“เนื้อฟันของมนุษย์มีจำกัด
และไม่มีการซ่อมแซมตัวเองเหมือน
อวัยวะอื่น ๆ หากปล่อยเป็นโรคซ้ำ ๆ
สักวันก็ต้องเสียไปทั้งหมด”
“ทุกคนควรได้รับคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ดีเหมือน ๆ กัน” ประโยคสะท้อนมุมมองที่มีต่อสวัสดิภาพชีวิตจากปากของหมอฟันคนเก่ง ผู้ให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันก่อนเกิดโรคและความเจ็บป่วยมาเป็นอันดับแรก หมอแคท-ทันตแพทย์หญิงกนกวรรณ เอื้อธรรมาภิมุข จะมาแชร์เรื่องราวทั้งแง่มุมประสบการณ์ทำงาน และแง่มุมสบาย ๆ ยามว่างที่น่าสนใจใน MedPark Stories ตอนนี้
- เรียนแพทย์เพราะอยากให้ครอบครัวเข้าถึงการรักษา
หมอแคทเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง มีโอกาสพบกับปัญหาเรื่องการเข้าถึงการรักษาในวันที่คุณพ่อคุณแม่เจ็บป่วย จึงมีความตั้งใจที่จะเรียนแพทย์ เพราะคิดว่าหากมีความรู้และอยู่ในสายงานนี้ ทั้งตัวเองและครอบครัว จะเข้าถึงการรักษาได้ง่ายมากขึ้น ประกอบกับที่ตัวเองเรียนใช้ได้ ค่อนข้างขยัน ตั้งใจ และอดทน การมาเรียนแพทย์จึงสามารถทำได้
“ที่เลือกเรียนทันตแพทย์เพราะเราคิดว่าเป็นสายที่ตรงกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของตัวเองที่สุดค่ะ เราชอบลักษณะงานที่มีเวลานัดหมายชัดเจน ประกอบกับมีโอกาสได้ไปเจอกับหมอฟันที่เอาใจใส่คนไข้อย่างดี เราก็เกิดแรงบันดาลใจ คิดว่าหมอฟันนี่ล่ะ เหมาะกับเราดี”
พอเข้าสู่เส้นทางการแพทย์ จากตอนแรกที่คิดเพียงทำเพื่อตัวเอง ครอบครัว และมุ่งสร้างความมั่นคงในชีวิต กลายเป็นว่าเป้าหมายของหมอแคทเปลี่ยนไป เพราะคิดอยากตามหาคุณค่าและเหตุผลในสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ ใคร่ครวญว่าตนทำอะไรได้ หลังจากนั้นจึงมีความต้องการที่จะทำเพื่อคนอื่นนอกเหนือจากตัวเองและครอบครัว แม้ไม่ได้วาดฝันยิ่งใหญ่ หรือช่วยเหลือผู้คนมากมาย แต่ก็อยากทำในสิ่งที่ได้ใช้ความรู้ ความชำนาญที่มี ทำให้คนไข้มีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น โดยการปรับแก้พฤติกรรมประจำวันที่ไม่ดีต่อสุขภาพช่องปาก ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเองอย่างยั่งยืน (Promotion and Prevention)
“เพราะเราคาดว่า น่าจะมีคนที่เข้าไม่ถึงการดูแลสุขภาพเหมือนกับตัวเราและครอบครัวในอดีต ที่ต้องการ ‘ความช่วยเหลือ’ และ ‘ความรู้’ เพื่อให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี”
“เมื่อมาที่เมดพาร์ค จึงสนใจทำด้าน Prevention เน้นการแนะนำ ดูแล และป้องกันก่อนเกิดโรค แน่นอนว่ารักษาด้วย แต่จะเน้นบูรณาการกัน เช่น หลังรับการรักษาจากทันตแพทย์อีกท่านมา เราก็จะให้คำแนะนำคนไข้ว่าจะต้องดูแลรักษาสุขภาพช่องปากอย่างไรเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นโรคเดิมซ้ำ ช่วยให้การรักษาของเราประสบความสำเร็จมากที่สุด คนไข้ก็จะได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีกลับมา”
- แนวคิด Born To Bones เพราะสุขภาพช่องปากสำคัญในทุก ๆ ช่วงเวลาสำคัญของชีวิต
“ช่องปากคือทางเดียวที่จะนำเข้าอาหารและน้ำ ถ้าเราเติมอาหารและน้ำไม่ได้ หรือไม่มีคุณภาพพอ อวัยวะส่วนอื่น จะใช้พลังงานจากไหน” หมอแคทพูดชวนให้ฉุกคิด
ฟัน ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้เหมือนอวัยวะอื่น หากฟันผุ เป็นรู วิธีการเดียวคือกรอส่วนที่เป็นรูแล้วใช้วัสดุเทียมมาอุดแทน จึงเป็นอวัยวะที่ยอมให้เสียหายไม่ได้ อีกทั้งยังมีการศึกษาที่พบความสัมพันธ์ของสุขภาพฟันกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน ถ้าเป็นปริทันต์อักเสบมากๆ การอักเสบติดเชื้อภายในช่องปาก จะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ส่วนในกรณีคุณแม่ที่ตั้งท้องฟันผุ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ลูกที่คลอดออกมามีปัญหาช่องปากได้ในอนาคตเช่นกัน
