ดนตรีบำบัด มีประโยชน์อย่างไร? ใครที่ควรบำบัดด้วยดนตรี?
ดนตรีบำบัด เป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทางการแพทย์ โดยใช้องค์ประกอบทางดนตรีเป็นตัวช่วยในการบำบัด ซึ่งดนตรีบำบัดสามารถช่วยฟื้นฟูได้ทั้งด้านกายภาพและจิตใจ รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะในการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ด้วย
ดนตรีบำบัดคืออะไร?
ดนตรีบำบัด คือ การใช้องค์ประกอบทางดนตรี เช่น เนื้อเพลง ท่วงทำนอง และจังหวะ มาใช้ฟื้นฟูอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยนักดนตรีบำบัดจะเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับกิจกรรมและเพลงที่จะใช้ในการบำบัดให้แก่ผู้เข้ารับการบำบัด โดยจะใช้ดนตรีบำบัดทางกายภาพหรือทางจิตใจขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูอาการ การใช้ดนตรีบำบัดในทางกายภาพคือ การเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี การเล่นเครื่องดนตรี หรือการร้องเพลง ส่วนการใช้ดนตรีบำบัดทางจิตใจคือ การฟัง
ดนตรีบำบัดถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างไร?
ดนตรีบำบัดพัฒนามาจากตำนานของกรีกที่มีความเชื่อว่า เสียงดนตรีช่วยไล่สิ่งไม่ดีที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บออกจากตัวมนุษย์ได้ ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์มีการพัฒนามากขึ้น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ผู้ให้กำเนิดการพยาบาลสมัยใหม่ ได้มีการนำดนตรีมาใช้ในเชิงทางการแพทย์ในปี พ.ศ.2402 เพราะเชื่อว่าดนตรีสามารถช่วยฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยจากโรคต่าง ๆ ได้ จากนั้นดนตรีก็ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2487 มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ได้เปิดหลักสูตรดนตรีบำบัดขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นหลักสูตรดนตรีบำบัดก็ถูกเปิดสอนในสถาบันอุดมศึกษาและมีการวิจัยอย่างกว้างขวางในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย มีการนำดนตรีบำบัดมาใช้ในทางการแพทย์ครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา จังหวัดนนทบุรี โดยคุณรำไพพรรณ ศรีโสภาค (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์)
ดนตรีบำบัดมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
ดนตรีบำบัด แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- ดนตรีบำบัดด้านกายภาพ คือ การตอบสนองของร่างกายต่อดนตรีบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี หรือเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี ล้วนเป็นการตอบสนองของร่างกายที่ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกกระตุ้น เช่น อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นทำให้มีการสูบฉีดเลือดดีขึ้น ดังนั้นดนตรีบำบัดจึงสามารถช่วยฟื้นฟูอาการของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไมเกรน โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
- ดนตรีบำบัดด้านจิตใจ โดยทั่วไปแล้วดนตรีบำบัดจะทำให้สภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น เพราะการฟังดนตรีบำบัดเป็นการเปลี่ยนจุดสนใจของผู้เข้ารับการบำบัดให้มีสมาธิอยู่กับตนเอง อีกทั้งเสียงของดนตรีจะทำให้คลื่นสมองเคลื่อนไหวเป็นจังหวะเช่นเดียวกับจังหวะดนตรี ถ้าหากดนตรีบำบัดสามารถทำให้เกิดคลื่นสมองที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายในระดับลึกได้ จะมีประสิทธิภาพราวกับการทำสมาธิ ซึ่งสามารถช่วยฟื้นฟูโรคสมาธิสั้น (ADHD) ได้ และดนตรีบำบัดยังกระตุ้นการทำงานของสมองให้หลั่งสารเอ็นโดนฟิน (Endorphin) ที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายและมีความสุข จึงช่วยลดความวิตกกังวล ความเครียด รวมถึงอาการคลื่นไส้ได้ด้วย
ดนตรีบำบัดคือดนตรีแนวไหน?
ดนตรีทุกแนวสามารถใช้เป็นดนตรีบำบัดได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้ารับการบำบัดชอบดนตรีแนวใด เช่น ดนตรีคลาสสิก (Classic) ดนตรีป๊อป (Pop) ดนตรีแจ๊ส (Jazz) เป็นต้น เพราะดนตรีเปรียบเสมือนศิลปะแขนงหนึ่งที่มีความหลากหลาย ดังนั้นนักดนตรีบำบัดจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรี โรคทางกายภาพและทางจิตใจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ใครบ้างที่สามารถบำบัดได้ด้วยดนตรี?
