90% ของคุณแม่ มีน้ำนมให้ลูกเพียงพอแน่นอน ถ้ารู้วิธี
“ความจริงแล้ว 90% ของคุณแม่
สามารถมีน้ำนมให้ลูกได้อย่างเพียงพอ
แต่การขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องการให้นม
ทำให้เด็กขาดโอกาสได้กินนมแม่ไปจำนวนไม่น้อยเลย”
“การได้มาเป็นหมอทารกแรกเกิด ทำให้เราได้เห็นความมหัศจรรย์ของนมแม่ในหลาย ๆ ด้าน” ประโยคเกริ่นอย่างใจเย็น และแววตาที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในประสบการณ์ของ พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์และผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ชวนให้นึกสนใจและตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้คุณหมอกลายเป็น “ป้าหมอสุธีรา” ขวัญใจเด็ก ๆ และเป็นผู้คอยผลักดันเรื่องการ ‘เลี้ยงลูกด้วยนมแม่’ ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
- ความเชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด สาขาที่ทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของ ‘นมแม่’
หลังจากไปทำงานใช้ทุนที่ต่างจังหวัด กลับมากรุงเทพฯ คุณหมอสุธีรามีความสนใจในอนุสาขาด้านระบบประสาทเด็ก ซึ่งก็สอดคล้องกับประสบการณ์ในวัยเยาว์ ที่ต้องหาหมอด้านระบบประสาทเด็กอยู่บ่อยครั้ง แต่เนื่องด้วยระบบประสาทเด็กเป็นสาขาได้รับความนิยม อีกทั้งจำเป็นต้องมีต้นสังกัดส่งตัวมาเรียน ทิศทางในสายอาชีพจึงต้องเบนเข็ม
“พอไม่ได้เรียนด้านระบบประสาทเด็ก หมอจึงเลือกเรียนสาขาที่ตัวเองสนใจรองลงมา นั่นก็คือสาขาทารกแรกเกิด ในตอนนั้นเป็นสาขาที่คนเรียนน้อย อีกทั้งเป็นสาขาที่ทำให้เราได้เจอกับเด็กทารกตัวเล็ก ๆ น่ารัก ไม่มีปากมีเสียง เรารู้สึกชอบ”
ผู้ป่วยเด็กที่ต้องเจอนั้น ส่วนใหญ่เป็นทารกที่คลอดออกมาแล้วมีภาวะวิกฤต ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความใส่ใจในการดูแลเป็นพิเศษ และเนื่องจากโดยส่วนมาก คุณแม่ที่มาคลอดที่โรงพยาบาลเอกชน มักเลือกปรึกษากับหมอคนเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพ การฉีดวัคซีนเด็กตามกำหนด จึงทำให้ได้เห็นพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคน ตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว
“หมอได้เห็นและเปรียบเทียบจากประสบการณ์ ระหว่างเด็กที่กินนมแม่กับเด็กที่กินนมผง ทั้งสองมีสุขภาพต่างกันเลย เด็กที่กินนมแม่จะค่อนข้างแข็งแรง ไม่ค่อยป่วย ส่วนเด็กที่กินนมผง แค่อากาศเปลี่ยนนิดหน่อยก็น้ำมูกไหล ไอ เป็นหวัดได้ง่าย หมอจึงสนใจเรื่องนี้และไปศึกษาเพิ่มเติม”
- มหัศจรรย์ ‘น้ำนมแม่’ จากประสบการณ์ในโรงพยาบาล ควบคู่กับบทบาทคุณแม่
ช่วงที่คุณหมอสนใจประโยชน์ของการให้นมแม่ ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่ตนเองกำลังจะมีสมาชิกตัวน้อยเข้ามาเติมเต็มความสุขในครอบครัว จึงตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกทั้งสองคนด้วยนมแม่ โดยให้ลูกกินนมแม่ได้นานที่สุดเท่าที่ตนและลูก ๆ ต้องการ นับได้ว่าคุณหมอมีประสบการณ์ตรง บวกกับได้อ่านงานวิจัยใหม่ ๆ เพิ่มเติม จึงเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งนี้
“สมัยก่อน คุณแม่ที่ต้องออกไปทำงาน มักพลาดโอกาสการให้นมลูก เพราะตอนนั้นยังไม่มีเครื่องปั๊มนมคุณภาพดี รวมไปถึงยังไม่มีความรู้เรื่องการเก็บรักษานมแม่ คุณแม่หลายคนจึงเลี้ยงลูกด้วยนมผง ซึ่งส่วนมากทำจากนมวัว เด็กจึงเป็นภูมิแพ้กันเยอะ พอเป็นภูมิแพ้ ก็ต้องเปลี่ยนสูตร ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น เพิ่มภาระให้ครอบครัว”
เมื่อถามถึงอาการแพ้นมวัว ที่สมัยนี้คนเป็นกันเยอะ พญ. สุธีรา ได้อธิบายที่มาที่ไปเอาไว้ว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ละชนิด จะผลิตน้ำนมเพื่อการเจริญเติบโตสำหรับลูกตัวเองเท่านั้น สารอาหารในน้ำนม ของสัตว์ต่างชนิดกัน จึงมีส่วนที่ไม่เหมือนกัน อาทิ โปรตีนในนมวัว เป็นโปรตีนคนละชนิดกับในนมแม่ และในร่างกายมนุษย์ พอกินเข้าไป บางครั้งร่างกายก็จะสร้างสารต้านขึ้นมา เกิดเป็นอาการภูมิแพ้ได้
