1638341411247.jpg

ไขข้อข้องใจความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์

ร่วมรณรงค์วันเอดส์โลก มาร่วมไขข้อข้องใจ แก้ความเชื่อผิดๆ ที่หลายคนอาจมีเกี่ยวกับโรคเอดส์

แชร์

World AIDS Day

1 ธันวาคม 2564



ไขข้อข้องใจ ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก โดยคำขวัญในปีนี้ คือ ‘ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติโรคเอดส์ ยุติโรคระบาด’ (End Inequalities, End AIDS, End Pandemics.) 

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่องทำให้ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง  หรือที่รู้จักกันดีในชื่อโรคเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome, AIDS) ได้รับความสนใจน้อยลง อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในประเทศไทยยังถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ โดยที่กรมควบคุมโรคได้คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ HIV ปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 493,859 คน ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,825 คน (เฉลี่ย 16 ราย/วัน) และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 11,214 คนต่อปี (ประมาณ 31 ราย/วัน) ทั้งกรมอนามัยและสภากาชาดไทยต่างก็ผลักดันให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนในการจัดการเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ HIV อย่างต่อเนื่อง โดยที่หน่วยงานอย่าง UNAIDS (Joint United Nations Programme on HIV/AIDS) ได้มีการตั้งเป้าหมายในการยุติโรคเอดส์ภายในปี 2573 

เพื่อเป็นการร่วมรณรงค์วันเอดส์โลก ผศ.นพ.ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์ แพทย์ผู้ชำนาญการสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค และอดีตนายกสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย (วาระ พ.ศ. 2556 - 2558) จึงมาร่วมไขข้อข้องใจ แก้ความเชื่อผิดๆ ที่หลายคนอาจมีเกี่ยวกับโรคเอดส์

  • ติดเชื้อ HIV หมายความว่าเป็นโรค  AIDS?

HIV (Human Immunodeficiency Virus) ไม่ใช่เอดส์ แต่เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นั่นคือเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T cells ซึ่งทำหน้าที่ในการต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ หากเมื่อใดผู้ติดเชื้อ HIV มีอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น ปอดอักเสบ PJP วัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส หรือถึงแม้ยังไม่มีอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส แต่เมื่อใดที่เชื้อไวรัส HIV ทำลายเซลล์ CD4 จนมีปริมาณไม่เพียงพอ (ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.) ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็จะเรียกว่าเข้าสู่ระยะโรคเอดส์

  • การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV เช่น กินข้าวร่วมกัน ดื่มน้ำร่วมกันสามารถทำให้ติดเชื้อ HIV ได้?

การหายใจ จาม ไอ กอด จูบ จับมือ ใช้ช้อนเดียวกัน ดื่มน้ำจากหลอดเดียวกัน ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกันเช่น ผ้าเช็ดตัว/ผ้าเช็ดหน้า อุปกรณ์ออกกำลังกาย การสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ร่วมกัน เช่นลูกบิดประตู ฝารองนั่งในห้องน้ำ หรือการโดนยุงที่กัดผู้ติดเชื้อมากัดเราต่อ ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อ HIV อย่างไรก็ตามยังมีเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ติดต่อโดยการกินอาหารโดยใช้ช้อนเดียวกันหรือดื่มน้ำโดยใช้หลอดเดียวกันได้ จึงไม่แนะนำให้ทำ

 HIV เป็นไวรัสที่อยู่ในเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำนม เป็นต้น จึงสามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัก เจาะหู/เจาะสะดือ และการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (ขณะตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอดและผ่านทางน้ำนม) ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อ HIV และคนทั่วไป จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้ปกติ เพียงแต่หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

  • การจูบ การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก และการใช้ sex toy สามารถถ่ายทอดเชื้อ HIV ได้?

การจูบแบบเปิดปากอาจมีความเสี่ยงหากทั้งคู่มีบาดแผลในช่องปาก โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเชื้อ HIV  และการมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางปาก (oral sex) ก็อาจมีความเสี่ยงในกรณีที่ฝ่ายชายมีการหลั่งน้ำอสุจิที่อาจมีเชื้อ HIV อยู่และเข้าไปในช่องปากของคู่นอนที่มีบาดแผลอยู่ในปาก อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของทั้งสองกรณีเป็นความเสี่ยงที่ต่ำ    มาก ๆ  

ส่วนการใช้อุปกรณ์เสริมในการมีเพศสัมพันธ์ (sex toy) ร่วมกันกับผู้อื่น อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ในกรณีที่มีการใช้ต่อกันทันทีและอุปกรณ์นั้นปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งหรือเลือดที่มีเชื้อ HIV หรือใช้อุปกรณ์ร่วมกันกับผู้ที่มีเชื้อ HIV 

  • มีเชื้อ HIV แล้วทำให้ตายเร็ว?

