นายแพทย์ภัทร จุลศิริ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อผู้ชำนาญการด้านผ่าตัดเท้าและข้อเท้า - Dr. Pat Chulasiri, An orthopedic surgeon specializing in foot and ankle surgery

หมอกระดูก ก็เหมือนทำงานกับโครงสร้าง

"ตราบใดที่รากฐานเราไม่ดี การใช้ชีวิตเราก็จะลำบาก" แม้เท้าจะเป็นอวัยวะที่หลายคนละเลย แต่ลองคิดว่าถ้าวันหนึ่งไม่สามารถใช้งานเท้าได้อีก ก็คงจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาอย่างแน่นอน

แชร์

หมอกระดูก ก็เหมือนทำงานกับโครงสร้าง

“ตราบใดที่รากฐานเราไม่ดี การใช้ชีวิตเราก็จะลำบาก”

Dr. Pat Chulasiri Banner

แม้เท้าจะเป็นอวัยวะที่หลายคนละเลย แต่ลองคิดว่าถ้าวันหนึ่งไม่สามารถใช้งานเท้าได้อีก ก็คงจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาอย่างแน่นอน และ MedPark Stories วันนี้ จะชวนมาพูดคุยกับบุคคลที่ให้ความสำคัญของเท้า จนเลือกที่จะมาเป็น ‘หมอเท้า’ นพ.ภัทร จุลศิริ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเท้าและข้อเท้า

บทบาทของแพทย์ ที่ไม่ใช่แค่การรักษาคนไข้

หมอภัทรเติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณย่าเป็นสูตินรีแพทย์ ที่ช่วยทำคลอดให้ตนเอง คุณย่าจึงเปรียบเสมือนบุคคลต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้อยากเข้าสู่สายอาชีพนี้

“ผมมองว่าการเป็นหมอ นอกจากจะได้ช่วยคน ยังสามารถพัฒนาประเทศได้ด้วย เพราะหากเราช่วยให้คนสุขภาพดี เขาไม่ต้องหยุดงาน ไม่ต้องนอนป่วย ก็จะสามารถออกไปทำงาน พัฒนาศักยภาพตัวเอง และกลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศได้”

Dr. Pat Chulasiri Banner 1

เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกเป็นหมอออร์โธปิดิกส์ หรือศัลยแพทย์กระดูกและข้อ คุณหมอตอบว่า

“ตอนเด็ก ๆ จะชอบต่อเลโก้ ประกอบหุ่นยนต์ครับ ตอนจบหมอก็คิดอยู่ว่าเป็นหมออะไร ที่สามารถนำสิ่งที่เราชอบ นั่นก็คือฟิสิกส์ วิศวกรรม มาใช้ได้ ก็พบว่า หมอออร์โธปิดิกส์ก็ต้องใช้สิ่งเหล่านี้ ยกตัวอย่างกระดูกหัก แล้วต้องประกอบยึดกระดูกให้เข้าที่ นอกจากใช้ความสามารถในการผ่าตัดแล้ว ยังต้องคำนวณด้วยว่า กระดูกชิ้นขนาดนี้ ควรจะใช้น็อตยึดกระดูกขนาดเท่าไร ความยาวโลหะยึดกระดูกเท่าไร จึงเหมือนเป็นการใช้สิ่งที่เราชอบในการรักษา”

เพราะร่างกายคนเราก็เหมือนกับตึก แค่ต้องประสานกับองค์ความรู้ทางชีววิทยาเข้าไปด้วย เพราะร่างกายมนุษย์จะมีกล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นเอ็น เส้นประสาท ที่เป็นอีกตัวแปรในการซ่อมแซมรักษา

