ทพญ.แอน เจียรจิตเลิศ ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก - Dr Ann Chianchitlert, DDS, a pediatric dentistry specialist

ทันตกรรมสำหรับเด็ก ความท้าทายที่ต้องทำให้การทำฟันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

ทุกคนต้องผ่านการเจอหมอฟันมาแล้ว ทำไมบางคนกลัวการหาหมอฟัน ทำไมการทำฟันถึงทำให้หลายคนเข็ดขยาด ขนาดผู้ใหญ่ยังกลัว ๆ กล้า ๆ แล้วเด็ก ๆ ล่ะ จะกลัวแค่ไหน

แชร์

ทันตกรรมสำหรับเด็ก ความท้าทายที่ต้องทำให้การทำฟันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

“หมอต้องพร้อมร่าเริง เพราะสิ่งสำคัญคือ กำลังใจและการสร้างบรรยากาศ เราต้องเชียร์อัปเด็ก ๆ” 

Dr. Ann Banner 8

เชื่อว่าแทบทุกคนต้องผ่านการเจอหมอฟันมาแล้ว ทำไมบางคนกลัวการหาหมอฟัน ทำไมการทำฟันถึงทำให้หลายคนเข็ดขยาด ขนาดผู้ใหญ่ยังกลัว ๆ กล้า ๆ แล้วเด็ก ๆ ล่ะ จะกลัวแค่ไหน สำหรับ MedPark Stories ในตอนนี้ จะมาพูดคุยกับ ทพญ.แอน เจียรจิตเลิศ ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก  ที่จะมาเล่าถึงประสบการณ์และคำแนะนำต่าง ๆ ในการพาเจ้าตัวน้อยมารับบริการทางทันตกรรม พร้อมทั้งทำความรู้จักตัวตนของคุณหมอกันให้มากขึ้นด้วย

แรงบันดาลใจที่มาจากอาจารย์คณะทันตะฯ

คุณหมอเล่าว่า ชอบเล่นเป็นหมอมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะอยากรักษาคน พอขึ้นชั้นมัธยมปลาย เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่เลือกสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ แต่หมอแอนเลือกคณะทันตแพทยศาสตร์เพราะมีเพื่อนที่สอบเทียบและเข้าไปเรียนก่อนบอกว่าคณะแพทย์ฯ เรียนค่อนข้างยาก (เรียกว่าไหวตัวทันก็ได้)

“เมื่อมาเรียนที่ทันตะฯ จุฬาฯ เรามีอาจารย์ที่คณะเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เรารู้ถึงหัวใจของการรักษา โดยใช้คนไข้เป็นที่ตั้ง ในแง่องค์ความรู้การรักษาเรามีติดตัว แต่ที่ท้าทาย คือการรับมือกับคนไข้ค่ะ ทันตกรรมสำหรับเด็ก ไม่ใช่แค่อุดฟันถอนฟัน แต่ต้องสามารถจัดการกับความรู้สึกไม่อยากทำฟันของเด็กได้ด้วย ศัพท์ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Behavior Management”

ด้วยความท้าทายและน่าสนใจของทักษะดังกล่าว คุณหมอแอนเลือกที่จะเรียนต่อด้านทันตกรรมสำหรับเด็กที่ Boston University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมไปถึงการรักษาทางทันตกรรมภายใต้การดมยาในเด็ก ที่มีความซับซ้อน และทางมหาวิทยาลัยมีการสอนเรื่อง Growth and Development อย่างเข้มข้น จึงช่วยให้คุณหมอนำมาใช้ต่อยอดทำงานได้หลากหลาย

Dr. Ann Banner 5

ทำฟันเด็ก ไม่เหมือนทำฟันผู้ใหญ่

หมอแอนอธิบายว่า คนส่วนใหญ่ไม่อยากมาทำฟันอาจเพราะกลัวความเจ็บปวด ซึ่งในเด็กจะมีความกลัวมากกว่าผู้ใหญ่ งานทันตกรรมสำหรับเด็ก จึงจะต้องริเริ่มทำให้คนไข้เด็กคุ้นเคยกับการมาหาหมอฟัน 

“ทุกครั้งที่มีคนไข้เด็กมาหาหมอ เราจะไม่ดูแค่มีฟันผุกี่ซี่ แต่เราจะประเมินพฤติกรรมของคนไข้เด็ก เพื่อวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้เด็กยอมรับการรักษาได้ ถ้ารักษาบนเก้าอี้ทำฟันปกติไม่ได้จริง ๆ หมอจะพิจารณาการรักษาภายใต้การดมยาสลบค่ะ”

และที่ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีห้องดมยาทางทันตกรรมโดยเฉพาะ มีวิสัญญีแพทย์ที่ชำนาญในการดูแลเด็ก รวมถึงบุคลากรด้านทันตกรรมที่พร้อมดูแลคนไข้อย่างเต็มที่

“โดยปกติ เด็กจะมาตรวจฟันทุก 6 เดือน หมอก็จะตรวจฟัน อาการ หรือข้อบ่งชี้ทางทันตกรรม โครงสร้างใบหน้า การเจริญเติบโตของขากรรไกร การสบฟันในเด็ก ช่วยให้พบปัญหาได้เร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดหรือป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคตได้ค่ะ เช่น มีฟันสบคร่อม ฟันล่างยื่นกว่าฟันบน ส่งผลต่อการพูด การบดเคี้ยว และเกิดปัญหารูปหน้าแก่เด็ก”

