ต้อกระจกเหมือนเป็นโรค Simple
แต่ความจริงไม่ใช่
“ยิ่งซักประวัติ พูดคุยกับคนไข้ ได้ข้อมูลมากเท่าไร
ก็ยิ่งส่งผลดีต่อการรักษา เพื่อให้ผลของการผ่าตัด ออกมาอย่างเหมาะสมที่สุด”
โดยธรรมชาติแล้ว ดวงตาของคนเราจะค่อย ๆ เสื่อมลงไปเมื่ออายุมากขึ้น จะเห็นได้จากผู้สูงอายุ ส่วนมากมักมองเห็นได้น้อยลงอันเนื่องจากเป็น โรคต้อหิน ต้อกระจก โชคดีที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สามารถผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม ให้กลับมามองเห็นได้อย่างสดใสชัดเจนอีกครั้ง
วันนี้ เรามาพูดคุยกับ รศ.พญ. วิศนี ตันติเสวี (คุณหมอเอ) จักษุแพทย์ หรือ “หมอตา” ที่มีประสบการณ์ การรักษาต้อหิน และต้อกระจก ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม มานานกว่า 20 ปีแล้ว คุณหมอมีอาวุธลับคือ “วาทะศิลป์” แน่นอนว่าแพทย์ทุกสาขาต้องพูดคุยกับคนไข้ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่สำหรับหมอตา ทำไมต้องเน้นทักษะการสื่อสารมากเป็นพิเศษ ? มาติดตามกัน
“โอ๊ย! ไม่ไหว! มีอะไรคม ๆ เข้าใกล้ตา น่าหวาดเสียว”
เป็นประโยคที่น่าจะแทนความในใจ ของนักศึกษาแพทย์หลายคนที่ได้เห็นการผ่าตัดตาเป็นครั้งแรก คุณหมอเอก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยจะมีเวลาเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็น “จักษุแพทย์” น้อยกว่าสาขาอื่น ๆ แต่ด้วยความชอบทำงานที่มีระเบียบ ขั้นตอน ชอบอยู่ห้องไอซียู ชอบบรรยากาศห้องผ่าตัด คุณหมอตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเลือกเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านในด้านนี้
“จักษุแพทย์ทำให้เราเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่งเลยค่ะ แค่คำศัพท์ ตัวย่อ ชื่อโรค เนื้อเยื่อ ส่วนประกอบต่าง ๆ ก็ไม่ใช่คำที่คุ้นเคย เหมือนมีภาษาเอเลี่ยนเป็นของตัวเอง เราใช้เครื่องมือตรวจเยอะมาก เพราะดวงตาเป็นอวัยวะเล็กๆ การตรวจด้วยเครื่องมือธรรมดาก็อาจไม่เพียงพอการอธิบายให้คนไข้เห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เวลาเข้าห้องผ่าตัดถ้าใครไม่เคยเห็นการผ่าตัดตาก็อาจจะรู้สึกหวาดเสียวนะคะ แต่เราก็ค่อย ๆ เรียนรู้ได้ อย่างน้อยได้ทำ microsurgery ก็ถือว่าตอบโจทย์เราแล้ว”
มองให้ชัด ไปให้ไกล
ด้วยความที่เป็นเด็กกรุงเทพฯ คุ้นเคยกับย่านสุขุมวิท พระราม 4 เป็นพิเศษ เพราะเติบโตและเห็นความเปลี่ยนแปลง การพัฒนาของเมืองมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงปัจจุบัน หลังจากเรียนจบแล้วก็เป็นจักษุแพทย์ ที่ยังช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในเมืองหลวง จนเมื่อทราบข่าวว่าบริเวณ 4 แยกคลองเตยกำลังมีการก่อสร้างโรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ ภาพของความยั่งยืนในอนาคตก็ปรากฎขึ้นในใจ
“โรงพยาบาลมาเปิดตรงนี้หรอ การเดินทางสะดวกนะ เป็นย่านธุรกิจที่กำลังโต รู้เลยว่าทาร์เก็ตกรุ๊ปคือกลุ่มไหน ยิ่งพอทราบว่าทีมบริหารเป็นใครบ้าง ก็รู้สึกว่าเป็นทีมที่ค่อนข้างใหญ่ สามารถก้าวไปได้อีกไม่สิ้นสุด มีความยั่งยืนค่ะ”
