หมอผิวหนัง ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อรักษาคนไข้อย่างเดียว แต่ได้ดูแลตัวเราเองด้วย
“ถ้าเราอยากมีผิวหน้าดี ๆ ยังไงก็ควรจะทําพวกเลเซอร์ โบท็อกซ์ สม่ำเสมอ”
รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นหนึ่งในมลภาวะที่ทำให้ผิวไหม้แดด หมองคล้ำ เกิดฝ้า กระ จุดด่างดำ และสารพันปัญหาผิว แม้จะมีสกินแคร์ อาหารเสริม มาช่วยปลอบประโลมผิว แต่การ “หลีกเลี่ยงแสงแดด” ก็ยังเป็นวิธีป้องกันอย่างแรกที่แพทย์ผิวหนังแนะนำเสมอ
MedPark Stories วันนี้ อยู่ที่ ศูนย์ผิวหนัง ความงาม และเส้นผม โรงพยาบาลเมดพาร์ค โดยมีคุณหมอคนสวย พญ. ณิชา รังสิมานนท์ มาร่วมพูดคุยด้วย คุณหมอเป็นผู้ชำนาญการด้านโรคผิวหนัง มะเร็งผิวหนัง การดูแลผิวพรรณ ความงาม การใช้นวัตกรรมดูแลฟื้นฟูสภาพผิวอย่าง “เลเซอร์” ซึ่งกำลังนิยมในปัจจุบัน แต่จะมีเรื่องราวสนุก ๆ และเคล็ดลับอะไรมาแนะนำบ้าง มาติดตามกัน
หมอผิวหนัง วินิจฉัยโรคได้ด้วยตาเปล่า
หลังจากจบแพทยศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 จุฬาฯ ก็ไปเรียนต่อ มหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา คว้าปริญญาเอกสาขาวิชาตจวิทยา ตามความตั้งใจแล้ว ก็เรียนต่อทางด้านการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีการโมหส์ รวมไปถึงการศัลยกรรมผิวหนังและเลเซอร์ คุณหมอเริ่มต้นเป็นแพทย์ผิวหนังที่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นานกว่า 13 ปี ก่อนจะมาประจำอยู่ที่ โรงพยาบาลเมดพาร์ค
หากถามว่าหมอผิวหนังพิเศษกว่าหมอสาขาอื่นอย่างไร เรามักจะได้คำตอบคล้าย ๆ กันว่า หมอผิวหนัง...แค่มองผื่นไม่กี่วินาทีก็สามารถวินิจฉัยโรคได้แล้ว
“ถ้าเป็นวันแรกที่เรียน มันดูยากมากค่ะ ทุกอันเราก็เห็นว่าผื่นแดง ผื่นแดง และผื่นแดง แต่พอเราได้ดูเยอะขึ้น เราจะแยกได้ว่ามันไม่ใช่แค่นั้น อันนี้มันไม่เหมือนนะ น่าจะเป็นโรคนี้นะ โรคนั้นนะ สมมติถ้าเรามีแผล มีความผิดปกติที่ผิวหนัง เราเห็นได้เลย ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่น แผลมันอาจจะอยู่ข้างใน มันต้องใช้เครื่องมือช่วยตรวจวินิจฉัย”
ผื่นที่ดูเหมือนธรรมดา ๆ แต่ความจริงอาจกลายเป็น มะเร็งผิวหนัง ก็เป็นได้ แต่ถึงจะเป็นมะเร็งผิวหนัง ในมุมมองของหมอก็ถือว่าไม่น่ากลัว เพราะสามารถผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว
“ข้อดีของผิวหนังก็คือ Biopsy (ผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัย) ทําได้ไม่ยาก ถ้าผิวเกิดความผิดปกติ มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งผิวหนัง หมอจะตัดชิ้นเนื้อแล้วส่งตรวจดูก็รู้ หรือบางผื่นอาจจะเป็นเชื้อรา ก็แค่ขูดแล้วส่งตรวจ ทุกอย่างทําได้จากภายนอก มันจะง่ายกว่าหมอสาขาอื่น ที่อาจต้องส่องกล้องเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ หรือผ่าตัดเข้าไปตัดชิ้นเนื้อ”
กันแดด SPF สูง ไม่สำคัญเท่าปริมาณที่ใช้
