ROSA เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ที่นำอนาคตมาสู่ปัจจุบัน
การ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นหนึ่งในการผ่าตัดเพื่อช่วยแก้ปัญหาความเสื่อมของกระดูก ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของคนไข้ ที่เคยเป็นไปอย่างยากลำบาก กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จะเป็นอย่างไร เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการใช้ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการรักษา หลายคนตั้งคำถามว่าการใช้หุ่นยนต์นั้นปลอดภัย เชื่อถือได้เท่าศัลยแพทย์หรือไม่ ใช้แค่หุ่นยนต์ผ่าตัดอย่างเดียวหรือ แล้ววิธีนี้ดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิมอย่างไร
ลองมาพูดคุยกับ นพ.สิริพงศ์ รัตนไชย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ด้านศัลยกรรมผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม ผู้ผ่านประสบการณ์การผ่าตัดร่วมกับหุ่นยนต์ผู้ช่วยมาหลายสนาม มองเห็นจุดเด่น และจุดด้อยที่ความชำนาญของศัลยแพทย์สามารถทดแทน เติมเต็มเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีตามความคาดหวัง และก่อประโยชน์แก่คนไข้สูงที่สุด
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หนึ่งในการผ่าตัดรักษาที่คาดหวังได้
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จริง ๆ แล้วคือการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม เพราะเปลี่ยนเฉพาะผิวข้อที่สึกหรอ ไม่ใช่การเปลี่ยนทั้งข้อเข่า ซึ่งเป็นผิวข้อเข่าบริเวณส่วนปลายกระดูกต้นขา และบริเวณส่วนต้นกระดูกหน้าแข้ง บริเวณนี้จะมีผิวกระดูกอ่อนหุ้มอยู่ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ใช้งานไปนาน ๆ จะเกิดการสึกหรอ และเสื่อมได้ ทำให้เนื้อกระดูกที่แข็งเสียดสีกัน เกิดอาการมีเสียงกร๊อบแกร๊บในข้อ แต่เพราะบริเวณผิวข้อเข่าดังกล่าวไม่มีเส้นประสาทไปเลี้ยง การสึกหรอในช่วงแรกจึงมีแต่เสียงในข้อ อาจยังไม่ได้มีอาการเจ็บปวดอะไร จนกระทั่งการสึกหรอลามไปจนถึงกระดูก ที่มีทั้งเส้นเลือด เส้นประสาท ก็จะทำให้ ปวดเข่า อักเสบ และบวม ขึ้นมาได้
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการสึกหรอของข้อเข่า
- ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- เพศหญิง มีความเสี่ยงกระดูกข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย
- กรรมพันธุ์ บางคนจะมีไขข้อไม่แข็งแรง สึกหรอเร็ว
- มีโครงสร้างกระดูกผิดปกติ
- ปัจจัยที่ควบคุมได้
- น้ำหนักเกิน ส่งผลให้เกิดแรงกดที่ข้อเข่ามากเกินไป
- บาดเจ็บที่ข้อเข่าแล้วได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง
- ใช้งานเข่าผิดวิธี ก่อให้เกิดแรงกระทำมากเกินไปบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ
- ติดเชื้อที่บริเวณข้อเข่า
- โรคไขข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ เก๊าท์ และอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
