การดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง รักษาใจ รักษาคุณภาพชีวิต
“เมื่อมีคนหนึ่งเป็นมะเร็ง คนในครอบครัวก็เหมือนป่วยไปด้วย”
โรคมะเร็ง หลายคนฟังแล้วรู้สึกตื่นตระหนก หวาดกลัว แต่ความจริงแล้ว โรคนี้ก็เป็นเพียงอีกความเจ็บป่วยหนึ่ง ที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ได้ ซึ่งการรับมือกับโรคนั้นก็จะยากง่ายแตกต่างกันไป ตามระยะ และชนิดของโรคมะเร็ง
สำหรับ Special Scoop ครั้งนี้ จะเจาะลงไปที่ โรคมะเร็งในระยะสุดท้าย ซึ่งการดูแลรักษามีมิติเพิ่มขึ้นมาอีกขั้น นั่นก็คือ การดูแลแบบประคับประคอง โดย พญ.ศิยามล มิ่งมาลัยรักษ์ อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา จะมาพูดคุย พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับทั้งตัวผู้ป่วยเอง และผู้ดูแล สามารถนำไปใช้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ต้องเข้าใจ เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง
สิ่งแรกที่ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลควรปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งในระยะใด คือ การทำความเข้าใจในตัวโรค รับข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมจากแพทย์เฉพาะทาง เข้าใจบริบทการรักษา โดยเฉพาะในระยะสุดท้าย ควรหาตรงกลางระหว่างการรักษาและความต้องการของผู้ป่วย
“มีบ้างที่ผู้ป่วยรู้สึกสับสน ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ อาจเพราะในความเข้าใจของเขา เขาดูแลสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำไมยังเป็นมะเร็ง ซึ่งความจริงแล้ว มีปัจจัยมากมายที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง อย่างแรกจึงต้องยอมรับ เข้าใจ และเข้าสู่กระบวนการรักษา”
มาเจอตอนเป็นระยะท้ายแล้ว ทำอย่างไร…
ตรงนี้คุณหมอศิยามลแชร์ว่า พอคนไข้รู้ว่าเป็นระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะท้ายสุด มักจะตกใจ ใจเสีย คิดว่าไม่รอดแน่ ซึ่งความจริงไม่ได้หมายความว่าไม่มีทางรักษา เพราะการแพทย์ในปัจจุบัน สามารถรับมือกับโรคมะเร็งระยะที่ 4 ในหลายประเภทได้ดีมากขึ้น หากมาพบแพทย์ บางรายร่างกายตอบสนองกับการรักษาได้ดี ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ 5-10 ปีเลยทีเดียว ซึ่งแพทย์ก็จะประเมินและพิจารณาเลือกวิธีรักษาให้เหมาะสม
“การตอบสนองต่อการรักษาในแต่ละคน กับมะเร็งแต่ละประเภทไม่มีอะไรตายตัวเลยค่ะ บางรายเป็นมะเร็งระยะที่ 4 มา 8 ปีแล้ว สรุปสามีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งเสียชีวิตก่อนเพราะเป็นสโตรก ซึ่งลองมาพิจารณา การป่วยเป็นมะเร็งก็ยังมีจุดที่ได้เปรียบโรคอื่น ๆ บางโรค เพราะเป็นโรคที่มีเวลาให้คนไข้ได้เตรียมตัว วางแผนเรื่องต่าง ๆ ก่อน ในขณะที่หากเป็นโรคอื่นปุบปับฉับพลัน อาจไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ดังนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง อย่างแรกคือตั้งสติแล้วมาคุยกัน มาพบหมอมะเร็งเพื่อวางแผนการรักษาและดูแล”
เมื่อมีคนหนึ่งเป็นมะเร็ง คนในครอบครัวก็เหมือนป่วยไปด้วย…
“บางครั้ง Caregiver หรือผู้ดูแล จะรู้สึกผิดในใจ ว่าเขาคือส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่เขารักเป็นแบบนี้หรือไม่ ดูแลเขาไม่ดีพอ ไม่ได้พาไปตรวจสุขภาพสม่ำเสมอใช่ไหม ถึงได้ป่วย หมออยากให้ละลายความคิดเหล่านั้นให้หมดค่ะ เพราะผู้ดูแลจำเป็นต้องเข้มแข็ง”
คุณหมอแนะนำว่า ผู้ดูแลต้องแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะถ้าป่วย ก็ดูแลผู้ป่วยไม่ได้ การรักษาสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำให้แข็งแรง เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้สามารถดูแลคนที่คุณรักได้ หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ระยะท้าย หรือมีความรุนแรงของโรคมาก การมีผู้ดูแลคนเดียวก็อาจไม่พอ ต้องมีคนมาผลัดเวรกัน ช่วยเหลือกัน
