แชร์ประสบการณ์ ผ่าตัดต้อกระจก
เปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมสองชนิดในวันเดียว
“คุณหมอวางแผนมาอย่างดีแล้ว ท่านมีประสบการณ์สูง และรู้ว่าเราต้องการอะไรมากที่สุด”
ต้อกระจก เป็นหนึ่งในโรคทางตาที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย มักสร้างความรำคาญและความกังวลใจให้แก่คนที่มีอายุมากขึ้น เพราะตาเบลอ ทำให้มองตัวหนังสือไม่ชัดเจน และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
วิธีการรักษาต้อกระจก อย่างที่เรารู้กันดีคือ ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา เป็นการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไป แต่หลายคนไม่กล้าทำ เพราะกลัวตาบอด แต่สำหรับคุณพนิดา แซ่ตัน ซึ่งรู้โดยบังเอิญว่าเป็นต้อกระจก ก่อนจะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดในเวลาไม่นาน อะไรทำให้คุณพนิดาไม่ลังเลที่จะรักษา? มาติดตามเรื่องราวของเธอได้ใน Patient Story
โรคต้อกระจก ต้อหิน พอตรวจตาถึงรู้..ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
“ช่วงอายุ 50 ปลาย ๆ ย่างเข้า 60 ปี มีอยู่วันหนึ่ง พี่รู้สึกคันตามากค่ะ คันจนเผลอไปขยี้ตาแรงมาก ก็เลยตัดสินใจไปหาหมอ ตอนนั้นคิดแค่ว่าคงจะได้ยามาหยอดตา แต่พอคุณหมอตรวจอย่างละเอียด ก็พบสัญญาณเตือนของ โรคต้อกระจก เพราะที่เลนส์ตามีฝ้าบาง ๆ มีมุมตาแคบ และมีความดันลูกตาสูงด้วย”
จากอาการที่ดูเหมือนจะเป็นแค่เริ่มต้น แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ จนเลนส์แก้วตาหนาขึ้นมาก ๆ ก็อาจส่งผลทำให้เกิด โรคต้อหินมุมปิด (Angle Closure Glaucoma) ได้
“ตอนนั้นเริ่มกังวลค่ะ เพราะพี่เป็นโรคความดันสูงอยู่แล้ว พี่พยายามควบคุมอยู่ ตัวบนประมาณ 130-150 ตัวล่างประมาณ 90 ส่วนค่าระดับน้ำตาลสะสมในเลือด หรือ HbA1c เป็น 6.2 ซึ่งก็เป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้เป็นต้อกระจกได้ ส่วนเรื่องความดันลูกตา ถ้าไม่ติดตามหรือควบคุมให้ดี ในอนาคตก็มีโอกาสเป็นต้อหิน ซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดพร้อมกับต้อกระจกได้อีก”
คุณหมอได้วินิจฉัยว่า อาการคันตาเกิดจากภูมิแพ้ จึงให้ยาหยอดตากลับมาใช้ ซึ่งต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีสารสเตียรอยด์ ที่ส่งผลต่อความดันลูกตา คุณหมอได้นัดหมายให้เข้ามาตรวจตาเป็นระยะ ระหว่างนั้น คุณพนิดาก็เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับ การรักษาโรคต้อกระจก และตั้งใจว่าจะผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา กับ รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดต้อกระจกและต้อหิน โรงพยาบาลเมดพาร์ค
“อาจารย์ปริญญ์เป็นหมอตาที่เก่งมาก ท่านมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ขนาดเพื่อนพี่ที่ไปทำงานอยู่ต่างประเทศ เขาไปตรวจตากับหมอ หมอยังแนะนำเลยว่า ถ้าคุณกลับเมืองไทยแล้ว ให้มาตรวจกับอาจารย์ปริญญ์ พี่ก็เลยยิ่งมั่นใจค่ะ ซึ่งท่านก็ให้ความรู้ดี อธิบายเข้าใจง่าย ทำให้ไม่เครียดด้วย”