“ต่อให้เราระวังอย่างดี การใช้งานเข่าตามธรรมชาติก็ก่อให้เกิดการสึกหรอได้เช่นกัน เราเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะผิวข้อเข่าสึกกร่อน หรือข้อเข่าเสื่อมนั่นเองครับ และเมื่อผิวข้อเข่าไม่เหลือแล้ว สึกกร่อนหมดแล้ว การรักษาก็จะเป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าที่สึกหรอออก แล้วใส่ผิวข้อเข่าเทียมลงไปแทนครับ”
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จะประสบความสำเร็จอย่างดีต้องอาศัยปัจจัย 4 อย่าง
- ความเหมาะสมของคนไข้ ภาวะการสึกกร่อนเหมาะสมที่จะได้รับการผ่าตัด และคนไข้ก็ต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด ตามคำแนะนำของแพทย์
- วัสดุข้อเข่าเทียมที่ใช้ ต้องมีคุณภาพดีที่สุด และเหมาะสมกับคนไข้ที่สุด
- ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการ ตั้งแต่การพิจารณาวิธีการรักษา การทำหัตถการ การเลือกใส่ข้อเข่าเทียมลงไปในตำแหน่งที่เหมาะสม
- โรงพยาบาลที่มีความพร้อม ทั้งเครื่องมือและเทคโนโลยี อัตราการติดเชื้อต่ำ ได้มาตรฐาน และมีทีมแพทย์เฉพาะทางสนับสนุนในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
“สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ การผ่าตัด คือภาวะแทรกซ้อน ทั้งจากโรคประจำตัว และจากการผ่าตัด แม้จะพบไม่บ่อย แต่การที่โรงพยาบาลมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์และปัญหาต่าง ๆ มีแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ ที่จะเข้ามาดูแลคนไข้ได้รวดเร็ว มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมช่วยเหลือคนไข้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ก็จะช่วยให้การผ่าตัดผ่านไปอย่างราบรื่นครับ”
ถึงอย่างไร การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้น ก็อาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจที่สุด ผ่าตัดแล้วอาจต้องมาผ่าตัดแก้ใหม่ นั่นเป็นเพราะผิวข้อเข่าเทียมที่ใส่เข้าไปอยู่ในจุดที่ไม่เหมาะสม หรือใส่เข้าไปแล้วข้อเทียมหลวมจากกล้ามเนื้อเส้นเอ็นรอบ ๆ เข่ายืดหลวม จากการขาดการออกกำลังกายและอายุที่มากขึ้น ภาวะกระดูกพรุน กระดูกฝ่อ ทำให้ขนาดของกระดูกเล็กลง จากเดิมที่ใส่พอดีก็หลวมขึ้น ซึ่งตรงนี้ นอกจากความชำนาญของศัลยแพทย์แล้ว การมีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำเข้ามาช่วย จะช่วยลดโอกาสความผิดพลาด หรือผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด อัตราการกลับมาผ่าตัดแก้ไขลดลง
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียม (ROSA) ต้องมาพร้อมแพทย์ที่มีความชำนาญ
“ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีมากมายที่วงการแพทย์พยายามนำเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผ่าตัดรักษา ลดโอกาสเกิดความผิดพลาด เพิ่มโอกาสของความสำเร็จ เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แต่ถึงอย่างไร เทคโนโลยีเหล่านั้นจำเป็นต้องถูกใช้โดยศัลยแพทย์ผู้ที่มีประสบการณ์และความชำนาญมากเพียงพอ จึงจะสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และช่วยอุดช่องโหว่ของเทคโนโลยีได้ด้วย”
เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียม เป็นการใช้แขนกลหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการควบคุมและชี้ตำแหน่งในการตัดแต่งเตรียมผิวข้อเข่า เพื่อความแม่นยำ ลดโอกาสการผิดพลาดของศัลยแพทย์ให้เหลือในอัตราที่น้อยมากที่สุด โดยแขนกลดังกล่าวจะมีสองแบบ ได้แก่ แบบที่ปลายเป็นอุปกรณ์ช่วยเล็งเพื่อให้แพทย์ใช้เลื่อยตัด กับแบบที่ปลายเป็นใบเลื่อยตัด
