ผ่าตัดยืดกระดูก วิธีเพิ่มความสูงที่ทำได้จริง นพ.ทรงเกียรติ ธนะเจริญพาณิชย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านกระดูกเด็กและการแก้ไขความผิดรูป โรงพยาบาลเมดพาร์ค - Leg lengthening surgery: A safe yet complex procedure to augment height

ผ่าตัดยืดกระดูก วิธีเพิ่มความสูงที่ทำได้จริง

เทคโนโลยีและความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้ศัลยแพทย์กระดูก สามารถ ผ่าตัดยืดกระดูก ได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

แชร์

ผ่าตัดยืดกระดูก วิธีเพิ่มความสูง ที่ทำได้จริง ปลอดภัย แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด 

“เราจะคํานวณความสั้นยาวของกระดูก แล้วยืดขาที่สั้นให้ยาวขึ้น หรือทําให้ข้างที่ยาวโตช้าลง” 

เทคโนโลยีและความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้ศัลยแพทย์กระดูก สามารถ ผ่าตัดยืดกระดูก ได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดโอกาสเกิดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนได้ดีขึ้น นอกจากช่วยแก้ปัญหา ขายาวไม่เท่ากัน แล้วยังเป็น วิธีเพิ่มส่วนสูง ที่น่าสนใจสำหรับคนปกติด้วย  

อย่างไรก็ตาม ถ้าอาศัยความชำนาญของศัลยแพทย์ออร์โธปีดิกส์เพียงอย่างเดียว ไม่อาจการันตีถึงผลลัพธ์ ความสำเร็จ อย่างที่คาดหวังได้เต็มร้อย หากคุณกำลังตัดสินใจจะผ่าตัดเพิ่มส่วนสูง อยากให้ลองอ่านบทสัมภาษณ์ของ นพ.ทรงเกียรติ ธนะเจริญพาณิชย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านกระดูกเด็กและการแก้ไขความผิดรูป โรงพยาบาลเมดพาร์ค คุณหมอจะมาเปิดเผยถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรักษา มาติดตามกันเลย 

ผ่าตัดยืดกระดูก ศัลยกรรมเพื่อรักษาโรคและความผิดปกติเป็นสำคัญ 

นพ. ทรงเกียรติ เล่าถึงคอนเซ็ปต์ในการยืดกระดูกว่า ความจริงแล้วสามารถทำได้กับกระดูกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น กระดูกต้นขา (Femur) กระดูกแข้ง (Tibia) หรือส่วนอื่น ๆ โดยนำหลักของการหักและเชื่อมติดกัน มาประยุกต์ใช้ เพื่อรักษาโรคหรือความผิดปกติทางกาย มากกว่าเป็นการศัลยกรรมเพื่อเพิ่มความสวยงาม โดยจะแบ่งความผิดปกติ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • ความผิดปกติแต่กำเนิด
  • ความผิดปกติจากอุบัติเหตุ
  • ความผิดปกติจากก้อนเนื้องอก
  • ความผิดปกติจากการติดเชื้อ 

“เรามักจะยืดกระดูกในคนไข้ที่มีปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากัน โดยการยืดขาข้างที่สั้น ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น คนไข้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้กระดูกผิดรูปหรือสั้นยาวไม่เท่ากัน เนื้องอกกระดูก กระดูกติดเชื้อ กระดูกหักแล้วไม่ติดกัน หรือบางรายเกิดอุบัติจนกระดูกทะลุออกมา ต้องตัดกระดูกทิ้งไป ต้องเอากระดูกที่เหลือค่อย ๆ ยืดมาชน ทั้งหมดนี้จะใช้หลักการรักษาเหมือนกันครับ”  

สำหรับการรักษาโรคที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันแต่กำเนิด หรือโรคที่ส่งผลให้เยื่อเจริญของกระดูกแต่ละข้างโตไม่เท่ากัน ท้ายที่สุดแล้วคนไข้อาจจะสูงน้อยลงเมื่อเทียบกับส่วนสูงที่ควรจะเป็นตั้งแต่แรก แต่ นพ. ทรงเกียรติ มองว่าการทำให้ขาสองข้างยาวเท่ากันนั้นสำคัญมากกว่า 