“วันที่ไปตรวจครั้งแรก อาจารย์ตรวจอย่างละเอียดเลยค่ะ ตรวจลานสายตา มุมตา ความดันตา อาจารย์ถามว่าเราใช้ชีวิตยังไง ตอนนี้ยังทำงานอยู่ไหม ต้องอ่านหนังสือ ดูคอมพิวเตอร์เยอะใช่ไหม ขับรถด้วยหรือเปล่า ซักประวัติอยู่นาน ก่อนที่จะออกแบบการรักษา”
เลนส์แก้วตาเทียม ที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคล
“เอาล่ะ คุณจะต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาแล้วนะ” อาจารย์ปริญญ์อธิบายแผนการรักษาแบบ Mixed IOL design คือผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาสองข้างโดยใช้เลนส์แตกต่างกัน โดยตาข้างขวาใส่ “เลนส์โมโนโฟคอล” ส่วนตาข้างซ้ายใส่ “เลนส์มัลติโฟคอล” และได้นัดหมายวันผ่าตัดตาทั้งสองข้างให้จบภายในวันเดียวกัน
“พี่ผ่าตาพร้อมกันสองข้างเลยค่ะ บางคนบอกให้ทำแค่ข้างเดียวก่อน เพราะจะได้มองเห็น และดูแลตัวเองได้ พอตากลับมาปกติแล้วค่อยทำอีกข้างนึง มีคนเขาถามพี่ว่า เธอไม่กลัวหรอ มาผ่าพร้อมกันแบบนี้ ถ้าเกิดตาข้างนึงติดเชื้อขึ้นมาจะทำยังไงล่ะ พี่ก็บอกไปว่า ไม่กลัวค่ะ คุณหมอวางแผนมาอย่างดีแล้ว พี่เชื่อมั่นในตัวหมอ ท่านมีประสบการณ์สูง และรู้ว่าเราต้องการอะไร”
สำหรับเลนส์โมโนโฟคอลนั้น มีจุดเด่นคือ สามารถมองระยะไกลได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าต้องการมองระยะใกล้จะต้องใช้แว่นสายตาช่วย ส่วนอีกข้างที่เป็นเลนส์มัลติโฟคอนนั้นจะเหมือนกับ “โปรเกรสซีฟเลนส์” คือมองชัดได้หลายระยะ ทั้งระยะใกล้ ระยะกลาง ระยะไกล
“เรื่องการใช้รถมอเตอร์ไซด์ ปกติพี่จะขี่ไปซื้อของใกล้ ๆ บ้านนี่เอง แต่อาจารย์ปริญญ์ค่อนข้างใส่ใจมากเลยค่ะ คุณหมอบอกว่า ช่วง 2-3 เดือนแรก จะเห็นแสงไฟแตกกระจายเป็นรัศมีนะ ถ้าขี่รถตอนกลางคืนจะรู้สึกรำคาญนิดหน่อย แล้วช่วงก่อนถึงวันผ่าตัด ก็จะมีนัดให้เข้ามาวัดเลนส์ตา เพื่อดูว่าจะใช้เลนส์ยี่ห้อไหนดี อาจารย์จะเลือกให้เหมาะสมกับเรามากที่สุด”
ผ่าตัดสลายต้อ น่ากลัวจริงไหม?
การผ่าตัดสลายต้อ อธิบายหลักการง่าย ๆ คือ การใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ มาสลายเลนส์ที่ขุ่นมัวออก แล้วนำเอาเลนส์ใหม่ (IOL: Intra-Ocular Lens) ใส่เข้าไป โดยในวันที่นัดมาทำการผ่าตัด ก็จะมีเลนส์มาให้พร้อมซึ่งเป็นเลนส์ที่ออกแบบมาเฉพาะคนไข้รายนั้น ๆ (Customized Vision)
“วันผ่าตัดพี่เตรียมตัวมาอย่างดีเลยค่ะ สระผม ล้างหน้าให้สะอาด ก่อนผ่าตัดจะหยอดยาไว้สักพัก แล้วเขาก็พาเข้าไปในห้องผ่าตัด คุณหมอจะมีเครื่องมือมาช่วยถ่างตาเอาไว้ พี่รู้สึกตัวตลอดนะ เพียงแต่มันมืด มองไม่เห็น จะได้ยินแค่เสียงรอบข้าง อาจารย์ปริญญ์ผ่าตัดไป ร้องเพลงไป บรรยากาศเลยไม่เครียดค่ะ”
“ทำข้างซ้าย 15 นาทีก็เสร็จค่ะ แล้วเปลี่ยนมาผ่าข้างขวาต่อ จากนั้นก็ใส่ผ้าก๊อซและที่ครอบตาให้ เขาพาออกมานอนในห้องพักฟื้น สักพักน้องพยาบาลก็กลับเข้ามา นำผ้าก๊อซออก เหลือแต่ที่ครอบตา เราต้องใส่ที่ครอบตาเอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันการเผลอไปกด หรือขยี้ตา จากนั้นพยาบาลก็หยอดตาให้ ซ้ายที ขวาที ทุก 2 ชั่วโมง 4 ชั่วโมง”
หลังจากกลับบ้านได้แล้ว หมอได้นัดมาติดตามผลการรักษา 1 อาทิตย์ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ซึ่งแต่ละครั้งที่นัด หมอจะวัดอย่างละเอียดทั้งลานตา ความดันลูกตา มุมตา
