เทคโนโลยีผ่าตัดกระดูกสันหลัง Minimally Invasive Surgery (MIS) แผลเล็ก เจ็บน้อย
เส้นประสาทไขสันหลัง ทำหน้าที่ส่งสัญญาณคำสั่งเพื่อไปกระตุ้นกล้ามเนื้อ หรืออวัยวะภายในให้เกิดการขยับ และรับความรู้สึกจากอวัยวะส่วนนั้น ๆ กลับไปยังไขสันหลัง หากเส้นประสาทไขสันหลัง ได้รับการกระทบกระเทือนจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น หมอนรองกระดูกแตก หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท จะทำให้ ปวด ร้าว ชา อ่อนแรง และอาจถึงขั้นเป็นอัมพาตได้
การผ่าตัดซ่อมแซมเส้นประสาทไขสันหลัง ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา และบทความนี้ นพ.เทวเจษฎา ภาเรือง ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเมดพาร์ค จะพามารู้จัก การผ่าตัดเส้นประสาทไขสันหลัง ด้วยเทคนิค Minimally Invasive Surgery (MIS) จะน่าสนใจอย่างไร มาติดตามกัน
โรคทางระบบประสาทกระดูกสันหลัง ปล่อยไว้อาจทำให้เป็นอัมพาต
อาการ ปวด ชา อ่อนแรง ที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น คอ แขน มือ เท้า นั้นมีจุดกำเนิดมาจากเส้นประสาทไขสันหลัง ส่วนคอ กับหลังส่วนล่าง ถ้าอาการปวดนั้น เกิดจากเส้นประสาทบริเวณคอ จะส่งผลให้ปวดต้นคอ ร้าวลงมาที่แขน หรือมือ แต่ถ้าเกิดที่หลังส่วนล่าง คนไข้มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง ร้าวลงมาที่ขา และอาจร้าวลงไปถึงปลายเท้า
“อาการชา ถ้าเกิดจากเส้นประสาทที่คอ คนไข้จะชามือ ชาแขน แต่ถ้าเกิดกับหลังส่วนล่างจะชาตรงน่อง ขา เท้า ส่วนอาการอ่อนแรง มักจะเกิดในช่วงท้าย ๆ ก่อนที่จะเป็นอัมพาต คนไข้จะหยิบกำของไม่ค่อยได้ มีท่าเดินผิดปกติ บางครั้งนั่งนาน ๆ ยืนนาน ๆ หรือยกของแล้วจะมีอาการปวด คนไข้ที่เจอบ่อยคือกลุ่มอาการ Sciatica pain หรือปวดหลังส่วนล่าง พวกนี้จะปวดร้าวลงขา ปวดมากเวลาเดินหรือยืนนาน ๆ แล้วก็ปวดร้าวลงมาบริเวณน่องครับ”
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด ชา ร้าว อ่อนแรง เช่น ช่องทางเดินของเส้นประสาทตีบแคบ กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังติดเชื้อหรืออักเสบ แต่ที่พบมากคือ หมอนรองกระดูกแตก หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ซึ่งการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนั้นถือเป็นทางเลือกสุดท้าย
“หลักการรักษาคนไข้ 70-80% จะเริ่มต้นจากการกินยา แล้วก็กายภาพก่อน จะสามารถควบคุมอาการให้ดีขึ้นได้ แต่สำหรับคนไข้บางรายที่เป็นหนักมาก มีการกดทับเส้นประสาทเยอะ เริ่มมีอาการอ่อนแรง ตลอดจนคนที่เคยกินยากับทำกายภาพไปแล้วไม่ดีขึ้น ก็อาจจําเป็นที่จะต้องพิจารณาให้ทำการผ่าตัด”
การผ่าตัดกระดูกสันหลัง เทคนิค MIS ทางเลือกใหม่ ที่ดีต่อคนไข้
เทคโนโลยีของ การผ่าตัดกระดูกสันหลัง ได้มีการพัฒนาวิธีการ และเครื่องมือแพทย์ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อแพทย์และคนไข้ เราจะสังเกตได้ว่า ปัจจุบัน ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง โดยเฉพาะระบบประสาท เริ่มพูดถึงเทคนิค MIS และกล้องเอนโดสโคป (Endoscope) กันมากขึ้น
“การผ่าตัดมากกว่า 90% สามารถผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก ที่เรียกว่า Minimally Invasive Surgery หรือ MIS ได้แล้วครับ หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า การผ่าตัดด้วยกล้องเอนโดสโคป เป็นการเปิดแผลเล็ก ๆ ประมาณ 6-7 มม. แล้วสอดกล้องเข้าไปส่องดู แล้วทำการผ่าตัด ซึ่งเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างดีมากอย่างหนึ่งเลย”
เทคนิคการส่องกล้องเจาะรู แบบ MIS นั้น ไม่ใช่แค่ใช้กล้องเอนโดสโคป แต่ยังรวมไปถึง การผ่าตัดส่องกล้องไมโครสโคปแบบเปิดแผลเล็ก และการผ่าตัดส่องกล้องไมโครสโคปแบบเปิดแผลใหญ่ อีกด้วย ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์หลายชิ้นด้วยกัน หลัก ๆ คือ กล้อง Endoscope หรือ กล้อง Microscope โดยจะใช้ร่วมกับ ท่อถ่างแผล (Tubular retractors) และอุปกรณ์ Microsurgery ช่วยในการผ่าตัด
“การผ่าตัดแผลเล็กแบบ MIS ด้วยกล้องเอนโดสโคป กล้องจะติดไว้ที่ปลายของ Tubular retractors ซึ่งขนาดของท่อ อาจจะใหญ่หรือเล็กกว่ากล้องประมาณ 1 ซม. ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ผ่าตัดครับ หลังจากสอดกล้องเข้าไป ก็จะถ่ายวิดีโอความละเอียดระดับ 4K ทำให้เห็นความผิดปกติ รอยโรค พยาธิสภาพได้ชัดเจน แล้วก็ตัวกล้องก็จะมีมุมเอียงที่เห็นภาพโดยรอบ เหมือนเราเดินเข้าไปทํางานในอุโมงค์เลยครับ”
กล้อง Endoscope หรือ Microscope แบบไหนดีกว่ากัน
ถ้าเปรียบเทียบกับเทคนิคการผ่าตัด MIS ด้วยกล้องทั้งสองแบบแล้ว Endoscope มีความละเอียดแม่นยำมากกว่า เนื่องจากกล้อง Microscope จะอยู่ด้านนอกผู้ป่วย ทำหน้าที่ถ่ายวิดีโอบริเวณที่จะทำการผ่าตัด และขยายให้ใหญ่ขึ้น ขณะที่กล้อง Endoscope เข้าไปชิดกับตัวรอยโรคได้เลย แต่จะใช้กล้องแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของคนไข้ โดยศัลยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง
“หากคนไข้สามารถผ่าตัด MIS ได้ ผมก็จะเลือกผ่าตัด MIS ก่อน จากนั้น ถ้าคนไข้เลือก Endoscope ผมก็จะทํา Endoscope ยกเว้นมีข้อห้ามหรือภาวะไม่เหมาะสม เช่น มีกายวิภาคที่ยากต่อการผ่าตัด มีความซับซ้อนของโรค เช่น มีเนื้องอกมะเร็ง ก็จะเลี่ยงไปผ่าตัด MIS ด้วยวิธี Microscope หรืออื่น ๆ แทน”
“MIS มักจะใช้ในกรณีของ มะเร็ง เนื้องอกของไขสันหลัง หรือมีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนเยอะ หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับไขสันหลังเยอะ อาการคนไข้ค่อนข้างแย่ แต่เราต้องการให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วครับ หรือในกลุ่มคนไข้ที่มีโรคประจําตัวที่ซับซ้อน เช่น อายุมากแล้วก็มีโรคประจําตัว โรคหัวใจ โรคไต พวกนี้ไม่ควรผ่าตัดใหญ่ ดังนั้น เทคนิค MIS ก็จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มากเลยครับ”
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัด MIS ที่แม่นยำจะต้องมีเทคโนโลยีมาช่วยเสริมด้วย ซึ่งโรงพยาบาลเมดพาร์ค ก็มี Navigation system เทคโนโลยีในการสร้างภาพ 3 มิติ จําลองกายวิภาคของคนไข้ ช่วยบอกตําแหน่งที่ต้องการผ่าตัดได้อย่างแม่นยํา รวมไปถึงมี Neuromonitoring เครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด ทำให้ทราบว่า เส้นประสาทที่มีปัญหานั้นอยู่ตรงไหน หรือถ้าใกล้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อเส้นประสาทเส้นนั้น ก็จะมีสัญญาณเตือน หรือกราฟบอกเป็น Real time และเมื่อแก้ไขแล้ว ก็จะแสดงผลว่าเส้นประสาทได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
“ด้วยเทคนิค และอุปกรณ์ที่มีความละเอียดสูง ทําให้ได้ประสิทธิผลการรักษาค่อนข้างดีมาก ๆ ลดการบาดเจ็บ ลดการฟกช้ำของกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบแผลผ่าตัด คนไข้เสียเลือดน้อย ภาวะแทรกซ้อนหรือความเสี่ยงต่อคนไข้น้อยมาก การฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว หนึ่งวันหลังผ่าตัดสามารถเดินได้แล้ว สองวันสามารถกลับบ้านได้ครับ”
การผ่าตัดที่ต้องอาศัยประสบการณ์ อุปกรณ์ และทีมที่ดี
การผ่าตัดแผลเล็ก เป็นเทคนิคใหม่ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม บวกกับการฝึกฝนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้ว ถือว่าประเทศไทยยังมีศัลยแพทย์จำนวนไม่มากนักที่เริ่มหันมาใช้เทคนิคนี้
“หากเป็นที่ประเทศเยอรมนีที่ผมเรียนจบมา หรือในยุโรป แพทย์ส่วนใหญ่เขาเรียนรู้เทคนิคนี้ และใช้กันอย่างชํานาญแล้วครับ แต่ว่าในประเทศไทย เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างใหม่ จึงอยู่ในช่วงของการเรียนรู้กันอยู่ เริ่มมีความพยายามในการทําผ่าตัดวิธีนี้ค่อนข้างเยอะพอสมควร เพราะเราส่งต่อความรู้ให้กับแพทย์ท่านอื่นที่มีความสนใจด้วย เราจัดอบรม จัดประชุมทุกปี มีคุณหมอเข้ามาเรียนรู้ทั้งทางด้านวิชาการ และฝึกใช้อุปกรณ์เป็นผู้ช่วยผ่าตัดกันอยู่เรื่อย ๆ ครับ”
วิธีการผ่าตัด MIS เพื่อรักษาโรคทางระบบประสาทกระดูกสันหลัง มีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตให้เรียนรู้มากมาย แต่รายละเอียด ความซับซ้อนในการรักษา ย่อมแตกต่างกันไป ไม่สามารถใช้หลักการเดียวกันกับคนไข้ทุกคน นพ.เทวเจษฎา ฝากทิ้งท้ายให้มาปรึกษาแพทย์ดีที่สุด
“บางครั้ง เราได้ข้อมูลมา แต่ข้อมูลนั้นอาจจะไม่เหมาะกับเรา ทําให้เราสูญเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องไป ก็อยากแนะนําให้รีบปรึกษาแพทย์นะครับ เพื่อจะได้รับแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดแล้วก็ประสิทธิผลในการรักษาที่ดีครับ”