“เด็กที่ขาไม่เท่ากันแต่กำเนิด ต้องดูว่าเป็นโรคอะไร มารักษาตอนอายุเท่าไร เพื่อจะได้รู้ว่าสุดท้ายแล้ว ความสูงของเขาจะไปหยุดที่เท่าไร เราจะคํานวณความสั้นยาวของกระดูกแต่ละข้างออกมา จากนั้นค่อยมาเลือก ว่าจะใช้วิธีไหน จะยืดขาข้างที่สั้นให้ยาวขึ้น หรือทําให้ข้างที่ยาวกว่าโตช้าลงโดยหนีบเยื่อหุ้มกระดูกเอาไว้ ซึ่งวิธีหลัง จากที่เด็กจะสูงได้ 170 ซม. โดยที่ขาไม่เท่ากัน ก็อาจจะสูงแค่ 165 ซม. แต่ได้ขา 2 ข้างยาวเท่ากันแทน” 

Leg Lengthening Surgery

กระดูกยาวขึ้นได้จากการเติบโตของเยื่อหุ้มกระดูก 

เนื่องจากกระดูกในสภาวะปกติ เมื่อหักแล้วสามารถเชื่อมติดกันได้ โดยส่วนที่เชื่อมมาติดกันนั้นไม่ใช่เนื้อกระดูก แต่เป็นส่วนของเยื่อที่หุ้มอยู่รอบกระดูกนั่นเอง ดังนั้น การรักษาต้องเริ่มจากทําให้กระดูกหัก แล้วใส่อุปกรณ์ ลักษณะคล้ายห่วงโลหะ ยึดตรึงกระดูกเอาไว้ส่วนหัวกับท้าย จากนั้นค่อย ๆ ยืดกระดูกออกด้วยอัตราเร่ง 1 มม./วัน ให้มีเยื่อกระดูกใหม่มาแทนที่ช่องว่างที่ยืดออก 

“เราจะหมุนห่วงให้มันถีบตัวออกจากกันทุกวัน วันละ 1 มม. คนไข้ต้องหมุนเองที่บ้าน ผ่านไป 2 อาทิตย์กลับมาดูแผล พอครบหนึ่งเดือน เราจะมาเอกซเรย์ดูว่าได้ผลตามที่ต้องการไหม ถ้าหมุนได้ถูกต้อง เราจะเริ่มเห็นเยื่อบาง ๆ ขึ้นมาคลุมตรงช่องว่างนั้น แต่มันยังไม่แข็งแรงพอนะครับ สมมติว่าเป้าหมายคือ 3 ซม. เราจะใช้เวลายืด 30 วัน พอครบแล้วเราจะหยุดหมุน แล้วรออย่างน้อย 2 เดือนให้เยื่อแข็งแรงพอ ระหว่างนั้นก็ต้องนัดมาตรวจทุกเดือน จนกว่ากระดูกจะติดกันและแข็งแรงดี แล้วมาผ่าตัดเอาห่วงออก” 

นอกจากการผ่าตัดใส่ห่วงโลหะด้านนอกเพื่อยึดตรึงกระดูกแล้ว อีกวิธีหนึ่งก็คือ ใส่แกนเหล็กเข้าไปกลางกระดูก พร้อมกับห่วงโลหะตั้งแต่แรก ซึ่งหมายความว่า เนื้อเยื่อใหม่จะปกคลุมแกนเหล็กตรงกลางนั้นไปด้วย 

“การใส่แกนเหล็กเข้าไปกลางกระดูก มักจะทำในส่วนของกระดูก Tibia พอเรายืดจนได้ความยาวตามต้องการ แล้ว หมอก็จะใส่สกรูยึดแกนเหล็กตรงกลางเอาไว้ แล้วเอาออกแค่ห่วงโลหะที่เป็นตัวยืดกระดูกออก จากนั้นความยาวจะคงอยู่ได้ เนื่องจากมีแกนเหล็กตรงกลางที่ยึดหัวท้ายด้วยสกรู เพื่อรอเวลา ให้กระดูกแข็งแรงดี เป็นการลดระยะเวลาที่ต้องมีห่วงโลหะภายนอก นาน ๆ ที่ต้องรอจนกระดูกแข็งแรงดี ถึงเอาออกได้ ลดการติดเชื้อจากหมุดหรือลวด (Pin tract infection) ที่ต้องปักผ่านผิวหนังนาน ๆ” 

สาเหตุที่คนไข้ ยอมยกธงขาว ไปไม่ถึงปลายทาง 

ระยะเวลาของการยืดกระดูกนั้น ตามหลักการทางทฤษฎีแล้วสามารถยืดได้ 1 

มม. ต่อวัน แต่ไม่ได้หมายความว่า อยากจะยืดให้ยาวไปเรื่อย ๆ แค่ไหนก็ได้ เพราะยังมีเส้นเอ็น เส้นประสาทรอบ ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น คนไข้มีความตั้งใจจะยืดกระดูกให้ยาวขึ้น 8 ซม. แต่สุดท้ายยืดได้เพียง 5 ซม. ก็เป็นไปได้ 

