กายอุปกรณ์ คือ งานศิลปะเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่
ที่แฝงอยู่ในงานแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
“ภาวะเจ็บป่วยหลายอย่าง ถึงแม้คนไข้จะได้รับการรักษาให้รอดปลอดภัยแล้ว แต่หลายต่อหลายคน มีผลพวงที่ติดตามมาจากการเจ็บป่วยเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียการใช้งานของแขนขา หรือ ความสามารถในการเดินหรือช่วยเหลือตัวเอง สิ่งที่เราทำให้เขาได้ คือช่วยดูแลฝึกฝนให้คนไข้สามารถกลับมาขยับเคลื่อนไหวได้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่เขาจะกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนปกติหรือใกล้เคียงปกติที่สุด งานเวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงสำคัญมาก”
ปัจจุบัน งานด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม ประโยชน์และความสำคัญของวิชาชีพนี้ได้รับการเล็งเห็นอย่างเป็นวงกว้างมากกว่าแต่ก่อน และยังมีแขนงหนึ่งของสาขานี้ที่น่าสนใจมาก แต่น้อยคนจะรู้จักนั่นก็คือ กายอุปกรณ์ ซึ่งก็คือการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ออกแบบพิเศษเฉพาะแต่ละส่วนของร่างกาย มาเสริมในส่วนที่บกพร่องหรือมาใช้ทดแทนส่วนที่ขาดหายไป เพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมให้คนไข้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้นและใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น หมออ้อม-แพทย์หญิงเนตรยา นิ่มพิทักษ์พงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะมาช่วยให้ได้รู้จักงานด้าน ‘กายอุปกรณ์’ กันมากขึ้น ผ่านประสบการณ์และเรื่องราวที่น่าสนใจ
งานศิลปะที่อยู่ในงานแพทย์
หมออ้อมได้รับการปลูกฝังเรื่องการเป็นแพทย์มาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะคุณพ่อคุณแม่ล้วนเป็นแพทย์ทั้งคู่ คุณหมอเลยได้เรียนรู้และซึมซับวิธีการที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยและดูแลคนไข้มาตั้งแต่ตอนนั้น สามารถช่วยดูแลคนอื่น ๆ ในบ้าน จัดยาให้โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนกำกับดูแล จนกระทั่งโตขึ้นและชีวิตดำเนินมาสู่จุดที่ต้องเลือก…
“ด้วยตัวเองเป็นคนชอบศิลปะ วาดภาพ ทำงานฝีมือ มาตั้งแต่เด็ก ๆ คุณพ่อก็คอยสนับสนุนตลอด สมัยเรียนแม้จะอยู่สายวิทย์-ชีวะ แต่ก็ยังไปเป็นประธานชมรมศิลปะ มันก็แอบย้อนแย้งกันอยู่ค่ะ ตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เลยต้องเลือกระหว่างแพทย์กับสถาปัตย์ ใช้เวลาวิเคราะห์ตัวเองอยู่นานเหมือนกันค่ะ สุดท้ายรู้สึกว่าเก็บงานศิลปะไว้เป็นงานอดิเรกดีกว่า ถ้าเป็นเอางานจริง ๆ เราคงสู้เพื่อน ๆ ที่อาร์ตตัวแม่จริง ๆ ไม่ได้ จึงตั้งใจสอบและเรียนแพทย์”
เมื่อเรียนแพทย์ถึงปีที่ 4 คุณหมอพบว่า สิ่งที่เรียนอยู่ไม่ใช่สิ่งที่คิดเลย โดยเฉพาะการรักษาด้วยการให้ยาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ว่าเมื่อคนไข้ทานไปแล้วยาไปออกฤทธิ์อย่างไร
