ประสบการณ์ กระดูกหักซับซ้อน จากอุบัติเหตุ เจ็บสาหัสเกือบต้องตัดแขน
“มันยากมากเลยครับ แขนผมค่อย ๆ เล็กลง คุณหมอพยายามเตือนสติว่าต้องกลับมาให้ได้”
อุบัติเหตุบนท้องถนน แม้จะไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ แต่ถ้าหากเกิดกับใครแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บสาหัส สูญเสียอวัยวะ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
คุณ Ryan Joseph Cooke ชาวอังกฤษวัย 36 ปี มาร่วมเล่าเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ประสบอุบัติเหตุจนทำให้ กระดูกหักซับซ้อน บาดเจ็บสาหัส แพทย์ต้องทำการผ่าตัดหลายครั้ง กว่าจะมาถึงวันที่ร่างกายกลับมาแข็งแรงและใช้ชีวิตปกติได้นั้น เขาต้องอดทน และพยายามมากขนาดไหน มาติดตามเรื่องราวของเขากัน
ง่วงฟุบคารถ กระดูกหัก เกือบต้องถูกตัดแขน
“ผมอยู่เมืองไทยมาประมาณ 17 ปีแล้วครับ เวลาว่างจากการทำงาน ผมชอบเรียนภาษา แฮงค์เอาต์ ท่องเที่ยว ผมเป็น Biker เต็มตัว เรียกว่าอยู่ในสายเลือดก็ได้ เคยขี่มอเตอร์ไซค์ไปเที่ยวเขาใหญ่ ประจวบฯ ไปไกลหลายที่เลย แต่สุดท้ายมาเกิดอุบัติเหตุที่พัทยา”
“เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณกลางปี 2566 ผมได้ไปเจอเพื่อน ๆ หลังเลิกงาน และคุยกันจนดึก หลังจากนั้นได้ขี่มอเตอร์ไซค์จากกรุงเทพฯ ไปพัทยา นอนแค่ 2-3 ชั่วโมง ก็ต้องรีบตื่นมาประชุมต่อ แล้วออกไปเซอร์เวย์สถานที่หลายแห่ง พอถึงตอนเย็น เพื่อนชวนไปขี่มอเตอร์ไซค์อีก ผมก็ไปด้วย หลังจากนั้นก็...จําอะไรไม่ได้แล้วครับ”
เพื่อนที่อยู่ในจุดเกิดเหตุเล่าว่าได้ขี่มอเตอร์ไซค์ตามกันมา แล้วจู่ ๆ ก็เห็น Ryan ก้มตัวลงมาเหมือนจะฟุบหลับ ก่อนจะเสียหลักชนเข้ากับแบริเออร์อย่างแรง ร่างกาย ใบหน้าเต็มไปด้วยเลือด บาดแผลค่อนข้างใหญ่โดยเฉพาะบริเวณชายโครงด้านขวา ทีมหน่วยแพทย์กู้ชีพได้เข้ามาช่วยเหลือ นำส่งโรงพยาบาล หลังจากเอกซเรย์แล้ว พบว่ามีการแตกหักของกระดูกไหปลาร้า และแขนขวารวม 4 ตำแหน่งด้วยกัน จึงได้ทำการผ่าตัดใส่โลหะภายนอกดามยึดกระดูกแขนที่หักเอาไว้ในเบื้องต้น
“พ่อแม่บุญธรรม พอรู้ข่าวอุบัติเหตุ ก็รีบตามมาที่โรงพยาบาลทันที คุณพ่อเล่าว่า สภาพที่เห็นผมคือสาหัสมากจริง ๆ เห็นปอด เห็นกระดูกเลย กระดูกมันแตกจนเป็นรู แล้วเพื่อน ๆ ที่ทราบข่าวก็ตกใจ เป็นห่วง บางคนตามมาเฝ้า อดหลับอดนอน จนป่วยเข้าโรงพยาบาลตามไปด้วย เพื่อน ๆ ผม 16 คน ช่วยกันรวมเงินมาให้ถึงสองล้านบาท เป็นค่ารักษาพยาบาล เพราะเขาคิดว่าผมไม่ได้ทำประกันชีวิตเอาไว้ แต่จริง ๆ แล้วผมเพิ่งทำไปก่อนหน้านั้นแค่ 4 วันเอง”
คุณ Ryan นอนรักษาตัวอยู่หลายวัน ก่อนจะถูกส่งตัวเข้ามารักษาที่ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อที่ทางครอบครัวจะได้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง นำทีมโดย คุณหมอเจ - นพ.พงศกร บุบผะเรณู ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์
