ภาวะปากแห้ง (Dry Mouth) สาเหตุ ผลกระทบ และการป้องกัน - Dry Mouth - Causes, Consequences and Prevention

ภาวะปากแห้ง (Dry Mouth)

ภาวะปากแห้ง พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุราว 1 ใน 5 มีภาวะปากแห้ง และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการของภาวะนี้ ได้แก่ มีความรู้สึกแห้ง เหนียว ๆ แสบร้อน หรือเสียวปาก

แชร์

ภาวะปากแห้ง

น้ำลายเป็นตัวการสำคัญในการรักษาสุขภาพช่องปาก โดยนอกจากน้ำลายจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและขจัดเศษอาหารที่หลงเหลือในปากแล้ว น้ำลายยังช่วยเรื่องการรับรสอาหาร การกลืน และการพูดอีกด้วย โดยส่วนใหญ่ น้ำลายจะผลิตและหลั่งออกมาจากต่อมน้ำลายหลัก 3 ต่อม ซึ่งอยู่ใต้ด้านหน้าของใบหู (Parotid gland) ใต้ลิ้น (Sublingual gland) และใต้ขากรรไกร (Submandibular gland) นอกจากนี้ น้ำลายยังช่วยเติมแร่ธาตุให้ฟัน เสริมความแข็งแรงให้ชั้นเคลือบฟัน รวมถึงมีสารไบคาร์บอนเนตที่ช่วยปรับระดับความเป็นกรดในช่องปากให้เป็นกลาง เมื่อต่อมน้ำลายผลิตหรือหลั่งน้ำลายออกมาได้ไม่เพียงพอ จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก โดยอาจทำให้มีอาการปากแห้งหรือภาวะปากแห้งเนื่องจากน้ำลายน้อย (Xerostomia)

ภาวะปากแห้ง พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุราว 1 ใน 5 มีภาวะปากแห้ง และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการของภาวะนี้ ได้แก่ มีความรู้สึกแห้ง เหนียว ๆ แสบร้อน หรือเสียวแปลบในปาก เคี้ยวหรือกลืนอาหารได้ลำบาก โดยเฉพาะอาหารแห้ง และมีการรับรู้รสชาติเปลี่ยนไป ส่วนอาการที่สังเกตได้คือน้ำลายเหนียว ลิ้นแห้ง ฟันโยก ผู้มีอาการปากแห้งมักอธิบายว่าผิวในช่องปาก “แห้งเหมือนกระดาษทราย” หรือ “แห้งเหมือนทะเลทราย” หากมีอาการปากแห้งเป็นประจำ แนะนำให้พบทันตแพทย์เพื่อทราบถึงสาเหตุของอาการ

สาเหตุของอาการปากแห้งคืออะไร?

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปากแห้ง มีหลายประการ ทั้งสาเหตุเฉพาะที่และสาเหตุทางร่างกาย สาเหตุเฉพาะที่ของภาวะปากแห้งประกอบไปด้วย ภาวะขาดน้ำ การสูบบุหรี่ การบริโภคแอลกอฮอล์และคาเฟอีน รวมถึงการใช้ยา และการฉายแสงบริเวณศีรษะและคอ โดยพบอาการปากแห้งจากการขาดน้ำได้บ่อยที่สุด เพราะเมื่อเราดื่มน้ำไม่เพียงพอ ต่อมน้ำลายจะผลิตน้ำลายได้ไม่มากพอ ส่งผลให้ปากแห้ง นอกจากนี้ ระดับของเหลวในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการตอบสนองต่อความเครียดและความรู้สึกวิตกกังวลยังส่งผลให้เกิดภาวะปากแห้งด้วย ทั้งนี้ การใช้ยาหลายชนิดเป็นสาเหตุของภาวะปากแห้งที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มียานับร้อยชนิดที่ทำให้เกิดภาวะปากแห้งหรือทำให้อาการแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นยาแก้แพ้ ยาลดความดันเลือด ยาแก้ซึมเศร้า ยาลดอาการวิตกกังวล และยาขับปัสสาวะ (ยาน้ำและยาเม็ด) ภาวะปากแห้งที่เกิดจากการฉายแสงเป็นหนึ่งในอาการแทรกซ้อนของการฉายแสงบริเวณศีรษะและคอแบบดั้งเดิมที่พบได้มากที่สุด สาเหตุเพราะต่อมน้ำลายหลักอยู่ในบริเวณที่ได้รับรังสี นอกจากนี้ เทคนิคการฉายรังสีขั้นสูงในปัจจุบัน เช่น การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity-Modulated Radiotherapy: IMRT) ช่วยป้องกันไม่ให้การฉายรังสีเกิดความเสียหายกับต่อมน้ำลาย และช่วยรักษาการทำงานของต่อมน้ำลายไว้ ซึ่งลดโอกาสเกิดภาวะปากแห้งได้ อย่างไรก็ดี ภาวะปากแห้งนั้นอาจเป็นอาการสำคัญที่แสดงถึงโรคทางร่างกายต่าง ๆ ที่สร้างความเสียหายต่อต่อมน้ำลายในระดับเซลล์ เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ กลุ่มอาการโจเกรน และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

