หัวใจตีบซับซ้อน นพ.สุวัจชัย - Complex Coronary Artery Disease Dr.suwatchai

หัวใจตีบซับซ้อน กับเทคนิคการยื้อชีวิต ที่ต้องอาศัย “หมอหัวใจเฉพาะทาง”

1 ใน 3 ของคนไข้โรคหลอดเลือดหัวใจ มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน และมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง การอักเสบที่เกิดขึ้นกับผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะตีบ ตัน จนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ

แชร์

หัวใจตีบซับซ้อน กับเทคนิคการยื้อชีวิต ที่ต้องอาศัย “หมอหัวใจเฉพาะทาง”

“1 ใน 3 ของคนไข้โรคหลอดเลือดหัวใจ มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน และมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง”

โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากความเสื่อมตามอายุและการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด การอักเสบที่เกิดขึ้นกับผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะตีบ ตัน จนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ และเมื่อหัวใจได้รับออกซิเจนจากเลือดไม่เพียงพอ จะเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก และอาจเกิดหัวใจวายได้

การรับมือกับภาวะนี้ แพทย์โรคหัวใจ จะทำการให้ยาละลายลิ่มเลือด สวนหัวใจขยายหลอดเลือด หรือผ่าตัดเพื่อแก้ไขหลอดเลือดหัวใจ ให้สามารถทำงานได้เป็นปกติและปลอดภัยต่อการดำรงชีพที่สุด 

แล้วถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบ/ตัน มีความซับซ้อนล่ะ จะรับมืออย่างไร? ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจภาวะดังกล่าว ผ่านเรื่องราวของ นายแพทย์สุวัจชัย พรรัตนรังสี แพทย์โรคหัวใจผู้ชำนาญการด้านการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน

ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อนคืออะไร… 

คือ ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ/ตัน ที่ทำให้การรักษามีความซับซ้อนกว่าปกติ เราสามารถแบ่งความซับซ้อนออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่

  • ความซับซ้อนจากลักษณะของหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดมีหินปูนเกาะมาก เส้นเลือดตัน 100% หรือที่เรียกว่า Chronic Total Occlusion เส้นเลือดที่มีแขนง รอยตีบยาว ซึ่งเป็นการตีบที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก รวมไปถึงจุดที่มีการตีบ เช่น ตีบหลายเส้น ตีบตรงตำแหน่งสำคัญ
  • ความซับซ้อนจากสุขภาพของคนไข้ คือ คนไข้ที่มีโรคร่วมหลายโรค เช่น โรคไต โรคเบาหวาน เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน หรือคนไข้อายุเยอะ สุขภาพไม่แข็งแรง 

ในกลุ่มคนไข้เหล่านี้ ถ้าเป็นโรคหัวใจขึ้นมาแล้ว การรักษาในอดีตมักเป็นการผ่าตัดบายพาส แต่การผ่าตัดจะมีความเสี่ยงสูง มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ และต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น

“ในปัจจุบัน มีการสำรวจพบว่า คนไข้ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 30% ของเคสที่มารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อนครับ และคนไข้กลุ่มนี้ จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่าคนไข้หลอดเลือดหัวใจตีบปกติ” คุณหมอสุวัจชัยเอ่ย

ภาวะที่ซับซ้อน การรักษาจึงยากและซับซ้อน

เมื่อคนไข้มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน แน่นอนว่าการรักษาจะยากกว่า และยังต้องใช้ความชำนาญพิเศษ จึงไม่ใช่แพทย์โรคหัวใจทุกคนที่จะสามารถรักษาได้ ต้องเป็นแพทย์ที่มีความสนใจด้านนี้ และฝึกฝนการรักษาจนชำนาญมากพอ 

นายแพทย์สุวัจชัยเล่าว่า แต่เดิม หากมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน คนไข้จะถูกส่งตัวเพื่อผ่าตัดทำบายพาส ซึ่งเป็นการรักษาหลักของภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่เหมาะกับคนไข้ที่มีอายุไม่มากจนเกินไป ไม่มีโรคร่วมเยอะ ไม่เช่นนั้น การฟื้นตัวหลังผ่าตัดจะใช้เวลานาน และอาจเกิดผลข้างเคียงเยอะ และอาจรักษายากขึ้น

