บอกเล่าประสบการณ์รักษา ไตวาย
ฟื้นตัวเร็วด้วยโปรแกรมฟอกไตควบคู่กายภาพบำบัด
“คุณแม่อายุเยอะแล้ว และมาถึงหมอด้วยอาการ ไตวาย
พอไตมันไม่ดี ก็กระทบต่อเนื่องกันไปหมด หัวใจเต้นผิดจังหวะ
น้ำท่วมปอด ตอนนั้นอวัยวะทุกอย่างเริ่มสะดุด
คงมีแต่ปาฎิหารย์เท่านั้น...ถ้าจะทำให้คุณแม่ฟื้น”
-
ไตวายเฉียบพลัน ภาวะเสี่ยงที่ลูกต้องทำใจ
คุณพัทธ์วริน ภูริชเจริญพงศ์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ยังจำได้ไม่ลืม...ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางปี 2565 วันนั้นได้พาคุณแม่สิริกาญจน์ซึ่งมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจมาส่งที่โรงพยาบาลเมดพาร์คอย่างเร่งด่วน ซึ่งหลังจากคุณหมอได้ตรวจวินิจฉัยพบว่า คุณสิริกาญจน์มีภาวะไตวาย น้ำท่วมปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และติดเชื้อทางเดินอาหารร่วมด้วย ในฐานะลูกสาวตอนนั้นต้องทำใจ เนื่องจากคุณแม่อายุมากแล้ว อย่างไรก็ตาม คุณหมอทุกท่านได้วางแผนการรักษา ให้ยา และตรวจเช็กอาการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคุณสิริกาญจน์สามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ตามปกติแล้ว
“คุณหมอบอกให้ทำใจ และอดทน เพราะการดูแลคุณแม่ ไม่ใช่ดูแลแค่ร่างกาย แต่สภาพจิตใจก็สำคัญมาก เขาใช้คำว่า TLC Tender loving care ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ คุณแม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเยอะ เคยต้องทานอาหารผ่านทางสายยาง ตอนนี้ถอดสายออกทานข้าวได้แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังต้องพาคุณแม่มาฟอกไตอาทิตย์ละ 3 ครั้ง แต่ทุกครั้งที่เจาะเลือด ค่าเลือดก็ดีมาก”
ในช่วงระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาโรคไตนั้น คุณพัทธ์วรินเกิดความกังวลว่า การที่คุณแม่ต้องนอนอยู่บนเตียงขณะฟอกไต และพอกลับมาถึงบ้านก็ต้องนอนทั้งวันอาจจะทำให้แขนขาอ่อนแรงได้ และด้วยความเป็นห่วงคุณแม่จะเกิดภาวะซึมเศร้า ท้อแท้ จึงปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางออก ซึ่งคุณหมอก็ได้วางโปรแกรมการรักษาที่เหมาะสมให้ใหม่ โดยในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ จะเป็นการฟอกไตที่ ศูนย์ไตเทียม ในห้องฟอกไตส่วนตัวที่มีระบบความปลอดภัยระดับเดียวกับห้อง ICU มีพยาบาลพร้อมช่วยเหลือทันทีที่คุณสิริกาญจน์รู้สึกไม่สบาย หรือมีเหตุฉุกเฉิน ส่วนวันอังคาร พฤหัส เสาร์ จะมาทำกายภาพบำบัดที่ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด แม้ว่าโปรแกรมนี้จะทำให้ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเกือบทุกวัน แต่เพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้การดูแลของผู้ชำนาญการ คุณพัทธ์วรินก็เต็มใจที่จะทำเสมอ
“ถ้าไม่ฟอกไตก็จะมีอาการน้ำท่วมปอด กระทบหัวใจ กระทบหลอดเลือด คำถามก็คือจะทำยังไงให้คุณแม่หายเบื่อ ก็เลยให้คุณแม่ทำกายภาพด้วย อยากให้ท่านได้ออกกำลังกายบ้าง ถ้าออกบนเตียงที่บ้านมันก็ไม่หมือนกับการได้มากายภาพกับคุณหมอ”
การทำกายภาพช่วงแรก ๆ นั้น คุณสิริกาญจน์มีอาการแขนขาไม่มีแรง เดินแทบไม่ได้ จนเมื่อทำกายภาพไปเรื่อย ๆ ร่างกายก็เริ่มแข็งแรงขึ้น จากที่นอนขยับไม่ค่อยได้ก็เริ่มขยับได้ เริ่มลุกขึ้นมานั่ง จากเดิมที่นับ หนึ่ง สอง สามแล้วล้ม ก็เริ่มนั่งเองได้ แล้วก็เริ่มยืนได้ พอยืนได้แล้วก็ค่อย ๆ ฝึกเดิน ซึ่งนอกจากคุณหมอที่คอยดูแลร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแล้ว พยาบาลก็เอาใจใส่ ดูแลเหมือนเป็นคนในครอบครัว
“เราต้องเชื่อมั่นหมอค่ะ มีความศรัทธา และไว้วางใจพยาบาลว่าจะดูแลแม่เราอย่างดี ส่วนตัวลูกเองก็ดูแลเรื่องจิตใจ อยู่เป็นเพื่อนแม่ให้มาก พอทั้งสามส่วนทำงานร่วมกัน คิดว่ามันดีขึ้นเยอะ รู้สึกว่าแค่นี้ก็คุ้มแล้ว ยังบอกคุณหมอเลยว่า โห มันก็เป็นปาฎิหารย์เหมือนกัน ปาฎิหารย์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากทุกคนทำหน้าที่อย่างดี”
-
ทำความเข้าใจ อาการไตวายเฉียบพลัน สาเหตุเกิดจากอะไร
คุณหมอกวิน ตังธนกานนท์ แพทย์อายุรศาสตร์โรคไต หนึ่งในทีมแพทย์ที่ทำการรักษา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ไตวาย (Kidney Failure) เป็นภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด จึงทำให้มีของเสียตกค้างอยู่ในร่างกาย ระดับน้ำ เกลือแร่ แร่ธาตุต่าง ๆ เกิดความไม่สมดุล หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้ระบบการทำงานภายในร่างกายเกิดความผิดปกติ และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้ โรคไตวาย ยังสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ไตวายเรื้อรัง และ ไตวายเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น เราควรสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติ เช่น อาเจียน คลื่นไส้ ไม่มีแรง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีภาวะซีด เลือดจาง เป็นตะคริวตอนดึก ปัสสาวะน้อยผิดปกติ ตัวบวม ตาบวม หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ ความดันโลหิตสูง ผิวแห้ง คันผิว ควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
สาเหตุของโรคไตวายที่พบบ่อย ได้แก่
- การสูญเสียเลือดหรือน้ำในร่างกายปริมาณมาก
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน ประเภท 1 และ 2
- การติดเชื้อในกลไกการกรองของเสียของไต ท่อไต และโครงสร้างโดยรอบ
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- มีปัสสาวะไหลย้อนกลับเข้าสู่ท่อไต
- ปัญหาการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต นิ่วในไต มะเร็งบางชนิด
สำหรับอาการที่เกิดขึ้นของคุณสิริกาญจน์นั้น คุณหมอเล่าว่า หลังจากตรวจพบว่ามีค่าโปรตีนต่ำ ตัวบวม น้ำท่วมปอด จึงได้ส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฎิบัติการเพิ่มเติม แล้วทำการรักษาตามอาการ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ ทั้งเรื่องโรคทางเดินอาหาร หัวใจ และติดเชื้อ รวมระยะเวลานอนที่โรงพยาบาลประมาณ 3 สัปดาห์
ปัจจุบัน คุณสิริกาญจน์ยังเดินทางมาฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม พร้อมกับทำกายภาพบำบัดสลับกันทุกสัปดาห์ ซึ่งสาเหตุที่ไม่สามารถทำต่อเนื่องพร้อมกันในวันเดียวได้ ก็เนื่องจากหลังทำการฟอกไตแล้วจะมีอาการอ่อนเพลีย จึงต้องให้มาทำกายภาพบำบัดในวันถัดไปแทน โดยโปรแกรมการรักษาที่ออกแบบมาให้กับคุณสิริกาญจน์นี้ ก็ได้ผู้ชำนาญเฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด มาช่วยดูแลร่วมด้วย ซึ่งก็ทำให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น แข็งแรงเร็วขึ้นตามลำดับ
รับคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคไต ได้ที่
ศูนย์ไตเทียม ชั้น 3 เคาน์เตอร์ C (EAST Lift)
โทร. 02-090-3126 เวลา 8:00 - 20:00 น.