกับลูกเล็ก เนื่องมาจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจข้อจำกัดทางกายภาพของเด็กเล็ก มีดังนี้

  • การอุ้ม ไม่แนะนำให้อุ้มเด็กเล็กด้วยวิธีช้อนรักแร้เพียงอย่างเดียว เพราะทำให้กล้ามเนื้อไหล่รับน้ำหนักตัวเด็กที่ค่อนข้างเยอะ และอาจทำให้ไหล่หลุดได้
  • การดึงแขน หากดึงหรือกระชากแขนเด็กแรง ๆ ก็ทำให้ข้อศอกหลุดได้เช่นกัน

คำแนะนำ หากต้องการอุ้ม หรือพาตัวเด็กไปกับเรา ให้ใช้วิธีรวบลำตัวขึ้นมา เช่น จับยกบริเวณสีข้าง ซึ่งเป็นส่วนของแกนลำตัวที่ปลอดภัยในการรับน้ำหนัก ในกรณีอุ้มเด็กทารก ต้องอุ้มด้วยการช้อนประคองบริเวณศรีษะและลำคอเอาไว้เสมอ

ทั้งนี้ หากเราเข้าใจพฤติกรรมและข้อจำกัดทางกายภาพของเด็ก ก็จะช่วยให้เราระมัดระวังและดูแลเด็กได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย ที่สำคัญคือ พึงระลึกไว้เสมอว่าการทำรุนแรง ไม่ได้ช่วยให้เด็กสงบลง หรือหยุดร้องได้





บทความโดย
พญ.ณธิชา เศรษฐ์ธนา

กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 29 มิ.ย. 2023

แชร์