“ที่โรงพยาบาลแรกผมเกือบจะต้องตัดแขนแล้ว แต่เพื่อนผมไม่เซ็นยินยอม ผมทำงานเป็นโปรแกมเมอร์ ฉะนั้น มือขวาสําคัญมาก พูดตรง ๆ ว่าตอนนั้นจิตตก รู้สึกแย่มาก พอมารักษาต่อที่เมดพาร์ค คุณหมอเจบอกว่า ‘ไรอัน! คุณมหัศจรรย์มากที่ยังรอดมาได้!’ กระดูกที่หัก ทําให้เส้นประสาทกับเนื้อขาด แต่เส้นเลือดไม่มีขาดเลยสักเส้น นี่ถ้าขาด ยังไงก็ต้องได้ตัดแขน ผมคิดในใจ..ถ้าเกิดตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีแขนนะ ผมจะฆ่าตัวตายไปเลย”
นพ.พงศกร บุบผะเรณู ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์
อดทนสู้กับความเจ็บปวด ทั้งร่างกายและจิตใจ
การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่เพียงสร้างบาดแผลทางร่างกาย แต่ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจจนนำไปสู่ความเครียด และความวิตกกังวลอย่างรุนแรงได้ สำหรับคุณ Ryan เองก็ต้องเผชิญกับเรื่องราวมากมายที่มากระทบกระเทือนจิตใจ กินอะไรไม่ลง จนทำให้น้ำหนักลดลง 17 กิโลกรัม ภายในสามสัปดาห์
“แขนมันห้อยอยู่อย่างนี้ ทําอะไรไม่ได้เลย ยกก็ไม่ได้ ทํางานไม่ได้ แถมยังต้องถูกให้ออกจากงานกะทันหัน ช่วงนั้นผมไม่มีรายได้ เงินเก็บก็เริ่มหมดแล้ว แทบไม่มีกําลังแม้แต่จะลุกไปกินข้าว ผมเป็นซึมเศร้า รู้สึกท้อแท้มากครับ แต่ทุกคนที่เมดพาร์คช่วยดูแล และให้กําลังใจ คุณหมอเจ คอยโทร.ถาม ให้คำปรึกษาตลอด เขาทำเกินหน้าที่ล้านเปอร์เซ็นต์! แล้วผมก็สนิทกับสตาฟเร็วมาก ขนาดออกจากโรงพยาบาลแล้ว ยังถามบอกคุณหมอเจว่าผมจะกลับมาอีกทีเมื่อไร ให้จะแวะมาหาพวกเขาบ้างนะ รู้สึกอบอุ่นจริง ๆ ครับ”
คุณ Ryan เข้ารับการผ่าตัดกระดูก 6 ครั้ง รวมถึงผ่าตัดบริเวณศีรษะ เนื่องจากพบเลือดออกในสมอง หลังจากผ่าตัดแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนฟื้นฟู ทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องอาศัยความพยายาม อดทน และมีวินัยอย่างมาก
“ผมขยับปลายนิ้วได้บ้าง แต่เวลาจับอะไร มือจะงอเข้าไป ย้อยลงมา เขาบอกว่าต้องขยัน ต้องทำกายภาพทุกวัน เพื่อกระตุ้นเส้นประสาท แต่มันยากมากเลยครับ แขนผมค่อย ๆ เล็กลง กล้ามเนื้อแขนหายไป คุณหมอเจพยายามเตือนสติ เขาบอกว่าต้องกลับมาให้ได้นะไรอัน..คุณทำได้ ฟื้นเต็มที่น่าจะ 80% แต่ในใจผมมุ่งมั่นว่าจะทำให้ได้ 100%”
กำลังใจถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ก้าวผ่านช่วงเวลาอันยากลำบาก คุณแม่ของคุณ Ryan ได้ตัดต่อคลิปวิดีโอสั้น ๆ โพสต์ลงในโซเชียล มีคนเข้าชมนับล้านครั้ง พร้อมส่งข้อความให้กำลังใจมากกว่า 9,000 ข้อความ และยังมีเพื่อน ๆ กว่า 60 คน อยากเดินทางมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค อีกทั้งโพสต์ต่าง ๆ ในเฟสบุ๊กของเขาเอง ก็ได้รับความสนใจมากมาย และทำให้มีแรงสู้ต่อ
“พอออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผมก็ได้กลับมาทำกายภาพบำบัดอยู่ที่บ้าน ถามว่าเจ็บไหม เจ็บมาก ๆ ครับ ผมพยายามจับขวดเครื่องดื่มยกขึ้น ฝึกทำทุกวัน ๆ จนสุดท้ายแล้วก็ยกขึ้นมาดื่มได้ และกลับมาร้อยเปอร์เซ็นต์ได้จริง ๆ ครับ”