“รู้สึกว่ากระบวนการในร่างกายนี้เราจับต้องไม่ได้ ปรับแก้ไขอะไรด้วยมือเราเอง (แบบทำงานประดิษฐ์) ไม่ได้ ทำได้แต่ปรับปริมาณยา วิธีทาน หรือเปลี่ยนยา แล้วรอดูตัวเลขผล lab (ซึ่งจริง ๆ มันก็เป็นศิลปะแบบหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ใช่แบบที่เราคุ้นเคย) ตอนนั้นรู้สึกว่าเลือกทางผิดมาก ๆ กระทั่งคุยกับคุณแม่ว่าไม่อยากเรียนแพทย์ต่อแล้ว”
จนกระทั่งวันหนึ่งตอนปี 5 คุณหมอมีโอกาสไปเรียนในห้องตรวจของอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้เจอคนไข้ท่านหนึ่งที่มีเลือดออกในสมองซีกหนึ่ง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก หลังจากได้รับการผ่าตัด ร่างกายซีกที่อ่อนแรงสามารถฟื้นกลับมาเป็นส่วนใหญ่ คนไข้กลับมาเดินได้เพียงแต่…
“กล้ามเนื้อที่ช่วยกระดกข้อเท้ามันไม่ฟื้น ทำให้ปลายเท้าลากพื้นจึงเดินลำบาก แล้วตอนนั้นอาจารย์เลยให้คนไข้สวมอุปกรณ์ที่เป็นเหมือนผ้ายึดพันรอบหน้าแข้ง มีสายโยงลงไปที่เท้า ช่วยคล้องและยึดปลายเท้าไว้ให้ยกขึ้น คนไข้จึงสามารถเดินได้ง่ายและใกล้เคียงปกติมากขึ้น” (มารู้ชื่อจริง ๆ ของมันทีหลัง ว่าคือ foot sling)
“แว้บที่เห็นรู้สึกประทับใจว่า โอ้โฮ สิ่งนี้แม้จะดูเป็นอะไรง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่ช่วยคนไข้ได้จริง ๆ และที่สำคัญมันคือ “งานศิลปะ” ที่อยู่ในงานแพทย์ แบบที่เราตามหามานาน และเราน่าจะสามารถใช้ความสามารถด้านศิลปะของเรามาช่วยคนไข้ได้อีกมาก ตอนนั้นเหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยค่ะ ความถอดใจในการเรียนแพทย์หายไปในเสี้ยวนาที เลยถามอาจารย์ไปว่าแพทย์สาขาไหนเป็นคนเลือกอุปกรณ์แบบนี้ให้คนไข้ พอทราบว่าเป็นกายอุปกรณ์ซึ่งอยู่ในสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู จึงตัดสินใจเลือกสาขานี้”
เวชศาสตร์ฟื้นฟู สำคัญในทุกบริบทการรักษา
ช่วงทำงานใช้ทุน หมออ้อมได้เห็นความสำคัญของงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู เนื่องจากปัญหาจำนวนคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐที่ค่อนข้างหนาแน่น เวลาในการดูแลคนไข้หนึ่งคนจึงถูกรวบให้สั้นที่สุด เพื่อมีเตียงว่างสำหรับคนไข้คนถัดไปที่อาการหนักกว่า… “โดยเฉพาะคนไข้อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง คนไข้อุบัติเหตุหลังผ่าตัด หรือคนไข้สูงอายุที่นอนโรงพยาบาลนาน ๆ หลายรายที่เมื่ออาการพอคงที่ก็ต้องกลับบ้านแล้ว แม้ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนเดิม บางรายแม้แต่จะนั่งยังทำไม่ได้ ตอนนั้นรู้สึกว่า จะเป็นการดีมากถ้าคนไข้เหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกวิธีด้วยทีมของโรงพยาบาลจนกว่าจะกลับมาแข็งแรงซึ่งมันไม่สามารถเป็นไปได้เลย แต่อย่างน้อยคนไข้ได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัว ทำกายภาพหรือทำกิจกรรมบำบัดเองที่บ้าน เพื่อจะฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด จะได้ไม่เสียโอกาส จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่จำเป็น”
