คุณสุชญา สาธิตพิฐกุล นักกำหนดอาหารวิชาชีพ - Suchaya Satidpitakul, a registered dietitian

นักกำหนดอาหาร ผู้รักษา ฟื้นฟู และดูแลผู้ป่วยผ่านการกิน

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีส่วนในการสนับสนุนการรักษาและฟื้นฟูคนไข้ในโรงพยาบาลอย่างมาก เรื่องราวที่หลายคนอาจยังไม่รู้มาก่อน ว่าบทบาทของนักกำหนดอาหารวิชาชีพในโรงพยาบาล เขาทำอะไรกันบ้าง

แชร์

นักกำหนดอาหาร ผู้อยู่เบื้องหลังการรักษา ฟื้นฟู และดูแลผู้ป่วยผ่านการกิน

วันนี้ MedPark Stories อยากชวนคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจในโรงพยาบาล นั่นก็คือ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีส่วนในการสนับสนุนการรักษาและฟื้นฟูคนไข้ในโรงพยาบาลอย่างมาก คุณพิกกี้-สุชญา สาธิตพิฐกุล นักกำหนดอาหารวิชาชีพ จะมาเล่าเรื่องราวที่หลายคนอาจยังไม่รู้มาก่อน ว่าบทบาทของนักกำหนดอาหารวิชาชีพในโรงพยาบาล เขาทำอะไรกันบ้าง

Ms. Pikky Suchaya Satidpitakul 3

ตอนแรกก็มองไม่ออก ว่านักกำหนดอาหารจะทำงานอะไรในโรงพยาบาล

คุณพิกกี้เล่าว่า ด้วยความที่เรียนสายวิทยาศาสตร์มา แล้วพอเข้ามหาวิทยาลัย รู้สึกอยากเรียนอะไรที่เฉพาะด้านขึ้น ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ล้วน ๆ จึงสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบกับเรื่องอาหาร ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องกินวันละ 3 มื้อ จึงคิดว่าวิทยาศาสตร์การอาหารน่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ 

“ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกค่ะ ว่าเรียนสายนี้จะได้ทำงานในโรงพยาบาล เพราะที่คิดไว้ก็คงมาทำงานกับบริษัทอาหาร  หรือไปทางโรงแรม แต่พอเข้ามาเรียนช่วงประมาณปีที่ 2-3 เขาจะให้เลือกสาย ระหว่างสาขาอาหารโภชนาการและการกำหนดอาหาร และสาขาการโรงแรม”

“คิดว่าเรียนการกำหนดอาหารน่าจะได้ประโยชน์กับตัวเองและคนรอบตัวแน่นอน ในอนาคตเทรนด์สุขภาพต้องมาแน่ ๆ ซึ่งสิ่งที่กำลังจะเรียนน่าจะไปได้ไกล”

เมื่อได้เรียน คุณพิกกี้ก็พบว่าวิชาชีพนี้ทำงานในสายงานโรงพยาบาลได้ ประกอบกับได้ไปช่วยอาจารย์ทำงานในโรงพยาบาล มีโอกาสได้เก็บข้อมูลงานวิจัยในคนไข้โรคมะเร็ง จึงเข้าใจว่า เรื่องอาหารการกินนั้นสำคัญมากกับคนไข้โรคเหล่านี้ 

“หากคนไข้มะเร็งได้กินอาหารที่ดี มีภาวะโภชนาการที่ดี ก็จะช่วยให้ร่างกายของเขาสามารถรับยาเคมีบำบัดต่อไปได้ หรือช่วยให้เขาฟื้นฟูตัวเองจากการรักษาโรคมะเร็งได้ดีขึ้น”

หลังจากค้นพบความชอบ พอจบปริญญาตรี คุณพิกกี้ก็มาเรียนต่อปริญญาโทในสาขาอาหารและโภชนาการเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล และได้มีโอกาสได้ฝึกงานในโรงพยาบาล ได้รับผิดชอบดูแลคนไข้โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ซึ่งเมื่อเข้าไปกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยแต่ละโรคได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง ๆ