“จริงอยู่ว่าโดยปกติความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นมีประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ หากใช้หุ่นยนต์ผู้ช่วยอาจลดได้เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่า ดูเป็นตัวเลขที่เหมือนจะน้อย แต่ลองคิดดูว่าปีหนึ่งหมอต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมคนไข้กี่ราย แล้ว 3 เปอร์เซ็นต์นั้นคิดเป็นกี่ราย ซึ่งคนไข้รวมถึงหมอทุกคนก็ย่อมอยากให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จครับ ไม่มีใครอยากเป็นคนที่เจอข้อผิดพลาด”
โดยปกติแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะต้องทำการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่เพื่อดูลักษณะของกระดูกขา หรืออาจต้องสอดแท่งเหล็กเข้าไปในโพรงกระดูกเพื่อหาองศาของกระดูกขาคนไข้ วิธีการเหล่านี้ทำให้แผลผ่าตัดใหญ่ และเสียเลือดมาก แต่การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาช่วย การใช้งานหุ่นยนต์จะมีขั้นตอนของ ‘การลงทะเบียน’ คือการเจาะฝังอุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ตามจุดที่กำหนดลงบนกระดูกขา ประกอบกับแพทย์จะเป็นผู้ใช้อุปกรณ์บันทึกตำแหน่งบันทึกจุดต่าง ๆ ให้โปรแกรมคำนวณและแสดงลักษณะของกระดูกขาของคนไข้ออกมาเป็นภาพ 3 มิติ เสมือนจริง ใช้อ้างอิงในการหาตำแหน่งและองศาของการผ่าตัดได้อย่างละเอียด
“เทคโนโลยีนี้ช่วยให้แผลผ่าตัดเล็กลง เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแพทย์จะป้อนข้อมูลที่จำเป็นทุกอย่างเข้าไปแล้วเครื่องมีหน้าที่คำนวณหาจุดลงใบมีดที่เหมาะสม ที่เหลือคือหน้าที่ของหมอ ว่าจะยึดตามการคำนวณของหุ่นเป๊ะ ๆ หรือจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ก็แล้วแต่ความชำนาญและประสบการณ์ของหมอแต่ละคนครับ”
นายแพทย์สิริพงศ์เล่าว่า แม้จะมีหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มความแม่นยำ แต่ในการผ่าตัดจริง ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ด้วยลักษณะทางกายภาพ ลักษณะของบริเวณข้อเข่าของคนไข้ จำเป็นต้องอาศัยความยืดหยุ่น พลิกแพลงในการผ่าตัดรักษา ตรงนี้จึงทำให้ศัลยแพทย์ผู้ใช้หุ่นมีความสำคัญที่สุด
“มีหลายคนบอกว่าการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์นี่ทำให้หมอทำงานง่าย ไม่ต้องคิดอะไร แต่ผมไม่คิดแบบนั้นครับ เพราะหุ่นยนต์จะพิจารณาการรูปร่างของกระดูกคนไข้ตามข้อมูลที่ได้รับเป๊ะ ๆ จะมองเห็นแค่กระดูก แต่สิ่งที่หุ่นยนต์ไม่เห็นและไม่ได้นำไปคำนวณด้วยคือพวกกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท และหลอดเลือด บางครั้งหุ่นยนต์จะให้เราเข้าไปตัดในบางบริเวณที่มันทำไม่ได้จริง เพราะมันมีสิ่งที่กล่าวมาขวางอยู่ หมอก็ต้องหาวิธีเข้าไปตัดในมุมที่จะไม่ทำให้ส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นบาดเจ็บครับ”
นายแพทย์สิริพงศ์กล่าวว่า ส่วนตัวชอบแขนกลหุ่นยนต์แบบที่ปลายเป็นอุปกรณ์ช่วยเล็งมากกว่าแบบที่ปลายเป็นใบมีด เพราะแพทย์จะสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางและการตัดแต่งได้สะดวกและยืดหยุ่นกว่านั่นเอง