นอกจากนี้ คุณหมอยังเล่าถึงประสบการณ์ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทารกขั้นวิกฤตที่ร่างกายฟื้นฟูและแข็งแรงขึ้นหลังได้รับนมแม่ด้วย
“ตอนนั้นเจอเด็กคลอดก่อนกำหนด มีภาวะวิกฤต ติดเชื้อมาตั้งแต่ในท้อง คลอดออกมาน้องมีสภาพแย่มาก เราจึงให้การช่วยเหลือ ใช้ยา ใช้เครื่องช่วยหายใจ และคอยเฝ้าอยู่ในห้องไอซียู”
“โชคดีที่ทารกรายนี้มีนมแม่มาตั้งแต่ต้น และเราได้ผู้ชำนาญการจากต่างประเทศช่วยแนะนำวิธีการให้นมในทารกที่ป่วย ไม่สามารถกินนมเองได้ ด้วยการนำนมน้ำเหลือง หรือโคลอสตรุมให้เด็กกิน โดยพยาบาลบีบเอาน้ำนมส่วนนี้จากอกแม่ มาป้ายที่ปากเด็กทุกชั่วโมง ซึ่งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กได้สูงมาก”
“จากที่เด็กอยู่ในภาวะวิกฤต ค่าความเป็นกรดของเลือดสูงมาก เชื้อแบคทีเรียที่ติดก็เป็นเชื้อชนิดรุนแรง มีโอกาสทำให้เด็กเสียชีวิตได้ แต่หลังจากใช้โคลอสตรุมภายใน 24 ชั่วโมง สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจออกได้ ไม่นานก็สามารถเอาเข้าเต้า ดูดนมคุณแม่ปร๋อเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก ที่เด็กจะดีขึ้นในระยะเวลารวดเร็วขนาดนี้ค่ะ”
- คุณแม่มือใหม่ กลุ้มใจเรื่องน้ำนม ทำอย่างไรดี
พญ. สุธีรา กล่าวว่า คุณแม่มือใหม่ทุกคน มักมีความกังวลเรื่องไม่มีน้ำนม น้ำนมน้อย ซึ่งในความเป็นจริง กว่าร้อยละ 90 คุณแม่ทุกคนมีน้ำนมให้ลูกเพียงพอแน่นอน ถ้ารู้วิธี เราสามารถกระตุ้นเต้านมของแม่ได้ กระตุ้นเยอะสร้างเยอะ กระตุ้นน้อยสร้างน้อย ต้องศึกษาข้อมูลเสียหน่อย ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง จึงจะมีน้ำนมเพียงพอ
“หากคุณแม่กังวลเรื่องน้ำนมไม่พอ ที่ คลินิกนมแม่ (ศูนย์สุขภาพและโรคเฉพาะทางเด็ก) โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีเทคนิคที่สามารถแนะนำและสอนคุณแม่เกี่ยวกับหลักการดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี โดยแพทย์และพี่ ๆ พยาบาลที่มีความรู้ คุณแม่จะได้ฝึกวิธีเอาลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการจัดท่าดูดนมให้ลูก ให้ลูกดูดนมทุกสองถึงสามชั่วโมง หากต้องปั๊มนมเก็บไว้ เราก็จะแนะนำวิธีปั๊ม วิธีเก็บรักษาและทำสต๊อกนม พร้อมให้ข้อมูลว่าควรให้นมสต๊อกตอนไหน”
“ในกรณีที่คุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน งานยุ่ง น้ำนมหด ไม่ได้ปั๊มนมบ่อย ๆ เราก็มีวิธีการสอนกู้น้ำนม มียากระตุ้นน้ำนม ทำเพาเวอร์ปั๊ม เพื่อให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอ ถ้าลูกติดขวดนม ไม่ยอมเข้าเต้า หรือใครที่ให้นมแม่สลับนมผง แล้วอยากเปลี่ยนมาให้นมแม่ล้วน ก็สามารถมาปรึกษาที่คลินิกได้ค่ะ”
นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมว่า หากกำลังตั้งครรภ์ ให้เลือกคลอดที่โรงพยาบาลที่สนับสนุนให้ลูกกินนมแม่ ไม่ใช้นมผงหากไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ก็จะช่วยให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้สำเร็จได้แน่นอน
- ไลฟ์สไตล์ที่ต้องขยับเขยื้อน
หลังจากพูดคุยสอบถามถึงกิจกรรมยามว่างของคุณหมอ ก็พบว่าคุณหมอคือนักเคลื่อนไหว (เคลื่อนไหวจริง ๆ) ที่แทบไม่อยู่นิ่ง เนื่องด้วยสนใจและชอบเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดเคยไปแข่งแบดมินตัน และฝึกกับโค้ชทีมชาติ จนเกือบได้เป็นทีมชาติด้วย แต่ในปัจจุบัน เมื่ออายุมากเข้า คุณหมอเลือกกิจกรรมที่ทำง่าย ๆ อย่างการวิ่ง วิ่งมาราธอน วิ่งเทรล โดยหลายครั้งก็ไปวิ่งกันทั้งครอบครัว ช่วงที่ฝุ่นเยอะ ๆ ก็เปลี่ยนมาวิ่งลู่ในอาคารกับสามีแทน
พอถามถึงความสนใจอื่น ๆ ที่คุณหมออยากทำหากไม่มาเป็นแพทย์ คำตอบของคุณหมอนั้นน่าสนใจทีเดียว
“ถ้าถามในตอนนี้ นอกเหนือจากแพทย์ สิ่งที่อยากเรียนคือคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีค่ะ เพราะสมัยก่อนทุกอย่างยังไม่ก้าวหน้าขนาดนี้ ถ้าหากเป็นตอนนี้ สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างอะไรให้กับโลกได้ และสร้างคุณค่ากับตัวเองได้เช่นกัน”
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ประวัติแพทย์