คุณหมอเอได้รับการชักชวนจากอาจารย์ที่เคารพ ให้มาร่วมเป็นทีมจักษุแพทย์ด้วยกันที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค ซึ่งหลังจากได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชมตั้งแต่ช่วงระหว่างการก่อสร้าง จนได้มาทำงานจริง ๆ แล้ว ก็ยิ่งมั่นใจว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่มีโอกาสเติบโตได้อีกไกล
“หมอได้เข้ามาเยี่ยมชมตั้งแต่ยังไม่มีผนังกั้นห้อง เราได้เห็นวิวทะเลสาบ สวนเบญจกิตติ โค้งน้ำเจ้าพระยา ซึ่งพอมาทำงานแล้วรู้สึกสบายใจแบบผิดคาดเลยค่ะ ส่วนเครื่องมือ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ตรวจรักษา ก็มาครบแน่นอนว่าในอนาคตมันจะมีการก้าวหน้าไปอีก แต่เราอัปเดตให้ทันตลอด และที่สำคัญ ทีมงาน Nice มาก เราได้พยาบาลที่มีประสบการณ์ มาช่วยกัน มีความตั้งใจที่จะช่วยคนไข้ และช่วยเราด้วย”
หมอตาต้องพูดจานุ่มนวล
รศ.พญ. วิศนี เป็นจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านต้อหินและต้อกระจก รักษาคนไข้มากมาย นอกจากความรู้ ความชำนาญทางการแพทย์แล้ว สิ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอก็คือ การสื่อสารที่ดี เพราะหากพูดคลุมเครือ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จะส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะรักษาหรือไม่รักษาของคนไข้เลยก็ว่าได้ อีกทั้งการพูดนั้นต้องรู้จักกาละเทศะ การผ่าตัดตาให้คนไข้นั้นไม่จำเป็นต้องให้ดมยาเสมอไป หมายความว่า ขณะผ่าตัด คนไข้จะได้ยินเสียงต่าง ๆ รอบตัว
“ใครที่ชอบพูดจาโหวกเหวก เสียงดัง แล้วถ้าอยากจะมาเป็นหมอตา ต้องมาปรับ Mindset ใหม่เลยนะ เพราะระหว่างผ่าตัด คนไข้ยังมีสติ รู้ตัวอยู่ตลอด เราต้องสื่อสารกันกับพยาบาล หรือบางทีกับคนไข้ด้วย ดังนั้น น้ำเสียงที่ใช้จะต้องนุ่ม สุขุม ใจเย็น ไม่ตื่นตระหนก เป็นกันเอง ตลกได้คลายเครียด ที่สำคัญคือต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง เรียกได้ว่า ต้องจิตแข็งพอสมควร เราจะพยายามสื่อสารกับคนไข้ด้วยค่ะ ให้คลายกังวลที่สุด เข้าห้องผ่าตัดทีไร คนไข้ก็มักจะเครียดแล้ว การสื่อสารที่ดี จะช่วยทำให้ทุกอย่างราบรื่น”
คนไข้และแพทย์ช่วยกันรักษา
“ยกตัวอย่าง ต้อกระจกมันเหมือนเป็นโรค Simple แต่ความจริงไม่ใช่ เดี๋ยวนี้เลนส์แก้วตาเทียม มีสารพัดรูปแบบให้เลือกตามไลฟ์สไตล์คนไข้ แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้แบบไหนก็ได้ เพราะหากคนไข้มีโรคอื่นร่วมด้วย เราก็ต้องพิจารณาและให้ข้อมูลก่อนว่าเลนส์แก้วตาเทียมชนิดไหนเหมาะสมที่สุด”
คุณหมอเอ ให้มุมมองเกี่ยวกับการรักษาต้อกระจกและผ่าตัดต้อหิน ว่าในที่สุดแล้ว คนไข้คือผู้ดีไซน์การรักษา ดังนั้น ยิ่งซักประวัติ พูดคุยกับคนไข้ ได้ข้อมูลมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลดีต่อการรักษา โดยเฉพาะรายละเอียดเรื่องโรคประจำตัว ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่จักษุแพทย์ต้องนำมาพิจารณาและให้ข้อมูล อย่างเช่น จอตาผิดปกติจากภาวะเบาหวาน จอตาเสื่อมตามอายุ ชนิดที่เป็นเยอะจนทำให้ฟังก์ชั่นของลูกตาเสียไปบางส่วนนั้น ก็ต้องคิดให้ถี่ถ้วน เพื่อให้ผลของการผ่าตัด ออกมาอย่างเหมาะสมที่สุดต่อคนไข้
