นายแพทย์เสฏฐศิริ แสงสุวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันด้านเวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง - Dr Sethasiri Sangsuwan, A preventive medicine physician specializing in an expert in hyperbaric medicine

คนไข้มีทั้งรักษาหายและไม่หาย เราไม่ได้ให้ความหวัง แต่เราให้การรักษาอย่างเต็มที่

นพ.เสฏฐศิริ แสงสุวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์ทางทะเล และผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง ที่เน้นย้ำเรื่องของ ความรู้ความเข้าใจ ในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องมือ และความชำนาญของทีมงานเป็นสำคัญ

แชร์

คนไข้มีทั้งรักษาหายและไม่หาย เราไม่ได้ให้ความหวัง แต่เราให้การรักษาอย่างเต็มที่ 

“เราต้องทําให้สังคมหรือทั้งชุมชนไม่ป่วย ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจ” 

Dr. Sethasiri Sangsuwan 5

ในยุคที่คนเริ่มหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการดูแลสุขภาพ หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับ ออกซิเจนบำบัด การฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ ซึ่งช่วยในการฟื้นฟูการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและบาดแผลต่าง ๆ กันมาบ้าง

MedPark Stories วันนี้ ไม่เพียงพามาทำความรู้จักกับ Oxygen Therapy แต่เราอยู่กับ นพ.เสฏฐศิริ แสงสุวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์ทางทะเล และผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง ที่เน้นย้ำเรื่องของ ความรู้ความเข้าใจ ในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องมือ และความชำนาญของทีมงานเป็นสำคัญ 

คุณหมอเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบก่อสร้างจนถึงวางระบบต่าง ๆ ให้กับ ศูนย์บำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง โรงพยาบาลเมดพาร์ค ทั้งยังวางแนวทางการรักษา และบริการ จนทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ตามข้อกำหนดของ JCI และในปี 2565 คุณหมอยังได้รับการยกย่องให้เป็น นักเวชศาสตร์ป้องกันดีเด่น จากสมาคม เวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทยด้วย มาทำความรู้จักกับคุณหมอให้มากขึ้น ผ่านบทความนี้

Dr Sethasiri Sangsuwan Banner 2

คลื่นยักษ์สึนามิ เปลี่ยนมุมมอง ‘การรักษา’ มาสู่ ‘การป้องกัน’ 

หลังจากเรียนจบ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า คุณหมอเข้ารับราชการใน กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ จนกระทั่งปี 2547 ได้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรง คลื่นยักษ์สึนามิ ถล่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน 

“ผมเป็นแพทย์ทหารเรือเดินทางไปกับกําลังพลจำนวนมาก ช่วยกันค้นหาผู้สูญหาย ผู้เสียชีวิต รักษาพยาบาลคนเจ็บ ผมเห็นว่ากำลังพลแทบไม่ได้หยุดพักเลย ทำงานกลางทะเลหามรุ่งหามค่ำ จะทำยังไงไม่ให้คนของเราเจ็บป่วย ทำยังไงให้พวกเขาพร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา” 

นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนทำให้คุณหมอเลือกเรียนต่อทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วนำความรู้ทางด้านอาชีวอนามัย มาดูแลสุขภาพคนที่ทํางานในเรือ ก่อนจะต่อยอด โดยการรวบรวมข้อมูล ศึกษาหาความรู้ร่วมกับแพทย์ในกรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อมาจัดทำหลักสูตรแพทย์ประจําบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์ทางทะเล ขึ้นมาได้สำเร็จ  

“งานเวชศาสตร์ป้องกัน เป็นภาพใหญ่ระดับกลุ่มประชากร เราต้องทําให้สังคมหรือทั้งชุมชนไม่ป่วย ผู้คนมีคุณภาพ ชีวิตที่ดีทั้งกายและใจ หลักสูตรเวชศาสตร์ป้องกันแขนงเวชศาสตร์ทางทะเล จะเน้นดูแลประชาชนในชุมชน ชายฝั่งทะเล รวมไปถึงกลุ่มคนที่อาศัยประโยชน์จากทะเล เช่น นักท่องเที่ยว นักดําน้ำ เจ้าของบริษัททัวร์ เจ้าของเรือ คนที่ทำงานบนแท่นขุดเจาะ รวมทั้งเป็นหลักสูตรที่สอนการบำบัดรักษาโรคด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา”