“แขนกลหุ่นยนต์จะทำหน้าที่นำทางเราโดยการคำนวณจากฐานข้อมูลที่มี คล้ายกับระบบนำทางครับ บางครั้งมันอาจพาไปไม่ถูกทาง แพทย์จะต้องมีความชำนาญมากพอที่จะกลับมาถูกทางให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะหลงไปกันใหญ่”
“การใช้หุ่นยนต์มีประโยชน์ในแง่ความแม่นยำครับ ถ้าหมอต้องการเก้าสิบองศา ก็ต้องเก้าสิบองศา จะไม่ใช่เก้าสิบสองหรือแปดสิบเก้า ซึ่งจุดนี้หุ่นยนต์จะช่วยได้ดีและช่วยให้แพทย์ผ่าตัดในจุดที่เหมาะสมที่สุดครับ”
นอกจากนี้ นายแพทย์สิริพงศ์ยังให้ข้อมูลว่า ในกรณีใดบ้าง ที่แพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียม ดังนี้
- มีกระดูกผิดรูปเยอะ ๆ
- มีเหล็กดามอยู่ที่กระดูก ทำให้ไม่สามารถสอดแท่งเหล็กเข้าไปในโพรงกระดูกได้
ซึ่งในกรณีเหล่านี้ หากใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จะเป็นผลดีกับคนไข้มากกว่า ทั้งความแม่นยำ ละเอียด และช่วยให้ไม่ต้องผ่าเปิดแผลกว้างเพื่อถอดเอาเหล็กออก
แพทย์+หุ่นยนต์ ทำงานร่วมกัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการรักษา
“ทั้งเทคโนโลยี ทั้งแพทย์ ทั้งทีมงาน ล้วนเป็นฟันเฟืองของความสำเร็จในการผ่าตัดรักษาแต่ละครั้ง”
เมื่อถามถึงอัตราการกลับมาผ่าตัดแก้ หรือเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใหม่ ในคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยวิธีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด นายแพทย์สิริพงศ์ตอบว่ามีน้อยลงเรื่อย ๆ และอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมก็ยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องมาจากการเลือกข้อเข่าเทียมชิ้นที่เหมาะสมที่สุด การเตรียมผิวข้อเข่าที่ถูกต้องแม่นยำ ทำให้โอกาสการใส่เข้าไปแล้วเกิดช่องว่าง หรือมีการขยับนั้นน้อยลงไปด้วย อัตราการกลับมาผ่าตัดแก้ไขจึงน้อย ช่วยให้คนไข้ได้รับคุณภาพชีวิตคืน ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลามาพบแพทย์และรับการผ่าตัดซ้ำ ๆ
“ถึงจะเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์มากแค่ไหน สำหรับผม ทุก ๆ การรักษาคนไข้ ทุก ๆ การผ่าตัด คือการเรียนรู้อยู่เสมอ ผมยังต้องเรียนรู้ไปตลอดทาง เพราะแม้มีแบบแผนการรักษาที่แน่นอน แต่สิ่งที่ไม่แน่นอนคือคนไข้ ไม่มีคนไข้คนไหนเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งแพทย์ ทั้งทีมงานในห้องผ่าตัด ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันครับ”
เทคโนโลยีการแพทย์ ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ที่อยากเห็นในอนาคต
“ข้อเข่าเทียมที่ผลิตออกมาเฉพาะคนไข้แต่ละราย ของใครของมันครับ” นายแพทย์สิริพงศ์ตอบอย่างไม่ลังเลหลังจากถามคำถามนี้
