หมอวิสัญญี ไม่ใช่แค่ดมยาสลบ แต่คือการหายใจแทนคนไข้

เราเป็นหมอที่ทำงานเบื้องหลัง คนไข้จึงไม่ค่อยรู้ว่าเราทำอะไรบ้าง บางทีเจอหน้ากันแค่ 5-10 นาทีก็หลับไปแล้ว

แชร์

หมอวิสัญญี ไม่ใช่แค่ดมยาสลบ 
แต่คือการหายใจแทนคนไข้

“เราเป็นหมอที่ทำงานเบื้องหลัง คนไข้จึงไม่ค่อยรู้ว่าเราทำอะไรบ้าง
บางทีเจอหน้ากันแค่ 5-10 นาทีก็หลับไปแล้ว” 

Wipra Worasawate Banner 3

วิสัญญีแพทย์ หรือ หมอดมยา หนึ่งในสาขาวิชาชีพแพทย์ที่หลายคนยังรู้จักเพียงผิวเผิน น้อยคนที่จะรู้ว่าส่วนงานนี้เป็นงานเบื้องหลัง ที่เข้าไปอยู่ในช่วงระหว่างความเป็นความตายของผู้ป่วย และต้องมีจิตใจเข้มแข็งบวกกับความชำนิชำนาญ เพื่อทำให้คนไข้ฟื้นกลับมาอย่างปกติและมีคุณภาพ หมอแป้ง-แพทย์หญิงวิปรา วรเศวต วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค จะมาแชร์ประสบการณ์ตลอดเส้นทางวิชาชีพที่น่าสนใจในบทความนี้

วิสัญญีฯ คือรักแรกพบ

เส้นทางสู่สายอาชีพแพทย์ของหมอแป้งนั้น เริ่มจากค่านิยมในสังคมสมัยก่อน ที่เด็ก ๆ มักมีอาชีพในฝันอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ครู ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล ไม่มีอินเทอร์เน็ตให้หาข้อมูลหรือค้นพบอาชีพอื่น ๆ มากมายนัก 

“ตอนนั้น เด็กเรียนเก่งล้วนอยากเรียนหมอ วิศวะฯ สถาปัตฯ ส่วนเรายังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร รู้แต่ว่าชอบเรียนวิชาชีวะ ไม่ชอบเรียนเลข ฟิสิกส์ จึงเหลือหมอ กับหมอฟันให้เรียน คือ ไม่ได้เริ่มจากความอยากเรียน แต่เลือกเรียนในสิ่งที่เรียนได้ค่ะ”

ระหว่างการเรียนในโรงเรียนแพทย์ หมอแป้งได้รับการหล่อหลอมให้เป็นคนตั้งใจ อดทน เห็นอกเห็นใจ มีเมตตากรุณา จนค้นพบว่า การดูแลคนไข้เป็นสิ่งที่ดี และมีความสุขที่ได้ทำ 

“พอขึ้นปีที่ห้า เราต้องมาเรียนรู้วิชาวิสัญญีวิทยาประมาณสองสัปดาห์ แผนกนี้จะไม่เหมือนที่อื่น เพราะต้องเข้าไปเรียนในห้องผ่าตัด ตอนนั้นทึ่งมาก เพราะพออาจารย์ฉีดยาปุ๊บ คนไข้หลับทันทีภายในสามวินาที เราก็ตื่นเต้นว่า เฮ้ย นี่คืออะไรเนี่ย น่าเรียนจังเลย ตลอดสองสัปดาห์จึงตั้งใจเรียนมาก ๆ เพราะเราสนใจ จนพอสอบก็ได้คะแนนสูงที่สุด จำได้ว่าได้รางวัลเป็นเงินสองพันบาทด้วยนะ ทั้ง ๆ ที่ปกติเป็นคนเรียนกลาง ๆ หลังจากเรียนจบ ใช้ทุนแล้ว จึงเลือกเรียนวิสัญญีฯ ต่อด้วยความสนใจ วิชานี้มันจึงเป็นเหมือนรักแรกพบของเรา”

เมื่อเรียนจบ หมอแป้งมีโอกาสได้ไปทำงาน บุกเบิก และพัฒนาแผนกวิสัญญีวิทยาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมาย มีโอกาสได้ไปศึกษางานวิสัญญีฯ ในการผ่าตัดตับที่ Memorial Sloan Kettering Cancer Center เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา 

“พอไปศึกษาที่ต่างประเทศ ทำให้รู้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เทคนิคการผ่าตัดหรือดมยาของประเทศไทย ไม่ได้ด้อยไปกว่าอเมริกาเลย โดยเฉพาะเคสมะเร็งตับที่บ้านเรามีค่อนข้างเยอะ บุคลากรการแพทย์ในไทยก็ทำได้ดี”