Dry Mouth Banner 2

ผลกระทบจากภาวะปากแห้งมีอะไรบ้าง?

อาการปากแห้ง อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ฟันผุ โรคเหงือก โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อราในช่องปาก ปัญหาด้านการพูด การขาดสารอาหารเนื่องจากเคี้ยวหรือกลืนอาหารลำบาก และการรับรสเปลี่ยนไป ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้

สำหรับผู้ที่มีอาการปากแห้ง โดยเฉพาะผู้ที่แปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันไม่ถูกวิธี คราบพลัคอาจก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้มีกลิ่นปาก ฟันผุ หรือเป็นโรคเหงือกได้ง่าย ส่วนผู้ที่มีเชื้อราหรือโรคราแคนดิดาในช่องปาก อาจรู้สึกเจ็บหรือแสบในช่องปากเมื่อรับประทานอาหารที่ร้อนหรือมีรสเผ็ด โดยอาจเกิดร่วมกับการมีจุดสีขาวที่เช็ดออกได้ ในบริเวณลิ้น ด้านในของแก้ม รวมถึงเพดานปากซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก หากมีอาการปากแห้ง ควรพบทันตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเบื้องต้นถึงปัญหาช่องปากที่เกี่ยวข้องกับอาการนี้

เราจัดการกับปัญหาปากแห้ง และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบได้อย่างไรบ้าง?

สิ่งสำคัญคือต้องระบุสาเหตุแท้จริงของอาการปากแห้งให้ได้ก่อนเริ่มกระบวนการรักษา ตัวอย่างเช่น หากสงสัยว่าสาเหตุมาจากการใช้ยา แพทย์อาจสั่งลดขนาดยาหรือเปลี่ยนไปจ่ายยาที่มีผลข้างเคียงน้อยลงกว่าเดิม ทั้งนี้ มีหลายวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปากแห้งได้ เช่น จิบน้ำ อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดที่ไม่มีน้ำตาล อมก้อนน้ำแข็งในปาก หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงเลิกสูบบุหรี่และดื่มกาแฟหากทำได้ นอกจากนี้ ยังมีสารทดแทนน้ำลายและสารหล่อลื่นเยื่อบุช่องปากจำนวนมากที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ช่องปาก โดยสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป และมีจำหน่ายในหลายรูปแบบ ทั้งแบบเจล สเปรย์ และยาอม ซึ่งใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการตามวิถีชีวิตของแต่ละคน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้มีอาการปากแห้งควรพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อรับการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเหมาะสมจากมืออาชีพ เพื่อช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปากที่เกิดจากภาวะปากแห้ง โดยแนะนำให้พบทุก ๆ 6 เดือน ทั้งนี้ แนะนำให้แปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำเพื่อป้องกันฟันผุและโรคเหงือก

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 12 ก.ค. 2023

แชร์