มีแพทย์ผ่าตัดเก่ง ๆ มีหุ่นยนต์ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดเตรียมผิวข้อเข่าที่มีประสิทธิภาพสูง แม้สองอย่างนี้จะช่วยให้คนไข้ได้รับการใส่ข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมที่สุดแล้ว แต่ชิ้นส่วนข้อเข่าเทียมในปัจจุบัน เป็นการทำมาโดยคำนึงถึงขนาดมาตรฐาน ในปัจจุบันก็มีแบรนด์ที่ผลิตขนาดออกมาได้หลากหลาย และละเอียดมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ถูกทำมาเพื่อคนไข้คนนั้น ๆ จริง ๆ จึงอาจมีจุดที่ไม่พอดี คลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อย เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะพิจารณาพลิกแพลงหรือหาวิธีใส่หรือเตรียมผิวข้อเข่าของคนไข้ให้เหมาะสมกับข้อเข่าเทียมชิ้นนั้น ๆ ที่สุด
“หากมีข้อเทียมที่ผลิตมาเพื่อคนไข้แต่ละรายจริง ๆ จะช่วยให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทำได้ง่ายมากขึ้น คนไข้ได้รับข้อเข่าเทียมที่เป็นของตัวเองจริง ๆ น่าจะช่วยให้ผลที่ดียิ่งขึ้นไปอีกครับ”
วิธีดูแลข้อเข่า ให้อยู่กับเราไปนาน ๆ โดยหมอศัลย์ฯกระดูก
“ก่อนอื่น เราต้องดูแลสุขภาพโดยรวมก่อนครับ กินอาหารตามโภชนาการ มีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ” นายแพทย์สิริพงศ์เกริ่นด้วยคำแนะนำพื้นฐาน
การออกกำลังกายที่แนะนำ คือ แอโรบิก หรือหากมีโรคประจำตัว ก็ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเหมาะสม และปรับไลฟ์สไตล์ให้ไม่เอื้อต่อภาวะข้อเข่าเสื่อม ดังนี้
- ไม่ปล่อยให้น้ำหนักเกิน ป้องกันข้อเข่ารับน้ำหนักและแรงกดมากเกินไป
- พยายามหลีกเลี่ยงการงอเข่าเกิน 100 องศา เช่น การนั่งขัดสมาธิ การนั่งยอง ๆ ที่ต้องงอเข่ามาก ๆ ยิ่งเพิ่มแรงกดต่อข้อเข่า
- หากเป็นโรคที่ส่งผลต่อข้อเข่า เช่น โรคไขข้ออักเสบ รูมาตอยด์ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หากประสบอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกหัก เอ็นฉีกขาด ควรรับการรักษาโดยเร็วที่สุด
- ออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ ข้อเข่าให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นช่วยพยุงข้อเข่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สิริพงศ์ เน้นย้ำว่า ภาวะข้อเข่าเสื่อมนั้น ต้องอาศัยหลายปัจจัยร่วม หากอยากดูแลเข่าให้ไม่เสื่อมสภาพก่อนเวลา แต่หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่าไม่ได้ ก็อาจไปดูแล และระมัดระวังในเรื่องอื่น ๆ ที่กล่าวมาแทน
“โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นหนึ่งในโรคความเสื่อม นั่นหมายความว่าเสื่อมแล้วเสื่อมเลย รักษาไม่หาย ปัจจุบันยังไม่มียาหรืออาหารอะไรที่กินแล้วทำให้หายจากโรคได้ สิ่งที่แพทย์ทำได้คือการชะลอความเสื่อมนั้น ๆ หรือช่วยลดอาการความผิดปกติ ความเจ็บปวด และใส่ของเทียมทดแทนเพื่อให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ครับ”
การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ไม่ใช่แค่รักษาอาการให้ดีขึ้น แต่เมื่อคนไข้สามารถกลับไปเดิน และเคลื่อนไหวขยับเขยื้อนได้เหมือนก่อน ได้ออกกำลังกายที่ตอนมีอาการอยู่ยังทำไม่ได้ สุขภาพโดยรวมของคนไข้ก็จะดีขึ้น นอกจากจะรักษาเฉพาะจุด ยังช่วยให้สุขภาพคนไข้ดีขึ้นเป็นผลพลอยได้ด้วย
เพราะเหตุนี้เอง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด กลายเป็นหนึ่งในการผ่าตัดรักษาที่คาดหวังผลได้ ผนวกกับเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ การนำอนาคตมาสู่ปัจจุบัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งกว่า จึงไม่ใช่เรื่องยาก