“พี่อยากจะแนะนำ คนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรต้องไปตรวจสุขภาพดวงตาบ้างค่ะ เพราะตาของเราเสื่อมลงไปตามอายุ อย่างพี่เอง ถ้าไม่ได้มีอาการคันตา ไม่ได้ไปตรวจตา ก็ไม่รู้หรอกว่าเริ่มจะเป็นต้อกระจก ทุกวันนี้พี่หยิบแว่นมาใส่เป็นบางครั้งเพื่อช่วยบรรเทาอาการตาล้า เพราะพี่ชอบดูไลฟ์สด สองชั่วโมงพี่ก็ดูได้ ซึ่งพอเอาแว่นสายตายาวอันเดิมมาใส่ โอ้โห...ภาพยิ่งชัดมาก แฮปปี้กับชีวิตใหม่ที่มีเลนส์ตาคู่ใหม่ค่ะ”
คุณพนิดาได้บอกต่อประสบการณ์ ความประทับใจหลังจากผ่าตัดสลายต้อ ให้กับคนอื่น ๆ ได้ฟัง และตัดสินใจมาทำตามอีกหลายคนเลยทีเดียว หากใครได้พบและพูดคุยกับคุณพนิดา ก็คงสัมผัสได้ถึงความสุขมากมายในหัวใจ ที่ส่งผ่านทางแววตา และรอยยิ้มสดใส เหมือนอย่างคำที่บอกว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” นั่นเอง
ต้อกระจก ไม่ต้องรอให้ขุ่นก็ผ่าตัดได้ถ้าตอบความต้องการ
หลายคนอาจจะได้ยินมาว่า การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา เพื่อรักษา โรคต้อกระจก จะต้องรอให้ “ต้อสุก” หรือดวงตาเป็นสีขาวขุ่นก่อนจึงจะผ่าตัดได้ แต่ในความเป็นจริงมีการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ช่วยในการวิเคราะห์ดวงตา และวินิจฉัยหาความผิดปกติของดวงตา มีการนำระบบดิจิทัลและเลเซอร์ Wavefront มาช่วยตรวจวัดเลนส์ขณะทำการผ่าตัด และเครื่องมืออีกมากมาย ที่ช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วยิ่งขึ้น เพิ่มคุณภาพของการมองเห็นให้ตอบสนองความต้องการของคนไข้ โดยไม่ต้องรอให้ต้อสุก
ดังนั้น คนไข้วัยเกษียณที่มีภาวะความเสื่อมของเลนส์แก้วตา ก็สามารถปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษาได้ โดยไม่ต้องรอให้อายุล่วงเลยไปมาก หรือรอให้อาการรุนแรงไปมาก ทั้งนี้ เพื่อคุุณภาพการมองเห็นที่ดี สามารถอ่านหนังสือ ดูทีวี เล่นมือถือ ทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องสวมแว่นตาตลอดเวลา
รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดต้อกระจกและต้อหิน ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมว่าต้องคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ และความต้องการของคนไข้แต่ละคน
“เราต้องใช้ Communication Skill ในการพยายามเข้าใจคนไข้ เพื่อดูว่าเราจะเติมอะไรเข้าไป อย่างคุณพนิดาเขาอาศัยอยู่ภูเก็ต และขี่มอเตอร์ไซค์บ่อยๆ ซึ่งภูเก็ตมีเส้นทางที่เป็นทางราบ เนินเขา มีทั้งจุดที่สว่างและมืด ดังนั้น เราต้องแก้ปัญหาเรื่องความสว่างและ Contrast ของแสงที่แปรเปลี่ยน ต้องทำให้เขามองได้ชัดทั้งกลางวัน กลางคืน ยิ่งเดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนต้องดู Google Map ต้องมองใกล้ด้วย แต่เขาไม่อยากใส่แว่นอีกแล้ว ดังนั้น การทำให้มองระยะไกลและใกล้ได้ในขณะขี่รถ ก็ต้องใส่เลนส์โมโนโฟคอลที่ตาข้างหนึ่งและมัลติโฟคอลรุ่นที่เหมาะสมในตาอีกข้างหนึ่ง ต้องเลือกให้ถูกรุ่น ถูกตา และถูกคน”
