“รักตัวเองและเป็นผู้ให้” คุณพูนพรรณ ไชยกุล
กับประสบการณ์รักษามะเร็ง Sarcoma
“SARCOMA ไม่เหมือนมะเร็งชนิดอื่น
มันไม่แสดงผลในเลือด ดังนั้น ตรวจเลือดก็ไม่เจอ
และมันเกิดได้ทุกจุดของร่างกาย กว่าเราจะรู้ตัว
มันก็โตเป็นก้อนแล้ว”
ซาร์โคมา...มะเร็งที่ไร้สัญญาณเตือน
คุณพูนพรรณ ไชยกุล เล่าลักษณะอันร้ายกาจของ “SARCOMA” มะเร็งที่น้อยคนจะเคยได้ยินหรือรู้จัก เพราะพบได้ยากมากในผู้ป่วยคนไทย นั่นหมายความว่า งานวิจัย กรณีศึกษา ยาที่ใช้รักษา รวมไปถึงแพทย์ผู้ชำนาญการเกี่ยวกับ ซาร์โคมา อาจยังมีไม่มากนักในบ้านเรา นั่นจึงเป็นเหตุผลให้คุณพูนพรรณ เป็นผู้เริ่มก่อตั้ง กองทุนเพื่องานวิจัยขั้นสูง ศิริราชมูลนิธิ สำหรับโรคมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (SARCOMA) เพื่อความหวังสำหรับแนวทางการรักษาใหม่ในอนาคต
แววตาที่อ่อนโยน กับท่าทางที่ยังกระฉับกระเฉงแข็งแรง ทำให้เราคาดไม่ถึงว่าแท้จริงแล้ว คุณพูนพรรณกำลังพยายามเอาชนะมะเร็งซาร์โคมา ที่อยู่กับเธอมายาวนานถึง 4 ปี
“เมื่อก่อนทำงานไม่ค่อยได้พักผ่อน และทำกิจกรรมเยอะ แต่เราตรวจสุขภาพเป็นประจำอยู่แล้ว ก็คิดว่าตัวเองแข็งแรงมาตลอด เดือนกรกฎาคม ปี 2562 ก็ไปตรวจสุขภาพ ผลเลือดก็ไม่แสดงค่าว่าจะเป็นมะเร็งหรืออะไรทั้งสิ้น จนกระทั่งบังเอิญคลำไปเจอก้อนที่หน้าท้อง”
เจ้าก้อนปริศนานั้น ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดหรือกลัวว่าจะเป็นโรคร้าย เพียงแต่สร้างความสงสัยแคลงใจเล็กน้อย คุณพูนพรรณจึงไปตรวจ CT Scan ซึ่งผลตรวจพบว่า บริเวณผนังกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ใหญ่ มีก้อนเนื้อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 ซม. หลังจากผ่าตัดแบบส่องกล้อง เพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น... ก้อนเนื้อนั้นคือมะเร็ง Leiomyosarcoma ซึ่งเป็นมะเร็งหายาก ที่ทำให้คนแข็งแรงคนหนึ่ง กลายเป็นคนป่วยภายในข้ามคืน
เนื่องจากในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งซาร์โคมาค่อนข้างน้อยมาก ประกอบกับแพทย์ที่นี่ยังไม่แนะนำให้คีโม แต่ให้แค่ติดตามคอยดูเท่านั้น คุณพูนพรรณจึงส่งผลแล็บและชิ้นเนื้อไปตรวจสอบที่ University of Miami (Sylvester medical center) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและรักษาผู้ป่วย SARCOMA แต่ละปีมีผู้ป่วยหลายร้อยคนเข้ามารักษา จึงอาจมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างไปจากที่เมืองไทย หลังจากแพทย์อ่านผลแล็บแล้วก็อยากให้ไปที่ศูนย์ฯ เพื่อทำเคมีบำบัด 6 ไซเคิล ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน คุณพูนพรรณตัดสินใจเดินทางไปรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา
มะเร็งก้อนที่สอง...