“ผมเห็นบางคนที่ใช้ขาไม่ได้ ผมเข้าใจว่าความรู้สึกมันเป็นยังไง แต่อย่ามองสถานการณ์แค่ ณ ตอนนี้ เพราะผมเองก็ผ่านเหตุการณ์ที่แย่มาก แล้วฟื้นมาได้ ใครที่ต้องเสียแขน ขา เราเอามันกลับมาไม่ได้ แต่เราต้องมองเห็นสิ่งใหม่ที่เราจะเป็นได้ในอนาคต เราสามารถสร้างตัวตนใหม่ได้ตลอด อย่าท้อครับ”
กระดูกหักซับซ้อน อันตรายจากอุบัติเหตุ ที่ต้องรักษาอย่างถูกวิธี
การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่มีความรุนแรง (High Energy Trauma) มักพบบ่อยในกลุ่มนักบิด โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ที่นิยมขับขี่กันด้วยความเร็วมากกว่า 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้ว ร่างกายมักจะถูกแรงกระแทกอย่างแรง อาจกลิ้งและได้รับแรงกระแทกจากหลายทิศทาง ส่งผลให้เกิด กระดูกหักซับซ้อน หักหลายจุด หักหลายชิ้น และอาจทำให้เส้นเลือด เส้นประสาท ได้รับความเสียหาย ร่วมกับการบาดเจ็บบริเวณปอด ศีรษะ หรืออวัยวะภายในส่วนอื่น ๆ ด้วย
การรักษากระดูกหัก แบ่งได้ 2 แบบ
- กระดูกหักชนิดซับซ้อนมีบาดแผลภายนอก (Compound Fracture / Open Fracture) กรณีบาดแผลลึกไปถึงกระดูกที่หัก หรือมีกระดูกหักทิ่มออกมานอกผิวหนัง ถือเป็นเคสฉุกเฉิน เร่งด่วน ร้ายแรง ต้องรักษาทันที เพราะเส้นเลือดแดง เส้นประสาท อาจได้รับความเสียหาย มีโอกาสที่จะเปื้อนเชื้อโรคทำให้ติดเชื้อ และนำไปสู่การตัดแขนหรือขาได้
- กระดูกหักชนิดธรรมดา (Simple Fracture / Closed Fracture) ในกรณีที่กระดูกหัก แต่ไม่มีบาดแผลภายนอก หรือกระดูกไม่ได้โผล่ทะลุออกมานอกผิวหนัง ถือว่าไม่เร่งด่วน แต่ควรพาไปหาหมอ รักษาให้เร็วที่สุด เพราะหากมีการขยับ อาจทำให้กระดูกที่หักพลาดไปทิ่มเนื้อ เส้นประสาท เส้นเลือด กล้ามเนื้อรอบ ๆ ได้
คุณหมอเจ หรือ นพ.พงศกร บุบผะเรณู ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ เล่าถึงอาการของคุณ Ryan วันแรกที่เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค
นพ.พงศกร บุบผะเรณู ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์
“คนไข้กระดูกหัก 4 ตำแหน่ง ส่วนแรกคือ ไหปลาร้าด้านขวา โรงพยาบาลต้นทางได้ผ่าตัดใส่โลหะดามมาให้เบื้องต้น อีกสามตำแหน่งเป็นกระดูกแขนซึ่งใส่โลหะยึดดามภายนอก (External Fixator) เอาไว้ นอกจากนี้ คนไข้ยังมีแผลเปิดตรงชายโครง ขนาดประมาณหนึ่งฝ่ามือ กระดกข้อมือขวาไม่ได้ น่าจะมีเรื่องของเส้นประสาทบริเวณแขนขวาได้รับบาดเจ็บ และมีเลือดออกในสมองด้วย ก็เรียกได้ว่าบาดเจ็บเกือบทั้งตัวครับ”
ในส่วนของการรักษานั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของแพทย์เฉพาะทางหลายสาขาด้วยกัน โดย นพ.พงศกร บุบผะเรณู ได้ทำการผ่าตัดดามกระดูกแขนทั้งสามท่อน ร่วมกับศัลยแพทย์ด้านเส้นประสาท เส้นเลือด นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล และ พญ.กิตติวรรณ สุพิชญางกูร ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านข้อมือ ส่วนบาดแผลบริเวณหน้าอก ก็เป็น นพ.บัณฑิต สุนทรเลขา ที่มาช่วยทำการรักษาในห้องผ่าตัดไปพร้อม ๆ กัน
ผ่าตัดดามกระดูกหัก แบบผ่าตัดแผลเล็ก คืออะไร ดีอย่างไร?