ในปัจจุบัน คนไข้สามารถเลี่ยงการผ่าตัดบายพาส ด้วยการทำบอลลูน หรือวิธีขยายหลอดเลือดผ่านสายสวน (Percutaneous Coronary Intervention : PCI) ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับคนไข้ทุกเพศทุกวัย มีความเสี่ยงต่ำ คนไข้ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก แต่ด้วยความซับซ้อนดังที่กล่าวไป จึงจำเป็นต้องรักษากับแพทย์ที่เข้าใจและมีความชำนาญในการทำ Complex PCI โดยเฉพาะ

“ที่ผมเคยเจอ คือคนไข้ไม่อยากทำบายพาส อายุมาก กลัวทำไม่ไหว เขาก็หอบประวัติทั้งหมดและผลการฉีดสี มานั่งปรึกษาว่าผมพอจะทำ Complex PCI ให้ได้ไหม ซึ่งผมก็จะประเมินความเป็นไปได้ วางแผน ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง เตรียมบรีฟบุคลากร เตรียมอุปกรณ์ ซึ่งจะต่างจากเคสปกติที่มักมีสูตรสำเร็จไว้แล้ว”

ระหว่างการรักษา จะมีรายละเอียดยุ่งยากซับซ้อนมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล หากคนไข้มีภาวะตีบที่เส้นเลือดหลัก ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อจำนวนมาก ก็จะเกิดอันตรายได้ง่าย ต้องทำหัตถการอย่างรวดเร็ว ระมัดระวังอย่าให้มีการอุดตันที่บริเวณนี้ หรือในกรณีที่มีหินปูนเกาะหนามาก ไม่สามารถทำบอลลูนได้ ก็จำเป็นต้องใช้ Rotablator 

“ในบางครั้ง นอกจากบุคลากรที่ต้องมีความชำนาญพิเศษ อุปกรณ์ที่ใช้ ก็อาจจะมีมากกว่า มีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า อย่างเช่น ต้องรู้จักการทำหัตถการที่เรียกว่า Rotablator ซึ่งก็คือการขยายหลอดเลือดด้วยวิธีการกรอหินปูน ซึ่งในเคสตีบซับซ้อนหลายเคสจำเป็นต้องใช้ แต่ในเคสปกติไม่ต้องใช้”

หากมีการตีบตันของหลอดเลือด 100 เปอร์เซ็นต์ แพทย์จะไม่สามารถรู้ได้ว่าเส้นเลือดวิ่งทางไหน แพทย์ก็ต้องใช้ความชำนาญในการหารอยต่อส่วนต้นและส่วนปลายของเส้นเลือดให้ได้

“นี่จึงทำให้หมอหัวใจที่จะรักษาภาวะที่ซับซ้อน ต้องเรียนรู้การทำหัตถการเพิ่มขึ้น เข้าใจการใช้อุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นด้วยครับ และยังมีการทำ Bifurcation ที่อาจไม่ได้มีเครื่องมืออะไรเพิ่มมาเป็นพิเศษ แต่ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะของหมอแต่ละคนเอง”

เมื่อมีเคสตีบซับซ้อนเกิดขึ้น จะเข้าถึงกลุ่มแพทย์ที่มีความชำนาญได้ไหม

ในตอนนี้มีการรวมกลุ่มของแพทย์โรคหัวใจที่สนใจการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน โดยจะรวมกลุ่มปรึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และเทคนิคที่มีประโยชน์แก่กันและกัน ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากความสนใจและความรู้สึกท้าทายเป็นแรงผลักดันให้แก่แพทย์แต่ละคน

ซึ่งแพทย์โรคหัวใจที่ให้ความสนใจและสามารถรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อนได้ รวมไปถึงคุณหมอสุวัจชัย ได้ให้การรักษาคนไข้และมีอัตราการรักษาสำเร็จสูง ดังนั้น เมื่อมีเคสลักษณะนี้ ก็จะได้รับการส่งต่อ หรือแนะนำให้มารักษากับแพทย์กลุ่มนี้นั่นเอง 