“อย่างคนที่เป็นโรคอ้วน เดินนิดหน่อยก็เหนื่อย ปวดเข่า เราช่วยให้เขาลดน้ำหนักลงได้ เขาเหนื่อยน้อยลง ปวดเข่าน้อยลง ทำกิจกรรมได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่ก็เป็นแรงผลักดันให้เราอยากก้าวต่อไปในสายอาชีพนี้”

“และการทำงานในโรงพยาบาล คนไข้แต่ละคนมีเงื่อนไขทางสุขภาพไม่เหมือนกัน การให้การดูแล และอาหารการกินจึงไม่เหมือนกัน”

Ms. Pikky Suchaya Satidpitakul 2

นักโภชนาการ กับนักกำหนดอาหาร ต่างกันอย่างไร

คุณพิกกี้อธิบายว่า นักกำหนดอาหารจะต้องทำหน้าที่ประเมินภาวะโภชนาการรายบุคคล เพื่อวางแนวทางการกินอาหารให้เหมาะสมในคนไข้แต่ละรายและทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยต้องได้รับใบประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ในขณะที่นักโภชนาการจะดูแลจัดบริการอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาลและให้คำแนะนำข้อมูลโภชนาการแบบทั่วไปได้

ด้วยเหตุนี้ นักกำหนดอาหารจึงเป็นเหมือนช่างตัดเสื้อ…

“ใช่ค่ะ คนไข้ก็เหมือนลูกค้าที่มาตัดเสื้อ เราจะไม่เอาเสื้อโหลให้ลูกค้าใส่ เราจะต้องวัดตัวลูกค้าและตัดออกมาเพื่อคนนั้น ๆ การกำหนดอาหารเช่นกัน เราต้องวางแผนการกินให้คนไข้อย่างเหมาะสม และเฉพาะเจาะจงกับเขาจริง ๆ ถึงจะส่งผลดีต่อร่างกายและช่วยให้ฟื้นฟูจากอาการเจ็บป่วยได้ดีขึ้น”

การปรับเปลี่ยนนิสัยการกิน คือสิ่งที่ยาก ถ้าห้ามเด็ดขาดไม่ได้ ต้องหาทางออกร่วมกัน

เมื่อถามถึงการทำงาน ว่ามีอะไรที่เป็นความท้าทายในอาชีพนี้ไหม คุณพิกกี้ตอบว่า ความท้าทายคือการทำงานกับคนนั่นเอง 

“คนแต่ละคนมีพฤติกรรมการกินไม่เหมือนกัน บางคนพอเขารู้ว่าต้องมาเจอเรา เขาจะตั้งกำแพงไว้ก่อนเลย คิดว่าการมาเจอนักกำหนดอาหารคือต้องโดนห้ามกินไปหมดทุกอย่าง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ”

“หน้าที่ของนักกำหนดอาหารคือต้องช่วยหาทางออกให้คนไข้ คนไข้ต้องสามารถกินอาหารอย่างมีความสุขแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในกรอบที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ ไม่กระทบการรักษาโรคของเขา เราคงเข้าไปเปลี่ยนนิสัยการกินคนไข้ทุกคนไม่ได้หรอก แต่เราต้องหาทาง ว่าจะปรับพฤติกรรมการกินให้เขาอย่างไรที่จะอยู่ในจุดที่เขาพึงพอใจและก็สุขภาพดีด้วย”

เมื่อเจอคนไข้ดื้อ คุณพิกกี้บอกว่าต้องใช้ศิลปะในการพูดคุย เพราะสายอาหารและโภชนาการเป็นศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และศิลปะ นอกจากนักกำหนดอาหารจะสามารถแนะนำให้ความรู้ได้แล้ว ก็ต้องมีจิตวิทยาในการเจรจาต่อรองกับคนไข้ เพื่อให้คนไข้ไม่ต่อต้านวิธีการรักษา