ย้อนไปสมัยก่อน การรักษาในเมืองไทยจะนิยมใส่เหล็กภายนอก เพราะสะดวก ง่าย เพียงใช้แท่งเหล็กเล็กๆเสียบผ่านผิวหนังลงไปถึงกระดูก แล้วสกรูยึดเข้าในกระดูก ในระหว่างตำแหน่งที่กระดูกหัก แต่การมีเหล็กยึดอยู่ภายนอกร่างกาย ทำให้ไม่สะดวกเวลานอน หรือขยับแขน อีกทั้งการใส่เหล็กไว้ข้างนอก (External Fixation) สำหรับเคสคุณ Ryan ซึ่งทางโรงพยาบาลต้นทางนั้นทำไว้ให้ชั่วคราวก่อน ซึ่งจะไม่แข็งแรงเท่ากับเหล็กชนิด Internal Fixation และข้อเสียคือ มีโอกาสที่กระดูกจะไม่ติดกัน นพ.พงศกร จึงตัดสินใจผ่าตัดซ่อมกระดูกใหม่
“การยึดดามด้วยโลหะโดยการเปิดแผล แผลจะยาว 15-20 ซม. แผนของเราก็คือ เปลี่ยนเอาเหล็กใส่เข้าไปโพรงกลางกระดูกแทน เจาะเข้าไปใกล้ปลายกระดูกแล้วเสียบเหล็กลงมา เรียกว่า Intramedullary nails (IMNs) ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ก็คือเครื่องเอกซเรย์ภายในห้องผ่าตัด การที่เราเปิดแผลเล็กทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว”
“จากนั้นก็มาสำรวจดูเส้นประสาท ซ่อมเส้นประสาทแขนเรเดียลที่ได้รับบาดเจ็บมา ส่วนใหญ่ซ่อมแล้วโอกาสฟื้นตัวน้อย ขึ้นอยู่กับเทคนิคการซ่อม ซึ่งเราก็ทำอย่างละเอียดเต็มฝีมือครับ ส่วนแผลที่ชายโครงนั้นค่อนข้างใหญ่ และมีการติดเชื้อร่วมด้วย จึงต้องมีการเข้าไปล้างแผลในห้องผ่าตัดหลายรอบ ร่วมกับให้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือดนาน 1-2 สัปดาห์”
ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ นพ.พงศกร เล่าว่า กระดูกส่วนใหญ่แล้วจะกลับมาติดกันภายใน 2-3 เดือน ส่วนเส้นประสาทต้องใช้เวลา 3-6 เดือน ซึ่งบางคนซ่อมเส้นประสาทแล้วกลับมาได้ 30%-50% แต่สำหรับคุณ Ryan สามารถฟื้นได้เกือบ 100% เลยทีเดียว ส่วนกระดูกไหปลาร้าที่ทําการยึดมาแล้วนั้น ทีมแพทย์มีความเห็นตรงกันว่าควรผ่าตัดอีกครั้งเพื่อแก้ไขตำแหน่งของเหล็กให้แนบชิดกระดูกมากขึ้น
“กระดูกติดดีทั้งหมดภายในสองเดือน ส่วนเส้นประสาทใช้เวลาฟื้นประมาณ 3 เดือนครับ และแผลตรงหน้าอกหายดี และกลับไปทํางานได้อีก แขนใช้งานได้ทันอุ้มลูก ต้องให้เครดิตคนไข้ด้วยนะครับ เพราะว่าคนไข้มีความตั้งใจมากตอนนั้น เขาบอกว่า เขาจะต้องกลับมาร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ได้ และดีใจมากที่คนไข้ฟื้นตัวได้ขนาดนั้นครับ”