Dr. Pat Chulasiri 2

“พอได้เรียนด้านออร์โธฯ ผมก็ได้เจออาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านเท้าคนแรก ๆ ของประเทศไทย ท่านได้สอนผมและพูดขึ้นมาคำหนึ่งที่ผมชอบมาก ว่า ‘เท้าเหมือนรากฐานของร่างกาย ตราบใดที่รากฐานเราไม่ดี การใช้ชีวิตเราก็จะลำบาก เปรียบเสมือนตึก ต้องมีรากฐานที่แข็งแรง จึงจะมั่นคง’ จึงทำให้หมอเรียนเฉพาะทางต่อยอดด้านเท้าและข้อเท้า”

เท้า อวัยวะที่ทำให้คนเราได้ออกไปใช้ชีวิต

หลายคนคิดว่าเท้าเป็นอวัยวะที่ไม่มีอะไรนอกจากใช้เดิน แต่ความจริงแล้ว เท้ามีกระดูกถึง 26 ชิ้น มีเส้นเอ็น เส้นประสาท กล้ามเนื้อเท่า ๆ กับมือเลยทีเดียว 

“ความเชื่อของคนไทย บอกว่าเท้าเป็นอวัยวะต่ำ คนจึงละเลย ไม่ค่อยสนใจ แต่ความเป็นจริงแล้ว เท้าคือรากฐานของชีวิต ให้มนุษย์ยืน และได้ออกไปใช้ชีวิต ถ้าเท้าไม่ดี เราก็ใช้ชีวิตได้ไม่สมบูรณ์ ไม่สนุกอย่างที่เราต้องการ จึงไม่ควรมองข้ามนะครับ”

คุณหมอเล่าว่า คนไข้หลายรายที่ละเลยอาการเจ็บป่วยที่เท้า ทั้ง ๆ ที่เป็นอาการที่แพทย์เฉพาะทางสามารถช่วยรักษาได้ 

“อาการผิดปกติทั้งหลาย ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนเป็นเรื้อรัง เช่น เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ข้อเท้าพลิก เจ็บข้อเท้า แผลเบาหวานที่เท้า อาจไม่ต้องพึ่งการผ่าตัด ไม่ต้องพึ่งยา โรคทางเท้าส่วนใหญ่สามารถหายได้ด้วยตัวเองหากดูแลและทำกายภาพอย่างถูกต้องตามคำแนะนำ” 

ส่วนใหญ่โรคเท้าหายได้เอง แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าอาการแบบไหนถึงควรไปหาหมอ… 

“อาการทั่ว ๆ ไป เมื่อเราพักประมาณ 1 อาทิตย์ก็ควรจะดีขึ้นครับ ถ้าเมื่อไรที่พักแล้วไม่ดีขึ้น แนะนำให้มาตรวจกับหมอเฉพาะทาง เพื่อได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี”

Dr. Pat Chulasiri 8

หมอเท้ามองการรักษาเท้าที่เปลี่ยนไป

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้า ขีดจำกัดของการรักษาก็ถูกขยายขึ้น คาดหวังผลลัพธ์ที่ดีได้มากขึ้น ทำให้ภาพของการรักษาโรคเท้าแตกต่างจากเมื่อก่อน 

“เมื่อก่อนเป็นการรักษาให้หายจากอาการเจ็บปวดก็พอแล้ว แต่ตอนนี้เราต้องการให้คนไข้ได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด มีการส่องกล้องผ่าตัด อย่างที่ผมเชี่ยวชาญคือการผ่าตัดแผลเล็ก ที่จะช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นได้ เช่น การแก้ปัญหานิ้วเท้าเก ซึ่งต้องใช้ความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางครับ”

“นวัตกรรมที่ในปัจจุบันเริ่มใช้กันมากขึ้นคือ สามารถสแกนรูปเท้าของเราเพื่อไปตัดแผ่นรองเท้า ในต่างประเทศมีการสแกนโดยใช้กระดูกข้างตรงข้ามกับด้านที่เป็นปัญหาเป็นแบบเพื่อทำการพิมพ์สามมิติเป็นกระดูกเทียมมาใส่แทน และในอนาคตก็อาจมีสิ่งที่เรียกว่าการแพทย์แม่นยำ คือหาได้ว่าจุดไหนเป็นจุดที่มีปัญหา ก็รักษาเฉพาะจุดนั้น ไม่ทำให้เนื้อเยื่อรอบข้างบาดเจ็บไปด้วย”