คุณหมอเล่าว่า สาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเราแค่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของลักษณะทางพันธุศาสตร์ และพันธุกรรม เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
“คนเอเชีย คนผิวสี จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนยุโรปผิวขาว แต่ถึงอย่างไร ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เพราะฉะนั้น การป้องกันจึงเป็นสิ่งสําคัญค่ะ แสงแดดนอกจากทําให้เป็นมะเร็งผิวหนังแล้ว ยังทําให้แก่ก่อนวัยด้วย ถ้าถามหมอว่าจะป้องกันยังไงดี หมอก็จะบอกว่าการเลี่ยงแดดเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ต้องไปอาบแดด ถ้าไม่มีความจําเป็นต้องอาบแดดก็ไม่ต้องทํา”
หากถามถึง คุณสมบัติของกันแดด ค่า SPF เชื่อว่าหลายคนก็สงสัย ว่าสูงเท่าไรถึงจะป้องกันได้ดีที่สุด
“คนส่วนใหญ่จะชอบมองหากันแดดที่มีค่า SPF สูง ยิ่งเยอะยิ่งดี ซึ่งจริง ๆ มันไม่ต่างกันค่ะ ค่า SPF30 ขึ้นไปก็ถือว่าเพียงพอ สามารถกัน UVA/UVB ได้ จบแล้ว ไม่สำคัญว่าจะใช้ SPF สูงเท่าไร แต่สำคัญตรงปริมาณที่ใช้ ถ้าคุณใช้น้อย ต่อให้ค่า SPF สูง ก็แทบไม่ช่วยป้องกัน แล้วยังมีเรื่องของ Physical, Chemical ด้วย ครีมกันแดด Chemical มีสารเคมีเยอะ ดูดซับรังสี ถ้าคุณเลือก Physical ซึ่งเป็นแบบสะท้อนรังสี ก็จะกันแดดได้ดีกว่า”
นอกจากค่า SPF แล้ว หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องของปริมาณในการทากันแดด ที่ต้องทาในปริมาณสองข้อนิ้ว ข้อมูลนี้จริงหรือเท็จอย่างไร คุณหมอให้คำตอบว่า
"เวลาที่เขาทดสอบ SPF เขาทาเท่านี้ เป็นปริมาณที่ recommend หรือเรียกว่าเป็น standard dose แต่เวลาที่เราใช้จริง ๆ เราอาจจะต้องลงน้ำ หรือมีเหงื่อออกเยอะ เราอาจจะใช้ผ้าเช็ดหน้ามาเช็ด หรือปาดเหงื่อ ซึ่งมันอาจจะทําให้ปริมาณของกันแดดลดลงไปจากตอนแรก หมอถึงได้บอกว่า SPF ไม่ใช่ตัวที่จะบอกอะไรได้ เพราะเวลาเขาทดสอบ มันไม่ได้ทดสอบในปัจจัยแบบที่คนปกติใช้ในชีวิตประจําวัน ปริมาณที่ใช้จึงสําคัญกว่าตัวเลข SPF”
มะเร็งผิวหนัง ไม่น่ากังวลอย่างที่คิด
หากพูดถึงการรักษา “โรคมะเร็ง” อย่างที่รู้กันว่าหลัก ๆ แล้วจะมีการใช้ยาเคมีบำบัด ผ่าตัด ฉายรังสี ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดความเจ็บปวด ทรมาน แต่สำหรับมะเร็งผิวหนังนั้นไม่เหมือนกัน และคุณหมอก็ไม่อยากให้คนไข้กังวลมากจนเกินไป
“มะเร็งผิวหนังรักษาได้ค่ะ ชนิดที่พบบ่อยที่สุดก็จะเป็น มะเร็งเบเซลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma หรือ BCC) ซึ่งไม่ค่อยอันตราย มีโอกาสที่จะลามไปยังอวัยวะอื่นแต่น้อยมาก ๆ แนะนำว่า ถ้าผิวหนังมีอะไรผิดปกติ โดยเฉพาะแผลที่ไม่หายสักที นานเป็นเดือน เป็นปีก็ยังไม่หาย หรือมีเลือดออก หรือจู่ ๆ มันเกิดโตขึ้นมา ควรจะมาหาหมอผิวหนังเฉพาะทางดีกว่า ถ้าปล่อยเอาไว้มันอาจจะขยายขนาด ใหญ่ขึ้น ๆ ทำให้การผ่าตัดทำได้ยากขึ้น”
มะเร็งผิวหนังที่รักษาไม่หายก็มี เช่น มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) บางชนิด หรือ บางชนิดลามไปยังอวัยวะอื่น แต่ถ้ารู้ตัวเร็วก็รักษาได้ทัน