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระยะที่ 4 ในมุมมองของหมอมะเร็ง
“การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย หมอขอให้ความหมายว่า เป็นกรณีที่การให้ยาเคมีบำบัดไม่ได้ผลแล้ว ยามุ่งเป้าหรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดไม่ได้ผล ผ่าตัดไม่ได้แล้ว”
ในกรณีที่ไม่เหลือตัวเลือกในการรักษาหรือจัดการกับมะเร็ง สิ่งที่ทั้งแพทย์และผู้ดูแลควรคำนึงถึงที่สุดคือ อาการ และสภาวะทางร่างกาย จิตใจ ของคนไข้ในขณะนั้น เช่น ความทรมานจากอาการปวด ตรงนี้แพทย์สามารถพิจารณาวิธีบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยา และไม่ใช้ยา
“ปัจจุบันสามารถให้ยาแก้ปวดโดยการฝังพอร์ตติดตัวคนไข้ ให้พอร์ตปล่อยมอร์ฟีนทีละนิด ๆ เข้าทางไขสันหลัง ก็จะช่วยลดอาการปวดของคนไข้ได้เยอะ เขาก็จะไม่ทรมาน ไม่เจ็บปวด วิธีนี้ช่วยลดการใช้มอร์ฟีนได้เยอะมาก ๆ คนไข้ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”
ในกรณีที่คนไข้กินได้น้อย เบื่ออาหาร อาจมีการให้อาหารทางการแพทย์ทดแทน หรืออาจแบ่งมื้อย่อย ๆ ในปริมาณน้อย ๆ ให้คนไข้ได้กินตลอดวัน รวมไปถึงการใส่สายยางทางหลอดอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และหากคนไข้สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ พยายามหากิจกรรมเบา ๆ ทำร่วมกันในครอบครัว
หากขับถ่ายไม่ได้ แพทย์อาจผ่าตัดเพื่อให้ขับถ่ายทางหน้าท้อง ซึ่งตรงนี้ คนไข้และผู้ดูแลต้องเข้าใจ และปรับตัว เพราะคนไข้ยังไม่เสียชีวิตจากมะเร็ง และจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ได้ด้วยอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เหล่านี้
ทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นการดูแลรักษาแบบประคับประคอง ที่มีรายละเอียดแตกต่างกันตามอาการและสภาพร่างกายของคนไข้ ซึ่งคุณหมอบอกว่า ยากกว่าการรักษาแบบปกติอีก เพราะต้องดูแลให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน
“การดูแลรักษาประคับประคอง คือ การทำเพื่อให้คนไข้ผ่านช่วงชีวิตสุดท้ายไปได้อย่างดีที่สุดค่ะ” คุณหมอศิยามลเอ่ย
คนไข้ในระยะสุดท้าย มีสิทธิ์จะอยู่ไปได้นานกว่าที่คาดการณ์หรือไม่…
“เป็นไปได้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนไข้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ ไม่มีความผิดปกติของหัวใจ ไม่มีโรคกระจายไปสมอง ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน แต่แพทย์เองก็ต้องพยายามช่วยให้เขาอยู่ได้ดี ไม่เจ็บปวด”
“เพราะในบางรายพออยู่ได้นาน แต่อยู่ไม่สุขสบาย เจ็บปวด ก็จะไม่อยากอยู่ กลายเป็นทุกข์อีก ซึ่งแพทย์ก็จะมีวิธีที่ช่วยให้เขาสบายขึ้นตามที่กล่าวไปก่อนหน้า”
ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ต้องดูแลทั้งกาย ทั้งจิตใจ
สำหรับในแง่ของจิตใจ คนที่มีบทบาทสำคัญคือครอบครัว ญาติ และคนใกล้ชิด การเข้าอกเข้าใจ ให้กำลังใจกัน และพยายามรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
“ในช่วงเวลานี้ หากมีอะไรที่จะช่วยให้สบายใจ สามารถทำได้ทั้งนั้นค่ะ บางรายใช้ความเชื่อทางศาสนาที่ยึดมั่นมาช่วย จริง ๆ แล้ว ในการรักษาคนไข้ระยะสุดท้าย บางครั้งหมออาจไม่ได้กำลังรักษาคนไข้อยู่ค่ะ คนไข้บางคนทำใจได้นานแล้ว ปลงแล้ว แต่คนที่ยังรับไม่ได้ กลับเป็นญาติ”
หลายครั้งที่คนไข้อาจขอปฏิเสธการรักษา เพราะไม่อยากเผชิญความยุ่งยาก ความเจ็บปวด ไม่สุขสบาย แต่ญาติไม่ยอม ดึงดันให้รักษา ตรงนี้จำเป็นต้องมาพูดคุยกับแพทย์ และพิจารณาความเหมาะสม หาตรงกลาง หาจุดที่จะช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
“ลองคิดดูว่าคนไข้ต้องมารับเคมีบำบัดทั้ง ๆ ที่เขาเองก็ไม่ไหวแล้ว เขาอาจอยากใช้เวลาที่ต้องมาอยู่ที่โรงพยาบาลไปทำสิ่งที่อยากทำ ไปอยู่ที่บ้านกับคนที่เขารัก เรื่องของ Living Will หรือเจตจำนงการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายจึงสำคัญมาก ๆ ในคนไข้กลุ่มนี้ หากเขาสามารถระบุได้ว่าต้องการอะไรในขณะที่เขามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราก็ควรฟังคนไข้เป็นหลักค่ะ”
หากคนไข้อยู่ในจุดที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ แพทย์จะให้ญาติใกล้ชิด เช่น หากมีคู่สมรส ก็จะให้คู่สมรสตามกฎหมายเป็นผู้ตัดสินใจ
มีมะเร็งระยะที่ 4 ที่สามารถรักษาหายไหม
“มีค่ะ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กระจายไปที่ตับ มีโอกาสรักษาให้หายได้” คุณหมอตอบ
เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กระจายไปที่ตับ ถ้าสามารถตัดมะเร็งออกได้ทั้งสองจุด (ลำไส้และตับ) แล้วให้ยาเคมีบำบัดเสริม คนไข้ก็มีโอกาสหายขาด หรือหากมะเร็งลำไส้กระจายไปที่ปอด หากสามารถตัดมะเร็งออกได้ทั้งสองจุด (ลำไส้และปอด) ก็มีโอกาสหายเช่นกัน
“เพราะว่าลักษณะของโรคมะเร็งลำไส้มันกระจายเป็นแพทเทิร์นค่ะ คือจะไปแค่เฉพาะจุด ถ้าตัดออกแล้วก็ไม่ค่อยกระจายไปส่วนอื่น ต่างจากมะเร็งเต้านม ดังนั้น ใครเป็นมะเร็งลำไส้ก็อย่าเพิ่งถอดใจ ให้มาพบแพทย์ มาคุยกันถึงแนวทางรักษาก่อน”
หลังจากพูดคุยกับคุณหมอมาจนถึงตรงนี้ ต้องยอมรับว่า การแพทย์ในปัจจุบันนั้นพัฒนาตลอดเวลา มีงานวิจัยใหม่ ๆ วิธีการรักษาใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอด แพทย์เองก็ต้องเรียนรู้และอัปเดตองค์ความรู้ตลอดเวลา อะไรที่เมื่อก่อนเป็นเรื่องสิ้นหวัง ในปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เช่น ยามุ่งเป้า ที่มีการพัฒนายาใหม่ ๆ รักษามะเร็งให้เฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพดีมากขึ้น การป่วยเป็นมะเร็งในปัจจุบัน จึงมีทางเลือก และวิธีการที่จะมาช่วยรับมือมากขึ้น ช่วยยืดอายุผู้ป่วยให้นานขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
หมอมะเร็ง ที่ดูแลตั้งแต่ยังไม่เป็นมะเร็ง
คุณหมอบอกว่า การเป็นหมอ สิ่งที่ดีที่สุดคือดูแลตั้งแต่เขายังไม่ป่วย ที่ศูนย์อายุรศาสตร์โรคมะเร็งและโลหิตวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค สามารถดูแลตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ซึ่งส่งต่อมาจากแผนกต่าง ๆ ไม่ว่าจะมาด้วยอาการอะไร มีแพทย์มากประสบการณ์และพยาบาลวิชาชีพที่พร้อมจะทำงานร่วมกัน หากพบว่ามีความเสี่ยง หรือมีข้อบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็ง หรือมีเนื้องอกที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้ ก็จะสามารถวางแผนรักษาเพื่อการป้องกันได้ทันท่วงที
“ความร่วมมือของทุก ๆ ส่วน จะเป็นประโยชน์ในกรณีการตรวจเจอโรคหรือแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งได้เร็ว มะเร็งหลายชนิดหากตรวจเจอระยะต้น ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งประโยชน์นี้ก็จะตกอยู่กับคนไข้ เขารู้ตัวไว รักษาไว หรือป้องกันไว ก็จะช่วยให้เขาหายจากมะเร็ง หรือไม่ต้องเป็นมะเร็งก็ได้ค่ะ”
นอกจากนั้น ที่ศูนย์ฯ ยังสามารถให้การรักษาโรคมะเร็งได้ครบครัน ทั้งเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด การฉายแสง มีเครื่องมือที่อัปเดต หลังการรักษาก็จะมีแผนการตรวจติดตามเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นโรคมะเร็งอีก
“และหากเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต ทีมแพทย์ที่ศูนย์ฯก็สามารถให้การรักษาแบบเทอร์มินอลแคร์ เพื่อให้การจากไปราบรื่นที่สุดค่ะ ที่นี่สามารถให้การดูแลตั้งแต่ยังไม่เริ่มจนจบ”
เพราะโรคมะเร็ง เป็นโรคที่ใช้เวลา การตรวจคัดกรอง ป้องกัน รักษา จึงมีหลากหลายวิธีหลากหลายมิติ การมาคุยกัน วางแผนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และแพทย์เฉพาะทาง จะช่วยให้การรับมือกับโรคมะเร็งนั้นไม่หนักหนาน่ากลัวอย่างที่คิด