“วันละ 1 มม. ก็เป็นอัตรายืดมาตรฐานที่แนะนำ พอหมุนเสร็จปุ๊บ เขาจะเริ่มรู้สึกตึง ๆ คงไม่มีใคร ยืดได้มากกว่านั้น มันทําไม่ได้ ไม่แนะนำให้ทำ มันค่อนข้างอันตราย มีโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บ ต่อเนื้อเยื่อรอบ ๆ ได้ แล้วที่สำคัญ พวกเส้นเอ็น เส้นประสาทรอบ ๆ มันไม่สามารถยืดตาม หรือสร้างขึ้นมาใหม่ได้เหมือนเยื่อกระดูกนะครับ มันจะตึง ถ้าตึงเต็มที่อาจทำให้ข้อหลุดหรือข้อเคลื่อนได้ ก็เลยเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องหยุดกันกลางทาง” 

นอกจากแพทย์ต้องระวังเรื่องของเส้นเอ็น เส้นประสาทแล้ว คนไข้ต้องระวังด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของการดูแล ทำความสะอาดแผล เนื่องจากการผ่าตัดใส่ห่วงและแท่งโลหะยึดกระดูกนั้น มีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่แท่งโลหะผ่านผิวหนัง (Pin tract infection) โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ หลังผ่าตัด  

ก่อนจะตัดสินใจเข้ารับการรักษา แพทย์จึงต้องพูดคุยอย่างจริงจังว่า ในหนึ่งปีข้างหน้าต่อจากนี้ เราจะทุ่มเทให้กับการรักษา ซึ่งอาจจะเกิดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนอะไรขึ้นได้บ้าง และหากไม่สําเร็จตามที่ต้องการ คนไข้จะยอมรับได้หรือไม่ 

“ระหว่างทาง คนไข้ต้องอดทนอย่างมาก และขอให้ใจเย็น ๆ โดยเฉพาะในคนปกติที่ต้องการเพิ่มความสูง เพื่อปรับปรุงรูปร่าง พวกนี้จะยืดพร้อมกันสองข้าง เขาจะลุกเดินเองไม่ได้ ต้องมีคนช่วยพยุงจับตลอด แถมไม่ได้ออกกำลังกายด้วย"

“เวลาที่เราไม่ได้เดินเนี่ย พอมาเอกซเรย์ดู กระดูกจะบางลง กล้ามเนื้อก็เหี่ยวแห้ง ถ้ารักษา จนกลับมาเดินได้ปกติแล้ว ทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิมเอง เพียงแต่คนไข้จะทนกับการมีเหล็กอยู่แบบนี้ ได้นานแค่ไหน หลายคนท้อและยอมแพ้ไปก่อน เพราะมันไม่ใช่แค่วันสองวัน แต่นานเป็นเดือนหรือเป็นปี” 

อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะนึกภาพการใช้ชีวิตประจำวันโดยมีห่วงโลหะติดอยู่กับขาตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากจะเจ็บปวดแล้ว การยืน เดิน นอน เคลื่อนไหว ย่อมไม่คล่องตัวแน่นอน แต่อย่างไรแล้วก็ต้องอดทน และอยู่ร่วมกับอุปกรณ์นี้ไปตลอดการรักษา เราขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งนี้ 

“การศัลยกรรมผ่าตัดยืดกระดูก เพื่อเพิ่มความสูง ไม่เหมือนกับการศัลยกรรมความงามอื่น ๆ เช่น ผ่าจมูก ที่ใส่ซิลิโคนเข้าไปแล้วจมูกสวยเลย เราต้องใช้ระยะเวลามากกว่านั้นมาก และไม่ได้เห็นผลทันที แต่ถ้าต้องการทำจริง ๆ ก็มาปรึกษา มาคุยกันก่อน ขอให้เชื่อมั่นในประสบการณ์ของแพทย์ และมีความอดทน แน่วแน่ แล้วเราจะทำให้สำเร็จไปด้วยกันครับ” 

เผยแพร่เมื่อ: 08 ก.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. ทรงเกียรติ ธนะเจริญพาณิชย์

    นพ. ทรงเกียรติ ธนะเจริญพาณิชย์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • โรคกระดูกและข้อในเด็ก