แพทย์หญิงสุรีย์พร แจ้งศิริกุล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ - Dr Sureeporn Jangsirikul, A gastroenterologist and hepatologist

โรคระบบทางเดินอาหาร ความท้าทายของหมอคือ การหาสาเหตุที่แท้จริง

โรคระบบทางเดินอาหาร แพทย์ต้องมองภาพรวม เข้าใจกลไก ความเชื่อมโยงของระบบนี้ได้ทั้งหมด แพทย์หญิงสุรีย์พร แชร์ประสบการณ์ในวิชาชีพ และเผยให้เห็นแง่มุมน่าสนใจ ความท้าทายในการทำความเข้าใจโรคไปพร้อม ๆ กับคนไข้

แชร์

โรคระบบทางเดินอาหาร ความท้าทายของหมอคือ การหาสาเหตุที่แท้จริง

“โรคระบบทางเดินอาหาร แพทย์ต้องมองภาพรวม เข้าใจกลไก ความเชื่อมโยงของระบบนี้ได้ทั้งหมด”

ระบบทางเดินอาหารและตับ เป็นระบบที่มีความซับซ้อน อะไรนิดอะไรหน่อยก็อาจส่งผลให้ป่วยได้ เหมือนคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่า “เครียดลงกระเพาะ” แสดงให้เห็นว่าระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกี่ยวโยงส่งผลซึ่งกันและกัน 

วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ แพทย์หญิงสุรีย์พร แจ้งศิริกุล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ประจำศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในวิชาชีพ และเผยให้เห็นแง่มุมน่าสนใจ ความท้าทายในการทำความเข้าใจโรคไปพร้อม ๆ กับคนไข้

หมอทางเดินอาหาร ได้ทำหลายอย่าง

เมื่อเลือกเรียนด้านอายุรกรรม คุณหมอพบว่ามีหลายสาขาที่น่าต่อยอดพอสมควร แต่ในตอนใช้ทุนมีโอกาสได้เข้าไปสังเกตการณ์ในห้องส่องกล้อง ได้ดูอวัยวะภายในร่างกาย จึงรู้สึกสนใจ

“การเป็นหมออายุรกรรม เบื้องต้นจะเน้นใช้ความรู้คุยกับคนไข้เป็นส่วนใหญ่ แต่พอเห็นอายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ เป็นสาขาที่นอกจากได้ใช้ความรู้ทางอายุรกรรมแล้ว ยังได้ทำหัตถการด้วย รู้สึกว่าน่าสนุกค่ะ”

อีกเหตุผลหนึ่งคือ การส่องกล้องทางเดินอาหาร นอกจากจะดูภายในทางเดินอาหารได้แล้ว ยังสามารถช่วยแก้ปัญหา รักษาโรค ตัดชิ้นเนื้อ และห้ามเลือดได้เสร็จสรรพในขณะที่ทำเลย คุณหมอจึงคิดว่าเป็นสาขาที่น่าจะเหมาะกับตัวเอง ที่สนใจในแง่วิชาการ ชอบปฏิบัติ มีหัตถการให้ฝึกให้ทำ ไม่จำเจจนเกินไป 

ระบบทางเดินอาหาร ใหญ่และซับซ้อนกว่าที่คิด

เมื่อต้องมาเรียนเฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารจริง ๆ คุณหมอพบว่ามีอะไรที่ละเอียดแยกย่อยออกไปจากที่คิดค่อนข้างเยอะ เพราะต้องดูเรื่องตับด้วย ต้องรีวิวผลตับ มีการตรวจชิ้นเนื้อ ดูผลเอกซเรย์  ไหนจะกลุ่มคนไข้โรคไอบีเอส กรดไหลย้อน และปัญหาเรื่องการเบ่งถ่าย และรวมไปถึงการวิเคราะห์แบคทีเรียในลำไส้

“จุดเด่นของระบบทางเดินอาหารคือ มันกว้างค่ะ เพราะในหนึ่งระบบประกอบไปด้วยอวัยวะแยกย่อยเยอะ ทั้งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ตับอ่อน เวลาเกิดโรคหรือความผิดปกติ อาจสัมพันธ์กันในหลายอวัยวะหลายส่วน เท่ากับว่าแพทย์ก็ต้องสามารถมองในภาพรวม เข้าใจกลไกและความเชื่อมโยงของระบบนี้ได้ทั้งหมดค่ะ”