หลังจากเดินทางกลับมารักษาตัวต่อที่เมืองไทยในช่วงต้นปี 2563 เวลาผ่านไปประมาณปีครึ่ง (ช่วงกลางปี 2564) ก็มาตรวจพบก้อนเนื้อที่สองขึ้นมาอีกบริเวณใกล้กับจุดเดิม การผ่าตัดก้อนเนื้อจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ทว่าผลการผ่าตัดยังไม่น่าวางใจเท่าที่ควร
“ก้อนมะเร็งมันอยู่ตรงกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหน้าท้องติดกับลำไส้ ถ้าตัดไปแต่ก้อน ไม่ได้ตัดส่วนรอบ ๆ มันอาจจะยังเหลือมะเร็งให้เติบโตต่อได้ คราวนี้จึงต้องตัดเอาบางส่วนของผนังหน้าท้องและลำไส้ออกไปด้วย”
คุณพูนพรรณตัดสินใจเข้ามาปรึกษากับทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นพ.สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็ง ที่ศึกษาจบมาจาก University of Texas MD Anderson Cancer Center หลังจากเช็กประวัติและตรวจอย่างละเอียด ทีมแพทย์ลงความเห็นว่า อาการค่อนข้างน่าเป็นห่วง จึงเสนอวิธีการรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด 4 ไซเคิล เพื่อให้ก้อนเนื้อยุบลง แล้วพักฟื้น เตรียมผ่าตัด สลับกับให้เคมีบำบัดต่อไปอีก 2 ไซเคิล รวมเป็น 6 ไซเคิล
“การให้คีโมมันหนักมากนะคะ เพราะว่าคีโมแต่ละ 1 ไซเคิลของพี่คือ 2 เข็ม ไซเคิลแรกยังไม่เท่าไหร่ แค่รู้สึกเพลีย ๆ บ้าง แต่พอไซเคิลที่สองเนี่ยจะมีอาการมึน เพลียหนักกว่าเดิมประมาณ 7-8 วัน เรื่องคลื่นไส้อาเจียนไม่มี เพราะคุณหมอสุดปรีดาจะให้ยาดักไว้ ส่วนเรื่องอาหารนั้น ทานอะไรก็ไม่รับรู้รสชาติ”
เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อความสุข
สำหรับการผ่าตัดนั้นผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และทีมแพทย์ยังคงติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วที่รู้จักกับซาร์โคม่า คุณพูนพรรณเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การให้เคมีบำบัดส่งผลกระทบทำให้เซลล์ที่ดีต้องถูกทำลายไป จึงปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต หันกลับมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากปรับอาหารการกิน เน้นผัก ผลไม้ โปรตีนจากพืชเป็นหลัก อาจจะมีทานปลาบ้างนิดหน่อย รวมไปถึงวิตามินเสริมแบบออร์แกนิก ทั้งยังสนใจแนวทางการรักษาอื่นควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติบำบัด การทำอาณาปนสติ ฝึกหายใจเพื่อความผ่อนคลาย
รวมถึงปรับวิธีคิดใหม่ “รักตัวเองมากขึ้น” และเป็น “ผู้ให้” กลับคืนสังคม เพราะความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความสุขของคุณพูนพรรณทุก ๆ วัน คือการรักตัวเอง รักผู้อื่น และมอบความปรารถนาดีให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งซาร์โคมา ด้วยการจัดตั้งมูล กองทุนเพื่องานวิจัยขั้นสูง ศิริราชมูลนิธิ สำหรับโรคมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (SARCOMA) สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งซาร์โคมา ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้ยากในผู้ป่วยไทย เพราะที่ผ่านมามักขาดข้อมูลเพื่อใช้ประกอบทางการรักษา รวมถึงความเข้าใจในกลไกก่อโรค เพื่อใช้ในการเลือกใช้การรักษาที่มีความจำเพาะกับผู้ป่วยแต่ละราย
“ใจนำกายเป็นหลัก… บอกตัวเองเสมอว่า ฉันปกติดีทุกอย่าง เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ชีวิตของเราแบบหนึ่ง ซึ่งวันนี้เราเรียนรู้มาพอแล้ว แล้วเราอยากจะอยู่กับครอบครัวเราไปนาน ๆ ดังนั้น เราจะกลับไปเป็นคนใหม่ที่รักตัวเองให้มากขึ้น และขอบคุณทุกสิ่งรอบตัวเรา เช่น พระอาทิตย์ จักรวาล ครอบครัว ที่ทำให้เรามีลมหายใจ มีความสุข แข็งแรงอยู่ทุกวัน ให้ความรัก ความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน”