Dr. Ann Banner 4

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่ทันตแพทย์สามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการรักษาได้ นั่นก็คือ ภาวะการนอนหลับผิดปกติ ซึ่งในขณะนี้เป็นงานที่ศูนย์ทันตกรรมสำหรับเด็กที่โรงพยาบาลเมดพาร์คให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นปัญหาที่อาจก่อให้เกิดการเจริญเติบโตช้า มีภาวะทางอารมณ์ผิดปกติ เช่น ซนกว่าปกติ หงุดหงิดไม่พอใจง่าย ไม่มีสมาธิในการเรียน ปัสสาวะรดที่นอนทั้ง ๆ ที่เป็นเด็กโตแล้ว และนำไปสู่โรคอื่น ๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

“หากมีข้อบ่งชี้ทางทันตกรรม ว่าเด็กอาจมีปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น ขากรรไกรบนแคบมาก ๆ ขากรรไกรล่างที่ดูเล็กกว่าปกติ ฟันสึกผิดปกติ ฟันสบเบี้ยวซ้ายขวาไม่เท่ากัน หรือเมื่อสอบถามเพิ่มเติมพบว่าน้องนอนหายใจดังหรือกรน หมอก็จะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาน้องไปพบแพทย์เฉพาะทางค่ะ”

ที่สำคัญ ที่ศูนย์ทันตกรรมเด็กของโรงพยาบาลเมดพาร์ค ยังให้การรักษาทางทันตกรรมด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมกับเด็ก เช่น ในกรณีมีขากรรไกรแคบมาก ๆ ก็มีเครื่องมือที่ช่วยขยายให้กว้างขึ้น หากมีขากรรไกรถอยไปข้างหลังมาก ๆ ก็มีเครื่องมือเพื่อช่วยจัดตำแหน่งให้การเจริญเติบโตของขากรรไกรไปในทิศทางที่เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำในเด็กได้ง่าย และมีโอกาสสำเร็จมากกว่า

Dr. Ann Banner 7

สิ่งที่ภูมิใจ คือช่วยให้เด็กไม่กลัวหมอฟัน

“การทำงานกับเด็ก จะต้องมีความเอาใจใส่อย่างมากค่ะ ที่ยากคือการจัดการกับอารมณ์ของเด็กและตัวเราเอง บางวันหมอเองก็มีเรื่องไม่สบายกายไม่สบายใจ แต่เมื่อต้องทำงาน ก็จำเป็นต้องวางสิ่งเหล่านั้น หมอต้องพร้อมร่าเริง เพราะสิ่งสำคัญคือ กำลังใจและการสร้างบรรยากาศ เราต้องเชียร์อัปเด็ก ๆ เพราะเรากำลังจะให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบ ไม่อยากทำ”

ด้วยความเอาใจใส่คนไข้ตัวน้อยในทุก ๆ การรักษานี้เอง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ของคนไข้เด็กมักจะจำคุณหมอแอนได้ และเข้ามาทักทายเมื่อเจอกันนอกโรงพยาบาล อนึ่งเพราะอาชีพทันตแพทย์ จำเป็นต้องเจอกับคนไข้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน บางรายเจอกันตั้งแต่เด็กจนโต คนไข้เด็กและผู้ปกครองจึงเปรียบเสมือนญาติพี่น้องที่คุ้นเคย และชวนให้อบอุ่นใจทุกครั้งที่คนไข้หรือผู้ปกครองเอ่ยปากว่า “คิดถึงหมอแอนจังเลย”

Dr. Ann Banner 5 (1)

อีกแง่มุมที่ชื่นชอบกิจกรรมหลากหลาย

คุณหมอเป็นคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวและทำกิจกรรมสนุก ๆ ที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น พาย Sub Board ขี่จักรยาน และอีกกิจกรรมที่ชอบทำที่อาจฟังดูแปลกสักหน่อย ก็คือ ชอบเรียนหนังสือ คุณหมอบอกว่า เวลาได้เรียน ได้ฟังเลคเชอร์ ได้รู้ข้อมูลใหม่ ๆ จะรู้สึกดีมาก เหมือนสารแห่งความสุขในร่างกายเพิ่มขึ้นทีเดียว

ก่อนจบการพูดคุย คุณหมอได้ทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ลูก ๆ ว่า

“พื้นฐานการดูแลช่องปากที่ดีสำหรับทุกคน ไม่เกี่ยงว่าวัยไหน คือ การทำความสะอาดฟัน ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน ที่สำคัญคือการมาพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน ซึ่งหากมีปัญหาอื่นร่วมด้วย อย่างการนอนกัดฟัน ฟันสึกผิดปกติ นอนหายใจเสียงดังมาก ควรแจ้งทันตแพทย์ เพราะปัญหาหลายอย่าง หากได้ดูแลตั้งแต่เด็ก จะสามารถบรรเทาความรุนแรงในอนาคตได้ค่ะ”

Dr. Ann Banner 6

เผยแพร่เมื่อ: 23 ก.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    ทพญ.   แอน เจียรจิตเลิศ

    ทพญ. แอน เจียรจิตเลิศ

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมสำหรับเด็ก
    ทันตกรรมสำหรับเด็ก