Work-Life Balance
Work-life balance เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน และถึงแม้ว่าจะอยู่ในกระแสมานาน แต่ Work-life balance ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ตลอด และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันได้มีหลาย ๆ องค์กรนำรูปแบบการทำงาน Work-life balance เข้ามาปรับใช้เพื่อเป็นการจูงใจ และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย
Work-life balance คืออะไร?
Work-life balance คือ การหาความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวเพื่อลดผลกระทบจากการแบกรับภาระหน้าที่การงานที่มากจนเกินไป Work-life balance เป็นการทำงานรูปแบบใหม่ที่เชื่อว่า คุณไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาให้กับงานไปเสียทั้งหมด แต่คุณสามารถแบ่งเวลาสำหรับการพักผ่อน ดูแลสุขภาพ อยู่กับครอบครัว และทำงานอดิเรกควบคู่ไปด้วยกันได้
Work-life balance สำคัญอย่างไรในปัจจุบัน
ค่านิยมในปัจจุบันมองว่าการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ไม่ควรใช้เวลาทั้งหมดที่มีไปกับการทำงาน เพราะการให้เวลากับงานมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดความเครียดสะสมและส่งผลเสียต่าง ๆ ต่อสุขภาพร่างกายได้ เช่น ความดันโลหิตสูงซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจได้ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ความเครียดยังส่งผลกระทบต่อ ระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ป่วยง่ายขึ้น ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศพบว่าการทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเทียบกับคนที่ทำงานเพียง 35 ถึง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
6 สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังขาด Work-life balance
- ไม่มีเวลาสำหรับการดูแลตัวเอง ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน จนไม่เหลือเวลาสำหรับการดูแลตัวเอง เช่น ไม่มีเวลาในการออกกำลังกาย ไม่มีเวลาผ่อนคลายหรือทำงานอดิเรกที่ชอบ ไม่มีเวลาออกไปเที่ยวแม้ว่าจะเป็นวันหยุด นอกจากนี้ยังพบว่ามื้ออาหารส่วนใหญ่ที่รับประทานเป็นรูปแบบอาหารจานด่วนและอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่แย่กว่านั้น คือการทำงานจนลืมรับประทานอาหาร ซึ่งอาจส่งผลเสียทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่ครบถ้วน และอาจเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย
- งานล้นมือ มีงานสะสมมากมายไม่ว่าจะเป็นงานเก่าที่คั่งค้างอยู่ งานใหม่ที่พึ่งรับมา รวมทั้งงานสำคัญหรืองานด่วน ทำให้จัดตารางชีวิตได้ไม่สมดุล จัดการเรื่องตารางเวลาไม่ได้ โดยมีสาเหตุเกิดจากการจัดลำดับความสำคัญของงาน และแบ่งเวลาในการทำงานไม่ลงตัว
- อารมณ์แปรปรวน เมื่อมีความเครียดสะสมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิต ทำให้มีอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย และอาจมีความวิตกกังวลร่วมด้วยจนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและครอบครัวได้
- เบื่องาน หมดแรงบันดาลใจในการทำงาน อาจเกิดจากการทำงานหนักมากเกินไป และพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงรู้สึกเหนื่อยกับงานที่ทำ ถ้าปล่อยไว้นานอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndromes)
- คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ มีความกังวลว่าจะทำงานที่ได้รับมอบหมายออกมาไม่ดีพอ หรืองานไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และมีความคิดว่าตัวเองไม่เก่งและไม่คู่ควรที่จะได้รับความสำเร็จ ทำให้หมกมุ่นอยู่กับงานมากเกินไปจนชีวิตขาดความสมดุล
- รู้สึกโดดเดี่ยว ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถที่จะติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างง่ายดาย แต่การใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงานมากเกินไป อาจทำให้ไม่มีเวลาแม้กระทั่งโทรศัพท์คุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง การไม่ได้คุยกับใครเป็นเวลานาน อาจทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
เคล็ดลับการสร้าง Work-life balance อย่างมีประสิทธิภาพ
- กำหนดเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เมื่ออยู่ที่ทำงานควรตั้งใจ และให้เวลากับการทำงานอย่างเต็มที่ แต่เมื่อกลับถึงบ้านไม่ควรคิดหรือกังวลเกี่ยวกับเรื่องงานอีก ควรให้เวลากับตัวเองได้พักผ่อนอย่างต็มที่
- เคารพเวลาพักผ่อนของตัวเอง เมื่อถึงเวลาเลิกงานไม่ควรนำงานกลับมาทำที่บ้าน ควรปิดโทรศัพท์มือถือ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- จัดลำดับความสำคัญของงาน เรียงลำดับว่างานไหนต้องส่งก่อนควรทำให้เสร็จในลำดับต้น ๆ และงานไหนที่มีความสำคัญรองลงมา การลำดับความสำคัญของงานจะช่วยลดงานค้างสะสมลงได้
- ดูแลใส่ใจตัวเองให้มากยิ่งขึ้น เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ กำหนดเวลาเข้านอน เพื่อให้มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุข เพื่อผ่อนคลายความเครียดช่วยให้ร่างกายและจิตใจพร้อมสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิต
- กำหนดวันพักผ่อนให้ชัดเจน ใช้เวลากับคนรอบตัวให้มากขึ้น ควรแบ่งเวลาให้กับคนรอบตัวหรือครอบครัว ในการพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกัน จะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ และช่วยบรรเทาความเครียดหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้
- เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและกล้าขอความช่วยเหลือ ในโลกของการทำงานจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากพบว่าตัวเองมีงานค้างที่มากเกินไปจนไม่สามารถทำทันอาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานได้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และถ้าหากพบว่าถูกขอให้ช่วยงานจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าแต่ไม่สะดวก ก็สามารถที่จะปฏิเสธได้เช่นกัน
สุดท้ายนี้หากสังเกตอาการแล้วพบว่าตัวเองมีอาการเครียดหรือวิตกกังวลมากจนเกินไป จนอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาเกี่ยวกับความเครียดดังกล่าว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน อาจทำให้อาการแย่ลง และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย