หมอผิวหนัง ที่เข้าใจเรื่องภูมิคุ้มกัน ทำให้มีมุมมอง แนวทางการรักษาโรคที่แตกต่าง
“โรคยากซับซ้อน ถ้าเราโฟกัสแค่อาการที่ผิวหนัง จะไม่สามารถวินิจฉัยอาการป่วยที่แท้จริงของคนไข้ได้”
หน้าที่ของ ตจแพทย์ หรือหมอผิวหนังนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่การดูแลเรื่องผิวพรรณความงามอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วคือการดูแลทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผิวหนังทั้งหมด รวมถึงการดูแลเส้นผม เส้นขน และเล็บด้วย
วันนี้ ดร.นพ.ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ (คุณหมอจั๊ด) ตจแพทย์ผู้ชำนาญการด้านภูมิคุ้มกันผิวหนัง และหัวหน้าศูนย์โรคผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเมดพาร์ค ให้เกียรติมาเล่าจังหวะชีวิตอันน่าสนใจ ที่เริ่มต้นจากการเป็นแพทย์ที่ศึกษาเฉพาะทางในด้านภูมิคุ้มกันวิทยา และต่อยอดสู่การเป็นอาจารย์แพทย์ด้านภูมิคุ้มกันผิวหนังมากประสบการณ์ในปัจจุบัน
หมอภูมิแพ้ผิวหนัง อาจารย์ภูมิคุ้มกันวิทยา และอาจารย์หมอเสริมความงาม
การเป็นแพทย์เฉพาะทางของนายแพทย์ชลธวัช เริ่มจากความชอบและสนใจในด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ประกอบกับจังหวะชีวิตที่เข้ามาประจวบเหมาะอย่างพอดิบพอดี
“ความโชคดีของการจบภูมิคุ้มกันวิทยาคือ เราสามารถต่อยอดความรู้ในด้านนี้ออกไปได้หลายทางเลย แล้วบังเอิญว่าหัวหน้าในตอนนั้นเขียนจดหมายแนะนำให้ผมได้มาเรียนต่อที่ สถาบันโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย ซึ่งก็ตรงใจเลย เพราะโรคผิวหนังเนี่ย มีโรคทางภูมิคุ้มกันวิทยาเยอะมาก แล้วก็ทำให้เรามีโอกาสได้ร่วมงานกับหมอแผนกอื่น ๆ เยอะแยะเลย”
เราเห็นถ้วยรางวัลที่มีชื่อ ‘นพ.ชลธวัช’ ตั้งอยู่ในห้องทำงาน จึงถือโอกาสถามถึงที่มาที่ไป ซึ่งคำตอบที่ได้ น่าสนใจมากทีเดียว
“ถ้วยนั่นเป็นรางวัลที่มอบให้ผม ในฐานะผู้สอนแพทย์ความงามในการทำหัตถการ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงบทบาทหนึ่งที่เป็นส่วนน้อยในชีวิตผมเองนะ ถ้าชีวิตการทำงานผมมี 100% การเป็นหมอภูมิคุ้มกันผิวหนังคือ 50% การเป็นอาจารย์สอนด้านภูมิคุ้มกันวิทยาคือ 30% ส่วน 20% ที่เหลือผมคืออาจารย์สอนหัตถการด้านความงามครับ”
หมอผิวหนังที่เข้าใจเรื่องภูมิคุ้มกัน ส่งผลดีต่อการวินิจฉัย โรคยากซับซ้อน
คุณหมอจั๊ดยังได้เล่าเพิ่มเติมถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการเป็นหมอผิวหนัง ที่มีความรู้ด้านภูมิคุ้มกัน จากการเล่าถึงเคสที่เพิ่งตรวจรักษาไปเมื่อไม่นาน คนไข้มาพร้อมกับอาการมีจ้ำเลือดที่ขา ซึ่งหากมองเพียงผิวเผิน ก็อาจจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคผิวหนังที่ทำให้มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง แต่ด้วยมุมมองที่กว้าง ทำให้คุณพบเจอสาเหตุที่แท้จริง
“การมีความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ลึกซึ้ง ทำให้เรามีมุมมองและแนวทางในการรักษาโรคที่แตกต่าง และค่อนข้างกว้าง สุดท้ายก็เลยได้รู้ว่าเขาเป็น โรคเส้นเลือดอักเสบที่ผิวหนัง แต่มีอาการร่วมที่ท้องและไต ซึ่งทำให้เราเห็นเลยว่า โรคยากซับซ้อนแบบนี้ ถ้าเราโฟกัสแค่อาการที่ผิวหนังอย่างเดียว แต่ละเลยอาการอย่างอื่นไป จะทำให้เราไม่สามารถวินิจฉัยอาการป่วยที่แท้จริงของคนไข้ได้”
แพทย์ภูมิแพ้ผิวหนัง คนที่เรียนต้องมีใจรักจริงพอสมควร ซึ่งสำหรับคุณหมอจั๊ดแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการที่เป็นอาจารย์แพทย์รุ่นใหม่ที่ได้เขียนตำราแพทย์
“มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมภูมิใจ คือการได้ร่วมเขียนตำราแพทย์เกี่ยวกับโรคผิวหนัง ผมได้มีโอกาสเขียนบทการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องภูมิคุ้มกันวิทยา ซึ่งในรายชื่อผู้เขียนตำรา 2 เล่มนั้น ผมเป็นหนึ่งในอาจารย์แพทย์รุ่นใหม่ไม่กี่คนเท่านั้น รู้สึกเป็นเกียรติมากที่อาจารย์ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของเรา รู้สึกขอบคุณมาก ๆ เลยครับ”
Exosome, Biostimulator เทรนด์ที่ทำให้หมอผิวหนังต้องศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น
แน่นอนว่า การเป็นอาจารย์หมอที่สอนแพทย์ในการทำหัตถการเสริมความงาม ทำให้รู้เกี่ยวกับเทรนด์ในการเสริมความงามที่มีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งการมาของเทรนด์เสริมความงามใหม่อย่าง Exosome นั้น เป็นสิ่งที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้
“Exosome เนี่ย จริง ๆ แล้วผมรู้จักมานานตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาเอกด้านภูมิคุ้มกันเลย แต่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่ามันจะเข้ามามีบทบาทในด้านการเสริมความสวยความงาม แถมยังได้รับความนิยมอีกด้วย ล่าสุดผมได้รับเชิญให้บรรยายเกี่ยวกับ Biostimulator ในหัวข้อชื่อ “When Immunology meets Aesthetics.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า เมื่อภูมิคุ้มกันวิทยามาบรรจบกับความสวยความงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคิดมาก่อนจริง ๆ ว่าจะมาพบกันได้”
อนาคตของแพทย์ผิวหนังที่ชำนาญด้านการเสริมความงาม จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันวิทยามากขึ้น เพราะหัตถการใหม่ ๆ หรือสิ่งที่เป็นเทรนด์ใหม่ในวงการเสริมความงาม อย่าง Biostimulator เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความรู้ด้านภูมิคุ้มกันเข้ามาร่วมในการรักษาด้วย
บทบาทใหม่ ในฐานะหัวหน้าศูนย์โรคผิวหนังและความงาม เมดพาร์ค
เหตุผลที่เลือกมาทำงานกับเมดพาร์คนั้น เกิดจากการมองหาความท้าทายใหม่ ๆ เลยมองหาโรงพยาบาลที่จะเปิดโอกาสให้ตนสามารถทำทุกอย่างที่ตั้งใจอยากทำได้ และถูกใจกับจุดยืนของเมดพาร์คในความเป็นโรงพยาบาลที่ก่อตั้งเพื่อรักษา โรคยากซับซ้อน
“รู้สึกว่าที่นี่ตอบโจทย์ผมทุกอย่างเลย เมดพาร์คเป็นโรงพยาบาลที่เปิดกว้าง มีศักยภาพ สามารถผลักดันสิ่งต่าง ๆ ออกมาเป็นรูปธรรมได้เร็ว ผมอายุก็ไม่น้อยแล้ว ไม่สามารถรออะไรที่นานเกินไปได้ ซึ่งนอกจากผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์แล้ว การที่โรงพยาบาลพร้อมเติมเต็มสิ่งต่าง ๆ ให้ขนาดนี้ นั่นหมายความว่าคนไข้จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”
อดีตครูสอนเปียโน คนรักหนัง และการพิชิตออฟฟิศซินโดรมด้วยโยคะ
งานอดิเรกของคุณหมอจั๊ด นอกจากการดูหนังฟังเพลงแล้ว ยังชื่นชอบการเล่นเปียโน เพราะก่อนที่จะเข้าเรียนแพทย์ ในสมัยมัธยมปลาย เคยเป็นคุณครูสอนเปียโนให้กับสถาบันสอนดนตรีมาก่อน แม้ตอนนี้จะไม่ได้เล่นจริงจังเท่าสมัยก่อนแล้ว แต่เปียโนก็ยังคงเป็นความสุนทรีย์ในชีวิตอยู่เสมอ ส่วนอีกหนึ่งงานอดิเรกที่จริงจังและทุ่มเทมากก็คือการเล่นโยคะ
“โยคะเนี่ย ผมเรียนมา 3 ปี ชอบมากเลยนะ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายจิตใจเรามาก ปกติแล้วตัวค่อนข้างมั่นใจนะว่าตัวเองเป็นคนเรียนรู้อะไรได้เร็ว แต่อันนี้เราเร่งมันไม่ได้ โยคะเป็นสิ่งที่เห็นพัฒนาการได้ช้ามาก เพราะกล้ามเนื้อของเราต้องใช้เวลาในการค่อย ๆ ยืด ค่อย ๆ เพิ่มความยืดหยุ่น บางท่าต้องฝึกเป็นปีกว่าจะทำได้”
“ยอมรับเลยว่าปีแรกที่เล่นมีท้อจนเกือบจะเลิก แต่ผมได้พบว่า หลังจากเล่นโยคะแล้ว อาการปวดหลัง ปวดตึง หรือที่เราเรียกว่าออฟฟิศซินโดรมที่มีมาตลอด หายไปเลย หายแบบสนิท แต่ก่อนต้องไปนวดทุกสัปดาห์ ตอนนี้ไม่ต้องไปอีกเลย แม้จะยังทรมานทุกครั้งที่เล่น แต่มีความสุขเสมอ เพราะรู้ว่ามันดีจริง”
จากบทบาทในหน้าที่การงานที่จริงจัง แต่หลังจากถอดเสื้อกาวน์แล้ว ในช่วงเวลาพักผ่อนนั้น ดูเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่ยังคงไว้ซึ่งความชัดเจน และทุ่มเทให้กับความชอบเสมอ