“ไม่ใช่หมอผิวหนังทุกคนจะผ่าตัดด้วยวิธี Mohs Surgery ได้ค่ะ ต้องเป็นหมอที่เรียนมาเฉพาะทางเท่านั้น เราจะตัดรอบ ๆ เซลล์ ประมาณ 1 มม. แล้วส่งไปส่องกล้องตรวจ อ่านผลชิ้นเนื้อ ถ้าเซลล์มะเร็งยังไม่หมดก็ตัดแค่พาร์ทนั้นเพิ่ม ก่อนที่จะเย็บปิดแผล เพราะฉะนั้น เนื้อตรงที่โดนตัดออกก็จะค่อนข้างจะเล็ก”
จากประสบการณ์เป็นหมอผิวหนังมานานกว่า 13 ปี คุณหมอสังเกตได้ว่าช่วงหลัง ๆ เริ่มมีคนไข้มาด้วย ผื่นลมพิษ มากขึ้น
“สิ่งที่เซอร์ไพรซ์มากเลยก็คือ คนไข้เป็นลมพิษเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อน พอลองตรวจหาแอนตี้บอดี้ต่อพยาธิ ก็เจอกันหลายคนเลย หมอเลยอยากฝากไปถึงคนที่เป็นลมพิษ ลองตรวจพยาธิก็ไม่เสียหายนะคะ เดี๋ยวนี้มีร้านอาหารประเภทของสด ของดิบ เยอะกว่าสมัยก่อน ถึงจะเป็นร้านแบบพรีเมียมก็ตาม ต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพด้วยค่ะ”
ผิวที่ขาดการดูแล จะยิ่งเห็นผลชัดเมื่ออายุมากขึ้น
กลับมาที่เรื่องของผิวพรรณและความงาม สิ่งที่ทำให้คุณหมออยากเป็นแพทย์ผิวหนัง ก็เพราะไม่ใช่แค่ดูแลคนไข้ แต่ได้ดูแลผิวของตัวเองไปด้วย หากย้อนไปสมัยที่คุณหมอยังเป็นนิสิตแพทย์จุฬาฯ ช่วงนั้นคนส่วนมากจะเน้นไปที่เรื่องของ รักษาสิว การใช้ผลิตภัณฑ์กรด AHA หรือ CO2 Laser ซึ่งคนยังไม่ค่อยรู้จักแพร่หลาย
“เลเซอร์เพิ่งจะบูมได้ประมาณสัก 20 ปีมานี้เองค่ะ ตอนเราเด็ก ๆ คือมันไม่มีก็เลย แต่พอเข้ามาในวงการนี้แล้ว ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เรียนเพื่อไปดูแลรักษาคนไข้อย่างเดียว แต่ได้ดูแลตัวเราเองด้วย หมออยากบอกทุกคนเลยว่า ผิวที่ขาดการดูแล จะยิ่งเห็นผลชัดเมื่ออายุมากขึ้น
“ถ้าเราอยากมีผิวหน้าดี ๆ ยังไงก็ควรจะทําพวกเลเซอร์ โบท็อกซ์ สม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าทําหนึ่งครั้งแล้วจะสวยเลย ถ้าคนไข้บอกว่า อยากเลเซอร์ครั้งเดียวแล้วให้หน้าเปลี่ยน ย้อนวัยไปเลย ในทางผิวหนังคงทําไม่ได้ แต่เรา maintain ให้ได้ แล้วถ้าเทียบระหว่างคนที่ไม่ได้ทําอะไรเลยกับคนที่ทําเรื่อย ๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนที่ทำสม่ำเสมอจะยิ่งเห็นความแตกต่างชัดเจน”
คุณหมอมักจะเน้นย้ำกับคนไข้เสมอว่า การจะดูแลรักษาผิวหน้าให้ดูอ่อนเยาว์ได้นานที่สุดนั้น ยิ่งเริ่มตอนที่อายุน้อยเท่าไรก็ยิ่งดี อย่าคิดว่าตอนนี้ยังไม่แก่ ยังไม่ maintain เพราะความจริงเราแก่ลงทุกวัน หาก maintain ตอนอายุน้อยมันจะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพออกไป
“หมอจะไม่ได้เน้นว่าคนไข้ทําปุ๊บจะต้องว้าว มันคงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะมันไม่ได้เป็น miracle แต่ถ้าคุณทําไปเรื่อย ๆ พออีก 10 ปีถัดไปเนี่ย ถ้าเทียบกับเพื่อนที่ไม่ได้ทําเลยนะ จะยิ่งเห็นชัดเลย”
สุดท้ายแล้ว คุณหมอไม่ลืมที่จะแบ่งปัน เคล็ดลับดูแลผิว ที่คุณหมอทําเป็นประจํา
“พยายามออกแดดให้น้อยที่สุดค่ะ ถ้าจำเป็นก็ทากันแดดให้มากที่สุด ทากันแดดเยอะ ๆ ปกปิดผิวดี ๆ แล้วก็ maintain ด้วยเลเซอร์ไปเรื่อย ๆ ยังไงหมอก็เชื่อในเทคโนโลยีค่ะ”