ประสบการณ์คลอดลูก แฝด 3
ทิกเกอร์ พูม่า แพนเตอร์ ท้องแรกของครอบครัว
“ท้องแรกแถมเป็นแฝดถึงสามคน
มันมีอะไรหลายอย่างให้ต้องกังวล
เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง”
ท้องแรกที่เริ่มต้นจากความกังวล
การวางแผนมีบุตรสักคนนั้น คู่รักส่วนมากมักเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า หาข้อมูลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ พัฒนาการตัวอ่อนในท้อง วิธีดูแลตนเองให้แข็งแรงปลอดภัย อาการและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ตลอด 9 เดือนของการอุ้มท้องสำหรับครรภ์ปกตินั้นจึงไม่ง่ายเลย สำหรับครอบครัวของ คุณธัญณภัสส์ ประเสริฐจริง และคุณอัครชัย แซ่ลี้ ยิ่งดูเหมือนจะยากกว่า และมีเรื่องน่ากังวลมากกว่าคู่รักคนอื่น ๆ เพราะเป็นการตั้งครรภ์ “แฝดสาม” นั่นหมายความว่า ต้องดูแลแม่และลูก รวม 4 ชีวิตในเวลาเดียวกัน
“ท้องนี้ท้องแรกค่ะ ดีใจมากเพราะว่าพยายามมา 2 ปีเลยค่ะกว่าจะสมหวัง คุณหมอแนะนำดีมาก คือให้เน้นโปรตีน เพื่อทำน้ำหนักน้องให้สูงพร้อมกับการคลอด จัดยาให้ ให้เรารู้สึกสบายผ่อนคลายที่สุด มันมีอะไรหลายๆอย่างที่กังวล เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง”
“มันหลายความรู้สึกมากเลยครับ แต่พอไปหาข้อมูลมาดีๆ แล้ว มันรู้สึกกังวลมากกว่าครับ เพราะว่ามันมีความเสี่ยงเยอะ ค่อนข้างสูง แล้วก็ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ผมกังวลเกี่ยวกับข้อมูลแฝด 3 เพราะว่าทางอินเทอร์เน็ตหรือแม้แต่โซเชียลมีเดีย ข้อมูลน้อยมาก แฝด 3 จะมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเยอะ ทำให้ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่”
วินาทีนาทีบีบหัวใจของคนเป็นพ่อแม่
เชื่อว่าช่วงเวลาสำคัญสำหรับว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่จะจดจำไปตลอดชีวิตก็คือ วันคลอด เนื่องจากการทำคลอดสำหรับครอบครัวนี้ เป็นการคลอดทารกแฝดสามเคสแรกของโรงพยาบาลเมดพาร์ค ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรที่เกี่ยวข้อง จึงต้องปรึกษาและวางแผนกันมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนคลอด ขณะทำคลอด และหลังคลอด เพื่อให้ทุกวินาทีผ่านไปด้วยความราบรื่นปลอดภัยทั้งคุณแม่และเหล่าสมาชิกตัวน้อย
“ก่อนเข้าห้องคลอดรู้สึกตื่นเต้น พยาบาลก็จะเข้ามาบรีฟเราก่อนว่า ไม่มีอะไรนะ จะเป็นยังไงๆ พี่เขาเดินเข้าออกๆ ก็อุ่นใจค่ะ”
“ดีใจมากเลยครับน้ำตาไหลเลยครับ เป็นความรู้สึกที่แบบหาคำบรรยายไม่ได้ครับ มันต้องเจอตัวถึงจะรู้ เป็นความรู้สึกที่ดีที่สุด”
ในห้องผ่าตัดวันนั้น มีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากกว่าที่เคย พยาบาลประจำตำแหน่งที่จุด “แฝดหนึ่ง” “แฝดสอง” และ “แฝดสาม” จุดละ 3-4 คน เพื่อเตรียมพร้อมดูแลทารกทันทีที่ลืมตาดูโลก แล้วน้ำตาแห่งความสุขของคุณพ่อและคุณแม่ ก็พรั่งพรูออกมาทันทีได้ยินเสียงร้องเล็ก ๆ เป็นเสียงของทารกแฝดคนแรก หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วินาที ก็มีเสียงร้องจ้า ของสมาชิกตัวน้อยคนที่สอง คนที่สาม ตามมา เป็นน้ำตาที่เต็มไปด้วยความตื้นตัน และความโล่งอก หลังจากที่รอคอยมานานถึง 34 สัปดาห์
อุ่นใจ และปลอดภัย ทั้งแม่ลูก
เนื่องจากเป็นการคลอดก่อนกำหนด ทำให้เหล่าทารกตัวจิ๋ว ทิกเกอร์ พูม่า แพนเตอร์ ต้องเข้าไปนอนอยู่ใน หอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิดและทารกที่คลอดก่อนกำหนด (NICU) ภายใต้การดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องของระบบการหายใจ ความดันเลือด สัญญาณชีพ การให้ความอบอุ่นแก่ทารกและปรับอุณหภูมิร่างกาย เป็นต้น รวมถึงคอยช่วยเหลือคุณแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยให้มีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกทั้ง 3 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
“เขาอยู่ห้อง NICU ค่ะ แต่ว่าก็ได้ไปดูตลอดนะคะ พี่ๆ ที่ NICU ก็น่ารักมากเลย เปิดประตูให้เข้าไปดู แล้วก็คอยบอกตลอดว่าน้องเป็นยังไงบ้างแล้ว อาการดีขึ้น น้ำหนักขึ้นแล้ว ก็ทำให้อุ่นใจ แล้วก็คอยช่วยเหลือตลอดเวลาอย่างเรื่องน้ำนม พี่เขาก็มาช่วยสอน พยายามทำให้เรามีน้ำนมให้น้องค่ะ”
เบื้องหลังของความราบรื่นในการคลอดนั้น เกิดจากการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ซึ่งไม่ใช่แค่ทีมโรงพยาบาลเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่เองก็มีทีมที่คอยสนับสนุนให้คำปรึกษาทางกรุ๊ปแชทด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ นพ.วรชัย นำมาใช้เพื่อสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง ช่วยคลายความกังวลของคนไข้ได้เป็นอย่างดี และในช่วงที่คุณแม่ยังอ่อนเพลียจากการคลอด ไม่สามารถขยับตัวหรือลุกไปดูลูกได้ พยาบาลก็จะอัปเดตอาการ และส่งรูปเจ้าตัวน้อยผ่านทางกรุ๊ปแชทให้หายคิดถึงด้วย
“ที่เราเลือกทั้งคุณหมอวรชัยแล้วก็เมดพาร์ค เพราะว่าทางคุณหมอกับทางโรงพยาบาล จะมีการวางแผนกัน ประสานงานกัน ทำให้เรารู้สึกสบายใจ ในส่วนตัวคือรู้สึกว่า ตัวคุณแม่ก็ปลอดภัย ตัวน้องๆ ก็ปลอดภัย”
“ครรภ์แฝด” การตั้งครรภ์ที่อาจเกิด ภาวะเสี่ยง มากกว่าปกติ
ในอดีต การมีลูกเป็นฝาแฝดนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ง่าย แต่ปัจจุบันเราจะเห็นหลายครอบครัว ตั้งใจมีลูก แฝดชาย แฝดหญิง หรือแฝดชายหญิง และแนวโน้มของการตั้งครรภ์แฝดก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ตั้งครรภ์แฝดได้ ก็มีอยู่สองปัจจัยคือ
- คนในครอบครัวเคยมีประวัติครรภ์แฝดมาก่อน
- ใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ช่วยให้ตั้งครรภ์แฝด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตก การทำเด็กหลอดแก้ว การใส่ตัวอ่อนที่สามารถใส่ได้มากกว่า 1 ตัว เป็นต้น
ข้อดีของการตั้งครรภ์แฝดคือทำให้คุณแม่มีลูกมากกว่า 1 คน โดยเจ็บท้องคลอดแค่เพียงครั้งเดียว แต่กว่าจะอุ้มท้องไปจนถึงวันคลอดก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด คุณแม่ต้องพร้อมรับความเสี่ยงในหลายด้าน นับตั้งแต่ครรภ์อ่อน ๆ ที่มีโอกาสแท้งได้ง่ายกว่าปกติ หรือหากการตั้งครรภ์สามารถดำเนินต่อไปโดยไม่มีการแท้ง ก็ยังต้องระวังเรื่อง การคลอดก่อนกำหนดด้วย
นพ.วรชัย ชื่นชมพูนุท สูติแพทย์ที่ดูแลเคสแฝดสามนี้ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และครรภ์เป็นพิษ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระตุ้นให้คลอดก่อนกำหนด จึงแนะนำให้คุณธัญณภัสส์ เข้ามาแอดมิดที่โรงพยาบาลตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ แล้วทำการผ่าคลอดในช่วงอายุครรภ์ 34 สัปดาห์
“พอคุณแม่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือ 30 สัปดาห์ ก็อาจมีน้ำคร่ำเดินแล้ว หรือว่าเจ็บมดลูกคลอดก่อนกำหนดได้ สิ่งที่ต้องระวังอีกก็คือ ครรภ์เป็นพิษ เพราะว่ามีเด็กมากกว่า 1 คน ก็อาจจะเกิดความดันขึ้นได้ ทำให้เกิดภาวะที่ต้องคลอดทารกออกมาก่อนเวลา รวมไปถึงโรคเบาหวาน ที่มักเกิดสูงขึ้นในกลุ่มคนไข้ที่มีครรภ์แฝด 3”
คุณหมอได้ให้ยาบางตัวเพื่อช่วยป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และพยายามติดตามน้ำหนักของคุณแม่เป็นอย่างดี กำหนดให้ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ไม่ให้น้ำหนักเยอะเกินไป แม้แต่ช่วงหลังคลอด ก็ยังต้องระมัดระวัง เพราะมดลูกที่ขยายตัวมาก อาจทำให้เกิดการตกเลือดหลังคลอดได้ จึงต้องมีการเตรียมเลือด หรือยาเพื่อช่วยลดภาวะการเกิดการตกเลือดหลังคลอดด้วย
ดูแลอย่างใกล้ชิด คลายทุกข้อสงสัย
สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลเคสนี้ก็คือการ Close monitor คุณแม่ นพ.วรชัย จึงนำแอปพลิเคชั่นมาช่วยเช็กการบีบตัวของมดลูก และสร้างกรุ๊ปแชทขึ้นมาสื่อสารกันโดยตรง โดยมี แพทย์ คุณแม่ และเพื่อน ๆ ที่เคยมีบุตรมาแล้ว อยู่ในกลุ่มแชทนั้น เพื่อน ๆ จะช่วยแชร์ประสบการณ์ว่าการตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คุณแม่จะได้ไม่ตกใจหรือกังวลมากนัก
“กรุ๊ปแชทนี้จะสามารถที่จะมอนิเตอร์อาการได้ด้วย อีกอย่างที่สำคัญคือทีมในการดูแลคนไข้ มันไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ในการดูแลก็ต้องมีคุณหมอสูติที่เป็นหมอเวชศาสตร์มารดาและทารกช่วยดูแลในการทำอัลตราซาวนด์เป็นครั้งคราว รวมถึงทีมคุณหมอเด็กเพราะว่าตลอดทีเดียว 3 คน มันไม่ได้ง่ายๆ”
สิ่งที่สำคัญที่ทำให้การคลอดผ่านไปอย่างราบรื่นก็คือ การทำงานเป็นทีมของคุณหมอในแผนกทั้งสูตินรีเวช เวชกรรม เด็กอ่อน โดยได้มีการประสานงานเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเป็นอย่างดี โดยระหว่างที่คุณธัญณภัสส์ เข้ามาแอดมิดเพื่อรอคลอดนั้น ทางโรงพยาบาลก็ส่งทีมเข้ามาเตรียมความพร้อมในการดูแลเด็กแฝดสามที่คลอดก่อนกำหนด ว่าจะมีภาวะอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ตกใจ เรียกได้ว่ามีการเตรียมตัวทุก ๆ ขั้นตอนของการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด
รับคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การฝากครรภ์และคลอด ได้ที่
คลินิกสูตินรีเวช ชั้น 7 เคาน์เตอร์ D (WEST Lift)
โทร. 02-090-3135 เวลา 8:00 – 20:00 น.