ปัจจุบัน หมออ้อมเป็นแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งเน้นรักษาบำบัดอาการและความผิดปกติต่าง ๆ ของเท้าและการเดินเป็นหลัก โดยอาศัยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด ร่วมกับการเลือกใช้กายอุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น แผ่นรองในรองเท้าหรือรองเท้าเพื่อการบำบัดรักษา ซึ่งคุณหมอจะออกแแบบให้เหมาะสมกับปัญหา และบริบทการใช้ชีวิตของคนไข้แต่ละคน
“งานกายอุปกรณ์ มีความซับซ้อนและมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเยอะมาก ๆ ค่ะ อย่างเช่นเราจะสั่งขาเทียมให้คนไข้สักคน ต้องเลือกส่วนประกอบให้แต่ละส่วนเข้าได้กับวิถีชีวิตคนไข้ คำนึงถึงงบประมาณด้วย และในบางรายที่เราดูแลร่วมกันเป็นทีม จะมีการวางแผนว่าตัดระดับไหนถึงจะใส่ขาเทียมง่าย เพื่อให้แผลก็หาย และคนไข้ก็ใส่ขาเทียมเดินสะดวก หลังจากได้อุปกรณ์ก็ต้องฝึกวิธีใช้งานให้คนไข้ด้วย เรียกว่าต้องดูแลกันตั้งแต่ก่อนผ่าจนหายกลับมาเดินได้เลยค่ะ และที่สำคัญที่สุดคือคนไข้ต้องเป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการด้วย”
ความสำเร็จ คือคนไข้ใช้อุปกรณ์ได้เหมือนส่วนหนึ่งของร่างกาย
หมออ้อมเล่าว่า มีคนไข้สูงอายุที่เป็นโรคโปลิโอตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้เท้าข้างหนึ่งจะเขย่งและพลิกตะแคงออกด้านข้างเวลาเดิน จึงเจ็บและเดินได้ไม่ไกล หลัง ๆ ต้องนั่งรถเข็นแทน คนไข้เคยได้กายอุปกรณ์มาจากหลายโรงพยาบาล ด้วยว่าข้อเท้าผิดรูปค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่คุณหมอจึงเลือกใช้สิ่งที่ควบคุมข้อเท้ามากที่สุดเพื่อให้คนไข้เดินได้มั่นคง นั่นคือ อุปกรณ์ที่เป็นพลาสติกแข็ง หรือเป็นแกนเหล็กดามข้อเท้า หรือรองเท้าบู๊ตสูง ๆ แต่เพราะขนาดที่ใหญ่ น้ำหนักที่มาก และการสวมใส่แต่ละครั้งใช้เวลามาก ทำให้ไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวัน ผลคือคนไข้ไม่ใช้ และสรรหาอุปกรณ์เท่าที่เขาหาได้เองมาประยุกต์ใช้ไปเรื่อย ๆ และทนเดินลำบากต่อไป
“กายอุปกรณ์ ต่อให้ทำมาอย่างดีแค่ไหน ถ้าคนไข้ไม่ใช้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ค่ะ งานของหมอจึงต้องมาคุยกับคนไข้ เราต้องเข้าใจความต้องการและปัญหาของคนไข้ให้ได้มากที่สุด อธิบายข้อดีข้อด้อยในตัวเลือกแต่ละแบบให้คนไข้เข้าใจ แล้วเขาเป็นคนร่วมตัดสินใจ คือแทบจะนั่งจับเข่าคุยเลยทีเดียว กว่าจะตกผลึกกันออกมาเป็นกายอุปกรณ์แต่ละชิ้น ที่มั่นใจว่าคนไข้จะเอาไปใช้จริง ๆ ไม่เอาไปขึ้นหิ้งตั้งโชว์”
หลังจากได้นั่งคุยกับคนไข้ พบว่าจริง ๆ เขาสามารถบอกสิ่งที่ต้องการได้ชัดเจน เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีใครยอมทำในแบบที่คนไข้ต้องการ
“หมอ ๆ อย่างเรา อยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับคนไข้เสมอ โดยมองจากมุมของเรา แต่เราอาจจะลืมไปว่าสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในมุมของคนไข้ก็ได้ การหาจุดลงตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