“มีเคสที่เป็นมะเร็ง ตอนมาเจอคือน้ำหนักเหลือแค่ 30 กิโลกรัม เพราะคนไข้มีปัญหาการกลืนอาหาร กินไม่ได้ ตอนนั้นทั้งแพทย์ นักกำหนดอาหาร และนักกายภาพด้านฝึกกลืนต้องเข้ามาร่วมกันทำงานเป็นทีมเพื่อช่วยกันดูแล”

“พอเราพยายามดัดแปลงอาหารให้กินได้ง่ายและกินอร่อย ประกอบกับให้อาหารทางสาย มีนักกายภาพมาฝึกกลืน เมื่อกินได้มากขึ้น ร่างกายของเขาฟื้นฟู การรักษาโรคก็ทำได้ดีขึ้น จนน้ำหนักกลับขึ้นมาได้เป็น 60 กิโลกรัม ถือว่าเป็นความสำเร็จของการดูแลรักษาคนไข้แบบองค์รวม”

ส่วนหนึ่งในความสำเร็จที่ทำให้คนไข้สามารถกินได้มากขึ้นและมีความสุขขึ้น คุณพิกกี้พยายามให้คนไข้กินอาหารทางปากร่วมด้วย เพราะการได้ตักอาหารใส่ปากจะทำให้คนไข้ ได้สัมผัสรสชาติและเนื้อของอาหารได้ดี และจะช่วยให้คนไข้รู้สึกเจริญอาหาร โดยปรับอาหารให้อยู่ในรูปแบบของไอศกรีมสมูทตี้ที่กินและกลืนได้ง่าย

“นี่ก็เป็นอีกผลลัพธ์ ที่การปรับเปลี่ยนหรือเข้าไปดัดแปลงอาหารของคนไข้ ส่งผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการรักษาอย่างเห็นได้ชัดค่ะ”

Ms. Pikky Suchaya Satidpitakul 1

ความรู้และทักษะ ที่สามารถใช้ดูแลคนในครอบครัว

นอกเหนือจากการเป็นนักกำหนดอาหารที่ต้องคอยดูแลคนไข้แล้ว บทบาทหน้าที่ในครอบครัวก็ยังสามารถนำความรู้มาใช้ในการดูแลคนที่เรารักได้เช่นกัน โดยคุณพิกกี้ได้มีส่วนในการดูแลและแนะนำการกินอาหารให้คุณแม่ที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 

“คุณแม่เพิ่งเป็นสโตรกค่ะ ซึ่งเราก็คอยดูแล ตอนนี้ท่านก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เบื้องต้นก็จะช่วยดูสุขภาพโดยรวม ช่วยเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ส่งเสริมให้ลดน้ำหนัก คอยบอกว่าต้องเลือกกินอย่างไร ปริมาณเท่าไร”

“เวลาซื้ออาหารเข้าบ้าน เราก็จะเป็นคนเลือกซื้อ พวกผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นี่ก็เหมือนเป็นการกำหนดอาหารให้คนในบ้านไปในตัว ถ้าวัตถุดิบในบ้านดี คนในครอบครัวก็จะได้กินอาหารที่ดีไปด้วยค่ะ”

และนี่คือความมหัศจรรย์ของการกินอาหาร ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตให้มีสุขภาพดีขึ้นได้ บำบัดโรคได้ นอกจากจะเป็นศาสตร์ที่ใช้ดูแลผู้ป่วยได้แล้ว ยังสามารถใช้ดูแลคนในครอบครัวได้อีกด้วย

คุณพิกกี้ - สุชญา สาธิตพิฐกุล
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ
โรงพยาบาลเมดพาร์ค

เผยแพร่เมื่อ: 06 มิ.ย. 2024

แชร์