ปัจจุบันการรักษา HIV มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อย รักษาแล้วได้ผลดี สามารถมีชีวิตได้เหมือนคนปกติถึงแม้ว่าจะอยู่ในระยะโรคเอดส์แล้ว แต่ถ้ามารักษาทัน และไม่ได้มีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อนรุนแรงก็สามารถรักษาให้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ แม้ระดับ CD4 จะลดเหลือหนึ่งตัวหรือศูนย์ตัว ก็มีผู้ป่วยที่รักษาแล้ว จำนวนเซลล์ CD4 สามารถกลับมาเป็นปกติและมีร่างกายที่แข็งแรงได้ จึงไม่ควรปล่อยให้ตนเองเสียโอกาส หากมีโอกาสเสี่ยงที่ติดเชื้อ HIV ให้รีบมาตรวจรักษา และหากทราบว่าติดเชื้อ HIV แล้วให้แจ้งผลกับคู่นอน เพื่อที่จะได้เข้ารับการตรวจ และ/หรือรักษาให้ทันท่วงทีก่อนที่จะป่วยหนัก

  • ตรวจไม่เจอหมายความว่าหายแล้ว?

การตรวจไม่เจอเชื้อไวรัส HIV ในเลือด (Undetectable HIV viral load) ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อแล้ว แต่หมายความว่ายาได้ไปฆ่าไวรัสจนเหลือน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีไวรัสหลบซ่อนตัวอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น     ในสมอง ต่อมน้ำเหลือง หรือลำไส้ ดังนั้นหากคนไข้หยุดกินยาต้านไวรัส จำนวนเชื้อ HIV ก็จะเพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันจะตกลงและมีโอกาสป่วยได้อีก

  • ตรวจไม่เจอ=ไม่แพร่เชื้อ?
ปัจจุบันมีคอนเซ็ปต์ U = U หรือ Undetectable = Untransmissible หมายความว่า ไม่เจอเชื้อ = ไม่แพร่เชื้อ หากผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและกินยาอย่างสม่ำเสมอเคร่งครัด จนมีปริมาณเชื้อไวรัส HIV ในเลือดที่ต่ำมาก (ต่ำกว่า 40 copies ต่อ มล.) หรือตรวจไม่พบเชื้อ (Undetectable) ติดต่อกันก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อได้ (Untransmissible) ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยกับผู้ติดเชื้อ HIV ที่กินยาต้านไวรัสจนตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อ HIV อย่างไรก็ตามยังควรสวมใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทาง    เพศสัมพันธ์อื่น ๆ หรือหากคู่นอนที่ติดเชื้อ HIV กินยาไม่สม่ำเสมอ แล้วเกิดเชื้อดื้อยา อาจทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว และสามารถแพร่เชื้อให้อีกฝ่ายได้ จึงควรมีการป้องกันโดยการสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย และควรจำกัดจำนวนคู่นอนด้วยเช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ ผศ. นพ.ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์ ทิ้งท้ายว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ HIV หรือเป็นโรคเอดส์ได้ และขอให้ช่วยกันรณรงค์ให้ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ ไม่ตีตรา และไม่รังเกียจผู้ที่ติดเชื้อ HIV ขอให้ทุกคนไม่ประมาท แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอเพราะนอกจากสามารถป้องกัน HIV ได้แล้วยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือพฤติกรรมเสี่ยง หากสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อ ให้รีบทำการตรวจเลือด เพื่อที่จะได้รีบเข้าสู่ระบบและรักษาแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อน คงสุขภาพที่ดีเอาไว้ และป้องกันคนที่ตนรักอีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ได้ผลในการป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อ HIV และยังไม่มียาที่สามารถรักษาให้หายขาดได้  ณ ขณะนี้ยังต้องใช้การรักษาในระยะยาว ดังนั้นหากติดเชื้อแล้วเชื้อไวรัสนี้จะอยู่กับผู้ป่วยไปตลอด ต้องรักษาตัวให้ดี และกินยาอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ ห้ามซื้อยารักษาโรคติดเชื้อ HIV รับประทานเอง ต้องพบและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อย่าใช้สมุนไพร อาหารเสริม หรือยาแผนใดที่ยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่ามีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัส HIV




บทความโดย
ผศ.นพ.ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์
แพทย์ผู้ชำนาญการสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 30 พ.ย. 2021

แชร์