“เพราะสิ่งที่ทำให้ฟันผุ เหงือกอักเสบ คือแบคทีเรียชนิดหนึ่ง จึงติดต่อกันได้ ไม่ต่างจากเชื้อไวรัสเลยค่ะ” หมอแคทเสริม
ในคนไข้โรคมะเร็ง ที่ต้องฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอ รังสีจะมีโอกาสไปโดนต่อมน้ำลาย ทำให้ต่อมน้ำลายไม่สามารถผลิตน้ำลายได้ตามปกติ เมื่อน้ำลายแห้ง กินอาหารก็ฝืด ติดคอ อีกทั้งน้ำลายเป็นเหมือนยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุดตามธรรมชาติ หากมีไม่พอ ก็ทำให้การควบคุมแบคทีเรียก่อโรคในช่องปากไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ฟันผุ เหงือกอักเสบได้เช่นกัน ปัญหาเหล่านี้ทำให้คนไข้เกิดโรคในช่องปาก จึงกินอาหารได้น้อยลง หรือไม่อยากกิน คุณภาพชีวิตของคนไข้ก็จะลดลงไปด้วย
“มีเคสหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่างานที่ทำอยู่นี้มีคุณค่าและช่วยเหลือคนได้จริง นั่นก็คือการสันนิษฐานว่าผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือ Sleep Apnea เมื่อได้ตรวจช่องปาก ซึ่งคนไข้นั้นดูแลสุขภาพช่องปากดี หาหมอฟันที่อื่นเป็นประจำทุกหกเดือน แต่พอมาหาเรา เราสังเกตว่าฟันของคนไข้เรียบตัดตรง ฟันสึกมาก ปลายฟันบางตำแหน่งแตก ไม่มียอดฟัน ในช่องปากมีกระดูกงอกเป็นตุ่ม ๆ อยู่ใต้เหงือกจำนวนมาก พอคุย ๆ กันอยู่ดี ๆ คนไข้ก็หลับกลางอากาศเสียดื้อ ๆ จึงลองซักประวัติ พบว่านอนกัดฟัน กรน ตื่นมาไม่สดชื่น สัปหงกขณะขับรถบ่อย ๆ ความจำแย่ลง รวมทั้งมีความดันโลหิตสูงขึ้น”
“เราแนะนำให้ไปตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) แล้วก็พบว่าคนไข้มีอาการหยุดหายใจขณะหลับจริง ๆ และหยุดหายใจจนระดับออกซิเจนในเลือดตก ซึ่งเป็นอาการที่เขาเป็นมาหลายปีแล้ว ปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้ในอนาคต พอเขาได้รักษาอย่างตรงจุด คุณภาพชีวิตของเขาก็ดีขึ้น แล้วเราก็ดีใจที่การตรวจช่องปากของหมอฟันอย่างเรา สามารถช่วยคนไข้จากโรคที่อันตรายได้”
- เสน่ห์ปลายจวักท้ายครัวทันตแพทย์หญิง
นอกจากงานทันตกรรมที่ทำประจำอย่างกระตือรือร้นแล้ว ยังมีงานอดิเรกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือการเข้าครัวทำอาหารและคิดค้นสูตรส่วนผสมใหม่ ๆ เพื่อสร้างรสชาติเฉพาะของตัวเอง หากใครกินแล้วชอบ ติดใจ ขอให้ทำให้กินอีก จะทำให้คุณหมอมีความสุขมาก ๆ
“เป็นคนชอบทำอาหารให้คนอื่นทานค่ะ เราจะชอบสรรหาวัตถุดิบที่พลิกแพลงจากสูตรเดิมมาทำ ให้อาหารจานนั้นต้องมากินที่เราเท่านั้นอะไรแบบนี้ อย่างเช่นทำไข่พะโล้ก็ใช้ไข่เค็มทำ ทำน้ำเงี้ยวก็ใช้ปลาเค็มแทนการใส่น้ำปลา ทำแกงเขียวหวานเนื้อ ก็จะใช้เนื้อน่องลายตุ๋น อะไรแบบนี้ ทำให้อาหารของเรามันรสชาติแตกต่างจากสูตรปกติ จะมีรสชาติที่แปลก น่าสนใจ พอให้ใคร ๆ ทานแล้วเขาก็จะพบว่าเป็นรสชาติในแบบที่ไม่เคยทานที่ไหน”
เป็นทันตแพทย์ที่ช่วยเหลือคนไข้ เป็นคนทำอาหารที่แบ่งปันคนใกล้ชิด อีกทั้งยังมีแนวคิดที่แข็งแกร่งต่อการมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม สิ่งสิ่งนี้สะท้อนตัวตนแห่งผู้ให้และนักปฏิบัติของทันตแพทย์หญิงกนกวรรณอย่างไม่ต้องสงสัย
“สุขภาพช่องปากสร้างคุณภาพชีวิตได้ หากได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจากหมอฟันและนำไปปฏิบัติ ทุกคนก็สามารถมีสุขภาพช่องปากที่ดีได้”