Dr. Sethasiri Sangsuwan 6

การบําบัดด้วยออกซิเจน กับความคาดหวังของคนไข้ 

การรักษาด้วย Hyperbaric Oxygen Therapy เป็นเทคโนโลยีที่นำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภายในเครื่องปรับความดันบรรยากาศ ที่มีลักษณะคล้ายหลอดแคปซูลใส แล้วสูดดมออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ภายใต้ ความดันบรรยากาศที่มากกว่าระดับน้ำทะเล  

“เมื่อก่อนเรามี วิชาเวชศาสตร์ใต้น้ำ ใช้เครื่องความดันบรรยากาศสูง รักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการดำน้ำ ต่อมาได้ขยายเป็นวิชาเวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง คือรักษาโรคอื่นด้วย เช่น แผลหายยาก แผลเบาหวาน และปัจจุบันสามารถรักษาแผลหายยาก จากผลกระทบหลังจากฉายแสงในมะเร็งบางโรค แผลจากหลอดเลือด ที่ผิดปกติ หรือเกิดจากโรคที่เป็นพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ อาการหูดับเฉียบพลัน การสูญเสียการมองเห็นเฉียบพลัน โดยไม่มีสาเหตุ” 

คุณหมอเสฏฐศิริ รู้สึกยินดีที่มีสถานพยาบาลหลายแห่งนำเครื่องดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น แต่ก็อยากให้ทุกที่ มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และควบคุมดูแลโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ทางทะเล และพยาบาล ที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทาง ภายใต้มาตรฐานในด้านวิชาการและด้านความปลอดภัย 

“สมัยนี้ มีการนำเครื่องปรับความดันบรรยากาศไปใช้ในกลุ่มโรคที่อยู่นอกข้อบ่งชี้หลัก เช่น กลุ่มคนที่บาดเจ็บ จากการเล่นกีฬา กลุ่มคนที่อ่อนล้าเรื้อรัง กลุ่มชะลอวัย Anti-Aging ซึ่งคนไข้ควรได้รับการชี้แนะจากแพทย์ก่อนว่ามี ผลกระทบหรือข้อเสียอย่างไร กลไกการรักษาเป็นอย่างไร เพราะหากผลการรักษาไม่เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ จะส่งผล กระทบกับโรงพยาบาลที่ใช้เครื่องนี้ในการรักษาผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้หลัก โรงพยาบาลจะถูกลดความน่าเชื่อถือลง ตามไปด้วย” 

Dr Sethasiri Sangsuwan Banner 4

รักษาแผลหายยาก ด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ ต้องระวังเรื่องความปลอดภัย 

กลุ่มคนไข้รักษาแผล บางส่วนยังเข้าใจว่าการบำบัดด้วยออกซิเจน เป็นการนำเอาเข้าไปเฉพาะส่วนที่เป็นแผลเท่านั้น ซึ่งความ จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด  

“เราต้องเข้าไปทั้งตัวครับ กระบวนการรักษาไม่ได้เกิดจากการที่ออกซิเจนมันซึมไปตามแผล แต่เป็นการหายใจเอา ออกซิเจนเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือด แล้วเกิดปฏิกิริยาหลายอย่าง จนทําให้ร่างกายสามารถ สร้างหลอดเลือด หรือสร้างเนื้อเยื่อใหม่เกิดขึ้นได้ แล้วต้องเป็นการหายใจด้วยออกซิเจน 100% ที่อยู่ภายใต้ความดันบรรยากาศที่เหมาะสม ต้องรู้ว่าเครื่องสามารถเพิ่มความดันได้เท่าไร แล้วให้ออกซิเจนคนไข้เพียงพอไหม” 

การดูแลความปลอดภัยของคนไข้ และความชำนาญของบุคลากรที่เฝ้าหน้าเครื่อง ก็ถือเป็นเรื่องสําคัญไม่แพ้กัน ต้องระวังอุบัติเหตุต่าง ๆ แม้จะยังไม่เคยเกิดขึ้นแต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่าอะไรเป็นข้อห้ามบ้าง โดยเฉพาะการนำอุปกรณ์ที่มีโอกาสติดไฟเข้าไปภายในเครื่อง 

“เราต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจ เรื่องการปฏิบัติตัวระหว่างรักษา เราไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ เครื่องมือบางชนิดที่ทําให้เกิดคลื่นบางอย่างที่สามารถก่อให้เกิดประกายไฟ หรือมีแบตเตอรี่ เข้าไปได้ และคนไข้ ต้องงดใช้เครื่องสําอาง ห้ามใส่น้ำหอม เพราะอาจจะมีสารประกอบที่ทำให้ติดไฟ” 