- ทหาร เมื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่อาจเกิดการเจ็บป่วยได้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นดนตรีบำบัดสามารถช่วยฟื้นฟูอาการเจ็บปวดทางกายภาพจากแผลต่าง ๆ และฟื้นฟูสภาพจิตใจจากเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอมาได้
- ผู้ป่วยโรคออทิสติก (ASD : Autism spectrum disorder) เนื่องจากผู้ป่วยมีความบกพร่องทางด้านภาษา การสื่อสารและมีพฤติกรรมทำแบบเดิมซ้ำ ๆ เป็นแบบแผน ผู้ป่วยจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อสิ่งที่ได้ยินมีจังหวะ คาดเดาได้ และสม่ำเสมอ ดังนั้นดนตรีบำบัดสามารถช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและการเรียนรู้ของผู้ป่วยได้
- ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) จะอยู่ในภาวะสมองเสื่อม จำเรื่องราวในอดีตไม่ได้ ซึ่งดนตรีบำบัดสามารถช่วยกระตุ้นความจำที่หายไป เพราะดนตรีสามารถเชื่อมถึงความทรงจำระยะยาวในสมองได้ ดังนั้นเวลาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ฟังเสียงดนตรีบำบัดจะนึกถึงความทรงจำเก่า ๆ เช่นเดียวกับการไปสถานที่ที่คุ้นเคย
- ผู้ต้องขัง จะใช้ดนตรีบำบัดเน้นทางด้านจิตใจ เนื่องจากสถานที่และผู้คนรอบข้างอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลและความเครียด ดังนั้นดนตรีบำบัดจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
- ผู้ประสบอุบัติเหตุ บางคนอาจจะเคยประสบกับอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบแก่ร่างกายและจิตใจอย่างมาก จนอาจเกิดภาวะซึมเศร้าหรือเกิดอาการตื่นตระหนก (Panic Disorder) หวาดระแวงผู้คนรอบข้าง ดนตรีบำบัดจะช่วยฟื้นฟูทางกายและใจของผู้ประสบอุบัติเหตุได้
- ผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) มักพบได้ทั่วไปในเด็ก โรคสมาธิสั้นในเด็กจะมีอาการซุกซนมากกว่าปกติ ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน หากปล่อยไว้นานอาจกลายเป็นภาวะเรื้อรัง การใช้ดนตรีบำบัดจะกระตุ้นให้สมองเกิดสมาธิ ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและสงบ การจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากจะดีขึ้น
- ผู้ใช้สารเสพติด ดนตรีบำบัดสามารถช่วยลดความต้องการสารเสพติดได้ เพราะทำให้สมองผ่อนคลายจากความเครียด ความวิตกกังวล อีกทั้งดนตรีบำบัดยังสามารถใช้ฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ใช้สารเสพติดให้กลับมาแข็งแรงอีกด้วย
ขั้นตอนในการใช้ดนตรีบำบัดโดยนักบำบัด
- นักดนตรีบำบัด จะประเมินอาการเบื้องต้นของผู้เข้ารับการบำบัดก่อน เช่น โรคประจำตัว การตอบสนองด้านร่างกาย การสื่อสาร ความชอบและทักษะทางดนตรี ประวัติการเจ็บป่วย เพื่อออกแบบดนตรีบำบัดที่เหมาะสม
- ในระหว่างการบำบัด ผู้เข้ารับการบำบัดและนักดนตรีบำบัดจะเลือกกิจกรรมใดต่อไปนี้ก็ได้
- แต่งเพลง ไม่ว่าจะเป็นทำนองเพลงหรือเนื้อเพลง
- ร้องเพลง คือการร้องเพลงร่วมกัน
- ฟังเพลง คือการเพลิดเพลินไปกับเสียงเพลง โดยอาจจะมีการร้องเพลง หรือขยับร่างกายตามจังหวะเพลง
- เคลื่อนไหวร่างกาย คือการเต้น ขยับร่างกายไปพร้อมกับเสียงเพลง
- พูดคุยเกี่ยวกับดนตรี ไม่ว่าเป็นมุมมอง ความชอบ ความหมายของเนื้อเพลง
- เล่นเครื่องดนตรี หากผู้เข้ารับการบำบัดมีความสามารถทางดนตรี เช่น กีตาร์ เปียโน ก็สามารถใช้การบำบัดได้ด้วยเครื่องดนตรี
- หลังจากเสร็จสิ้นการบำบัด นักดนตรีบำบัดจะประเมินเพื่อดูประสิทธิภาพของการบำบัดว่าสามารถช่วยฟื้นฟูอาการของผู้เข้ารับการบำบัดได้หรือไม่
ดนตรีบำบัดมีประโยชน์อย่างไร?
ดนตรีบำบัดสามารถช่วยฟื้นฟูได้ 3 ด้าน ดังนี้
- ด้านจิตใจและอารมณ์ ดนตรีบำบัดทำให้ปลดปล่อยความรู้สึกแย่ ๆ ในใจออกมา ทำให้อารมณ์ดีขึ้น จัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลได้ดีขึ้น
- ด้านกายภาพ อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายหลังถูกกระตุ้น ประสิทธิภาพทำงานจะดีขึ้น อาการเจ็บป่วยบรรเทาลง
- ด้านสังคม ดนตรีเป็นสิ่งที่สามารถรวมผู้คนที่ชื่นชอบในดนตรีประเภทเดียวกัน ให้อยู่ในสังคมเดียวกันได้ ตัวอย่างเช่น ปาร์ตี้ คอนเสิร์ต หรือแม้แต่พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนใกล้ชิด และช่วยให้เด็กออทิสติกมีทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้น
ดนตรีบำบัดไม่จำเป็นต้องบำบัดให้กับผู้ป่วยเท่านั้น คนทั่วไปก็สามารถเข้ารับการบำบัดด้วยดนตรีบำบัดได้ โดยอาจจะมีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนคลายความเครียดและทักษะการสื่อสาร ถ้าหากสนใจอยากลองใช้ดนตรีบำบัดในการฟื้นฟูสุขภาพ สามารถปรึกษากับผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เพื่อรับคำแนะนำและวางแผนการใช้ดนตรีบำบัดที่เหมาะสม