“แล้วพอได้รับเคสยาก ๆ มารักษาบ่อย ๆ มันก็เหมือนเป็นการฝึกปรือฝีมือ ทำให้ตัวแพทย์เองมีความชำนาญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีประสบการณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น หากเจอคนไข้ที่มาด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง แพทย์ก็จะใช้ความรู้ความชำนาญ ในการวางแผนว่าจะใส่เครื่องมืออะไรเพื่อซัปพอร์ตหัวใจคนไข้ระหว่างทำหัตถการ อาจต้องใช้อุปกรณ์พยุงเลือดพยุงความดันโลหิต บางรายอาจต้องใช้เครื่อง ECMO ด้วยซ้ำ”

ความสำเร็จของ Complex PCI นอกจากหายแล้วช่วยให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำด้วย

ตอนนี้จากสถิติการรักษาด้วยวิธี Complex PCI มีอัตราของเส้นเลือดกลับมาตีบซ้ำเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งนายแพทย์สุวัจชัยบอกว่า อยากให้เทคโนโลยี รวมไปถึงวิธีการ มีความก้าวหน้าหรือมีประสิทธิภาพจนสามารถลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำให้เหลือเพียง 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะดีต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้มาก ๆ 

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้กลับมาเป็นซ้ำ คุณหมอก็อธิบายว่า

“ห้าเปอร์เซ็นต์ที่ว่าอาจมาจากคนไข้เป็นกลุ่มที่ตอบสนองไม่ดีกับการทำบอลลูน หรืออาจเป็นคนไข้ที่หลังทำบอลลูนไปแล้วไม่ดูแลเรื่องความเสี่ยง เช่น ไม่คุมความดัน ไม่คุมเบาหวาน ไม่คุมไขมัน แถมยังสูบบุหรี่อีก ก็อาจจะทำให้หลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำได้ง่ายครับ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็อาจจะมาจากการทำหัตถการที่ยังไม่ดีพอของแพทย์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์แต่ละคนครับ”

“นอกเหนือจากนั้น แม้แพทย์จะเก่งแค่ไหน คนไข้จะปฏิบัติตัวตามอย่างเคร่งครัดอย่างไร ก็อาจมีโอกาสที่หลอดเลือดจะตีบซ้ำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์การแพทย์พยายามพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อกลบจุดด้อยตรงนี้ให้ได้ และผมก็เชื่อมั่นว่าจะต้องทำได้ครับ เพราะมันมีโอกาสเป็นไปได้ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น อาจส่งผลให้สามารถสร้างวัสดุใหม่ ๆ ที่ทำให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมได้”

ความชำนาญที่ใช้ช่วยชีวิต ยืดอายุและคืนสุขภาพให้แก่คนไข้

คุณหมอสุวัจชัยบอกว่า การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ว่าจะซับซ้อนหรือไม่ สามารถแจกแจงความสำเร็จได้เป็น 2 กรณี

  1. การช่วยชีวิต หลายครั้งที่ผู้ป่วยมาถึงมือหมอในสภาพที่อาจไม่รอด อาจเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ แต่การรักษาสามารถช่วยให้รอดและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ นับเป็นความสำเร็จที่คุ้มค่า
  2. คืนสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี คนไข้หลายคนที่ก่อนหน้าอาจมีอาการเหนื่อยหอบ เดินไม่ไหว ใช้ชีวิตลำบาก หลังรับการรักษา เขากลับมาเดินได้ ใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ มีความสุข มีแรงใจที่ดีที่จะมีชีวิต 

“แล้วยิ่งในเคสที่ตีบซับซ้อน ดูแล้วเส้นเลือดแย่มาก คนไข้หลายคนเกือบสิ้นหวังกับการรักษา แต่มาหายที่เรา มีชีวิตต่อไปได้เพราะเรา นั่นหมายความว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของแพทย์และทีม ประกอบกับความสามารถ ความชำนาญเฉพาะด้าน สามารถช่วยผู้คนได้จริง ๆ ถึงมันจะยาก แต่การแพทย์กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ และมีบทบาทในการรักษา ต่อชีวิตคนได้ครับ”