“อีกตัวอย่างค่ะ ถ้าเคยทำ LASIK มาแล้วมาเป็นต้อหิน ต้อกระจก การรักษาก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง เพราะถือว่าไม่ใช่ลูกตาตามธรรมชาติ ดวงตาของเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่างไป กระจกตาจะบางลง มีความโค้งของกระจกตาที่ไม่ใช่ของเดิม เวลาผ่าตัดต้อกระจก เทคโนโลยีทำให้เราสามารถคำนวณค่าเลนส์แก้วตาเทียม ให้กับคนไข้ที่เคยทำเลสิกมาแล้วได้แม่นยำมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ลักษณะของเลนส์แก้วตาเทียมที่จะใส่ให้ ก็ต้องมาคิดอีกว่าคนไข้มีความต้องการการมองเห็นอย่างไร”
แพทย์ช่วยชี้ทาง
บทบาทของจักษุแพทย์ซึ่งเป็นผู้ชำนาญ ก็จะคอยตอบคนไข้ว่า สามารถทำให้เห็นดีขึ้น หรือคงสภาพสายตาด้วยวิธีใดบ้าง มีทางให้เลือกกี่แบบ ระยะเวลาในการรักษา รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ แล้วแนะนำด้วยเหตุและผล ว่าทางไหนเหมาะสมกับคนไข้ ณ ขณะนั้น
“เวลาจะผ่าตัดต้อกระจก บางคนบอกเลยว่าขอเลนส์แก้วตาเทียมที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา เราสามารถให้ได้ค่ะในสภาพสุขภาพตาที่เหมาะสมกับการใช้งาน แต่ถ้ามีโรคที่อาจเป็นข้อจำกัด เราต้องให้ข้อมูลเพื่อเลือกเลนส์แก้วตาเทียมให้เหมาะกับโรคที่เป็นและความรุนแรงของโรคนั้นๆ หรืออย่างการรักษาโรคต้อหิน เช่น เป็นต้อหินใช้เลเซอร์รักษาได้ ผ่าตัดได้ ใช้ยาได้ บางคนขอใช้ยาก่อน แต่บางคนอยากเขยิบเป็นเลเซอร์เลย บางคนไม่อยากหยอดตาทุกวัน เขยิบเป็นผ่าตัดเลยได้ไหม ทำได้ แต่ต้องคุยให้เคลียร์นะว่าไม่ใช่ผ่าแล้วจบ เพราะต้อหินถือเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ว่าการรักษาแบบไหน ควรต้อง follow up สม่ำเสมอ”
บ่อยครั้งที่ รศ.พญ. วิศนี พบว่า คนไข้ไม่เข้าใจกระบวนการรักษา เชื่อว่าแค่ผ่าตัดแล้วก็แล้วกัน ซึ่งในความเป็นจริงคนไข้ยังต้องกลับมาพบจักษุแพทย์เรื่อย ๆ การตอบสนองของการรักษาก็มีช่วงเวลาของมัน พูดให้เข้าใจง่ายก็เหมือนเป็นโรคเรื้อรัง ต้องคุมปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบให้กลับมาเป็นโรคซ้ำ เพราะหากคนไข้คุมเองไม่อยู่ ก็ต้องกลับมาหาแพทย์อยู่ดี คุณหมอเอเล่าเคสคนไข้ไม่ยอมรักษาให้เราฟัง
“มีเคสที่คนไข้มาด้วยลักษณะลูกตาข้างหนึ่งฝ่อ มองไม่เห็น ส่วนอีกข้างเห็นแสงนิดเดียว คนไข้เคยโดนวินิจฉัยมาว่าเป็นต้อหิน แต่พอตรวจซ้ำ เจอว่ามี โรคจอตาเสื่อมที่เป็นลักษณะทางกรรมพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน จอประสาทตาจะเสื่อมไปเรื่อย ๆ เขาอาจจะเป็นตั้งแต่สาว ๆ แล้ว ซึ่งบางคนทำใจไม่ได้ว่ามันจะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ”
เราก็เข้าใจนะคะ ว่ามันทำใจลำบาก ต้องช่วยกันให้กำลังใจประมาณนึง ส่งพบจักษุแพทย์ทางด้านจอตาเพื่อประเมิน เพื่อคนไข้จะได้เข้าใจโรคของตัวเองมากขึ้น บางครั้งบางคนไม่ยอมรักษาโรคที่ตัวเองเป็น เพราะมีความเชื่อบางอย่าง ซึ่งหมอก็มีทั้งทำให้เปลี่ยนใจได้ และไม่สามารถเปลี่ยนใจคนไข้ได้ ในกรณีนั้นเราต้องให้ข้อมูลมาตรฐานแก่คนไข้ให้มากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ไม่มาหาหมอเพราะเกรงใจลูกหลาน จนจักษุแพทย์เองบางทีก็เสียดายว่า ถ้าได้เจอกันก่อนอาจจะช่วยเหลือกันได้มากกว่านี้ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงต้องกลับไปมองผู้สูงอายุในบ้าน แล้วถามว่าตรวจตาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? ในมุมมองของเขาเห็นคุณชัดเจนหรือเลือนลางไปแล้ว? ลองใช้วาทะศิลป์ของคุณ ชวนท่านไปพบจักษุแพทย์กันเถอะ