“จำได้ว่า วันที่นัดคนไข้มารับรองเท้า คนไข้นั่งวีลแชร์เข้ามา แต่พอเราให้เขาสวมรองเท้าตามแบบที่เขาร่วมตัดสินใจ ปรับแต่งให้พอดี เขาก็ดีใจลุกขึ้นมายืนแล้วก็เดินกลับบ้านเองได้เลย และออกไปเดินเที่ยวนอกบ้านได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยเดินอะไรเลย พอได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำ ทำให้ช่วยคนไข้ให้มีความสุขได้แบบนี้ เราก็ประทับใจและมีความสุขไปด้วยค่ะ ยิ่งตอนนัดตรวจติดตามอาการและตรวจรองเท้า คนไข้มักจะอายที่รองเท้าที่หมอตัดให้นั้นถูกใช้งานจนพื้นสึก เก่าจนหนังเปื่อย แต่สำหรับหมอแล้ว การได้เห็นรองเท้ากลับมาด้วยสภาพถูกใช้งานอย่างสมบุกสมบัน หมอกลับรู้สึกดีใจมาก รู้สึกว่าประสบความสำเร็จ เพราะนั่นแสดงว่าสิ่งที่เราให้คนไข้ไป เขาได้ใช้จริงและรองเท้านั้นช่วยคนไข้ได้”
กายอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ขาเทียม แขนเทียม อุปกรณ์ดามข้อ แผ่นรองในรองเท้า หรือรองเท้า ที่ออกแบบและทำขึ้นเฉพาะ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน เปรียบเสมือนชิ้นงานที่ช่างฝีมือที่สร้างขึ้นอย่างมีพิถึพิถัน มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เมื่อสิ่งนี้สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการของคนไข้ได้จริง ๆ คุณค่าของงานจึงเกิดขึ้นมานั่นเอง
“งานนี้น้อยคนที่จะรู้จัก คนไข้หลายคน พอได้เห็นงานของเราก็ประหลาดใจค่ะ ว่ามีศาสตร์แบบนี้ด้วยเหรอ พอได้ใช้กายอุปกรณ์เหล่านี้อาการเจ็บก็เบาขึ้น หรือใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น คนไข้ก็มักจะบอกว่าถ้ารู้ว่ามีการรักษาแบบนี้ด้วย มาหาหมอนานแล้วหล่ะ ไม่น่าทนเจ็บมาตั้งหลายปี”
ต่อยอดความรู้เรื่อย ๆ เพื่องานชิ้นโบแดง
อย่างที่กล่าวไปว่าหมออ้อมชอบการวาดรูป ออกแบบ และงานประดิษฐ์ งานทำกายอุปกรณ์โดยเฉพาะรองเท้าและแผ่นรองในรองเท้าที่เป็นความชำนาญ จึงเป็นหนึ่งในงานที่คุณหมอชื่นชอบและมักศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอ การออกแบบ การเลือกวัสดุ การปรับแต่งให้ออกมาแล้วเหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย เหมือนกับชิ้นงานศิลปะ
“การทำกายอุปกรณ์ มีนวัตกรรมอยู่เสมอ คือจะมีวิธีการและการคิดค้นวัสดุใหม่ ๆ ตลอดเวลา เลยชอบหาคอร์ส หรือไปอบรมที่เขาสอนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มความรู้ให้ตัวเอง และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เหมาะกับปัญหาของคนไข้ได้อย่างยืดหยุ่น มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นค่ะ เพราะไม่เคยมีเท้าไหนที่เหมือนกัน แม้แต่เท้าสองข้างของเราเอง”
งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู ไม่ใช่แค่การบำบัดฟื้นฟูไปตามแบบแผนอย่างเดียว แต่คือการประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถที่มีโดยไม่ได้มองแค่ว่าเขาทำอะไรได้ แต่มองว่าเราช่วยอะไรเขาได้ เปิดใจรับฟังและเข้าใจคนไข้ในแบบองค์รวม ลงมือทำด้วยใจ เพื่อมุ่งหวัง ให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากที่สุดเท่าที่จะทำได้