“ทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์
ทุกคนมีมุมมองที่ไปในทิศทางเดียวกัน
ว่าเราต้องการมอบสิ่งที่ดีให้กับคนไข้”
MedPark Stories วันนี้เรากดลิฟต์ขึ้นมาชั้น 14 พาคุณไปท่องโลกทันตกรรมดิจิทัลกับ คุณหมอเอ๋ - ทพญ. นลินา ณรงค์ชัยกุล ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมประดิษฐ์ ฟังเรื่องราวความสุขจากการเป็น ‘หมอใส่ฟัน’ นักรังสรรค์ ฟันปลอม ครอบฟัน ง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้ว! ไม่ใช่เพราะเครื่องมือที่เยี่ยมยอดอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความชำนาญที่พิสูจน์มาแล้วจากคนไข้มากมาย
ทันตกรรมเป็นงานที่สะอาด
ย้อนไปก่อนจะมาเป็น ทพญ. นลินา ต้องบอกว่า คุณหมอเอ๋ ฉายออร่า ‘ว่าที่คุณหมอ’ มาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่จะเป็นหมอทางด้านใด ยังไม่ได้วางแผนไว้ชัดเจนนัก จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงอายุ 15-16 ปี จึงค้นพบว่า การสร้างรอยยิ้มที่สวยและมั่นใจให้กับคนไข้ เป็นเส้นทางที่ ‘ใช่เลย’
“ชอบรักสวยรักงาม รักความสะอาดค่ะ พอมีโอกาสได้จัดฟัน เห็นเครื่องมือทำฟัน บรรยากาศ สิ่งแวดล้อม ก็รู้สึกประทับใจ เพราะเป็นงานที่ต้องอยู่กับความสะอาดตลอดเวลา พอทำฟันเสร็จ คนไข้ฟันสวย มั่นใจขึ้น เราก็รู้สึกดีไปด้วย จะถึงเป็นการทำงานในพื้นที่เล็ก ๆ ในช่องปาก แต่ก็ตอบโจทย์ เพราะชอบทำอะไรกุ๊ก ๆ กิ๊ก ๆ พวกงานประดิษฐ์ประดอยอยู่แล้ว”
ถ้าไม่นับงานที่ต้องใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว คุณหมอเอ๋ยังมีงานอดิเรกที่โปรดปรานก็คือ “เล่นเกม” นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คุณหมอเลือกเรียนต่อเฉพาะทาง ด้านทันตกรรมดิจิทัล หลังจากจบ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“หมอชอบเล่นเกมมากค่ะ ถ้ามีเวลาเล่น ก็เล่นไม่หยุด เล่นมาตั้งแต่ PS1 จนถึงตอนนี้ PS5 ก็ยังเล่นอยู่ ชอบภาพเสมือนจริง ชอบทำอะไรแบบ virtual ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหมอมีพี่น้องเป็นผู้ชาย แล้วเขาก็เล่นเกมกัน เราก็เลยต้องเล่นตามเขาไปด้วย ตอนนี้เป็นคุณแม่แล้ว ก็มาเล่นเกมกับลูกแทน”
เก่งงานช่าง บูรณะ ซ่อมแซม
สิ่งที่เหนื่อยที่สุดตอนเป็นนิสิตแพทย์ ยกให้ตอนทำแล็ป
“ตอนทำคลินิกเหนื่อยมาก เรียนเสร็จต้องไปเข้าห้องแล็บ เอาฟันจากคนไข้มา ไปเรียงฟัน ไปขึ้นแว็กซ์ เปลี่ยนจากแว็กซ์เป็นพลาสติก ต้องเทปูน มีใช้ไฟด้วย เป็นเหมือนงานช่าง มีเรื่องของกลไกต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วเราจะทำยังไงให้ได้ฟันปลอมที่สวยด้วย เป็นหมอฟันจึงต้องเข้าใจทุกอย่าง ทั้งศาสตร์และศิลป์”
ปัจจุบันมีแล็ปที่ช่วยสนับสนุนบริการทางทันตกรรม ทำให้ทันตแพทย์ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองแล้ว หรือหลายคนเรียนจบไปเลือกสาขาเฉพาะทางที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับงานเหล่านี้เลยก็มี แต่อย่างไรแล้ว การทำแล็ปก็เป็นหนึ่งในงานที่หมอฟันทุกคนต้องทำเป็น
“หมอจะสอนรุ่นน้องเสมอว่า จริง ๆ แล้วเราอาจจะไม่ได้ใช้ทุกอย่างที่เราเรียนมา แต่เราควรจะรู้ไว้ว่ามันมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบทำอันนี้ ก็จะไม่สนใจเลย อย่างน้อยการทำแล็ปมันสอนให้รู้จักอดทน แล้วการอดทนจะทำให้ได้ในสิ่งต่าง ๆ ที่มีคุณค่า พอเราเข้าใจงานแล็ปก็จะอธิบายให้ช่างฟังได้ ว่าต้องการให้เขาทำออกมายังไง”
ทันตกรรมดิจิทัล ครอบฟันวันเดียวจบ
พูดถึงความชำนาญพิเศษของ ทพญ. นลินา ต้องยกให้เรื่องของ ทันตกรรมประดิษฐ์
“ในภาษาทั่วไปเรียกว่า ‘หมอใส่ฟัน’ เช่น ใส่ฟันปลอม รากเทียม เพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปนั่นเองค่ะ ซึ่งเทคโนโลยีทางทันตกรรมปัจจุบันก็พัฒนามาให้เข้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น มีแล็บทันตกรรมดิจิทัล (Digital Dental Lab) ที่ติดตั้งระบบ CEREC System เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีระบบสแกนดิจิทัล และ CAD/CAM ให้ทันตแพทย์และคนไข้เห็นภาพ ออกแบบครอบฟันและจบงานได้อย่างรวดเร็ว”
“หมอชอบงาน ทันตกรรมดิจิทัล (Digital Dentistry) มานานแล้ว พยายามหาโรงพยาบาล หรือคลินิกที่มีความสามารถในการซื้อเครื่องราคาหลายล้านมาให้เราใช้ จนมาจบที่เมดพาร์ค ที่นี่มีเครื่อง Sirona ที่เป็น CEREC System อย่าง ครอบฟัน สมัยก่อนต้องพิมพ์ปากแล้วส่งไปให้ห้องแล็บ ซึ่งอย่างน้อย 2-3 วันถึงจะได้ชิ้นงานออกมา แต่เดี๋ยวนี้สแกนฟันเข้าเครื่องได้เลย สมมติว่ากรอฟันแล้ว เครื่องก็จะสร้างโมเดลขึ้นมาภายใน 1 นาที แล้วเราก็ดีไซน์ สั่งกลึง ทำสี แค่ 2 ชั่วโมงจบ คนไข้กลับบ้านได้”
เครื่อง Sirona ไม่เพียงช่วยย่นระยะเวลา แต่ยังสามารถนำมาใช้วางแผนการรักษาร่วมกับหมอศัลย์ เช่น การกำหนดตำแหน่งในการปักรากเทียม เพื่อเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น หมดปัญหารากเทียมเข้าไปเบียดฟันซี่อื่น จึงจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทตั้งแต่การวางแผน จนถึงการรักษา ช่วยให้งานยากกลายเป็นง่ายดาย ซึ่งในมุมมองของคุณหมอเอ๋แล้ว หากจะบอกว่าแผนกทันตกรรมของเมดพาร์ค เป็น ‘สถานที่ทำงานในฝัน’ ก็คงไม่เกินจริง