คนไข้ในบางเคส ใช่ว่ามาหาหมอแล้วหมอรักษาหายเลย จำเป็นต้องมาตรวจหลายครั้ง ค่อย ๆ หาสาเหตุ เช่น คนไข้ไอบีเอส หรือโรคลำไส้แปรปรวน ที่สาเหตุของอาการไม่ค่อยชัดเจน และเข้าใจได้ยาก 

“หมออย่างเราจำเป็นต้องคุยกับคนไข้ ซักประวัติ ให้คนไข้เล่ามาเรื่อย ๆ เพราะมันอาจไม่พบสาเหตุหรือวิธีรักษาที่ใช่ตั้งแต่ครั้งแรก อาจต้องลองให้กินยารักษาดู ซึ่งบ้างก็ได้ผล บ้างก็ไม่ได้ผลแล้วกลับมาหาหมออีก ซึ่งหมอต้องขอบคุณเขานะ ที่กลับมาบอก เพราะเราก็จะได้มาหาสาเหตุกันต่อ ลองยาตัวอื่นดูบ้าง จนสุดท้ายเมื่อเจอวิธีรับมือและการรักษาที่เหมาะกับเขา ก็ช่วยให้เขาดีขึ้น”

“เมื่อเห็นคนไข้ไปมาทุกที่ ตรวจทุกอย่างแล้ว ส่องกล้องก็ทำแล้ว แต่ก็ไม่เจอสาเหตุ รักษาไม่หาย ทุกข์ทรมานเป็นปี แต่พอเขามาอาการดีขึ้นที่เรา ด้วยความพยายามของเราและการให้ความร่วมมือของเขา ความสำเร็จนี้มันเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้เราภูมิใจและยินดีค่ะ”

โรคไอบีเอส โรคที่แพทย์ก็ตอบไม่ได้แน่ชัด ว่าเกิดจากอะไร?

เมื่อพูดถึงโรคไอบีเอส คุณหมอบอกว่าโรคนี้นั้น จะว่าเข้าใจยากไหม ก็ไม่เชิง แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการสื่อสารกับคนไข้ให้เข้าใจ ว่าตัวโรคนี้อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่างมาก ๆ นั่นทำให้แพทย์จำเป็นต้องใช้เวลาในการหาสาเหตุของโรคในแต่ละบุคคล

“คนไข้มักจะถามว่ามันเกิดจากอะไร ให้ตอบอย่างตรงไปตรงมา คือหมอก็ไม่รู้เหมือนกัน ทั้งอาจจะมาจากการที่คุณเคยติดเชื้อในกระเพาะและลำไส้มาก่อน หรือบางทีก็สัมพันธ์กับความเครียด ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ ซึ่งมันยากตรงบางคนเขาก็บอกว่าไม่เห็นจะเครียดเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันมีค่ะ นี่แหละความท้าทายคือการหาสาเหตุที่แท้จริง ถ้าหาสาเหตุไม่ได้ ก็แก้ไม่ได้”

นั่นหมายความว่า คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคไอบีเอสเหมือนกัน อาจใช้ยารักษาไม่เหมือนกัน?

“ใช่ค่ะ บางรายอาจใช้แค่ยาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารอย่างเดียว แต่บางรายอาจใช้ยาในกลุ่มรักษาอาการวิตกกังวลร่วมด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับว่าตัวเองจำเป็นต้องใช้ เพราะผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ก็มีอยู่ ทำให้หมอก็ต้องใช้เวลาในการพูดคุยและทำความเข้าใจกับคนไข้นานเหมือนกัน”

แต่สิ่งหนึ่งที่แพทย์หญิงสุรีย์พรอยากให้คนไข้ไอบีเอสมั่นใจ คือโรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง เพียงแค่รักษายากและรบกวนการใช้ชีวิต ขอแค่ให้ความร่วมมือในการรักษา มาคุยกัน เรียนรู้กันไป ว่าวิธีไหนได้หรือไม่ได้ผล และคนไข้ก็ต้องเข้าใจอาการและความผิดปกติของตัวเอง สามารถปรับเปลี่ยนยาเองได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ว่าหากมีอาการแบบนี้ขึ้นมา ต้องปรับยายังไง กินยาตัวไหน

แล้วโรคนี้สามารถกลับมาเป็นได้ไหม?