Dr. Pat Chulasiri 6

ช่วยรักษาเท้า ช่วยรักษาอนาคต

หมอภัทรเล่าว่า เคยเจอเคสคนไข้ อายุ 14 ปี ประสบอุบัติเหตุทางจราจรมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ทำให้เดินแล้วขาลากพื้น ยกไม่ขึ้น ไม่สามารถเดินได้ตามปกติอยู่ 2 ปี ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ เพราะโดนเพื่อนที่โรงเรียนล้อ 

ผมพิจารณาปัญหาแล้วแนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขครับ ใช้วิธีย้ายเส้นเอ็นที่เหลืออยู่มาช่วยดึงให้เท้าก้าวขึ้นจากพื้นได้ ไม่ลากพื้น ใช้เวลารักษารวมกายภาพบำบัดอยู่ 3 เดือน จนเขากลับมาเดินได้ใหม่”

“ผมคิดว่ามันคุ้มค่ากับน้องเขามาก แลกกับ 2 ปีที่เดินไม่ได้ ไม่ได้ไปโรงเรียน จนเขาสามารถกลับไปเรียนจนจบมหาวิทยาลัยเรียบร้อย เขาได้คุณภาพชีวิตคืน ได้มีการศึกษา หากไม่รักษา เขาจะสูญเสียโอกาสตรงนี้ไป ทำให้เขาไม่มีความสามารถที่จะเรียนจบ ทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวได้ เราไม่ได้ช่วยเขาในมิติของสุขภาพอย่างเดียว แต่เรายังช่วยเขาในมิติของสังคมด้วย”

Dr. Pat Chulasiri 1

หมอเท้า ที่มีงานอดิเรกต้องใช้เท้า 

อีกแง่มุมหนึ่งนอกเหนือการรักษาคนไข้ คือ ออกไปสัมผัสธรรมชาติด้วยสองเท้าของตัวเอง

“ผมเป็นคนชอบธรรมชาติครับ เลยชอบออกไปเดินป่าเดินเขา รวมถึงการปีนผาด้วย จะเห็นได้ว่ากิจกรรมที่ผมชอบทำ ล้วนต้องใช้เท้าร่วมด้วยเยอะ ต้องเดินเยอะ ใช้กล้ามเนื้อขาเยอะ มันเลยเกี่ยวโยงกับการที่ผมให้ความสำคัญกับเท้า และดูแลเท้าค่อนข้างดี”

นอกจากนี้ คุณหมอยังแนะนำในสิ่งที่หลายคนละเลย คือ การดูแลเท้าทุกวัน ใช้เวลาไม่มาก เพียงแค่คอยสังเกตหลังอาบน้ำ ว่าเท้าเรามีอะไรผิดปกติไหม และเลือกใส่รองเท้าให้เหมาะสม 

Dr. Pat Chulasiri 3

“ควรเลือกที่โอบรับข้อเท้าเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ หรือการเกิดอุบัติเหตุ หากอยากใส่รองเท้าแตะ ก็ควรใส่ในวันที่เดินอยู่บนพื้นที่เรียบ ๆ ไม่ควรใส่ไปเดินในพื้นที่ขรุขระ หรือเดินไกล ๆ หากไม่ชอบใส่รองเท้าที่ปิดเท้าทั้งหมด เพราะอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทย ลองเลือกรองเท้าแตะแบบมีสายรัดข้อเท้า ก็จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้ในระดับหนึ่งครับ”

เผยแพร่เมื่อ: 21 ส.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. ภัทร จุลศิริ

    นพ. ภัทร จุลศิริ

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
    ผ่าตัดแผลเล็กเท้าและข้อเท้า, ผ่าตัดส่องกล้องเท้าและข้อเท้า, Limb Length Discrepancy Correction