เทคโนโลยีการผ่าตัด และประสบการณ์ของจักษุแพทย์ เป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากการค้นหาไลฟ์สไตล์และความต้องการของคนไข้ให้เจอแล้ว จักษุแพทย์จะต้องมีความเข้าใจเลนส์แต่ละชนิด ว่ามีข้อดีข้อเด่นอะไร นอกเหนือจากการตรวจตาอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่า เลนส์นั้นเหมาะสมกับตาของคนไข้หรือไม่ และขั้นตอนสุดท้ายคือ ต้องผ่าตัดด้วยความแม่นยำ
ซึ่งที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค ก็มีเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เครื่องมือตรวจวินิจฉัย การคำนวณวางแผนเลือกเลนส์เป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น การวัดค่าความโค้งของกระจกตา ใช้ค่าความโค้งจากเครื่อง Auto Keratometry, IOL Master 700, Anterion Anterior Segment Optical Coherence Tomography (OCT) และ PentaCam การตรวจวัดเลนส์ IOLขณะทำผ่าตัดและความเอียง รวมทั้งองศาของ IOL โดยใช้เครื่อง Intraoperative Aberrometry Wavefront Technology ซึ่งส่งผลให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากเท่าที่จะเป็นไปได้ และลดโอกาสที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดลงให้มากที่สุด
“เราค่อนข้างมั่นใจว่าการดีไซน์ของเราจะออกมาดี ซึ่งความมั่นใจนั้นมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมในการรักษา คนไข้ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงอาศัยความรู้เชิงลึกและผลการรักษาจริงในเรื่องจุดเด่นของเลนส์แต่ละชนิดด้วย” รศ. นพ. ปริญญ์ กล่าวเสริม
ข้อดีของการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมพร้อมกันสองข้าง
คนไข้ที่ต้องเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมสองข้าง สามารถทำพร้อมกันได้เลย และไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์และทีมบุคลากร และที่สำคัญก็คือ ทีมสนับสนุน ถ้าหากมีอะไรผิดปกติ ที่อาจจะส่งผลต่อคนไข้ ก็พร้อมแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที
“การเปลี่ยนสองตาในวันเดียว ทำกันมานานเป็นสิบปีแล้วครับ มีข้อดี เช่นการปรับสายตาง่ายขึ้น ช่วยลดความกลัว ลดความกังวลซ้ำ ลดค่าใช้จ่ายและเวลา เนื่องจากมาโรงพยาบาลแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายและเสียเวลา ถ้าผ่าตัดตาข้างหนึ่ง เสร็จแล้วหยอดยา ดูแลตัวเองจนหาย แล้วกลับมาทําอีกข้างหนึ่ง เราเคยคํานวณค่าใช้จ่ายแล้ว ปรากฎว่าการมาทำพร้อมกันจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แล้วยังมีเรื่องของความไม่สะดวกแอบแฝงอยู่ด้วย เพราะคนไข้ยังต้องมีการนัดพบแพทย์อีกหลายครั้ง ทำให้ญาติต้องลางานพาคนไข้มาพบหมอบ่อย ๆ”
สิ่งหนึ่งที่คนไข้ควรรู้ก็คือ ต้องให้เวลาสมองปรับให้เข้ากับเลนส์ใหม่ระยะหนึ่ง ซึ่ง รศ.นพ.ปริญญ์ อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ
“เวลาเราใส่เลนส์สองข้างไม่เหมือนกันเนี่ย มันจะมีกระบวนการที่เรียกว่า Neural Adaptation คือ สมองต้องเรียนรู้เลนส์สองข้างใหม่ เพราะฉะนั้น เวลาใช้สายตา เราจะให้คนไข้ใช้ทั้งสองข้างไปพร้อม ๆ กัน แล้วเดี๋ยวสมองจะปรับจูนเข้าที่เอง สำหรับคุณพนิดาก็ใช้เวลาปรับไม่นาน บางท่านอาจจะใช้เวลานานกว่านี้หน่อย ซึ่งเกิดจากคนไข้แต่ละคนนั้น เราดีไซน์การรักษาไม่เหมือนกัน”