“โรคไอบีเอสสามารถกลับมาเป็นได้ค่ะ หากมีไลฟ์สไตล์ที่เป็นปัจจัยให้เกิดโรค อย่างความเครียด หรือติดเชื้อในกระเพาะหรือลำไส้ตามที่กล่าวไป ทั้งนี้ เมื่อมีอาการผิดปกติ ก็ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางค่ะ”

เมื่อถอดเสื้อกาวน์ มักหย่อนใจด้วยการดูสารคดี

ด้วยงานที่ยุ่งมาก คุณหมอสุรีย์พรยอมรับว่าไม่มีเวลาทำกิจกรรมหรือมีงานอดิเรกอื่น ๆ จริงจังเท่าไรนัก แต่มักจะชอบพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเปิดช่อง YouTube ดูรายการสารคดี กึ่งสารคดีที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้เปิดโลก เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยช่องที่คุณหมอมักฟังประจำ ได้แก่

  1. Farose / Farose Podcast
  2. The Common Thread
  3. รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี

“เพราะส่วนมากเป็นข้อมูลที่ฟังเพลิน ๆ เขาย่อยมาให้แล้วเป็นภาษาที่ฟังสนุก บางจุดก็ให้ความบันเทิงแต่ก็แฝงสาระไว้ด้วยค่ะ”

นอกจากนี้ คุณหมอก็กำลังหาโอกาสศึกษาการลงทุนต่าง ๆ และอยากหาเวลาว่างในการออกกำลังกายให้เพียงพอเพื่อปรับบาลานซ์วิถีชีวิต แต่ตอนนี้ก็กำลังจัดสรรเวลาในส่วนของการทำงานและการพักผ่อนให้ลงตัวอยู่

ทิ้งท้ายจากแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ

ก่อนกล่าวลา คุณหมอสุรีย์พรให้คำแนะนำในการสังเกตอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารและตับ ที่ไม่ควรมองข้ามเอาไว้ด้วย

“อาการผิดปกติที่คนมักจะละเลยก็คือ น้ำหนักลด หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ อาจจะเพราะเหนื่อย กินข้าวน้อย แต่ต้องเช็กด้วยว่า น้ำหนักที่ลดลง สมเหตุสมผลกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตจริง ๆ รึเปล่า เพราะถ้าน้ำหนักลดผิดปกติ อาจเป็นอะไรที่ร้ายแรง และอาจจะเป็นสิ่งที่ทั้งแพทย์ทั้งคนไข้กลัวที่สุด นั่นก็คือ มะเร็ง”

ดังนั้นแล้ว ต่อให้ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร แต่หากมีความเปลี่ยนแปลงที่แม้จะดูทั่ว ๆ ไปอย่างน้ำหนักลด ทุกคนก็ไม่ควรประมาท ควรเช็กพฤติกรรมและการใช้ชีวิต ว่าที่น้ำหนักลดลงสอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือไม่ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหรืออาการที่ร้ายแรงกว่าที่คิด

เผยแพร่เมื่อ: 10 พ.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    พญ. สุรีย์พร  แจ้งศิริกุล

    พญ. สุรีย์พร แจ้งศิริกุล

    • อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่, โรคตับและโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไป, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, โรคกรดไหลย้อน, ปวดท้องเรื้อรังและเฉียบพลัน, ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, ภาวะค่าตับที่ผิดปกติ, การฝึกเบ่งขับถ่าย, ภาวะหลอดอาหารเคลื่อนไหวหรือบีบตัวผิดปกติ, ตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร, ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร, การวัดเวลาการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร, ตรวจการเคลื่อนผ่านของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่, ตรวจการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร