รักษามะเร็งทางโลหิตวิทยา ในยุคของยามุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด และสเต็มเซลล์
“เราจะพิจารณาวิธีการรักษาให้เหมาะสม โดยมุ่งหวังประสิทธิภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสําคัญ”
หากย้อนไป 30 ปีที่แล้ว แพทย์ผู้ชำนาญการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยถือว่ามีจำนวนน้อยมาก แต่ปัจจุบันมีวิธีการรักษา ที่หลากหลาย และมีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งมากขึ้น ในขณะที่หลายคน ยังหวาดกลัวกับโรคมะเร็ง รู้ไหมว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ลิมโฟมา) มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) เป็นโรคมะเร็ง ที่มีโอกาสหายขาดสูงด้วยการรักษาในปัจจุบัน
วันนี้เรามาพูดคุยกับ หมอมะเร็ง คนเก่ง นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ อายุรแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านโรคเลือดและมะเร็งวิทยา ผู้บุกเบิกและพัฒนาการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในประเทศไทย และคิดค้นวิธีการรักษาใหม่ ๆ ในการรักษามะเร็งทางโลหิตวิทยา มาติดตามเรื่องราวของคุณหมอกัน
หมอมะเร็ง แรงบันดาลใจที่มาจากบุคคลอันเป็นที่รักและเคารพ
หลังจากคว้าใบปริญญาแพทยศาสตรบันฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จากรั้วจามจุรีแล้ว นพ. อุดมศักดิ์ ตั้งใจจะไปศึกษาต่อที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่จำเป็นต้องพับโครงการ เพราะมีจุดเปลี่ยนบางอย่างเกิดขึ้น แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้ และเกิดแรงผลักดันใหม่ ๆ แบบไม่คาดคิด
"ช่วงนั้นอาม่าป่วย เป็นโรคมะเร็งลําไส้ เลยพักเรื่องเรียนแล้วมาดูแลท่าน ผมพาอาม่าไปรักษากับ รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ ท่านเป็นอาจารย์ทางด้านโรคมะเร็ง เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ อาจารย์เห็นผมว่าง ๆ ก็เลยให้ไปช่วยทํางานวิจัยด้านโรคมะเร็ง จนกระทั่งอาม่าหายดีแล้ว ผมก็เตรียมตัวไปอเมริกา"
"วันหนึ่งผมมีโอกาสได้คุยกับ ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นผู้บริหารของ รพ. เมดพาร์ค ตอนนั้นผมถามท่านว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อาจารย์จะเลือกเรียนสาขาไหน ? ท่านตอบว่า สาขาโรคมะเร็ง ผมเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของท่าน ก็เลยตัดสินใจเรียนต่อด้านนี้ครับ"
นพ. อุดมศักดิ์ ศึกษาต่อด้านอายุรกรรมทั่วไปที่ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ศูนย์การแพทย์ชิคาโก จากนั้น เรียนต่อสาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ที่สถาบันมะเร็งโรสเวล ปาร์ก รัฐนิวยอร์ก และสาขาการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ เมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี รวมระยะเวลา 7 ปี
"ผมได้เรียนรู้มะเร็งทุกชนิดเลยครับ ทุกอาทิตย์ต้องไปออกคลินิกกับอาจารย์ที่ปรึกษา พอดีท่าน เป็นหมอเฉพาะทางด้านโรคเลือด รักษาลูคีเมีย ผมเลยเห็นคนไข้มากมาย รักษาแล้วหายขาด ก็เลยสนใจ อยากโฟกัสที่ มะเร็งทางระบบเลือด แล้วก็เรียนลึกลงไปอีกทางด้านการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์"
สเต็มเซลล์ บุกเบิกหนทางใหม่ รักษามะเร็งระบบเลือด
หลังจากกลับมาประเทศไทย นพ. อุดมศักดิ์ ได้รับการชักชวนจาก ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ซึ่งท่านเป็นหัวหน้าสาขาโลหิตวิทยา จุฬาฯ ขณะนั้น ให้มาช่วยกันพัฒนางานปลูกถ่ายไขกระดูก (BMT) ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และวิธีการเก็บสเต็มเซลล์จากเลือด จนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ถือเป็นความหวังใหม่ ของคนไข้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งไขกระดูก ชนิดมัลติเปิล มัยอิโลมา ที่กำลังรอคอยการรักษาในขณะนั้น
"เมื่อก่อนขั้นตอนยุ่งยาก ต้องให้คนไข้ดมยาสลบแล้วเจาะไขกระดูก ผมจึงพัฒนาเป็นการเก็บสเต็มเซลล์ จากเลือดแทน เรียกว่า ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกําเนิดเม็ดเลือด ซึ่งสามารถรักษามะเร็งได้หลายชนิด รวมถึงรักษา โรคเลือดที่ไม่ใช่มะเร็งด้วย ทาง รพ. จุฬาฯ ยังได้ร่วมมือกับ ศูนย์บริการโลหิตสภากาชาดไทย หาอาสาสมัคร ผู้บริจาคสเต็มเซลล์ได้มาหลายแสนราย จึงทำให้มีจำนวนคนไข้หายขาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ"
นพ. อุดมศักดิ์ ยังใช้แนวทางการรักษาแบบนี้กับโรคทางภูมิต้านทานตัวเอง ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบไปทั่วร่างกาย และเป็นพังผืดจนไม่สามารถดําเนินชีวิตตามปกติ โดยคุณหมอสามารถรักษาได้สําเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ก็ถือว่ายังมีจำนวนน้อยอยู่ในขณะนั้น
"ผมอยากให้แพทย์ได้เรียนรู้วิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ และอยากให้คนไข้ทั่วประเทศ เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น ไม่ต้องมารอคิวที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ อย่างเดียว ผมจึงเป็นประธานจัดทำหลักสูตรการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในผู้ใหญ่ ได้รับการรับรองโดย แพทยสภา นำไปฝึกอบรมแก่แพทย์ที่สนใจด้วยครับ"
นพ. อุดมศักดิ์ หวังว่าจะมีแพทย์มาเรียนรู้วิธีการรักษามากขึ้น และช่วยกันรักษาชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และด้วยจิตวิญญาณของการเป็นนักวิจัย นักพัฒนาองค์ความรู้โรคมะเร็ง คุณหมอยังทุ่มเทหาวิธีการรักษาใหม่ ๆ โดยใช้ เซลล์ภูมิคุ้มกันบําบัด (Chimeric Antigen Receptor T Cell) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า CAR-T cell และผลักดันการรักษานี้ให้สำเร็จ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่บุกเบิกเรื่องสเต็มเซลล์ด้วย
"ผมทำงานกับทีมโลหิตแพทย์ และแพทย์ทางภูมิคุ้มกันของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ และทีมแพทย์จากญี่ปุ่น พัฒนา CAR-T cell ขึ้นมา โดยนำเอา Lymphocyte T cell มาดัดแปลงทางพันธุกรรม ให้จำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง แล้วเข้าไปทําลายเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้สำเร็จ เป็นรายแรก ๆ ในประเทศไทย และจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาคนไข้ให้หายขาดจากมะเร็ง"
รักษามะเร็ง ไม่ได้มีแค่ ผ่าตัด ฉายรังสี คีโม
โรคมะเร็งจากระบบโรคเลือดมีโอกาสหายขาดสูง และมักจะตอบสนองการรักษาดี แต่คนไข้มักจะกังวลว่าจะรักษาไม่หาย คุณหมอจะพยายามทําให้เขาผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้
"ผมมักจะบอกเสมอว่า การรักษามะเร็งสมัยนี้ได้ผลดีกว่าสมัยก่อนมาก นอกเหนือจาก ยาเคมีบําบัด เรามีความรู้ทางโมเลกุล ยีน ดีเอ็นเอ ก้าวหน้าไปมาก มียามุ่งเป้า ยากิน ยาประเภทไบโอโลจิกส์ ที่ช่วยทําลายเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น เราประสบความสำเร็จในการดัดแปลง เซลล์ภูมิคุ้มกันทางพันธุกรรม CAR-T cell ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจง มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ซึ่งเราพิจารณาวิธีการรักษาให้เหมาะสม กับแต่ละราย โดยมุ่งหวังประสิทธิภาพ และคุณภาพชีวิตของคนไข้เป็นสําคัญ"
นพ. อุดมศักดิ์ กล่าวเสริมว่า Targeted therapy หรือ ยามุ่งเป้า บางตัวเป็นยากินที่มีผลข้างเคียงน้อย ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหมือนเมื่อก่อน นอกจากนี้ยังมี ยาชีววัตถุ พวก Antibody ที่พัฒนาไปหลายเจนเนอเรชั่นแล้ว
"เมื่อคนไข้มาหาเรา เราต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน แล้วพยายามหาว่ามีทาร์เก็ตอะไรที่ใช้ได้บ้าง เรามีห้องปฏิบัติการทันสมัย มีเครื่องมือทางรังสีที่ดูระยะการแพร่กระจายได้อย่างแม่นยํา หลังจากได้ข้อมูลแล้วก็มาวางแผนรักษา เลือกทาร์เก็ต เลือกยาให้เหมาะกับคนไข้ โดยมุ่งหวังไปที่ประสิทธิภาพ และคุณภาพชีวิตของคนไข้เป็นสําคัญ"
ปัจจุบันคุณหมอเป็นหนึ่งในทีมแพทย์ของ ศูนย์อายุรศาสตร์โรคมะเร็ง และโลหิตวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค โดยเข้ามาเติมเต็มในส่วนของการรักษา มะเร็งทางระบบเลือด นําวิธีการรักษาใหม่ ๆ เข้ามาใช้กับผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ และภูมิคุ้มกันบำบัด คุณหมอคาดหวังว่าอีก 3 ปีข้างหน้า คนไข้มะเร็งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จะต้องนึกถึงโรงพยาบาลเมดพาร์คเป็นลําดับแรก
"เรามีทีมแพทย์มะเร็งทางระบบเลือด ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ครบวงจร สามารถเข้าถึงการตรวจ การวินิจฉัย การรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง รวมไปถึงการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ผมมาอยู่ที่นี่ได้เพียง 4 เดือน ก็ประสบความสำเร็จในการรักษาคนไข้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันแล้วครับ"
"ผมประทับใจในทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทุกระดับ พวกเราให้ความช่วยเหลือ และดูแลเอาใจใส่คนไข้ เหมือนญาติ ที่สำคัญคือ มีผู้บริหารที่พร้อมสนับสนุน และให้ความเป็นกันเอง ทำให้รู้สึกเหมือนกับ เป็นครอบครัวเดียวกัน"
คนไข้หายขาด เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชะโลมจิตใจ
คุณหมอพูดถึงประสบการณ์รักษาคนไข้มะเร็ง ที่อาจเป็นเพราะความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นความประทับใจ ที่ทำให้มีพลังในการทำงานต่อไปเรื่อย ๆ
"ผมเคยไปนมัสการพระธาตุพนม หลังจากกลับมาไม่นาน มีคนไข้ผู้หญิงวัยรุ่นมาจากนครพนม เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ต่อมไทมัสในช่องทรวงอก ซึ่งพบได้น้อยและตอบสนองต่อยาไม่ค่อยดีนัก ผมได้ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ รักษาจนหายขาด ไม่กี่ปีต่อมามีคนไข้ผู้ชายอีกคนมาด้วยโรคเดียวกัน ตําแหน่งเดียวกัน เซลล์ไทป์ชนิดเดียวกัน ปรากฏว่าเป็นพี่ชายของเขาเอง ก็รักษาหายขาดเช่นกัน"
นอกจากพี่น้องคู่นี้แล้ว ยังมีคนไข้อีกรายจากนครพนมเช่นกัน ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อยาอะไรเลย คุณหมอจึงนำสเต็มเซลล์จากแม่ของคนไข้มารักษาจนหายขาด และทำให้ศรัทธาในองค์พระธาตุพนมมาจนถึงทุกวันนี้
"เวลาว่างผมมักจะวิ่ง ออกกําลังกายที่บ้าน หัดเล่นเปียโนเอง ประมาณตี 4 ของทุกวัน ผมจะตื่นมานั่งสมาธิ ครึ่งชั่วโมง เพื่อให้เรามีสติในการดําเนินชีวิต หลักในการดูแลรักษาผู้ป่วยของผมก็คือ พรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราจะทําให้คนไข้พ้นทุกข์จากมะเร็ง ทำให้ชีวิตของเขายืนยาว จนกระทั่งเขาสามารถ ไปถึงเป้าหมายของเขาได้"
"เช่น มีคนไข้หลายราย มารักษาหายแล้ว ก็ไปเป็นแพทย์เพื่อรักษาคนอื่นต่อ บางคนอยากจะเห็นลูกเรียนจบ ปริญญา หรืออยากมีหลาน อยากเห็นหลานประสบความสําเร็จ ซึ่งเราทําสุดความสามารถ หากมีเหตุประการ ใดที่ทําให้ไม่หายขาด เราก็ต้องปล่อยวาง แต่ทั้งนี้เราก็ต้องหมั่นศึกษา เรียนรู้ที่จะหาวิธีรักษาใหม่ ๆ อย่าหยุดอยู่กับที่ครับ"