หลังจากทำงานมา 12 ปี หมอแป้งก็ได้มาร่วมงานกับเมดพาร์ค และได้ใช้ความรู้ ประสบการณ์ที่มี นำมาเติบโตไปพร้อมกับโรงพยาบาลแห่งนี้

Wipra Worasawate Banner 5

งานวิสัญญีฯ มีแค่ดมยาสลบจริงหรือ

“หมอดมยา หลายคนคิดว่าแค่มาให้ยาสลบ แล้วจบหน้าที่ แต่ความจริงแล้วเราต้องอยู่กับคนไข้ตลอดระหว่างการผ่าตัด นอกจากจะให้ยาระงับความรู้สึกในคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว วิสัญญีแพทย์ยังต้องให้ยาระงับความรู้สึกกับคนไข้ที่ได้รับการทำหัตถการอื่น ๆ ด้วย เช่น ในผู้ป่วยเด็กที่ต้องฉายแสง ตรวจตา ทำฟัน แล้วต้องการให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ รวมไปถึงผู้ใหญ่ที่อาจมีอาการสับสน เส้นเลือดในสมองตีบ สมองเสื่อม แล้วต้องเข้าเครื่อง MRI เครื่อง CT Scan เราก็ต้องให้ยานอนหลับหรือทำให้เขาสงบ”

ในการเก็บชิ้นเนื้อไปตรวจ การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฝังแร่ ก็จำเป็นต้องใช้วิสัญญีแพทย์  เพราะเป็นหัตถการที่อาจทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บ

“กรณีส่องกล้องทางเดินอาหาร การเอานิ่วออก ก็ต้องให้ยาระงับความรู้สึกเช่นกัน ส่วนที่ยากที่สุดคือในรายที่ต้องทำฟัน เพราะทั้งวิสัญญีแพทย์และทันตแพทย์จำเป็นต้องใช้พื้นที่เดียวกัน นั่นก็คือภายในช่องปาก วิสัญญีก็ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทันตแพทย์ก็ต้องทำฟัน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และมีไม่กี่โรงพยาบาลที่จะทำให้ วิสัญญีแพทย์จึงไม่ใช่แค่ทำงานในห้องผ่าตัด แต่ไปทุกที่ที่ต้องการการสนับสนุน”

“ข้อดีของเมดพาร์คคือ ให้การสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็น และทำให้เราสามารถทำงานวิสัญญีฯ ในแผนกอื่น ๆ นอกห้องผ่าตัดได้โดยยังคงเป็นไปตามมาตรฐานของห้องผ่าตัด การวางโครงสร้างอาคาร ระบบท่อต่าง ๆ ก็เอื้อต่อการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ทำให้การทำงานของเราสะดวก และสามารถเข้าไปสนับสนุนการรักษาในส่วนอื่น ๆ ทั่วโรงพยาบาลได้ง่าย เราดูแลคนไข้ได้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย”

Wipra Worasawate Banner 2

เมื่อต้องยอมรับ ว่าผลลัพธ์มักมีสองด้าน

งานวิสัญญีวิทยา เป็นงานที่มีรายละเอียดและกดดันพอสมควร เพราะเหมือนต้องแบกรับเอาชีวิตของผู้ป่วยไว้ในมือ ต้องดูแลสัญญาณชีพ พยุงชีพจนกว่าการทำหัตถการจะแล้วเสร็จและผู้ป่วยฟื้นอย่างปลอดภัย

“เราต้องดูแลคนไข้ในทุกเรื่อง เราทำให้เขาไม่หายใจ ก็ต้องหายใจแทนเขา ต้องคอยรับรู้ความรู้สึกร้อน หนาว คอยให้ความอบอุ่น ควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ”

“ในคนไข้ที่อาการหนักมาก ๆ มาแล้วต้องรับการผ่าตัด ถ้าไม่ผ่าตัดจะเสียชีวิต แต่ถ้าผ่าตัดก็มีโอกาสเสียชีวิตเหมือนกัน เราจะเครียดมาก ช่วงแรกปรับตัวไม่ได้ แต่ด้วยมีทีมซัพพอร์ตที่ดี อาจารย์ เพื่อนร่วมงาน พยาบาล ทำให้เราเข้าใจว่า เราคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีไม่ได้ทั้งหมด มันมีทั้งที่ออกมาดีและไม่ดี เพราะมีปัจจัยมากมายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา จึงต้องคิดแค่ว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตราบใดที่เราทำในส่วนของเราดีที่สุดแล้ว ผลออกมาเป็นอย่างไร เราก็ต้องยอมรับให้ได้”

และแน่นอนว่าหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นและกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย คือรางวัลที่ดีที่สุดสำหรับวิสัญญีแพทย์รวมไปถึงแพทย์ผู้ดูแลทุกคน