จะทำอย่างไร ไม่ให้เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบซับซ้อน

“อย่างที่รู้กันว่าคนเราไม่สามารถเปลี่ยนพันธุกรรมได้ ไม่สามารถเปลี่ยนพ่อแม่ของเราได้ และไม่สามารถหยุดความเสื่อมของร่างกายตามอายุได้ด้วย ยังไงเราก็จะแก่ขึ้น ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้เหล่านี้ จึงทำอะไรกับมันไม่ได้ครับ”

“จริงอยู่ว่าเราควบคุมสิ่งที่กล่าวไปไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าหากมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วเราจะเป็น บางทีอาจไม่เป็นก็ได้ แต่มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าพฤติกรรม หรือปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรคได้เร็วขึ้น ทำให้ป่วยได้ในที่สุดครับ”

คุณหมออธิบายว่า การควบคุมปัจจัยร่วม เป็นสิ่งที่สามารถช่วยชะลอ หรือป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ เช่น การควบคุมความดันโลหิต ควบคุมไขมันในเลือด รวมไปถึงควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด กลุ่มอาการที่มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้ เป็นตัวกระตุ้นอย่างดีให้เกิดโรคหัวใจ รวมไปถึงพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างการสูบบุหรี่ ที่เต็มไปด้วยสารพิษ และส่งผลเสียต่อหัวใจได้โดยตรง

สัญญาณที่เมื่อเป็นควรรีบมาพบแพทย์

สำหรับอาการหรือสัญญาณของโรคหลอดเลือดหัวใจ จะสามารถแบ่งคนไข้ออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • คนไข้ที่มีอาการเตือน เช่น อาการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรง พอพักแล้วจะดีขึ้น เหนื่อยง่าย 
  • คนไข้ที่มีอาการเฉียบพลัน คือ ไม่เคยมีอาการมาก่อนเลยในชีวิต อยู่ดี ๆ อาจเกิดจากคราบไขมันหลุดแตกตัวออกมาอุดตันหลอดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการฉุกเฉิน เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาลประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที 

สำหรับการป้องกัน การตรวจเช็กสุขภาพอย่างสม่ำเสมอคือสิ่งที่จะช่วยประเมินสุขภาพในเบื้องต้นได้ แต่ก็ไม่ควรประมาทอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ 

“หากมีอาการต้องสงสัย เจ็บแน่นหน้าอก หรือแม้กระทั่งแน่นท้องแล้วไม่รู้ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน หรือแน่นจากโรคหัวใจ หากอาการเป็นสักครึ่งชั่วโมงแล้วไม่ดีขึ้น ควรมาโรงพยาบาลครับ คนไข้ควรสงสัยเยอะ ๆ ไว้ก่อน เพราะบางทีอาการเล็กน้อยที่เราเข้าใจว่าเป็นโรคอื่น อาจเป็นโรคหัวใจได้ ยิ่งถ้าเช็กปัจจัยเสี่ยงแล้วพบว่ามีเยอะ ก็ควรมาตรวจเช็ก แม้จะยังอายุไม่มากก็ตาม”

“เพราะโรคนี้ หากเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันขึ้นมา อาจเสียชีวิตได้เลย โดยที่เราอาจไม่มีโอกาสรักษาด้วยซ้ำ ถึงเวลานั้นต่อให้มีแพทย์เก่ง ๆ ก็ไม่อาจช่วยได้ เพราะสายเกินไปแล้ว”

เผยแพร่เมื่อ: 05 พ.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    รศ.นพ. สุวัจชัย พรรัตนรังสี

    รศ.นพ. สุวัจชัย พรรัตนรังสี

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การสวนหัวใจและหลอดเลือด
    การรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบผ่านสายสวน, การรักษาโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันโดยการใส่สายสวน, การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน