“มากกว่ารัก..คือการเสียสละ” คู่รักเล่าประสบการณ์ ปลูกถ่ายไต มอบชีวิตใหม่ในร่างกายเดิม

“มากกว่ารัก..คือการเสียสละ” คู่รักเล่าประสบการณ์ ปลูกถ่ายไต มอบชีวิตใหม่ในร่างกายเดิม

ปกติถ้าคู่พ่อ-ลูก เป็นสายเลือดเดียวกันก็จะเข้ากันได้ ส่วนของผมกับภรรยา โอกาสที่จะไม่เข้ากันมีสูง

แชร์

“มากกว่ารัก..คือการเสียสละ”
คู่รักเล่าประสบการณ์
ปลูกถ่ายไต มอบชีวิตใหม่ในร่างกายเดิม

ปกติถ้าคู่พ่อ-ลูก เป็นสายเลือดเดียวกันก็จะเข้ากันได้ ส่วนของผมกับภรรยา
โอกาสที่จะไม่เข้ากันมีสูง

Sacrifice for Love Banner 4

การปลูกถ่ายไต หนึ่งในทางเลือกรักษาผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย เป็นการนำไตจากผู้บริจาคมาปลูกถ่ายในร่างกาย ซึ่งหากผู้ป่วยประสงค์ที่จะรับไต จากผู้บริจาคที่เสียชีวิตไปแล้ว ก็คงเป็นการรอคอยที่ทรมานจิตใจอยู่ไม่น้อย เพราะไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ส่วนการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ใช่ว่าจะเข้ากันได้เสมอไป

Patient Story วันนี้ เป็นเรื่องราวประสบการณ์ การปลูกถ่ายไต ของคู่สามี-ภรรยา คุณนพพล ตรีโรจน์พุฒิพงศ์ และ คุณวิรญา ฐิติวัฒนาการ ที่แม้ว่าการบริจาคไตจะทำให้ร่างกายไม่ครบสมบูรณ์เหมือนเดิม แต่หากทำให้คนรักมีคุณภาพชีวิตที่สดใส ก็เป็นการเสียสละที่คุ้มค่า เป็นอีกมุมมองของการแสดงความรักที่ไม่ต้องเอ่ยปากบอก ก็สัมผัสได้ว่ามากมายขนาดไหน มาติดตามเรื่องราวของทั้งคู่กัน

อาการผิดปกติที่นำไปสู่ โรคไตเรื้อรัง  

ช่วงปี 2564 คุณนพพล เริ่มสังเกตเห็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย แต่จากการตรวจในเบื้องต้นแล้ว ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ด้วยความกังวลใจ จึงเดินทางจากจังหวัดอุดรธานี มากรุงเทพฯ เพื่อตรวจเช็กสุขภาพอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

“อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเลยก็คือ ความดันสูง ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะบ่อย แล้วก็ผมร่วงด้วย ตอนตรวจที่อุดรธานียังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็เลยตัดสินใจเข้ามาปรึกษาคุณหมอที่กรุงเทพฯ คุณหมอได้เจาะเลือด ตรวจร่างกาย จนมารู้ว่าเป็น โรคไตเรื้อรัง มีถุงน้ำในไตที่เกิดจากกรรมพันธุ์”    

โรคถุงน้ำในไต หากปล่อยให้มีขนาดโตขึ้นจะส่งผลเสียหายต่อเนื้อไต และอาจนำมาซึ่ง อาการไตวาย ได้ ในช่วงแรกของการรักษา คุณนพพลได้พบกับ นพ.สิร สุภาพ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคไต ซึ่งแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อชะลอการดำเนินของโรคไม่ให้ไตเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และได้ให้การดูแลเรื่อยมาจนกระทั่ง นพ. สิร ได้ย้ายมาประจำอยู่ที่ โรงพยาบาลเมดพาร์ค คุณนพพลก็ตามมารักษาอย่างต่อเนื่อง

“คุณหมอสิร จะเน้นเรื่องการทานอาหารเป็นหลักครับ ให้เลี่ยงเนื้อแดง คุมอาหารรสเค็ม หวาน มัน ให้ทานยาตามที่สั่ง แล้วก็ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็มีนัดติดตามอาการอยู่เรื่อย ๆ ผมก็ตามคุณหมอมาที่เมดพาร์คด้วย รักษาประคองกันไปจนวันหนึ่ง คุณหมอบอกว่าอาการของผม เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแล้ว”

Sacrifice for Love Banner 3

สละไต มอบชีวิตใหม่  

อาการไตวายเปรียบเสมือนมหันตภัยเงียบที่ค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ระยะที่ 5 ที่การทำงานของไตเหลือน้อยกว่า 15% ไม่สามารถรักษาด้วยการคุมอาหาร และกินยาเหมือนที่ผ่านมา คุณนพพลจำเป็นต้องเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการบำบัดทดแทนไต ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

“คุณหมอสิร มีทางเลือกให้ 2 ทาง ระหว่าง ฟอกไต กับ ปลูกถ่ายไต แล้วก็อธิบายรายละเอียดของแต่ละแบบ ข้อดี ข้อเสีย ซึ่งสุดท้ายแล้ว คุณหมอแนะนำว่า การปลูกถ่ายไต เป็นการรักษาที่ดีที่สุด ก็เลยตัดสินใจเลือกแบบนี้ครับ”

แม้ว่าการปลูกถ่ายไตจะสามารถเลือกได้ว่าจะรับบริจาคจากผู้เสียชีวิตแล้ว หรือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่กรณีที่คนไข้ยังไม่เคยฟอกไตมาก่อน ในประเทศไทยต้องรับไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น คุณวิรญา หนึ่งในผู้ใกล้ชิดที่รับรู้ถึงอาการเจ็บป่วยของสามี และเฝ้าดูแลประคับประคองเคียงข้างกันมาตลอด จึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่

“บริจาคไตให้คุณนพพลค่ะ อยากให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตอนแรกก็กลัวเจ็บ เพราะเป็นผ่าตัดใหญ่ เราไม่เคยผ่าตัดแบบนี้มาก่อน แต่หลังจากได้คุยกับทีมแพทย์ และพยาบาลประสานงานปลูกถ่ายไต ของ รพ. เมดพาร์ค แล้วก็รู้สึกเชื่อมั่นค่ะ ที่นี่มีพยาบาลผู้ประสานงานสำหรับการปลูกถ่ายไตโดยเฉพาะ คอยแนะนำทุกอย่าง ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด ก็เลยสบายใจมากขึ้น” 

ผลตรวจเนื้อเยื่อเข้ากันไม่ได้

ในขั้นตอนของการตรวจสุขภาพก่อนการปลูกถ่ายไต คุณวิรญา และคุณนพพล จะต้องได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เช่น พบแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ ตรวจร่างกายด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อัลตร้าซาวด์ สแกนปอด ส่องกล้อง และตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ รวมถึงตรวจความพร้อมทางจิตใจร่วมด้วย หากไม่ผ่านตามเกณฑ์ ก็ไม่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนสำคัญก็คือ การส่งเลือดไปตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อที่สภากาชาดไทย

“พยาบาลที่คอยประสานงานเรื่องปลูกถ่ายไต บอกว่า ผลตรวจเนื้อเยื่อของเราทั้งคู่มีตัวที่ไม่ตรงกันอยู่ ไม่เข้ากันทั้งหมด ซึ่งปกติถ้าคู่พ่อ-ลูก เป็นสายเลือดเดียวกันก็จะมีโอกาสเข้ากันได้มากกว่า ส่วนของผมกับภรรยา โอกาสที่จะไม่ตรงกันสูงครับ ตอนนั้นกังวลกันทั้งคู่ ต้องคอย โทร.ถามพยาบาลว่าผลออกหรือยัง สรุปว่า มี 6 ตัวที่ไม่เข้ากัน แต่ถือว่าผ่านเกณฑ์ของสภากาชาดไทย” 

Sacrifice for Love Banner 2

วันที่รอคอย ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

9 ตุลาคม 2565 เป็นวันผ่าตัดครั้งสำคัญที่ทั้งคู่จำได้ไม่ลืม หลังจากผ่านขั้นตอนตรวจความพร้อมทั้งทางร่ายกายและจิตใจแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทางโรงพยาบาลได้นัดคุณนพพล และคุณวิรญา มาถึงล่วงหน้า 1 วัน เพื่อเตรียมความพร้อม พยาบาลได้ตรวจเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ แล้วงดน้ำ งดอาหาร หลังจากเที่ยงคืนไปแล้ว จนกระทั่งรุ่งเช้าก็มีเจ้าหน้าที่มารับตัวไปยังห้องผ่าตัด

“ผมกับภรรยาผ่าตัดคนละห้อง แต่ว่าอยู่ห้องติดกันครับ เขาเข้าไปก่อนประมาณ 1 ชั่วโมง กว่าผมจะได้เข้าห้องผ่าตัดก็ราว ๆ เที่ยง ออกมาอีกที 5 - 6 โมงเย็น คุณหมออาคเนย์ (นพ.อาคเนย์ วงษ์สวัสดิ์) เป็นคนผ่าตัดให้ภรรยา ผ่าตรงด้านซ้าย ใต้ซี่โครง แผลจะยาวประมาณคืบนึง ส่วนของผมคุณหมอฉัตรชัย (ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์) และคุณหมอเอกพจน์ (นพ.เอกพจน์ ลี้วัฒณากุล) เป็นผู้ผ่าตัดให้ แผลอยู่ทางด้านขวามือด้านล่าง เป็นรูปตัวแอล เป็นลักษณะเอาไตของภรรยาไปวางไว้ครับ”  

การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเสร็จสิ้นไปด้วยดีทั้งคู่ คุณวิรญารู้สึกเจ็บแผลผ่าตัดบ้างเล็กน้อย ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 5 วัน แต่สำหรับคุณนพพลนั้น ยังต้องอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยวิกฤตอยู่ 

“ผลตรวจเนื้อเยื่อของผมกับภรรยาไม่ได้เข้ากันทั้งหมด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะปฏิเสธไต และระดับยากดภูมิคุ้มกันที่ต้องรับประทานหลังผ่าตัดก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ ช่วงแรกคุณหมอเลยต้องปรับยากดภูมิให้เยอะหน่อย ต้องปรับหลายครั้งถึงจะได้ตามเป้าหมาย คุณหมอกวิน (นพ.กวิน ตังธนกานนท์) ก็มาดูแลให้คำปรึกษาทุกอย่าง วันแรกหลังผ่าตัดก็ต่อสายน้ำเกลือตลอด ปัสสาวะเยอะมาก 12 ลิตร ต้องเทปัสสาวะเกือบทุกชั่วโมง แล้วช่วงแรก ๆ ยังไม่กล้าเดินเยอะครับ เจ็บแผล น้ำหนักลงเยอะ จาก 67 กิโลกรัม พักฟื้นไม่กี่วันลดเหลือ 58 กิโลกรัม”

“ขอบคุณภรรยาที่บริจาคไต ทำให้สุขภาพของผมดีขึ้น แล้วก็ไม่ต้องฟอกไตครับ สำหรับใครที่กำลังเป็นโรคไตอยู่ ไม่ต้องกลัวหรือกังวลไปนะครับ ถ้ามารักษาที่เมดพาร์ค คุณหมอที่นี่ดูแลดีเป็นกันเอง แล้วก็มีพยาบาลประสานงานปลูกถ่ายไตที่เอาใจใส่เป็นอย่างดีครับ”


Kidney (sacrifice for Love ) Banner 1

ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และการบำบัดทดแทนไตด้วยการ ปลูกถ่ายไต

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายลงไปทีละน้อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระยะเวลาหลายเดือนหรือนานเป็นปี จนไม่สามารถทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายได้ตามปกติ

ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่ค่อยรู้ตัวถ้าไม่ได้มีการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ กว่าผู้ป่วยจะสังเกตเห็นอาการผิดปกติและเข้ารับการรักษา ก็อาจเป็นช่วงที่ไตเสื่อมสภาพลงไปมากจนฝ่อ และเข้าสู่ระยะสุดท้าย ทำให้มีของเหลว เกลือแร่ และของเสียสะสมในร่างกายมากขึ้นในระดับที่อาจเป็นอันตราย โดยอาจแสดงอาการหลายอย่าง เช่น ขาและเท้าบวม ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะบ่อย ซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ความดันสูง

ไตวายเรื้อรัง สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

หากผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ดังนั้น เพื่อลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะต้องฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง แพทย์จะแนะนำสิ่งที่สามารถทําหรือหลีกเลี่ยงการสร้างความเสียหายต่อไต ชะลอไม่ให้ไตเสื่อมสภาพไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม 
  • ควบคุมภาวะโภชนาการให้เหมาะสม โดยเฉพาะปริมาณโปรตีนที่รับประทานต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดชนิด NSAIDs และ cox-2 inhibitors  
  • งดสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพร หรือยาที่อาจส่งผลต่อไตโดยไม่จำเป็น หรือแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

การปลูกถ่ายไต สำหรับคนไข้ โรคไตวายเรื้อรัง

ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย และต้องเข้ารับการฟอกเลือด (ฟอกไต) ด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางช่องท้อง เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นโรคไตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนที่ไม่สะดวกฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง ก็ยังมีอีกหนึ่งวิธีการบำบัดทดแทนไต นั่นคือ การปลูกถ่ายไต

การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดนำไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต หรือผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย มาปลูกถ่ายให้กับคนไข้ไตวายเรื้อรัง โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดนำไตของคนไข้ออก ไตใหม่จะทำหน้าที่ทดแทนไตเดิมที่เสียหาย และหลังการปลูกถ่ายไตสำเร็จ สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ 

คนไข้ที่สามารถทำการปลูกถ่ายไตได้ จะต้องมีคุณสมบัติ ได้แก่

  • เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
  • ยินยอมเข้ารับการผ่าตัดด้วยความสมัครใจ
  • ไม่เป็นโรครุนแรงทางกายใด ๆ รวมทั้งโรคทางจิตเวช ที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด หรือการรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
  • ไม่เป็นผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งอยู่
  • ไม่มีการติดเชื้อที่เป็นข้อห้ามต่อการปลูกถ่ายไต

ผู้ประสงค์จะบริจาคไต กรณีผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่ จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นอย่างไร

  • ผู้บริจาคต้องมีอายุระหว่าง 18-60 ปี  
  • มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เช่น บิดา มารดา บุตร พี่ น้อง 
  • หากเป็นคู่สมรส ต้องจดทะเบียนสมรส อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี (ยกเว้นมีบุตรร่วมกัน)
  • ยินยอมให้ด้วยความสมัครใจ ปราศจากการบังคับ ข่มขู่  
  • มีหมู่เลือด และผลตรวจ HLA Crossmatch ที่เข้ากันได้
  • มีสภาพจิตใจปกติ สามารถเข้าใจถึงผลดีผลเสียจากการบริจาคไต และตัดสินใจโดยใช้วิจารณญาณของตนเองได้
  • ไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการบริจาคไต

อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายไตเป็นการผ่าตัดใหญ่ ที่มีขั้นตอนซับซ้อน ไม่ใช่ว่าจะเป็นไตของใครก็ได้ ต้องมีการเตรียมตัววางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีที่รับบริจาคไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต หรือผู้เสียชีวิตที่มีภาวะสมองตาย แม้แต่ตัวผู้ป่วยเองก็ต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดีด้วย สำหรับกรณีผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่ จะต้องผ่านการตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือด และเนื้อเยื่อระหว่างผู้ป่วยและผู้บริจาคไตอย่างละเอียดรอบคอบ โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • ตรวจเลือด ตรวจร่างกาย ตรวจสภาพจิตใจ ทั้งของผู้บริจาคและผู้รับบริจาค  
  • ตรวจเนื้อเยื่อ (HLA typing) หรือ DNA ดูความเข้ากันได้ระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาค  
  • ส่งชื่อเข้าประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพื่อลงความเห็นชอบ  
  • นัดวันผ่าตัดปลูกถ่ายไต  

สำหรับเคสคุณนพพลนั้น หลังจากการผ่าตัดแล้ว นพ.กวิน ตังธนกานนท์ ได้ให้ยากดภูมิคุ้มกัน และตรวจเลือดเพื่อดูระดับยากดภูมิคุ้มกัน รวมถึงตรวจประเมินค่าการทำงานของไต ค่าของเสียในเลือด เพื่อประเมินความเสี่ยงที่ร่างกายปฏิเสธไต ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้ และเพื่อตรวจสอบการทำงานของไตใหม่ จนมั่นใจว่าสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ โดย นพ. กวิน ได้ให้ความคิดเห็นว่า

“ไตที่ปลูกถ่ายไป นับว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ตราบใดที่ยังอยู่ในตัวเรา ก็ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต หลังผ่าตัดใหม่ ๆ จะให้ระดับยาค่อนข้างสูง แล้วค่อย ๆ ลดลง คุณนพพลขนาดให้ยาในปริมาณที่มากแล้ว แต่ผลเลือดออกมาค่าระดับยากดภูมิยังไม่ถึงเป้า ก็เลยปรับยานานกว่าคนอื่นครับ”

Sacrifice for Love Banner 5

ส่วนสาเหตุที่ถ่ายปัสสาวะมากก็เนื่องจากก่อนผ่าตัด คนไข้มีภาวะไตวาย น้ำในร่างกายไม่สามารถขับออกได้และไปคั่งอยู่ในร่างกาย พอผ่าตัดแล้ว ไตใหม่ทำงานได้ดี น้ำส่วนเกินที่เคยคั่งอยู่จึงค่อย ๆ ถูกขับออกมา ซึ่งในช่วงแรกต้องระวังเรื่องของการสูญเสียน้ำในปริมาณมาก แพทย์จะต้องให้น้ำเกลือเพื่อให้น้ำที่เข้าร่างกายกับน้ำที่ขับออกมีความใกล้เคียงกัน ป้องกันภาวะขาดน้ำ

ปัจจุบัน ทั้งคุณนพพลและภรรยา กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน เพียงแต่ช่วงแรกต้องมีการติดตามใกล้ชิด ภายใต้การดูแลจากพยาบาลประสานงานปลูกถ่ายไต ที่พร้อมให้คำปรึกษา นัดหมายแพทย์ ได้ตลอด 24 ขั่วโมง

รับคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคไตและการปลูกถ่ายไต ได้ที่   
คลินิกโรคไต แบบบูรณาการ ชั้น 8 เคาน์เตอร์ B (EAST Lift)
โทร. 02-090-3122 เวลา 8:00 - 20:00 น.

เผยแพร่เมื่อ: 14 ก.ย. 2023

แชร์