“อยากทำงานในสถานที่ที่ทุกคนในแผนก Enjoy กับการทำงาน มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี พอได้มาทำงานที่เมดพาร์คก็รู้สึกรักเลยค่ะ เราก็ได้เห็นถึงความพร้อม มีเก้าอี้ที่เป็นตัวท็อปสุดยอด มีห้องแล็บเป็นของตัวเอง มีเครื่องมือระบบ Digital ครอบฟันเสร็จภายใน 1 วัน ซึ่งเราจะรองรับ Dental Tourisum ในอนาคตได้ ทำงานด้วยความสบายใจ ทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทุกคนมีมุมมองที่ไปในทิศทางเดียวกัน ว่าเราต้องการมอบสิ่งที่ดีให้กับคนไข้”
เปลี่ยนความกลัว เป็นความไว้ใจ
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไม่อยากมาหาหมอฟันก็คือ ‘ความกลัว’
“ส่วนใหญ่เป็นความกลัว กลัวเจ็บ กลัวเสียวฟัน แต่จริง ๆ มันไม่ได้น่ากลัวมากแล้ว ฉีดยาก็ไม่เจ็บเท่าไหร่หรอก มันก็ยังรู้สึกบ้าง ส่วนใหญ่หมอฟันเป็นอะไรที่คู่กับยาชา แต่ว่าคนกลัวหมอฟันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ไม่เป็นไร กลัวแล้วก็กลัวไป มาเราจะทำให้ดีขึ้น ความกลัวมันจะค่อย ๆ น้อยลง จนถึงขั้นพอทนได้ มันก็จะดีขึ้นโดยเฉพาะกับทันตแพทย์ที่เขาไว้ใจ หมอจะพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะไม่ทำให้คนไข้เจ็บ หมอฟันก็เหมือนเนื้อคู่เหมือนกันนะ เวลาเจอกันแล้วก็เจอไม่ค่อยอยากจะไปไหนหรอก”
จากประสบการณ์ที่เคยทำฟันให้คนไข้มา พบเคสคนไข้กลัวการทำฟัน ถึงขั้นร้องไห้
“คนไข้อายุประมาณ 40 กว่า ฟันผุเยอะแยะมาก จนขาดความมั่นใจ ไม่กล้ายิ้ม ไม่อยากไปเจอใคร แต่วันนั้นเขารวบรวมความกล้าอย่างมากมาหาเรา มากับแฟน จับมือให้กำลังใจกัน คนไข้กลัวมาก นั่งร้องไห้ เราก็ปลอบเขาว่า อย่าร้องไห้นะ จับมือกันไปนะ ฉันสัญญาว่าจะไม่ทำให้เธอกลัว เป็นเคสที่ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ นาน 1-2 ปีเลยค่ะ ก็ปักรากเทียมไปเล็กน้อย แล้วก็จบด้วยการที่เขาโอเคกับการทำฟัน ไม่ร้องไห้แล้ว แล้วก็สดใสร่าเริงแบบดอกไม้บาน แล้วก็แต่งงาน”
“แฟนเขาเขียนจดหมายมาอย่างหวานเลยว่า You อยู่ในช่วงเวลาที่เขาอยู่ด้วยกัน มาจนถึงวันที่ได้แต่งงานกัน เขายิ้มได้ขนาดนี้เพราะว่าเธอเลยนะ นลินา! ข้อความเหล่านี้คือความประทับใจที่ใช้เงินซื้อไม่ได้ เขายังกลับมาตรวจฟันกับเราทุกปี ไม่ไปหาคนอื่นแล้ว”
สุดท้ายแล้ว ความกลัวจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ถ้ามาทำฟันที่เมดพาร์ค
“กลัวใช่ไหม...คุยกับหมอดมยาเลยค่ะ ที่นี่สามารถเรียกวิสัญญีแพทย์มาดมยาคนไข้ได้ทุกเมื่อ ในแผนกทันตกรรมของเรามี OR ห้องผ่าตัดเล็ก และอุปกรณ์ผ่าตัดเพียบพร้อม ฉะนั้น Welcome มาก กลัวแค่ไหนก็มาเถอะ มาปรึกษากับวิสัญญีแพทย์ก่อน ถ้าคนไข้ไม่มีปัญหาสุขภาพที่จะส่งผลกับการดมยาสลบ ก็เชิญได้เลย”