คุณหมอกล่าวเสริมถึงความพร้อมของ รพ. เมดพาร์ค ว่าปัจจุบันมีเครื่องความดันบรรยากาศสูงชนิดคนเดียว ที่มีมาตรฐานสูง เปิดให้บริการสองเครื่องด้วยกัน  

“เครื่องความดันบรรยากาศสูงของเมดพาร์ค มีมาตรฐานสูงทั้งคุณภาพในการรักษา และการรับรองความปลอดภัย ตัวเครื่องก็มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับกับรูปร่างของคนไข้ทุกขนาด และเรายังมีพยาบาลผู้ชำนาญการที่ผ่านการ อบรมเรื่องเวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง จากกรมแพทย์ทหารเรือ มีประสบการณ์ในการใช้ เครื่องโมโนเพลท ระดับต้น ๆ ของทีมในประเทศ” 

Dr Sethasiri Sangsuwan Banner 3

แผลหายยาก ออกซิเจนช่วยรักษาให้ดีขึ้นได้ 

คุณหมอเล่าถึงเคสที่เคยรักษาว่า ส่วนมากเป็นแผลหายยาก ซึ่งมีทั้งคนไข้ที่รักษาหายและไม่หาย เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้ หายแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละคน  

“เคยมีเคส เด็ก 7-8 ขวบ นิ้วเกือบขาด คุณพ่อทำใจไม่ได้ เขาวัดนิ้วลูกทุกวัน แต่เขามีความสุขที่เห็นว่านิ้วลูกยาวขึ้น เราก็อธิบายไปว่ากระดูกหรือตัวนิ้วไม่ได้ยาวขึ้น แต่เกิดจากเนื้อเยื่อได้รับการรักษาและถูกสร้างขึ้นใหม่ เขาก็เข้าใจ แล้วก็ยอมรับได้ในที่สุด อีกเคสเป็นคนไข้ที่มีแผลเบาหวานขนาดเกือบเท่าฝ่ามือ เรารักษาจนแผลเหลือเท่าหัวแม่โป้งและไม่ต้องตัดขา และเคยมีคนไข้รักษาจากที่อื่นก่อนมาที่เรา เขาเป็นมะเร็งในโพรงหลังของจมูก พอฉายแสง แล้วเป็นแผลที่ช่องคอเหวอะมีสารคัดหลั่งติดเชื้ออักเสบ รักษาต่อเนื่องจนแผลหลือแค่รูเล็ก ๆ ก็เย็บปิด กลับบ้าน อย่างมีความสุข” 

คุณหมอบอกทีมงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เวรเปล ล่าม ว่าต้องมีใจบริการ ต้องใจเย็น คุยกับคนไข้ดี ๆ เพราะคนไข้ มาจากหลากหลายชาติ มีวัฒนธรรม ความเชื่อแตกต่างกันไป  

“แผลหายยาก แผลเบาหวาน คนไข้มีทั้งรักษาหายและไม่หาย เราไม่ได้ให้ความหวัง แต่เราให้การรักษาอย่างเต็มที่ อย่างน้อยมารับการรักษาแล้วเขาต้องมีความสุขกลับไป” 

Dr. Sethasiri Sangsuwan 1

ส่วนความสุขของคุณหมอ นอกจากการได้เห็นคนไข้แฮปปี้แล้วก็คือการได้ใช้เวลาอยู่กับ “ทะเล” ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คุณหมอ เลือกมาเป็นแพทย์สังกัดกองทัพเรือ  

“ผมชอบทะเลมาก เวลามีปัญหาหรือเรื่องเครียดมักจะไปทะเลก่อน ทะเลไหนก็ได้ ขอให้ไปนั่งมองคลื่น แค่นี้ก็มีความสุข ถ้าไม่ได้ไปทะเลก็จะเล่นกีฬา ผมตื่นมาวิ่งประมาณตี 4 เคยไปวิ่งมาราธอนที่ประเทศเยอรมนี 42 กม. อันนั้น เป็นความประทับใจที่สุดเลยครับ การวิ่งทำให้อยู่กับตัวเอง ไม่มีอะไรต้องคิด แล้วก็ชอบไปตีกอล์ฟ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ผมเคยลงแข่งไตรกีฬาด้วย แล้วก็ชอบกิน ชอบเที่ยวครับ"

เผยแพร่เมื่อ: 08 ก.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. เสฏฐศิริ แสงสุวรรณ

    นพ. เสฏฐศิริ แสงสุวรรณ

    • เวชศาสตร์ป้องกัน
    • เวชศาสตร์ทางทะเล
    • อาชีวเวชศาสตร์
    เวชศาสตร์ป้องกัน, อาชีวเวชศาสตร์, เวชศาสตร์ทางทะเล