“วิสัญญีทุกคนน่าจะคิดคล้าย ๆ กัน คือการดูแลให้คนไข้ฟื้นอย่างปลอดภัย พอตื่นขึ้น เขาร้องโอ๊ะ เสร็จแล้วเหรอ เร็วจัง รู้งี้มารักษาตั้งนานแล้ว หลงกลัวตั้งนาน แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว”

“เพราะเรามีเวลาเจอคนไข้ก่อนหลับน้อยมาก เขาจะจำเราไม่ค่อยได้ แต่ถ้าหากว่าเขาจำชื่อเราได้ หรือจำว่าเราเป็นคนดมยาให้ เราก็ประทับใจแล้วค่ะ รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้จริง ๆ”

Wipra Worasawate Banner 7

เป็นครูโยคะ ก็เข้าท่า

พอถามถึงสิ่งที่อยากทำ หรืออยากจะเป็นหากไม่มาเป็นหมอ หมอแป้งตอบได้อย่างไม่ลังเลเลย นั่นก็คืออาชีพ “ครูสอนโยคะ”

“เมื่อก่อนเราไม่ได้มีข้อมูลเรื่องอาชีพอะไรมากนัก ย้อนเวลากลับไป ก็คงยังไม่มีไอเดียอะไร แต่ถ้าถามตอนนี้ ถ้าต้องเลิกเป็นหมอ อยากเป็นครูสอนโยคะค่ะ เพราะมีช่วงหนึ่งที่รู้สึกอยากดูแลร่างกาย ชะลอความแก่ ตอนนั้นเห็นป้าจิ๊ อัจฉราพรรณ เล่นโยคะ คนดังหลายคนก็มาเล่นกัน เราเลยอยากลองบ้าง จ่ายค่าสมาชิกแบบไม่จำกัดจำนวนครั้งเลย แล้วเราก็กลัวไม่คุ้ม เลยไปบ่อย ๆ พอได้เล่นบ่อย ๆ พบว่าร่างกายแข็งแรง หุ่นลีนขึ้น จึงฝึกมาเรื่อย ๆ เป็นสิบปีแล้วค่ะ”

จากวันแรกที่ฝึกโยคะแล้วรู้สึกร่างกายแข็ง ก้มแตะไม่ค่อยได้ ตึง เจ็บไปหมด แต่เมื่อลองฝึกไปสักพัก จดจ่อกับร่างกาย อดทนให้มากพอ จึงเข้าใจว่า ทุกส่วนของร่างกายพัฒนาได้ อีกทั้งยังช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น เนื่องจากการฝึกโยคะ เป็นการฝึกทั้งร่างกายและจิตใจ ความสงบ การกำหนดลมหายใจ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผลพลอยได้ พอช่วงโควิด-19 ระบาด งานในบทบาทวิสัญญีไม่ได้ยุ่งมากมายนัก หมอแป้งจึงมีโอกาสได้ไปเรียนเสริมในหลักสูตรการสอนโยคะ

“เราไปเรียนมาสองร้อยชั่วโมงจนได้ใบรับรอง และสามารถสอนโยคะได้ค่ะ จึงได้ลองไปสอนโยคะตามบ้าน แล้วรู้สึกชอบ เป็นสิ่งหนึ่งที่เราก็ทำได้เหมือนกัน ตอนแรกก็คิดว่าถ้าเลิกเป็นหมอ จะมาเป็นครูโยคะนี่แหละ แต่พอดีเปิดประเทศก่อน คนไข้ก็กลับมาใช้บริการในโรงพยาบาลเยอะเหมือนเดิม ก็เลยต้องกลับมาทำหน้าที่” หมอแป้งหัวเราะ

Wipra Worasawate Banner 6

นอกจากนั้น หมอแป้งยังวิ่งออกกำลังกายควบคู่ไปกับการเล่นโยคะ จึงผสมเข้ากันจนเป็นการดูแลร่างกายทั้งการยืดเหยียด เวทเทรนนิ่ง และคาร์ดิโอ อีกทั้งการมีพื้นฐานโยคะ ยังช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่นและแข็งแรงเพียงพอ ทำให้เวลาวิ่งไม่บาดเจ็บง่ายด้วย นับเป็นข้อดีของการออกกำลังกายจริง ๆ 

“หมออยากเชิญชวนให้ทุกคนดูแลสุขภาพ เริ่มจากการออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีต่อร่างกาย เพื่อป้องกันโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เพราะหากมีโรคเหล่านี้ ถ้าจำเป็นต้องมาผ่าตัด ดมยาสลบ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว”

เผยแพร่เมื่อ: 04 ส.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    พญ. วิปรา วรเศวต

    พญ. วิปรา วรเศวต

    • วิสัญญีวิทยา
    วิสัญญีวิทยา, การปลูกถ่ายไต