มะเร็งซาร์โคมา เกิดจากสาเหตุใด
มะเร็งซาร์โคมา หรือบางคนอาจเคยได้ยินคำว่า มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน หรือ Soft tissue sarcoma แทบไม่ถูกพูดถึงกันในวงกว้าง เพราะเป็นมะเร็งที่พบได้ยากมาก ทำให้การวิจัยเพื่อพัฒนาตัวยาเป็นไปได้ช้า
สาเหตุของมะเร็งซาร์โคมา อาจจะยังไม่แน่ชัด แต่มีการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่อ ซึ่งการกลายพันธุ์นั้นก็ไม่ได้จำเพาะเจาะจง ดังนั้น จึงไม่มียามุ่งเป้าที่ชัดเจนพอจะนำไปใช้ได้ ยาที่ใช้รักษายังไม่มาก การตอบสนองต่อยามักไม่ค่อยตอบสนอง และค่อนข้างจะดื้อยา ส่วนจุดที่พบมะเร็งนั้นก็ถือว่าไม่แน่นอน เพราะสามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งในร่างกายของคนเรา แต่ละจุดก็จะมีการวินิจฉัยและการรักษาที่แตกต่างกันไป
นพ.สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ หนึ่งในทีมแพทย์ผู้ดูแล ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ซาร์โคมาแต่ละชนิดตอบสนองต่อยาไวไม่เท่ากัน ชนิดที่พบในคุณพูนพรรณ คือ Leiomyosarcoma ไม่มีชื่อภาษาไทย เกิดขึ้นบริเวณผนังกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ใหญ่ และมีการแพร่กระจายไปยังกล้ามเนื้อเรียบของผนังหน้าท้อง ถือว่าเป็นเคสที่หายากมากและท้าทายพอสมควร ปกติแล้วมะเร็งถ้าเกิดในตำแหน่งแคบ เช่น รูทวาร ท่อน้ำดี มีก้อนประมาณ 1 เซ็นติเมตร ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมาก หรือหากไปอยู่ในอวัยวะสำคัญ เช่น กระดูก ก็จะปวดกระดูก อยู่ในหลอดลมก็จะระคายคอ ไอ แสดงอาการออกมาให้เห็นชัดเจน แต่สำหรับคุณพูนพรรณนั้นเกิดในช่องท้อง ซึ่งยังมีพื้นที่ให้ขยายได้อีก และด้วยขนาดก้อนที่เล็กจึงไม่ทำให้รู้สึกปวดจนผิดสังเกต”
การรักษามะเร็งซาร์โคมา
วิธีการรักษาหลัก ๆ แล้ว แพทย์จะผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดและ/หรือรังสีบำบัด ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายเคส หากสามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด แต่ผู้ป่วยส่วนมากจะผ่าไม่ได้เนื่องจากกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวและมาตรวจเจอ ก็อาจจะแพร่กระจายไปทั่วแล้ว แพทย์จึงต้องให้ยาแทน
“ตัวยาที่ใช้รักษาเป็นสูตรเดียวกันกับที่ทาง University of Miami (Sylvester medical center) ใช้ ปกติแล้วโอกาสตอบสนองต่อยา ถ้าได้ประมาณ 20-30% ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว แต่โชคดีที่มีการตอบสนองต่อยาดีมาก แนวโน้มในปัจจุบันคือสามารถควบคุมโรคได้ และอยู่ในขั้นติดตามต่อไป หากโรคไม่กลับมาเป็นอีกภายใน 5 ปี ก็มีแนวโน้มสูงที่จะหายขาด” นพ.สุดปรีดา กล่าว
รพ.ศิริราช ได้ริเริ่มโครงการถอดรหัสพันธุกรรมจากผู้ป่วยมะเร็งไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งด้วยเทคโนโลยีโอมิกส์สมัยใหม่มาอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งกองทุนเพื่องานวิจัยขั้นสูง ศิริราชมูลนิธิ สำหรับโรคมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (SARCOMA) จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดองค์ความรู้พื้นฐาน และการสร้างองค์ประกอบสำคัญของวิจัย เช่น โมเดลมะเร็งจำลองนอกร่างกาย ในการช่วยรักษาผู้ป่วยมะเร็ง sarcoma ตามศาสตร์การแพทย์แม่นยำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รับคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคมะเร็ง ได้ที่
ศูนย์อายุรศาสตร์โรคมะเร็ง และโลหิตวิทยา ชั้น 3 เคาน์เตอร์ A (WEST Lift)
โทร. 02-090-3124 เวลา 8:00 - 20:00 น.